×

ทำความรู้จักล่ามภาษามือ ที่ช่วยให้คนหูหนวกสนุกในคอนเสิร์ตได้ไม่แพ้กัน

10.05.2018
  • LOADING...

บางคนอาจสงสัยว่าผู้พิการทางการได้ยินจะฟังเพลงได้หรือไม่? แล้วถ้าอย่างนั้น พวกเขาจะไปคอนเสิร์ตได้ไหม? คำตอบคือ ได้!

 

ผู้พิการทางการได้ยินสามารถฟังเพลงและไปคอนเสิร์ตได้เหมือนคนปกติ เพียงแค่วิธีการของพวกเขาอาจจะแตกต่างไปสักหน่อย โดยการฟังเพลงของคนหูหนวกทำได้ทั้งผ่านครื่องมือช่วยฟัง หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่ได้ใส่เครื่องช่วยฟัง ความดังของเพลงก็เป็นตัวช่วยให้ได้ยิน และแรงสั่นสะเทือนจากเครื่องขยายเสียงก็ช่วยให้รับรู้ดนตรีได้มากขึ้น

 

แต่การฟังเพลงทุกวันนี้มันก็ไม่ใช่แค่การฟังเสียงดนตรี หรือทำนองเพียงอย่างเดียว เพราะอีกหนึ่งส่วนสำคัญของเพลงก็คือ ‘เนื้อเพลง’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟังเพลงในเทศกาลดนตรีหรือการแสดงคอนเสิร์ต ที่ไม่มีวิดีโอหรือเนื้อเพลงประกอบโชว์ให้ดู และนี่เองคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ‘ล่ามภาษามือ’ เริ่มเข้ามามีบทบาทในคอนเสิร์ตทุกวันนี้

 

Photo: images.indianexpress.com

 

อย่าลืมว่าการไปคอนเสิร์ตไม่ได้มีแค่การฟังเพลงอย่างเดียว แต่มันยังรวมถึงบรรยากาศในงาน ความสนุกสนานของกลุ่มคนดู และการแสดงของตัวศิลปิน เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่กลุ่มคนหูหนวกจะเลือกไปเทศกาลดนตรีต่างๆ เพราะมีสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้พวกเขาเข้าถึงเพลงเหล่านั้นได้คือ ล่ามภาษามือ ที่อยู่หน้าเวทีคอนเสิร์ตนั่นเอง

 

Photo: vsamass.org

 

ตั้งแต่ช่วงปี 1990 สภาของสหรัฐอเมริกาออกกฎหมาย Americans With Disabilities Act ที่ช่วยสนับสนุนความเท่าเทียมของประชาชนทุกคน รวมทั้งผู้พิการ ซึ่งหมายถึงการอำนวยความสะดวกให้กลุ่มคนพิการทุกรูปแบบ ทั้งห้องน้ำสาธารณะสำหรับผู้พิการ ทางลาดของผู้ที่ต้องใช้รถเข็น ไปจนถึงการเข้าชมคอนเสิร์ตที่ทำให้กลุ่มผู้พิการเข้าถึงดนตรีได้ง่ายขึ้น

 

นั่นทำให้เราเริ่มได้เห็นล่ามภาษามือในเทศกาลดนตรีใหญ่ๆ มากขึ้น จนเกิดเป็นกลุ่มองค์กรที่นำเสนอ และจัดหาล่ามภาษามือให้คอนเสิร์ตต่างๆ เช่น กลุ่ม LotuSIGN, DEAFinitely Dope และ D-PAN ที่เข้าใจธรรมชาติของภาษามือ และช่วยให้ผู้พิการทางการได้ยินมีช่องทางในการเข้าถึงดนตรีมากขึ้น บางองค์กรยังช่วยทำหน้าที่ประสานงานกับกลุ่มผู้จัดทำคอนเสิร์ต และผู้จัดการวงดนตรี เพื่อเปลี่ยนเสียงให้เป็นภาพ และเปลี่ยนภาพให้เป็นเสียงสำหรับผู้พิการในคอนเสิร์ตอีกด้วย

 

กลุ่มล่ามภาษามือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสังคมผู้พิการทางการได้ยินในแต่ละพื้นที่ ทำให้มีการบอกต่อเกี่ยวกับคอนเสิร์ต หรือเทศกาลดนตรีที่จะมีล่ามแปลภาษาภายในงาน หลังจากนั้นพวกเขาก็จะต้องรับข้อมูลจากผู้จัดงาน ศิลปินที่จ้าง และนำข้อมูลมาศึกษา โดยกลุ่มล่ามภาษามือจะต้องอยู่ในบริเวณเวทีที่เห็นได้ชัด นอกจากนี้พวกเขายังต้องเตรียมหูฟัง in-ear monitors และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ช่วยให้ล่ามได้ยินเนื้อเพลง และเสียงพูดของศิลปินชัดขึ้น เพราะหากมีการเปลี่ยนเนื้อเพลง หรือต้องแปลสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากตอนซ้อม พวกเขาต้องได้ยินทุกคำชัดพอที่จะแปลได้ อย่างไรก็ตามกลุ่มล่ามภาษามือที่มีประสบการณ์มักทำการบ้านมาอย่างดี และรู้รูปแบบการแสดงของศิลปินเหล่านั้นอยู่แล้ว

 

Photo: hips.hearstapps.com

 

ตั้งแต่ช่วงปี 2012 เป็นต้นมา คอนเสิร์ตใหญ่ๆ ในอเมริกาเริ่มมีล่ามภาษามือมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งพลังจากโซเชียลมีเดียที่ช่วยแชร์คลิปวิดีโอจากคอนเสิร์ตต่างๆ ทำให้เราได้เห็นความสามารถของล่ามภาษามือ ทั้งการแปลภาษา และสร้างความสนุกสนานได้ไม่แพ้กับศิลปินบนเวที อย่างเช่น ฮอลลี มาเนียตตี (Holly Maniatty) ล่ามภาษามือที่โด่งดังจากคอนเสิร์ตของ Snoop Dogg และ Wu-Tang Clan นอกจากจะสื่อสารผ่านภาษามือแล้ว เธอยังสนุกกับเพลงฮิปฮอปพอๆ กับศิลปิน โดยเธอได้ให้สัมภาษณ์กับ CBC ไว้ว่าเพลงของ Snoop Dog มีพลังงานเยอะมาก และมีเสียงทุ้มของเบสหนักทำให้เธอต้องโยกไปตามทำนอง เพื่อสื่อสารให้คนดูรับรู้ถึงดนตรีให้ได้มากที่สุด ส่วนการเตรียมตัวนอกจากศึกษาเนื้อเพลงมาก่อนแล้ว เธอยังต้องทำรีเสิร์ชเกี่ยวกับตัวศิลปินอย่างละเอียดอีกด้วย

 

ฮอลลี มาเนียตตี ยังบอกว่า สิ่งสำคัญสำหรับหน้าที่ล่ามภาษามือในคอนเสิร์ต คือความตั้งใจเพื่อให้ผู้พิการทางการได้ยินจะเข้าถึงดนตรี สนุกไปกับมัน และมีช่วงเวลาที่ดีเช่นเดียวกับคนอื่นๆ

 

คอนเสิร์ตศิลปิน Wu-Tang Clan เทศกาลดนตรี Bonnaroo Music and Arts Festival ในรัฐ Tennessee ปี 2013 ซึ่งมี ฮอลลี มาเนียตตี เป็นล่ามภาษามืออยู่ด้วย

 

ล่ามภาษามืออีกคนที่เป็นที่รู้จักกันดีในวงการฯ คือ แอมเบอร์ กัลโลเวย์ กัลเลโก (Amber Galloway Gallego) เธอเป็นล่ามภาษามือในคอนเสิร์ตของศิลปินดังหลายคน ทั้ง โคลด์เพลย์, อเดล ไปจนถึง เลดี้ กาก้า นอกจากนี้เธอยังมีแชนเนลในยูทูบ  เป็นของตัวเอง ที่นำเพลงดังของศิลปินต่างๆ มาแปลภาษามือ เพื่อให้ผู้พิการทางการได้ยินมีตัวเลือกในการฟังเพลงมากขึ้น TEDMED ยังกล่าวชื่นชมว่าเธอแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงทางอารมณ์ระหว่างเนื้อเพลง และดนตรี ผ่านการเคลื่อนไหวของมือ อีกทั้งเธอได้สร้างสไตล์ส่วนตัวในการแปลเพลงผ่านภาษามือ

 

คอนเสิร์ต Red Hot Chili Peppers ในงาน Lollapalooza 2016 โดยมี แอมเบอร์ กัลโลเวย์ กัลเลโก เป็นล่ามภาษามือในงาน

กลุ่มล่ามภาษามือเป็นที่สนใจมากขึ้น จนในที่สุดได้ไปออกรายการ Jimmy Kimmel Live! และทำการแข่งขันแปลภาษามือเพลงฮิปฮอป หรือการที่ บารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ได้รับ ลีอาห์ แคตซ์-เฮอร์แนนเดซ (Leah Katz-Hernandez) ผู้พิการทางการได้ยินเข้าทำงานเป็นเลขา ทำหน้าที่ต้อนรับแขกที่มาเยือนทำเนียบประธานาธิบดี ไปจนถึง Master of None ซีรีส์ตลกของ อาซิส แอนซารี (Aziz Ansari) ที่มีนักแสดงใช้ภาษามือในเอพิโสด New York, I Love You สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเห็นว่าสังคมเริ่มรับฟังเสียงจากกลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน และต่อไปเราอาจได้เห็นช่องทางใหม่ๆ ในการไปชมคอนเสิร์ต หรือกิจกรรมอื่นๆ ของกลุ่มผู้พิการทุกรูปแบบ ให้พวกเขาใช้ชีวิตได้เช่นเดียวกับคนธรรมดาให้ได้มากที่สุด

FYI
  • ASL Interpreter เป็นล่ามภาษามือที่ใช้ภาษา American Sign Language แต่ภาษามือของแต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่างกันไป อย่างในประเทศไทยก็มี TSL หรือ Thai Sign Language เช่นเดียวกัน แม้จะมีภาษามือสากลที่ใช้เป็นภาษากลาง แต่คลังคำศัพท์มีน้อย ทำให้ผู้พิการทางการได้ยินส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้ภาษามือประจำพื้นที่ของตัวเองมากกว่า
  • ที่ประเทศไทยเองก็มีล่ามภาษามือสุดน่ารักที่ใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า สุนิสา จันทรสกุนต์ เธอได้ไลฟ์แปลภาษามือให้กับละคร บุพเพสันนิวาส เพื่อผู้พิการจะเข้าใจเนื้อหาได้มากขึ้น
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising