×

‘เมืองโบราณศรีเทพ’ กับวิกฤตที่ต้องเร่งช่วยกันเพื่อความยั่งยืน

17.10.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • การที่เมืองโบราณศรีเทพได้เป็นแหล่งมรดกโลกนั้นต้องคิดแผนระยะยาวเพื่อรับมือกับการท่องเที่ยว พร้อมกับพัฒนาให้ศรีเทพเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน
  • การนำเสนอความเป็นของแท้ (Authenticity) จึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ปัจจุบันประติมากรรมชิ้นสำคัญของศรีเทพกลับไปอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (กรุงเทพฯ) และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ (ลพบุรี
  • พิพิธภัณฑ์ภายใต้แนวคิดการเรียนรู้เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง นอกจากการนำโบราณวัตถุของแท้กลับมาจัดแสดงที่เมืองโบราณศรีเทพแล้ว ควรต้องมีวิธีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจมากกว่าป้ายบอกว่าโบราณวัตถุชิ้นนี้คืออะไร และที่ต้องมีด้วยคืออุปกรณ์หรือกิจกรรมที่ตอบสนองต่อการเรียนรู้

หลังจากประชาชนเริ่มทราบข่าวว่าเมืองโบราณศรีเทพได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการ ผู้คนต่างหลั่งไหลไปเยี่ยมชมเมืองโบราณแห่งนี้กันอย่างมหาศาล บางวันเกือบหมื่นคน 

 

ด้านหนึ่งก็นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่คนไทยให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์โบราณคดี แต่อีกด้านหนึ่ง หลังจากที่ผมไปมา 2 ครั้ง คิดว่ามีหลายเรื่องที่ต้องเร่งทำและเป็นข้อน่ากังวล  

 

เรื่องแรก ศรีเทพควรมีพิพิธภัณฑ์ของตนเอง ความจริงแล้วเดิมทีศรีเทพเคยมีอาคารนิทรรศการและจัดแสดงโบราณวัตถุ ซึ่งถือเป็นอาคารที่ดีมาก มีขนาดพอเหมาะ แต่ปัจจุบันเท่าที่สอบถามเจ้าหน้าที่ อาคารดังกล่าวเกิดการชำรุดเสียหายและน้ำฝนรั่วเข้ามาได้ จึงทำให้ต้องปิดอาคารจัดแสดงหลังแรก เหลือเฉพาะอาคารหลังที่สองเท่านั้นที่ตอนนี้มีโปสเตอร์/นิทรรศการอธิบายความสำคัญของศรีเทพ ในระยะใกล้ ไม่ต้องระยะไกลคือการปรับปรุงอาคารหลังเดิมให้สามารถใช้งานได้ก่อน จากนั้นค่อยวางแผนคิดเรื่องการสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ใหม่ให้สมกับการได้รับมรดกโลก 

 

ร้านค้าตั้งประชิดติดโบราณสถานมากจนเกินไป 

 

เรื่องที่สอง สำคัญมากคือ โบราณวัตถุและประติมากรรมต่างๆ ของศรีเทพควรนำกลับคืนมาจัดแสดงที่ศรีเทพ เพื่อสร้างแรงดึงดูดให้คนเดินทางไป และผมเชื่อว่านักท่องเที่ยวต่างคาดหวังจะได้ดูโบราณวัตถุของแท้ของศรีเทพ ไม่ใช่ดูของจำลอง อีกทั้งข้อเสนอต่อยูเนสโกยังเน้นย้ำเรื่อง ‘สกุลช่างศรีเทพ’ 

 

ดังนั้นการนำเสนอความเป็นของแท้ (Authenticity) จึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ปัจจุบันประติมากรรมชิ้นสำคัญของศรีเทพกลับไปอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (กรุงเทพฯ) และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ (ลพบุรี)

 

แต่ลำพังเอาโบราณวัตถุของแท้มาตั้งอย่างเดียวนั้นก็ยังไม่เพียงพอ แต่ต้องมีวิธีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจมากกว่าป้ายบอกว่าโบราณวัตถุชิ้นนี้คืออะไร และที่ต้องมีด้วยคืออุปกรณ์หรือกิจกรรมที่ตอบสนองต่อการเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ภายใต้แนวคิดการเรียนรู้จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง 

 

ประติมากรรมรูปพระพุทธเจ้าอมิตาภะ (?) และประติมากรรมรูปพระสุริยเทพ พบที่ศรีเทพ

 

เรื่องที่สาม การสื่อความหมายของโบราณสถานแต่ละแห่ง เท่าที่สังเกต อุทยานพยายามติดป้ายต่างๆ ดีแล้ว แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอ ตัวอย่างเช่น เขาคลังใน มีความเชื่อมโยงกับโบราณสถานที่ใด ทั้งในไทย เช่น ที่คูบัว และในอินเดีย เช่น ที่มหาวิหารนาลันทา ประติมากรรมปูนปั้นรูปคนแคระ และสัตว์ต่างๆ นั้นหมายถึงอะไร (เช่น สัมพันธ์กับคติเรื่องป่าหิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุ) หรือประติมากรรมรูปพระอาทิตย์มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับชุมชนชาวเปอร์เซีย โบราณสถานบางแห่งถ้าหากมีภาพสันนิษฐานรูปแบบดั้งเดิมก็จะดีมากสำหรับคนทั่วไป เพราะถ้าไม่มีความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะก็ยากที่จะจินตนาการได้ง่ายๆ 

 

ประติมากรรมปูนปั้นประดับฐานโบราณสถานเขาคลังใน

 

เมื่อไม่นานมานี้ผมเพิ่งไปที่บุโรพุทโธ ประเทศอินโดนีเซีย ถือว่ามีการจัดการกระบวนการให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวดีมาก นักท่องเที่ยวจะถูกแบ่งออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 20 คน จากนั้นจะมีไกด์อธิบาย 1 คน ซึ่งได้รับการเทรนด์มาอย่างดี ทำให้นักท่องเที่ยวได้รับความรู้และการเดินภายในบุโรพุทโธก็เป็นไปอย่างเป็นระเบียบ แต่เรื่องนี้เกินกำลังของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ณ ขณะนี้ ทางหนึ่งที่น่าจะช่วยได้คือ ต้องมีการเทรนด์นักเรียนหรือนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น เพื่อมาช่วยอธิบาย ผลัดเปลี่ยนกัน มีกระบวนการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้ชัดเจน ซึ่งก็จะช่วยทำให้เกิดการสร้างอาชีพและเป็นการฝึกเยาวชนด้านการท่องเที่ยวไปพร้อมกัน

 

ป้ายข้อมูลถึงจะมีอยู่บ้างแล้ว แต่ควรทำเพิ่มเพื่อสื่อความหมายให้กับนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

 

เรื่องที่สี่ การพัฒนาความสามารถในการรองรับกับจำนวนนักท่องเที่ยว (Tourism Carrying Capacity) นับตั้งแต่ศรีเทพได้เป็นมรดกโลก พบว่าบางวันมีนักท่องเที่ยวมามากถึงเกือบหมื่นหรือกว่าหมื่น จำนวนเท่านี้ถือว่าเกินที่เจ้าหน้าที่อุทยานและภัณฑารักษ์จะรับมือได้ บางครั้งถึงกับนักโบราณคดีต้องมาขับรถรับ-ส่งนักท่องเที่ยวเองก็มี เรื่องนี้หน่วยงานระดับท้องถิ่นและจังหวัดคงต้องเข้ามาช่วยเหลือให้มากขึ้น เช่นเดียวกันกับเรื่องของห้องน้ำที่มีปัญหาไม่เพียงพอ 

 

นอกเหนือไปจากปัญหาข้างต้นแล้ว สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือโบราณสถาน ซึ่งต้องรองรับกับการเดินของนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากหลายพันคนต่อวัน ซึ่งจะส่งผลให้อิฐและศิลาแลงค่อยๆ สึกกร่อน ชำรุดเสียหาย เรื่องนี้ต้องมีกระบวนการการจัดเส้นทางเดินให้ชัดเจนมากขึ้น

 

การจัดการเส้นทางเดินนั้นเป็นเรื่องจำเป็นทั้งต่อนักท่องเที่ยวและการอนุรักษ์โบราณสถาน

 

รื่องที่ห้า การจัดการพื้นที่และการจัดการขยะ เรื่องนี้ทำได้ดีในระดับหนึ่ง พื้นที่ในเขตเมืองในไม่ค่อยได้รับผลกระทบ เพราะร้านค้าอยู่ห่างจากโบราณสถานหลัก แต่กรณีของเขาคลังนอกนั้นถือได้ว่าน่าเป็นห่วง ร้านค้าล้อมรอบในระยะที่ค่อนข้างใกล้กับโบราณสถาน ทำให้เกิดภาพที่ไม่สวยงามนัก ร้านค้าบางส่วนตั้งอยู่ใกล้กับเจดีย์บริวารประจำทิศ รถยนต์บางคันจอดหน้าเจดีย์บริวาร ทำให้บดบังเจดีย์ และบางจุดเริ่มพบขยะ แต่ก็ยังไม่มากนัก เรื่องร้านค้านี้ต้องระวัง เพราะถ้าปล่อยให้อยู่ในพื้นที่นั้นนานเข้า จะเริ่มเกิดการจับจองและยากต่อการโยกย้ายในอนาคต 

การจัดการพื้นที่และขยะนี้ไม่ใช่หน้าที่ของกรมศิลปากรโดยตรง และภาระงานตอนนี้ก็ดูจะมากเกินไปกับเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ผมคิดว่าหน่วยงานท้องถิ่นและระดับจังหวัดควรต้องเข้ามาช่วยจัดการจัดระเบียบพื้นที่อย่างจริงจังให้มากขึ้น คิดและวางแผนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ร้านค้าตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ควร เช่นเดียวกันกับพื้นที่รอบเมืองศรีเทพ ในอนาคตจะเต็มไปด้วยบ้านเรือน โรงแรม และร้านอาหาร เรื่องนี้จังหวัดเพชรบูรณ์ต้องเร่งคิดเรื่องปัญหาเกี่ยวกับภูมิทัศน์ของเมืองในระยะยาว

 

 

ผมเข้าใจดีว่าภายใต้สถานการณ์ที่ศรีเทพได้เป็นมรดกโลกนี้อาจจะกะทันหันไปเสียหน่อย ทำให้แต่ละฝ่ายเตรียมความพร้อมกันไม่ทัน อีกทั้งยังอยู่ในช่วงรอยต่อทางการเมืองอีกด้วย จึงทำให้เกิดภาวะเช่นนี้ แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่สายไป หน่วยงานต่างๆ ต้องทำงานกันอย่างเป็นบูรณาการ บางเรื่องเกินกำลังและหน้าที่ของกรมศิลปากร หน่วยงานท้องถิ่นและจังหวัดก็ควรต้องเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกและจัดการอย่างจริงจัง เพราะการได้เป็นแหล่งมรดกโลกนั้นต้องคิดแผนระยะยาวเพื่อรับมือกับการท่องเที่ยว พร้อมกับพัฒนาให้ศรีเทพเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X