×

หลังการระบาดระลอกโอมิครอน สิงคโปร์อยู่ร่วมกับโควิดอย่างไร

27.04.2022
  • LOADING...
สิงคโปร์อยู่ร่วมกับโควิดอย่างไร

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ประเทศสิงคโปร์ประกาศลดระดับการเตือนภัยโรคระบาด (DORSCON Alert Level) สำหรับโควิดจาก ‘สีส้ม’ ที่ประกาศมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็น ‘สีเหลือง’ ซึ่งหมายความว่าโรคกำลังระบาดในสิงคโปร์ แต่อาการไม่รุนแรงหรือควบคุมการระบาดได้ พร้อมกับผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด ประชาชนสามารถรวมกลุ่มกันได้โดยไม่ต้องสวมหน้ากากและไม่จำกัดจำนวน และกลับเข้าทำงานได้ตามปกติตั้งแต่วันที่ 26 เมษายนเป็นต้นไป

 

“วันนี้เป็นหมุดหมายสำคัญเนื่องจากเราสามารถประกาศลดระดับสถานะการระบาดใหญ่จากสีส้มเป็นสีเหลือง แน่นอนว่าเรารู้ว่าอันตรายยังไม่สิ้นสุด แต่เราก็สามารถผ่อนคลายได้มากขึ้น” ออง ยี กุง รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์กล่าว หลังการระบาดระลอกโอมิครอนผ่านไป สิงคโปร์กำหนดมาตรการควบคุมโควิดอย่างไร เหมือนหรือแตกต่างจากมาตรการของไทย และปัจจัยอะไรที่ทำให้สิงคโปร์มั่นใจในการผ่อนคลายมาตรการ 

 

สถานการณ์การระบาดในสิงคโปร์

 

สิงคโปร์เผชิญกับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนพร้อมกับประเทศอื่นทั่วโลก จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนมกราคม 2565 จนถึงจุดสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ จำนวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 7 วัน เท่ากับ 18,571 ราย/วัน (326.6 รายต่อแสนประชากร) แล้วลดลงจนปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อ 2,917 ราย/วัน (51.3 รายต่อแสนประชากร หรือถ้าเทียบกับไทยคือประมาณ 35,000 ราย/วัน) ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 7 วันสูงสุดในระลอกนี้เท่ากับ 11 ราย/วัน และปัจจุบันมีผู้เสียชีวิต 2 ราย/วัน (อัตราป่วยตาย 0.11%)

 

ถึงแม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะยังไม่ลดลงเท่ากับช่วงก่อนหน้าระลอกโอมิครอน แต่สิงคโปร์นั้นเริ่มผ่อนคลายมาตรการมาตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2565 โดยไม่บังคับให้ประชาชนสวมหน้ากากภายนอกอาคาร อนุญาตให้รวมตัวกันเพิ่มขึ้นจาก 5 คน เป็น 10 คน และให้ทำงานที่สถานที่ทำงานได้จาก 50% เป็น 75% ซึ่ง “หลังจากขั้นตอนที่สำคัญนี้ เราจะรอให้สถานการณ์คงที่ ถ้าทุกอย่างไปได้ดี เราจะผ่อนคลายมากขึ้นอีก” ลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์กล่าวเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565

 

แต่เตือนว่า “เมื่อมีการรวมตัวกันมากขึ้น เราอาจเห็นการระบาดอีกระลอก และโอมิครอนจะไม่ใช่สายพันธุ์สุดท้ายที่เราเผชิญ ไวรัสยังคงพัฒนาต่อไป หวังว่าสายพันธุ์ใหม่จะค่อยๆ รุนแรงน้อยลงและเหมือนไข้หวัดใหญ่มากขึ้น แต่ก็มีโอกาสที่จะรุนแรงและอันตรายขึ้นเหมือนสายพันธุ์เดลตา”

 

หนึ่งเดือนถัดมาสถานการณ์การระบาดคงที่อย่างที่คาดหวัง จำนวนผู้ติดเชื้อค่อยๆ ลดลงจนทรงตัว คณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงจึงผ่อนคลายมาตรการมากขึ้นอีก โดยน่าจะเป็นการผ่อนคลายมากที่สุดเท่าที่เคยประกาศมานับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด “เราสามารถดำเนินการขั้นต่อไปเพื่อฟื้นฟูภาวะปกติก่อนโควิด (Pre-COVID-19 Normalcy) อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เราไม่ควรจะประกาศวันอิสรภาพจนกว่าการระบาดใหญ่จะสิ้นสุดลงอย่างแท้จริง” ออง ยี กุง กล่าว

 

การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค

 

สำนักข่าว CNA สรุปการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของสิงคโปร์ไว้ 10 ข้อ ดังนี้

  1. ไม่จำกัดขนาดการรวมกลุ่มกัน จากเดิมที่จำกัดจำนวนคนสำหรับกิจกรรมที่ถอดหน้ากาก และจำกัดจำนวนแขกที่ไปเยี่ยมบ้านสูงสุดไม่เกิน 10 คน
  2. ทำงานที่สำนักงานได้ 100% จากเดิมที่จำกัดจำนวนการเข้าทำงานไม่เกิน 75% และสามารถถอดหน้ากากได้เมื่อไม่ได้อยู่ใกล้ชิดหรือไม่ได้อยู่ในพื้นที่ต้อนรับลูกค้า แต่ทุกคนยังต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการเว้นระยะห่างที่เหมาะสมเมื่อไม่ได้สวมหน้ากาก
  3. ยกเลิกบังคับการเว้นระยะห่าง (Safe Distancing) เมื่อไม่จำกัดขนาดการรวมกลุ่มกันจึงไม่บังคับการเว้นระยะห่างตามไปด้วย จากเดิมที่จำกัดจำนวนผู้ร่วมงาน 75% ของกิจกรรมที่รวมกลุ่มกันเกิน 1,000 คน แต่ยังบังคับสวมหน้ากากภายในอาการ เช่น ขนส่งสาธารณะ และแนะนำให้สวมหน้ากากภายนอกอาคารที่มีคนพลุกพล่าน
  4. ยกเลิกมาตรการที่ขึ้นกับประวัติการฉีดวัคซีน (Vaccination-Differentiated Safe Management Measures: VDS) จากที่เคยบังคับว่าจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วเท่านั้น ยกเว้นกิจกรรมคอนเสิร์ตกลางคืนที่มีผู้ร่วมงานมากกว่า 500 คน ร้านอาหาร บาร์ และคาราโอเกะ
  5. ยกเลิกการติดตามผู้สัมผัสด้วย TraceTogether และ SafeEntry (ถ้าเทียบกับไทยคือแอปพลิเคชันไทยชนะ) ในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และสถานที่สำคัญทางศาสนา แต่ยังใช้ตรวจสอบประวัติการได้รับวัคซีนในสถานที่ที่ใช้ VDS (ไม่บังคับเช็กอินด้วย SafeEntry แต่จะมีเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจ) และอาจนำแอปนี้กลับมาใช้หากมีการระบาดของสายพันธุ์ใหม่
  6. ยกเลิกการตรวจหาเชื้อก่อนเดินทางเข้าประเทศ ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์และเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ไม่ต้องตรวจหาเชื้อก่อนเดินทางเข้าประเทศ
  7. การเดินทางระหว่างสิงคโปร์และมาเลเซียที่สะดวกขึ้น รถโดยสารและแท็กซี่ระหว่างประเทศกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป 
  8. ยกเลิกการแจ้งเตือนความเสี่ยงด้านสุขภาพ (Health Risk Notice) ผู้ติดเชื้อไม่ต้องส่งข้อมูลผู้สัมผัสในครัวเรือนให้กับทางการ แต่เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมในการแจ้งให้ผู้สัมผัสปฏิบัติตามมาตรการที่จำเป็น (ไม่ต้องกักตัว แต่ให้ตรวจ ART เป็นเวลา 5 วัน)
  9. ยกเลิกการตรวจหาเชื้อฟรี จากเดิมที่ให้บริการตรวจหาเชื้อด้วย ART (Antigen Rapid Tests ถ้าเทียบกับไทยคือ ATK) และการตรวจหาเชื้อที่คลินิกโรคติดเชื้อทางเดินหายใจวันหยุด
  10. ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในผู้ที่ติดเชื้อและลดจำนวนศูนย์ฉีดวัคซีนลง เนื่องจากการลดลงของภูมิคุ้มกัน วัคซีนเข็มกระตุ้นจึงแนะนำสำหรับผู้ติดเชื้อที่หายแล้ว (ภายใน 9 เดือนหลังได้รับวัคซีนครบ) และผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว

 

ถ้าเทียบกับไทย มาตรการ DMHTTA จะเหลือเฉพาะ MA ซึ่งไม่บังคับในทุกสถานที่ คือบังคับสวมหน้ากาก (M-Mask) เฉพาะภายในอาคาร และใช้แอปติดตามผู้สัมผัส (A-Application) เพื่อตรวจสอบประวัติการได้รับวัคซีนในบางสถานที่เท่านั้น ส่วนมาตรการทางสาธารณสุข TTIQ จะเหลือเฉพาะ TI คือยังคงมีการตรวจหาเชื้อ (T-Test) แต่ไม่ฟรี และการแยกกัก (I-Isolation) ซึ่งในสิงคโปร์ลดเหลือ 72 ชั่วโมง ร่วมกับการตรวจ ART เป็นลบมาระยะหนึ่งแล้ว

 

ปัจจัยอะไรที่ทำให้สิงคโปร์มั่นใจ

 

คาดว่ามี 2 ปัจจัยหลักที่ทำให้ประเทศสิงคโปร์มั่นใจในการผ่อนคลายมาตรการจนใกล้เคียงกับการใช้ชีวิตปกติก่อนการระบาดของโควิด คือ

 

  • สถานการณ์การระบาดในสิงคโปร์มีแนวโน้มลดลง โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ระบุว่า จำนวนผู้ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลคาดว่าจะลดลงจากจุดสูงสุด 1,726 ราย เหลือเพียง 266 ราย และจำนวนผู้ป่วยในไอซียูเหลือเพียงตัวเลขหลักเดียว ส่วนอัตราการรักษาในไอซียูและการรักษาด้วยการให้ออกซิเจนเท่ากับ 0.03% และ 0.2% เท่ากับว่าศักยภาพของระบบสาธารณสุขสามารถรองรับการระบาดได้ หากเกิดการระบาดขึ้นมาอีกครั้ง
  • ความครอบคลุมของวัคซีนที่สูง โดยในสิงคโปร์มีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม คิดเป็น 96% ของประชากรทั้งหมด (ของไทยเท่ากับ 80.8%) และ 92% ของผู้ที่ควรได้รับวัคซีน อีกทั้งมีอัตราการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่สูง คิดเป็น 74% ของประชากรทั้งหมด (ของไทยเท่ากับ 36.8%) ทำให้ถึงแม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อมาก แต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการรุนแรง จึงสามารถรักษาตัวที่บ้านผ่านระบบการแพทย์ทางไกลและไม่กดดันระบบสาธารณสุข

 

การรับมือกับการระบาดระลอกใหม่

 

ออง ยี กุง กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 ว่า หากลักษณะของสายพันธุ์ใหม่ยังคงคล้ายกับโอมิครอนและวัคซีนรุ่นเดิมยังป้องกันได้ดีก็อาจฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ 2 แต่ถ้าสายพันธุ์ใหม่มีอันตรายมากกว่าโอมิครอน คือทำให้เสียชีวิตและมีอาการรุนแรง ก็อาจต้องใช้กลยุทธ์ที่ต่างออกไป คือต้องกลับไปใช้การตรวจหาเชื้อ (Test) การติดตามผู้สัมผัส (Trace) การแยกกัก (Isolation) และการกักกัน (Quarantine) (ชื่อเต็มของ TTIQ)

 

สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดคือเราอาจต้องรออย่างน้อย 6 เดือน ระหว่างที่นักวิทยาศาสตร์คิดค้นวัคซีนที่จำเพาะกับสายพันธุ์ใหม่ “นี่เป็นหนึ่งในกรณีที่เลวร้ายที่สุดที่เราต้องเตรียมใจไว้ กระทรวงสาธารณสุขยังคงทำงานร่วมกับเครือข่ายระหว่างประเทศในการติดตามการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ใหม่” ออง ยี กุง กล่าวทิ้งท้าย 

 

สังเกตว่ามาตรการควบคุมโควิดหลังการระบาดของโอมิครอนในสิงคโปร์ใกล้เคียงกับความปกติแบบเดิมมาก ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสื่อสารกับประชาชนของสิงคโปร์ก็ทำได้ดีเสมอต้นเสมอปลาย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X