×

สมการของความโสด

05.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • นักคณิตศาสตร์หนุ่มโสดวัย 31 ปีชาวอังกฤษสงสัยว่า ‘ทำไมเราถึงยังโสดอยู่ล่ะ?’ และเขาไม่จบความสงสัยไว้แค่ในใจ โดยใช้สมการทางคณิตศาสตร์หาคำตอบ จนคลอดออกมาเป็นเปเปอร์โรแมนติกแบบเนิร์ดๆ
  • แบ็คคัสดัดแปลงสมการของ ดร.แฟรงค์ เดรก นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน ในการคำนวณหาจำนวนอารยธรรมดาวเคราะห์ในทางช้างเผือกที่สามารถสื่อสารกับเราได้ นำมาเทียบเคียงได้กับความยากยิ่งในการหาแฟนสำหรับเขา
  • ผลคือมีจำนวนผู้หญิงที่มีโอกาสจะมาเป็นแฟนกับเขาเท่ากับ 10,510 คน หรือคิดเป็น 0.0014% ของชาวลอนดอน

ถ้าคุณเห็นชื่อบทความนี้แล้วคลิกเข้ามาอ่านทันที ความเป็นไปได้ที่คุณยังโสดอยู่ (หรือลังเลว่าอยากโสด) นั้นมีสูง

 

ด้วยบริบททางสังคมและค่านิยมที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน การเลือกที่จะอยู่เป็นโสดไม่ใช่เรื่องใหญ่หรือผิดแผกแตกต่างดังในอดีต แต่เชื่อว่าสำหรับคนโสดบางคนก็อาจยังมีข้อสงสัยลึกๆ ในใจว่า ‘ทำไมเราถึงยังโสดอยู่ล่ะ?’

 

ปีเตอร์ แบ็คคัส นักคณิตศาสตร์หนุ่มโสดวัย 31 ปีชาวอังกฤษก็แอบสงสัยในประเด็นนี้เหมือนกัน แต่เขาไม่จบความสงสัยไว้แค่ในใจ กลับพยายามใช้สมการทางคณิตศาสตร์เข้าหาคำตอบ จนคลอดออกมาเป็นเปเปอร์โรแมนติกแบบเนิร์ดๆที่มีชื่อว่า Why I don’t have a girlfriend: An application of Drake Equation to love in the UK

 

โดยแบ็คคัสได้ดัดแปลงสมการของ ดร.แฟรงก์ เดรก นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน ซึ่งเขียนสมการนี้ไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1961 เพื่อคำนวณหาจำนวนอารยธรรมดาวเคราะห์ในทางช้างเผือกที่สามารถสื่อสารกับเราได้ โดยแบ็คคัสให้เหตุผลว่า หากสมการของเดรกเขียนขึ้นเพื่อคำนวณหาความเป็นไปได้ของสิ่งที่แทบไม่มีทางจะหาเจอได้ในทางช้างเผือกอันกว้างใหญ่ สมการนี้ก็ควรจะนำมาเทียบเคียงได้กับความยากยิ่งในการหาแฟนสำหรับเขาเช่นกัน

 

โดยสมการความโสดที่เขาดัดแปลงมานั้นมีอยู่ว่า

G = N x fw x fL x fA x fU x fB

G = จำนวนผู้หญิงที่มีโอกาสจะได้เป็นแฟนกัน

N = จำนวนประชากรในประเทศ

fW = สัดส่วนของประชากรในประเทศที่เป็นผู้หญิง (Woman)

fL = สัดส่วนของประชากรผู้หญิงที่อยู่ในลอนดอน (London)

fA = สัดส่วนของประชากรผู้หญิงในลอนดอนที่อยู่ในช่วงอายุที่เหมาะสม (Age)

fU = สัดส่วนของประชากรผู้หญิงในลอนดอนที่อยู่ในช่วงอายุที่เหมาะสม และจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย (University)

fB = สัดส่วนของประชากรผู้หญิงในลอนดอนที่อยู่ในช่วงอายุที่เหมาะสม จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยและหน้าตาสะสวย (Beautiful ในความเห็นของผู้เขียนสมการ)

 

เมื่อนำตัวเลขจริงทั้งหมดมาแทนในสมการ แบ็คคัสพบว่ามีจำนวนผู้หญิงที่มีโอกาสจะมาเป็นแฟนกับเขาเท่ากับ 10,510 คน หรือคิดเป็น 0.0014% ของชาวลอนดอน และเมื่อคิดถึงปัจจัยอื่นๆ ซึ่งเขาไม่ได้ใส่เข้ามาในสมการ แต่มีผลในโลกแห่งความจริง อย่างความเป็นไปได้ที่ผู้หญิงจะชอบเขา สัดส่วนของผู้หญิงที่ยังเป็นโสดอยู่ และสัดส่วนของผู้หญิงที่จะคบแล้วนิสัยเข้ากันได้ จะเหลือโอกาสที่เขาจะได้มีแฟนเพียง 0.000350877% เท่านั้น

 

และนั่นอธิบายได้ว่า ทำไมเขาถึงยังเป็นโสด!

 

ไม่อาจคาดเดาได้ว่า เมื่อคุณผู้อ่านที่ยังโสดอยู่ได้เห็นตัวเลขนี้แล้วจะรู้สึกสบายใจขึ้น ที่มีสมการ (ประหลาดๆ) อธิบายความโสดให้หายสงสัยเสียที หรือรู้สึกเศร้าใจในเปอร์เซ็นต์ที่ริบหรี่นี้

 

แต่ข่าวดีที่ตามมาคือ หลังจากที่เปเปอร์สนุกๆ ของเขาได้ถูกเผยแพร่ไปไม่นานนัก แบ็คคัสก็ถอดรหัสสมการความโสดได้สำเร็จ โดยเขาพบหญิงสาวในฝัน (แม้โอกาสนั้นจะมีเพียง 0.00035%) และได้แต่งงานกันในอีก 3 ปีต่อมา

 

ปีเตอร์ แบ็คคัสกับเจ้าสาวของเขา

 

สมการความโสดของแบ็คคัสกำหนดขึ้นมาจากข้อแม้ที่เขามีในการเลือกคู่ แม้หมอจะอ่อนด้อยในทางคณิตศาสตร์ แต่ก็แอบตั้งสมมติฐานแก้สมการโสดได้ว่า หากลองเพิ่มความน่าจะเป็นโดยออกไปหาประสบการณ์พบเจอผู้คนมากๆ และลดข้อแม้ f ในสมการลง ตัด fR (Rich สัดส่วนประชากรที่รวย), fS (Spoiled สัดส่วนประชากรที่ยอมตามใจคุณทุกอย่าง) f6 (Six-pack สัดส่วนประชากรที่หุ่นดีมีกล้ามท้อง) หรือสารพัด f ที่ไม่จำเป็นออกไปได้ น่าจะช่วยให้ค่า G เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

 

เป็นสมมติฐานซึ่งต้องพิสูจน์กันต่อไปตามภาษาคณิตศาสตร์ที่ว่า ‘quod erat demonstrandum’ ซึ่งคงต้องเชิญชวนคนโสดมาแก้สมการพิสูจน์กันในเดือนแห่งความรักนี้กันค่ะ

 

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising