×

5 ประเด็นน่าจับตาในการเลือกตั้งสิงคโปร์ 2020 ศึกครั้งสุดท้ายของลีเซียนลุง

09.07.2020
  • LOADING...

ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างสิงคโปร์เตรียมจัดการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในวันที่ 10 กรกฎาคมนี้ หลังประธานาธิบดีฮาลิมา ยาขอบ เห็นชอบต่อข้อเสนอยุบสภาของนายกรัฐมนตรีลีเซียนลุง ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา นับเป็นการจัดการเลือกตั้งระดับชาติที่ใช้ระยะเวลาเตรียมการก่อนเปิดคูหาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น

 

โดยการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ชิงชัย 93 ที่นั่ง ซึ่ง 14 ที่นั่งมาจากเขตเดียวเบอร์เดียว (Single Member Constituencies: SMCs) ที่ใช้การแบ่งเขตคะแนนสูงสุด (First past-the-post) ใน 14 เขตเลือกตั้ง คนที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดเพียงคนเดียวจะได้รับเลือก ขณะที่อีก 79 ที่นั่งที่เหลือมาจากระบบเขตใหญ่ยกพรรค (Group Representation Constituencies: GRCs) ในอีก 17 เขตเลือกตั้งที่เหลือทั่วประเทศ

 

นี่คือ 5 ประเด็นน่าจับตาในการเลือกตั้งสิงคโปร์ 2020

 

 

ภาพ: Suhaimi Abdullah / Getty Images

 

การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายของลีเซียนลุง ผู้นำรุ่นที่ 3 ของสิงคโปร์

 

นายกรัฐมนตรีลีเซียนลุงเตรียมส่งต่ออำนาจให้แก่ทายาททางการเมืองคนใหม่ หลังนั่งเก้าอี้บริหารประเทศมานานตั้งแต่ช่วงกลางปี 2004 การเลือกตั้งครั้งนี้จึงอาจเป็นการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายของเขาที่จะสู้ศึกลงชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ คาดการณ์ว่าเขาจะประกาศวางมือหลังผ่านพ้นการเลือกตั้งใหญ่ในปีนี้ และมีแนวโน้มที่จะส่งต่ออำนาจให้กับทายาททางการเมืองอย่างเฮงสวีเกียต รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนปัจจุบัน เพื่อปูทางเตรียมรับไม้ต่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของสิงคโปร์

 

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนเป็นบททดสอบ สำหรับเฮงสวีเกียตและนักการเมืองเลือดใหม่ของพรรคกิจประชาชน (People’s Action Party: PAP) หรือที่รู้จักกันในชื่อทีม Fourth Generation หรือ 4G ก่อนที่จะก้าวขึ้นมามีบทบาททางการเมืองเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต

 

 

ภาพ: Reuters 

 

มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งมากที่สุดในประวัติศาสตร์สิงคโปร์

 

ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัครรับเลือกตั้งถึง 192 ราย จาก 11 พรรคการเมือง ชิง 93 ที่นั่งใน 31 เขตเลือกตั้งทั่วประเทศ พรรคการเมืองใดคว้า 47 ที่นั่งหรือมากกว่า จะครองเสียงส่วนใหญ่ในสภา และมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่บริหารสิงคโปร์ต่อไปอีก 5 ปี 

 

หนึ่งในพรรคการเมืองที่น่าสนใจคือ พรรคสิงคโปร์ก้าวหน้า (Progress Singapore Party: PSP) ที่มีน้องชายนากยกรัฐมนตรีสิงคโปร์อย่างลีเซียนหยางให้การสนับสนุนและสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของพรรค แสดงจุดยืนอยู่ขั้วตรงข้ามทางการเมืองกับพี่ชายของตนเอง โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ ลีเซียนหยางไม่ได้สมัครลงรับเลือกตั้งในนาม PSP แต่อย่างใด ซึ่งเขาเชื่อมั่นว่าผู้นำทางการเมืองของสิงคโปร์ต้องการคนที่มีความสามารถ ไม่ได้ผูกขาดอยู่ที่ครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง พร้อมระบุถึงสาเหตุที่เขาไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะเขาเห็นว่าสิงคโปร์ไม่จำเป็นต้องมีคนสกุลลีเข้าไปมีส่วนบริหารประเทศอีกในช่วงเวลานี้ คาดพรรค PSP ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2019 นี้จะสร้างสีสันให้กับการเลือกตั้งครั้งใหญ่นี้ไม่มากก็น้อย

 

 

ภาพ: Edgar Su / Reuters

 

การเลือกตั้งแบบ New Normal ในช่วงที่โควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดต่อเนื่อง

 

นอกจากเหตุผลด้านระยะเวลาที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่เดือนของรัฐสภาชุดปัจจุบันแล้ว การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศได้ ภายหลังที่ตรวจพบคลัสเตอร์แรงงานต่างชาติขนาดใหญ่ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้นายกรัฐมนตรีลีเซียนลุงเสนอให้มีการยุบสภา เพื่อเปิดทางให้คณะรัฐบาล รวมถึงสมาชิกสภาชุดใหม่บริหารประเทศ และตอบสนองต่อวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องรอให้หมดวาระในเดือนเมษายน ปี 2021 เพราะหากรอจนถึงปีหน้า อาจเกิดความไม่แน่นอนหลายประการ รวมถึงอาจเกิดการระบาดระลอกใหม่ที่จะยิ่งเปิดช่องโหว่ให้พรรคฝ่ายค้านวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของพรรครัฐบาลอย่าง PAP ได้มากยิ่งขึ้น

 

การเลือกตั้งแบบ New Normal จะเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้สูงอายุที่มีสิทธิเลือกตั้งสามารถลงคะแนนได้ก่อน ซึ่งจะกำหนดให้ผู้มาลงคะแนนเสียงต้องสวมถุงมือใช้แล้วทิ้ง ขณะทำการลงคะแนนเสียงในคูหาเลือกตั้ง โดยทางการได้อนุญาตให้บุคคลที่อยู่ในระหว่างการกักตัวที่โรงแรมหรืออยู่ในระหว่างการพักรักษาตัว สามารถเลือกตั้งนอกเขตที่ตนมีรายชื่ออยู่ได้ พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนคูหาเลือกตั้งจาก 880 แห่งเป็น 1,100 แห่งทั่วประเทศ เพื่อลดความหนาแน่นของจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในแต่ละคูหา รวมถึงเอื้อให้การเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างที่จัดการเลือกตั้งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ภาพ: Suhaimi Abdullah / Getty Images

 

พรรค PAP เตรียมคว้าชัยเลือกตั้งใหญ่ระดับชาติเป็นครั้งที่ 15 ติดต่อกัน

 

พรรคกิจประชาชน หรือพรรค PAP ถือเป็นพรรคที่ครองอำนาจในการบริหารประเทศมาอย่างยาวนาน โดยมีอดีตนายกรัฐมนตรีลีกวนยูเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งร่วมเมื่อปี 1954 ก่อนที่พรรค PAP นี้จะประสบความสำเร็จ ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปี 1959 ขณะที่ยังคงเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ก่อนที่จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งระดับชาติเรื่อยมา จนกลายเป็นพรรคการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดในสิงคโปร์ และผูกขาดอำนาจในทางการเมือง ตั้งแต่ก่อนประกาศเอกราชจากอังกฤษ และแยกตัวออกจากมาเลเซียในปี 1965

 

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า พรรค PAP ของนายกรัฐมนตรีลีเซียนลุงจะยังคงคว้าชัยในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ หากเป็นเช่นนั้น นี่จะถือเป็นการชนะการเลือกตั้งระดับชาติเป็นครั้งที่ 15 ติดต่อกัน รวมถึงจะนั่งเก้าอี้บริหารประเทศต่ออีก 5 ปี หลังจากกุมอำนาจรัฐบาลมานานกว่า 60 ปี ก่อนจะส่งไม้ต่อให้กับทายาททางการเมืองรุ่นที่ 4 สู้ศึกการเลือกตั้งใหญ่สมัยหน้า ซึ่งนโยบายที่ใช้ฟื้นฟูประเทศและรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ถือว่ามีความสำคัญมากในการเลือกตั้งหนนี้

 

 

ภาพ: Suhaimi Abdullah / Getty Images

 

เดิมพันครั้งสำคัญของพรรคแรงงาน…หรือฝ่ายค้านจะไม่มีที่นั่งในรัฐสภาสิงคโปร์

 

ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา เมื่อปี 2015 พรรคแรงงานสิงคโปร์ (Workers’ Party: WP) ที่มีพริทาม ซิงห์ นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค เป็นเพียงพรรคเดียวจาก 8 พรรคการเมืองคู่แข่งของพรรค PAP ที่สามารถคว้าที่นั่งในสภาจากการเลือกตั้งได้ 6 ที่นั่ง ขณะที่พรรครัฐบาลเสียงข้างมากของนายกรัฐมนตรีลีเซียนลุงคว้าชัยไปได้สูงถึง 83 ที่นั่ง จาก 27 เขตเลือกตั้ง

 

โดย 6 ที่นั่งของพรรคแรงงานเมื่อ 5 ปีก่อนนั้นมาจากเขตเดียวเบอร์เดียว 1 ที่นั่งจากเขต Hougang SMC ส่วนอีก 5 ที่นั่งที่เหลือมาจากระบบเขตใหญ่ยกพรรคจากเขต Aljunied GRC ป้อมปราการเขตสุดท้ายของพรรคฝ่ายค้านในรัฐสภาสิงคโปร์ การจะกลับมาคว้าชัยชนะยกเขตอีกครั้งในการเลือกตั้งหนนี้ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายของพรรคแรงงาน หลังจากเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา พรรคแรงงานได้รับคะแนนเสียงในเขต Aljunied GRC ลดลง 54.72% (2011) มาเป็น 50.95% (2015) ขณะที่พรรค PAP ได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นจาก 45.28% (2011) เป็น 49.05% (2015) 

 

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญมากสำหรับสิงคโปร์ โดยเฉพาะในเขต Aljunied GRC ว่าเขตฐานคะแนนเสียงของพรรคแรงงานนี้จะยังคงเป็นปราการด่านสุดท้ายให้กับพรรคฝ่ายค้านในรัฐสภาสิงคโปร์ได้หรือไม่ หรือพรรครัฐบาลจะกวาดคะแนนเสียงจนหมด จนฝ่ายค้านอาจไม่มีที่นั่งในรัฐสภา 

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising