×

ไขข้อสงสัย อาหารตกพื้นไม่ถึง 5 วิ ปลอดภัยจริงหรือ? หยิบมากินต่อแล้วเราจะไม่ป่วยใช่ไหม

04.02.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • เชื้อแบคทีเรียสามารถปนเปื้อนจากพื้นมายังเยลลี่หมีและคุกกี้ได้ภายในระยะเวลา ‘ไม่ถึง 5 วินาที’
  • 70% ของผู้หญิงและ 56% ของผู้ชายเคยใช้ข้ออ้างนี้ในการหยิบของขึ้นมากินจากพื้น ซึ่งขนมหวานและลูกอมมีแนวโน้มที่จะถูกเก็บขึ้นมากินมากกว่าบร็อกโคลีหรือกะหล่ำดอก อีกทั้งเพศหญิงยังมีแนวโน้มที่จะหยิบของตกพื้นกินมากกว่าเพศชายอีกด้วย
  • จำนวนเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนไปยังอาหารประเภทต่างๆ นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่สัมผัส แต่ขึ้นอยู่กับประเภทของพื้นต่างหาก เนื่องจากพื้นผิวที่แตกต่างกันส่งผลกับปริมาณเชื้อโรคที่ติดมา

ตั้งแต่เด็กเรามักได้ยินผู้ใหญ่สอนสั่งว่า “ของตกพื้นอย่าหยิบกิน เดี๋ยวจะไม่สบาย” แต่พอโตขึ้นมาหน่อยก็เห็นพวกผู้ใหญ่นั่นแหละที่บอกว่า “ตกแป๊บเดียว เชื้อโรคมองไม่เห็น” ว่าแล้วก็คว้าหมับเข้าปากโดยไม่เกรงกลัวต่อสุขอนามัยที่ไม่ดีเลยสักนิด ซึ่งประโยคที่ว่าเชื้อโรคมองไม่เห็น ปัจจุบันได้กลายเป็นประโยคติดปากที่หลายคนมักใช้เวลาทำของกินตกพื้นแล้วเก็บกิน และไม่ใช่แค่ในเมืองไทยเท่านั้น เพราะในต่างประเทศเองก็มีความเชื่อลักษณะนี้เช่นเดียวกัน ที่นิยมใช้กันมากที่สุด ได้แก่ ทฤษฎีที่ว่าของกินตกพื้นไม่ถึง 5 วินาทีนั้นกินได้ ไม่เป็นอันตราย ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายจนมีคนตั้งข้อสงสัยว่า 5 วินาทีที่ว่าปลอดภัยจริงหรือไม่ และระยะเวลามีผลต่อการปนเปื้อนของเชื้อโรคมากน้อยเพียงใด จนได้ข้อสรุปออกมาดังนี้  

 

มือไว ใช่ว่าจะรอด

ย้อนกลับไปในปี 2003 มีผลการศึกษาชิ้นหนึ่งโดย จิลเลียน คลาก (Jillian Clarke) นักเรียนมัธยมปลายที่ฝึกงานด้านการวิจัยกับมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ทีมของเธอได้ทดลองปล่อยเชื้อแบคทีเรียไว้บนกระเบื้องขนาดสี่เหลี่ยม จากนั้นได้วางของกินลงบนกระเบื้องแผ่นนั้นภายใต้ระยะเวลาที่แตกต่างกัน จากการทดลองครั้งนั้นทำให้เธอได้คำตอบว่าเชื้อแบคทีเรียสามารถปนเปื้อนจากพื้นมายังเยลลี่หมีและคุกกี้ได้ภายในระยะเวลา ‘ไม่ถึง 5 วินาที’ แต่ไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าเชื้อโรคปนเปื้อนมากน้อยเพียงใด และจากศึกษาชิ้นเดียวกันนี้ยังบอกเราอีกว่า 70% ของผู้หญิงและ 56% ของผู้ชายเคยใช้ข้ออ้างนี้ในการหยิบของขึ้นมากินจากพื้น ซึ่งขนมหวานและลูกอมมีแนวโน้มที่จะถูกเก็บขึ้นมากินมากกว่าบร็อกโคลีหรือกระหล่ำดอก อีกทั้งเพศหญิงยังมีแนวโน้มที่จะหยิบของตกพื้นกินมากกว่าเพศชายอีกด้วย

 

 

Photo: giphy.com

 

และเพื่อให้ชี้ชัดมากขึ้น ในปี 2007 ได้มีผลการศึกษาชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยเคลมสัน พยายามค้นหาคำตอบว่าระยะเวลาที่อาหารสัมผัสพื้นมีผลกับปริมาณแบคทีเรียที่จะปนเปื้อนอาหารหรือไม่ พวกเขาทดลองด้วยการเตรียมพื้นประเภทต่างๆ ได้แก่ กระเบื้องสี่เหลี่ยม พรม และไม้ ที่มีเชื้อซัลโมเนลลา (Salmonella) ปนเปื้อนอยู่ หลังผ่านไป 5 นาที พวกเขาได้วางโบโลญญาไม่ก็ขนมปังลงบนพื้นเหล่านั้นเป็นระยะเวลา 5 วินาที 30 วินาที และ 60 วินาที จากนั้นจึงวัดปริมาณของเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนไปยังอาหาร ก่อนทำซ้ำกระบวนการนี้ไปเรื่อยๆ

 

ข้อสรุปที่ได้คือจำนวนเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนไปยังอาหารประเภทต่างๆ นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่สัมผัส แต่ขึ้นอยู่กับประเภทของพื้นต่างหาก เนื่องจากพื้นผิวที่แตกต่างกันส่งผลกับปริมาณเชื้อโรคที่ติดมา ซึ่งพื้นผิวที่ปลอดภัยที่สุดคือพรม หลังพบว่ามีแบคทีเรียต่ำว่า 1% ปนเปื้อนมายังอาหาร แต่หากเป็นพื้นไม้หรือพื้นกระเบื้อง การปนเปื้อนจะสูงถึง 48-70% ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแอสตัน ในประเทศอังกฤษ ที่ได้ผลลัพธ์คล้ายคลึงกัน

 

เชื้อโรคทำอะไรเราไม่ได้จริงไหม

บางครั้งการที่ร่างกายได้รับเชื้อโรคเข้าไปเพียง 0.1% ก็มากพอแล้วที่จะทำให้ป่วย อีกทั้งแบคทีเรียชนิดต่างๆ ยังมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน บางชนิดอาจทำให้เสียชีวิตหากคุณมีภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรงพอ เช่น เชื้ออีโคไล แต่โอกาสที่จะพบเชื้อชนิดนี้อยู่ตามพื้นก็น้อยเช่นเดียวกัน และไม่ใช่ว่าเชื้อโรคจะอยู่แค่บนพื้นเท่านั้น เพราะเชื้อโรคเหล่านี้สามารถปะปนอยู่กับเนื้อสัตว์ดิบ พื้นที่อับชื้น ตามมือหรือผิวหนังของคนเราที่สัมผัสกับเชื้อโรคซึ่งกระจายอยู่ในอากาศ     

 

ถึงตอนนี้ก็ได้คำตอบแล้วว่าทฤษฎี 5 วินาทีปลอดภัยนั้นไม่จริงเสมอไป และการปนเปื้อนของเชื้อโรคนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นผิว ดังนั้นต่อให้คุณมือไวขนาดไหนก็ใช่ว่าจะรอดพ้นสายตาเชื้อโรคไปได้ทุกครั้ง หากคิดจะหยิบขึ้นมากินต่อก็ต้องน้อมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งเราควรหมั่นรักษาความสะอาดมือและผิวหนังส่วนต่างๆ ที่ใช้สัมผัสกับสิ่งภายนอก เครื่องใช้ภายในครัวเรือน รวมถึงเช็ดถูบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อว่าใครพลาดท่าทำขนมตกพื้นแล้วอดใจไม่ไหวคว้าขึ้นมากินจะได้ไม่มีใครเจ็บไข้ได้ป่วย   

 

ภาพประกอบ: Nuttarut B.

ภาพ: The Standard, Giphy

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

FYI
  • ซัลโมเนลลา (Salmonella) คือแบคทีเรียที่สามารถติดได้จากการกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เป็นสาเหตุของโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising