×

จองตั๋วไว้แล้ว ควรเที่ยวต่อหรือยกเลิกทริป เปิดข้อเท็จจริงโควิด-19 ในเชียงใหม่-เชียงราย

02.12.2020
  • LOADING...
จองตั๋วไว้แล้ว ควรเที่ยวต่อหรือยกเลิกทริป เปิดข้อเท็จจริงโควิด-19 ในเชียงใหม่-เชียงราย

HIGHLIGHTS

2 mins read
  • การพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่จังหวัดเชียงใหม่ 1 ราย และจังหวัดเชียงราย 3 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2563) ทำให้ 2 จังหวัดนี้กลายเป็นพื้นที่ ‘สีแดง’ ไปในทันที ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่ 
  • ถ้าประเมินสถานการณ์ในขณะนี้ การพบผู้ป่วยที่จังหวัดเชียงใหม่หรือจังหวัดเชียงราย ยังเป็นเพียงระยะที่ 1 เท่านั้น ซึ่งถ้าเปรียบเทียบเป็นไฟจราจรสีเขียว-เหลือง-แดง พื้นที่ 2 จังหวัดนี้ควรเป็นสี ‘เหลือง’ ที่ค่อนมาทาง ‘เขียว’
  • ทั้งจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงรายยังสามารถไปท่องเที่ยวได้เหมือนกับคนในจังหวัดนั้นๆ ดำเนินชีวิตประจำวัน ใครที่จองตั๋วจองที่พักไว้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องยกเลิกแต่อย่างใด

ทันทีที่ได้ยินข่าว ‘พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ 1 ราย’ เกิดอะไรขึ้นในความคิดของเรากันบ้างครับ ‘ไม่จริง! เป็นข่าวปลอมหรือเปล่า’ แต่พอเช็กแหล่งข่าวดูแล้วพบว่า ศบค. และกรมควบคุมโรคเป็นผู้แถลงเอง พร้อมกับไทม์ไลน์ของผู้ป่วยว่าลักลอบเข้าประเทศมาทางอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย แล้วเดินทางต่อไปยังจังหวัดเชียงใหม่ อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใครหลายคนคือ ‘โกรธ! ที่คนๆ เดียวต้องทำให้ทริปที่วางแผนไว้แล้วต้องล่ม หรือโกรธ! ที่ทำให้บรรยากาศท่องเที่ยวที่กำลังจะคึกคักในช่วงปลายปีต้องเสียไป’

 

การพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่จังหวัดเชียงใหม่ 1 ราย และจังหวัดเชียงราย 3 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2563) ทำให้ 2 จังหวัดนี้กลายเป็นพื้นที่ ‘สีแดง’ ไปในทันที ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่ 

 

หลายคนคิดต่อไปว่าสถานการณ์จะควบคุมไม่อยู่ เพราะผู้ป่วยจังหวัดเชียงใหม่มีผู้สัมผัสจำนวนมาก จึงสุ่มเสี่ยงที่จะเป็น Super Spreader หลังจากนั้นเพียง 1 วันก็มีข่าวผู้ป่วยที่จังหวัดเชียงรายขึ้นมาอีก ซึ่งทั้ง 4 คนทำงานที่เดียวกันในฝั่งเมียนมา

 

สถานการณ์ในปัจจุบัน

ผมอยากชวนย้อนกลับไปเมื่อต้นปีที่เราแบ่งการระบาดออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 หมายถึง การพบผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ (Imported Case) ระยะที่ 2 หมายถึง การพบผู้ติดเชื้อต่อจากระยะที่ 1 หรือการระบาดภายในประเทศในวงจำกัด (Limited Local Transmission) และระยะที่ 3 หมายถึง การระบาดเป็นวงกว้างภายในประเทศ ซึ่งก็คือการเกิดระยะที่ 2 ซ้อนกันหลายวงจนไม่สามารถระบุได้ว่าใครติดมาจากใคร 

 

ส่วนถ้าเราซูมจากระดับ ‘พื้นที่’ เข้าไปที่ระดับ ‘ผู้ป่วย’ เราจะเห็นวงของผู้สัมผัส (จินตนาการเหมือนหัวหอมก็ได้ครับให้ชั้นในสุดเป็นผู้ป่วย) แบ่งเป็นวงที่ 1 คือผู้สัมผัสใกล้ชิด (Close Contact) ซึ่งกรมควบคุมโรคจะมีเกณฑ์ระบุว่าใครที่เข้าข่ายบ้าง โดยสรุปแล้วจะมี 4 กรณีด้วยกัน คือ 1. อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน 2. พูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร เกิน 5 นาที 3. ถูกผู้ป่วยไอจามรด และ 4. อยู่ในสถานที่ปิดในระยะ 1 เมตร เกิน 15 นาที 

 

และจะแยกว่าเป็นผู้สัมผัส ‘เสี่ยงสูง’ หรือ ‘เสี่ยงต่ำ’ ขึ้นกับการสวมหน้ากาก ในขณะที่วงที่ 2 คือผู้สัมผัสของวงที่ 1 และวงที่ 3 คือ คนในชุมชนเดียวกัน ซึ่งในทางระบาดวิทยาแล้วผู้ที่มีความเสี่ยงคือวงที่ 1 เท่านั้น และผู้ที่จะต้องถูกกักตัว (Quarantine) คือวงที่ 1 เสี่ยงสูงเท่านั้น เพราะมีโอกาสได้รับเชื้อสูง ในขณะที่วงที่ 1 เสี่ยงต่ำจะให้สังเกตอาการตนเอง (Self-Monitoring) ทำให้วงที่ 2 และ 3 ซึ่งอยู่ห่างออกไปก็แทบไม่มีความเสี่ยงเลย

 

ถ้าประเมินสถานการณ์ในขณะนี้ การพบผู้ป่วยที่จังหวัดเชียงใหม่หรือจังหวัดเชียงราย ยังเป็นเพียงระยะที่ 1 เท่านั้น ซึ่งถ้าเปรียบเทียบเป็นไฟจราจรสีเขียว-เหลือง-แดง พื้นที่ 2 จังหวัดนี้ควรเป็นสี ‘เหลือง’ ที่ค่อนมาทาง ‘เขียว’ เพราะจากการแถลงข่าวของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและกรมควบคุมโรค ได้ติดตามผู้สัมผัสในวงที่ 1 มาตรวจหาเชื้อเกือบทั้งหมดแล้วยังไม่พบเชื้อ และยังให้กักตัวสังเกตอาการต่อจนครบ 14 วัน

 

ความเสี่ยงของการท่องเที่ยว

ดังนั้นเมื่อระบบสาธารณสุขสามารถตรวจจับผู้ป่วยได้และสอบสวนโรคได้รวดเร็ว ผมจึงเห็นว่าทั้งจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงรายยังสามารถไปท่องเที่ยวได้เหมือนกับคนในจังหวัดนั้นๆ ดำเนินชีวิตประจำวัน ใครที่จองตั๋วจองที่พักไว้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องยกเลิกแต่อย่างใด เพียงแต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในเมียนมาและมาเลเซียยังระบาดต่อเนื่อง และกัมพูชาก็พบผู้ป่วยรายใหม่เช่นกัน ไม่ว่าจะท่องเที่ยวหรือเดินทางไปไหนก็ต้องป้องกันตัวเองไม่ให้กลายเป็น ‘วงที่ 1’ ของผู้ป่วย

 

การป้องกันอย่างแรกคือ การสวมหน้ากากอนามัย/ผ้า เพราะเมื่อเราสวมหน้ากาก อย่างมากสุดจะเป็นเพียง ‘ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ’ ซึ่งไม่ต้องถูกกักกัน ไม่ต้องหยุดเรียนหรือหยุดงาน อย่างต่อมาคือการเว้นระยะห่าง เพราะวงที่ 1 นับจากตัวป่วยออกมา 1 เมตร เราจึงต้องระมัดระวังไม่ใกล้ชิดกับผู้อื่นนอกจากสมาชิกในกลุ่มเดียวกัน หรือถ้าเป็นไปได้ก็ควรหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดหรือสถานที่ปิด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก สุดท้ายคือการล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดการติดเชื้อผ่านการจับบริเวณใบหน้า

 

สิ่งที่หลายคนน่าจะกังวลอยู่คือ ‘ถ้าไปเที่ยวกลับมาแล้วต้องกักตัวหรือไม่’ 

 

โดยหลักการแล้วไม่ต้อง เพราะผู้ที่ต้องกักตัวคือเฉพาะวงที่ 1 ความเสี่ยงสูงเท่านั้น ซึ่งถ้าสังเกตจากการควบคุมโรคกรณีชาวเมียนมาที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากที่ผ่านมา หรือแม้แต่กรณีทหารอียิปต์ที่จังหวัดระยอง กรมควบคุมโรคไม่มีนโยบายนี้แต่อย่างใด แต่ถ้าจะมี ผมคาดว่าสถานการณ์การระบาดในจังหวัดนั้นจะต้องเข้าสู่ระยะที่ 3 เหมือนกรณีกรุงเทพฯ และปริมณฑลช่วงปลายมีนาคม 2563 ก่อน

 

ส่วนการล็อกดาวน์ก็เช่นกัน มีระดับความเข้มงวดตั้งแต่การปิดสถานที่ จนถึงการจำกัดการเข้า-ออกพื้นที่ จึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมสูง ที่ผ่านมา จังหวัดตากประกาศล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่ที่พบผู้ป่วยในระดับ ‘หมู่บ้าน’ เช่น หมู่บ้านที่พนักงานขับรถอาศัยอยู่ ศูนย์อพยพบ้านอุ้มเปี้ยม ซึ่งน่าจะเป็นเพราะความแออัดของชุมชนด้วย ทำให้ต้องจำกัดการเคลื่อนย้ายคน ดังนั้นแนวโน้มการล็อกดาวน์ในจังหวัดเชียงใหม่หรือจังหวัดเชียงรายในขณะนี้จึงไม่น่าจะเกิดขึ้น

 

สถานการณ์ในอนาคต

ช่วงนี้เราจะได้ยินข่าวผู้ป่วยที่ลักลอบเข้ามาจากเมียนมาเพิ่มขึ้น เพราะคนไทยจำนวนหนึ่งข้ามไปทำงานฝั่งท่าขี้เหล็ก เมื่อเกิดการระบาดขึ้น โดยเฉพาะ Superspreading Event ในสถานบันเทิง จึงต้องเดินทางกลับ แต่บางส่วนออกไปแบบผิดกฎหมาย จึงไม่สามารถกลับเข้ามาแบบถูกกฎหมายได้ ซึ่งขณะนี้จังหวัดเชียงรายได้แก้ไขปัญหานี้ด้วยการให้ทุกคนลงทะเบียนกลับประเทศเพื่อเข้าสู่กระบวนการกักตัวแล้ว แต่กลุ่มที่เข้ามาก่อนหน้านี้เพิ่งจะเข้ารับการตรวจหาเชื้อ หลังจากมีข่าวเพื่อนร่วมงานป่วยเป็นโควิด-19

 

ทุกคนโกรธ! ที่พวกเขาไม่กักตัว แต่เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่เราจะต้องร่วมมือกันก็คือควบคุมโรคให้ได้โดยเร็ว โดยจะต้อง 

  1. ตรวจสอบไทม์ไลน์ที่กรมควบคุมโรคประกาศว่าเราเป็นวงที่ 1 ของผู้ป่วยหรือไม่ ถ้าใช่ จะต้องกักตัว 14 วัน และแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่เพื่อตรวจหาเชื้อ 
  2. ป้องกันตัวเอง และ
  3. ประเมินสถานการณ์ตามความเป็นจริงว่าการระบาดอยู่ในระยะใด ซึ่งจะช่วยให้เราไม่ตื่นตระหนกจนไม่กล้าเดินทางไปไหน เพราะถ้ายังเป็นเพียงระยะที่ 1 พบผู้ติดเชื้อน้อยราย และสามารถติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงได้ครบก็จะไม่นำไปสู่ระยะที่ 2 หรือ 3

 

ส่วนรัฐบาลควรมีแผนการดำเนิน ‘มาตรการทางสังคม’ ต่อสถานการณ์การระบาดในแต่ละระยะที่ชัดเจน และประกาศให้ประชาชนทราบว่าเมื่อถึงระยะนี้ สถานการณ์เป็นอย่างนี้ รัฐจะประกาศใช้มาตรการนี้ เช่น งดการจัดงาน/ปิดสถานที่บางประเภท (อาจไล่ตามลำดับกิจกรรม/กิจการสีแดง-สีเหลือง-สีเขียวตามมาตรการผ่อนปรน) ซึ่งจะทำให้ประชาชนคาดการณ์ได้ล่วงหน้าและปฏิบัติตามได้ทันที มิฉะนั้นก็จะเกิดเหตุการณ์ยกเลิกทริปที่จองตั๋วจองที่พักไว้แล้ว หรือแม้แต่หน่วยงานในพื้นที่ก็ปฏิบัติไม่ตรงกัน ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่รวมถึงความเชื่อมั่นของประชาชนด้วย

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising