×

ฮาลิมา ยาขอบ ว่าที่ประธานาธิบดีหญิงคนแรกและคนเดียวของสิงคโปร์

12.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ฮาลิมา ยาขอบ อดีตโฆษกรัฐสภาสิงคโปร์ กำลังจะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 8 และเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกและคนเดียวของสิงคโปร์ในวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ (14 ก.ย.) หลังเธอเป็นผู้สมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเพียงคนเดียวที่ผ่านการคัดเลือกและตรวจสอบคุณวุฒิจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง

     เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (11 ก.ย.) กรมการเลือกตั้งของสิงคโปร์ (Elections Department: ELD) ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 กันยายนตามกำหนดเดิม หากมีผู้มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้มากกว่า 1 คนขึ้นไป ภายหลังจากที่นายโทนี ตัน ประธานาธิบดีคนที่ 7 ของสิงคโปร์หมดวาระลงเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีนายเจ วาย พิลเลย์ รักษาการตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่ในขณะนี้

 

 

     ผลปรากฏว่า นางฮาลิมา ยาขอบ (Halimah Yacob) ชาวสิงคโปร์เชื้อสายมาเลย์ เป็นเพียงคนเดียวที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งชาติ ส่วนผู้ (ประสงค์ที่จะ) ลงสมัครเลือกตั้งในครั้งนี้อีก 2 คนคือ นายโมฮัมเหม็ด ซาเหละ มาริกัน และนายฟาริด ข่าน ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้

     กรมการเลือกตั้งเผยว่า ถ้าหากมีผู้สมัครเพียงรายเดียวในวันเสนอรายชื่อผู้มีสิทธิ์ลงสมัครประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในวันที่ 13 กันยายนนี้ บุคคลผู้นั้นจะได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีโดยทันที โดยนางฮาลิมา ยาขอบ จะขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกและคนเดียวของสิงคโปร์ (นับตั้งแต่ปี 1965 ที่มีตำแหน่งนี้เกิดขึ้น) ในวันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายนนี้

     นางฮาลิมากล่าวว่า “ฉันพูดได้เพียงแค่ว่า ฉันจะทำให้ดีที่สุดเพื่อชาวสิงคโปร์ทุกคน และจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีการเลือกตั้งก็ตาม”

 

 

ทำความรู้จัก (ว่าที่) ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสิงคโปร์

     ฮาลิมา ยาขอบ บุคคลเพียงคนเดียวที่ผ่านการคัดเลือกคุณสมบัติจากคณะกรรมการการเลือกตั้งให้มีสิทธิ์ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสิงคโปร์คนต่อไปต่อจากนายโทนี ตัน ด้วยเหตุนี้จึงดูเหมือนว่าเส้นทางที่จะก้าวไปสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศที่เป็นศูนย์กลางด้านการเงินและการลงทุนที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่างสิงคโปร์ของฮาลิมาค่อนข้างสดใสและไร้คู่แข่ง

     ฮาลิมาเกิดที่ควีนสตรีท เธอเป็นลูกคนสุดท้องในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 5 คน พ่อของเธอเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และเสียชีวิตเมื่อเธออายุได้เพียง 8 ขวบ เธอและพี่น้องอีก 4 คนจึงอาศัยอยู่กับแม่ ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 ฮาลิมาเข้าเรียนที่โรงเรียนหญิงล้วน Singapore Chinese Girls’ School เธอเป็นนักเรียนเพียงไม่กี่คนในโรงเรียนที่มีเชื้อสายมาเลย์

     หลังจากนั้นเธอเข้าศึกษาต่อที่ Tanjong Katong Girls’ School และจบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (University of Singapore) และมีโอกาสเข้าทำงานด้านกฎหมายที่สภาการค้าแห่งชาติ จนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรองประธานฯ ได้ในที่สุด โดยใช้เวลากว่า 30 ปีก่อนที่จะตัดสินใจแต่งงานกับนักธุรกิจหนุ่มที่รู้จักกันตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย และมีทายาทด้วยกัน 5 คน

 

 

     ในปี 2001 ฮาลิมาเริ่มต้นเข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองด้วยการชักชวนของอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของสิงคโปร์อย่าง โก๊ะ จ๊กตง เธอตัดสินใจเริ่มต้นลงสมัครเลือกตั้งระดับท้องถิ่นและชนะการเลือกตั้งทั่วไปถึง 4 ครั้ง เคยเป็นตัวแทนของเขต Jurong GRC และ Marsiling-Yew Tee GRC ก่อนที่ปี 2011 เธอจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐมนตรี โดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำกระทรวงพัฒนาสังคม เยาวชนและการกีฬา

     จากผลงานและความสามารถที่เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง เธอถูกผลักดันให้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง ฮาลิมา ยาขอบ ดำรงตำแหน่งโฆษกประจำรัฐสภาสิงคโปร์ ซึ่งเธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้ และอีกไม่กี่วันข้างหน้า เธอกำลังจะสร้างประวัติศาสตร์ให้แก่ตัวเองและประเทศชาติของเธออีกครั้ง

 

 

     ถึงแม้ว่าตำแหน่งประธานาธิบดีสิงคโปร์จะเป็นตำแหน่งประมุขเพียงแต่ในพิธีการเท่านั้น อาจมีศักดิ์และสิทธิ์น้อยกว่าเมื่อเทียบกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลในการบริหารประเทศอย่างแท้จริง แต่ฮาลิมาจะใช้พื้นที่ของเธอในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมสิงคโปร์ได้ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิของชาวมาเลย์และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่อาจถูกละเลยและกำลังประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้อย่างรุนแรง

     ฮาลิมากล่าวทิ้งท้ายว่า “สิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคือการทำให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชาติ ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ฉันต้องทำ แต่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับฉันคืออยากให้ชาวสิงคโปร์ทุกคนทำงานร่วมกันกับฉันด้วย เพราะตำแหน่งประธานาธิบดีนี้คือตัวแทนของทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา และทุกสังคมในสิงคโปร์”

 

Photo: Halimah Yacob/facebook

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising