จากรายงานฉบับล่าสุดของ Seedly and Coinbase ในไตรมาส 4 ปี 2023 ซึ่งทำการสำรวจชาวสิงคโปร์กว่า 2,000 คนที่มีความเข้าใจในด้านการเงิน พบว่า 57% ของกลุ่มคนเหล่านี้ล้วนถือครองคริปโต โดยมีช่วงเงินลงทุนราว 1,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 35,000 บาท) ถึง 25,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 875,000 บาท)
รายงานดังกล่าวยังพบอีกว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาประชากรสิงคโปร์กว่า 55% นำเหรียญคริปโตไปทำ Staking หรือการนำเหรียญที่ถือครองไปฝากไว้กับระบบเครือข่ายบล็อกเชนเพื่อรับผลตอบแทน ในขณะที่อีก 38% ของนักลงทุนคริปโตใช้บริการ DeFi (Decentralized Finance) ซึ่งเป็นบริการการเงินแบบที่ไม่มีตัวกลาง
ในขณะนี้นักลงทุนเริ่มปรับภาพจำต่อวงการคริปโตใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะกับการทำ Staking ว่าเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนจากสินทรัพย์แบบ Passive Income ที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อขายเพื่อเก็งกำไร
อย่างไรก็ตาม หลังความสนใจของนักลงทุนคริปโตในการทำ Staking ของชาวสิงคโปร์เพิ่มมากขึ้น ทำให้ฝ่ายกำกับดูแลต้องเข้ามาให้ความสนใจในการกำกับดูแลมากขึ้น เพื่อป้องกันนักลงทุนจากการหลอกลวงและก่อให้เกิดความเสียหาย
ทั้งนี้ ชาวสิงคโปร์เริ่มมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดคริปโตในระยะยาวมากขึ้น จากการที่ 46% ของนักลงทุนมองว่า ตลาดคริปโตจะปรับตัวขึ้นอย่างแน่นอนในอีก 12 เดือนข้างหน้า ทั้งยังพบอีกว่า จาก 54% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีการใช้งานคริปโตที่เป็น Stablecoin และมี 35% ที่ใช้คริปโตแทนการโอนเงินปกติ
ย้อนไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2023 สิงคโปร์ได้วางแผนที่จะกำหนดเงื่อนไขและกฎเกณฑ์สำหรับแพลตฟอร์มเทรดคริปโต เพื่อที่จะสร้างความเชื่อมั่นและปกป้องนักลงทุน
ถัดจากนั้นในเดือนกันยายนของปี 2023 ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ได้ทดลองใช้สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) เพื่อทำธุรกรรมและชำระราคาข้ามประเทศร่วมกับธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements) ธนาคารกลางฝรั่งเศส และธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์
นอกจากนี้ MAS ยังได้ทำงานร่วมกับสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อพัฒนาการให้บริการเกี่ยวกับคริปโต ซึ่งก็ครอบคลุมไปถึง Stablecoin, NFTs หรือเครดิตในเกม เป็นต้น
อ้างอิง: