×

สรุปประสิทธิภาพวัคซีน Sinovac จากสนามรบภูเก็ต ป้องกันโควิด-19 ได้ 84%

26.05.2021
  • LOADING...
ประสิทธิภาพวัคซีน Sinovac
  • วันนี้ (26 พฤษภาคม) สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ ‘สนามรบภูเก็ต Sinovac ป้องกันโควิดได้กี่เปอร์เซ็นต์?’ เพื่อนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลประสิทธิผลของการใช้วัคซีนในจังหวัดภูเก็ต (เมษายน ถึง 10 พฤษภาคม 2564) โดยคณะผู้วิจัย ซึ่งประกอบด้วยโรงพยาบาลวชิระ ภูเก็ต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตภูเก็ต

 

  • ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. เกริ่นถึงรูปแบบการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันโรค (Protective efficacy) ที่ดีที่สุดคือการศึกษาใน ‘เฟส 3’ แต่เนื่องจากข้อมูลการศึกษาในเฟสนี้ของวัคซีน Sinovac มีความไม่สมบูรณ์ และประเทศไทยต้องใช้วัคซีน Sinovac เพราะไม่มีวัคซีนอื่นมากพอในช่วงเริ่มต้นของการระบาด จึงมีการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนใน ‘เฟส 4’ หรือเมื่อวัคซีนออกสู่ตลาดแล้ว

 

  • ผศ.ดร.ชยานนท์ ภู่เจริญ ม.อ. วิทยาเขตภูเก็ต ตัวแทนคณะผู้วิจัยได้นำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล โดยอธิบายถึงวิธีการว่าเป็นการศึกษาในกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง (ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีโอกาสได้รับเชื้อจากผู้ติดเชื้อรายก่อนหน้า) สัญชาติไทย อายุระหว่าง 18-59 ปี จำนวน 1,097 คน ได้รับการติดตามจนครบระยะกักกัน (Quarantine) แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อ 85 ราย และไม่ติดเชื้อ 1,012 คน ทั้ง 2 กลุ่มมีทั้งผู้ที่เคยและไม่เคยได้รับวัคซีน พบว่า

 

  • ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีน Sinovac 
    • อย่างน้อย 1 เข็มเท่ากับ 73.1% 
    • ครบ 2 เข็ม เท่ากับ 84.0% 
    • แต่ถ้าวิเคราะห์เฉพาะผู้ที่ได้รับวัคซีนเพียง 1 เข็มจะเท่ากับ 37% 

 

  • ทั้งนี้ นพ.เฉลิมพล สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และ พญ.ศุภลักษณ์ ละอองเพชร รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สายพันธุ์ที่ระบาดในช่วงที่ดำเนินการศึกษาเป็นสายพันธุ์อังกฤษ และมีการรายงานอาการไม่พึงประสงค์หลังการได้รับวัคซีน (AEFI) รุนแรง คือ อาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke-like) 2 รายต่อผู้ได้รับวัคซีน 1 แสนคน แต่ทั้ง 2 รายได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นแล้ว

 

  • ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่าการได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มมีประสิทธิผลค่อนข้างดีในจังหวัดภูเก็ต 

 

  • ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความเห็นว่า ‘น่าพอใจ’ เพราะเป็นการศึกษาในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งมีการตรวจหาเชื้อ ทำให้เป็นประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ ส่วนการป้องกันอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตต้องรอการเก็บข้อมูลเพิ่มเติม อีกประเด็นคือวัคซีน Sinovac จำเป็นต้องฉีด 2 เข็ม เพราะประสิทธิผลของเข็มแรกต่ำ ซึ่งในขณะนี้ทั่วประเทศมีผู้ที่ไม่ได้มาฉีดเข็มที่ 2 ประมาณหมื่นคนแล้ว จึงต้องติดตามมาฉีดให้ครบ และเป็นหลักฐานว่าวัคซีน Sinovac สามารถ ‘เป็นทางเลือกให้กับคนที่จะมาฉีดวัคซีน’ ได้ 

 

อ้างอิง: เพจ Prince of Songkla University – PSUconnext https://fb.watch/5JQp6X2jgJ/ 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X