×

ชมคลิป: ‘ต้านบุลลี่-แก้เนื้อหา’ นิยายระดับโลก เลี่ยงคำเหยียด อ้วน น่าเกลียด ควรหรือไม่? | Global Focus EP.10

โดย THE STANDARD TEAM
11.03.2023
  • LOADING...

กลายเป็นประเด็นร้อนที่จุดชนวนวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงวรรณกรรม สำหรับกรณีการแก้ไขเนื้อหาและถ้อยคำในนวนิยายชื่อดังระดับโลก ทั้งนิยายสายลับ เจมส์ บอนด์ ของ เอียน เฟลมมิง (Ian Fleming) นักเขียนชาวอังกฤษ และนิยายสำหรับเด็กอย่าง ชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลต, ย.จ.ด., แม่มด, มาทิลดา ผลงานของ โรอัลด์ ดาห์ล (Roald Dahl) นักเขียนชาวเวลส์ ซึ่งนิยายเหล่านี้ต่างถูกยกให้เป็นผลงานระดับ ‘ขึ้นหิ้ง’ และมีการนำมาทำเป็นภาพยนตร์ฉายไปทั่วโลก 

 

ซีรีส์หนังสือ เจมส์ บอนด์ ที่เขียนขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นยุค 50 ไปจนถึงยุค 60 นั้นกำลังจะได้รับการตีพิมพ์ใหม่ทั้งหมด เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปีของสายลับ 007 แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข พร้อมกับตัดเนื้อหาหรือคำที่สื่อความหมายไปในเชิงเหยียดผู้อื่น โดยระบุเหตุผล เพื่อความเหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

 

ขณะที่หนังสือเด็กของดาห์ลที่มีเอกลักษณ์ส่วนใหญ่ คือเนื้อหาการต่อกรกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ที่ร้ายกาจ โดยมีการใช้ภาษาและถ้อยคำรุนแรงในการบอกเล่ารูปลักษณ์ตัวละคร เช่น คำว่าอ้วนแบบมหึมา (Enormously Fat) หรือน่าเกลียดราวกับสัตว์ (Ugly and Beastly) ซึ่งได้มีการตรวจและแก้ไขคำใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงถ้อยคำที่แสดงถึงอคติหรือทัศนคติที่ไม่ดี อีกทั้งยังเป็นความพยายามสนับสนุนความหลากหลายของเชื้อชาติ เพศ และความเท่าเทียมในสังคม

 

การแก้ไขเนื้อหาดังกล่าวส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่านิยายอาจสูญเสียเอกลักษณ์ของต้นฉบับไป อีกทั้งยังเป็นการแก้ไขที่ปราศจากการยินยอมจากนักเขียนที่เสียชีวิตไปนานแล้ว ซึ่งท้ายที่สุดสำนักพิมพ์ Puffin Books ผู้จัดพิมพ์ ประกาศว่าจะวางจำหน่ายหนังสือเวอร์ชันต้นฉบับควบคู่ไปกับฉบับปรับปรุงด้วย

 

อย่างไรก็ตาม แนวคิดในการแก้ไขและปรับปรุงเนื้อหาวรรณกรรมเหล่านี้ เพื่อตอบรับกับค่านิยมความเท่าเทียมในยุคสมัยใหม่ ก่อให้เกิดคำถามชวนคิดว่าเหมาะสมแล้วหรือไม่? และการคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของต้นฉบับหนังสือที่เขียนขึ้นในยุคที่ผู้คนยังไม่ได้สนใจกับค่านิยมเหล่านี้ จะส่งผลเสียอย่างไรต่อโลกปัจจุบัน? หรือแท้ที่จริงแล้ว ควรเป็นผู้อ่านที่จะเรียนรู้ ตัดสิน และให้คำตอบแก่เรื่องนี้ด้วยตัวเอง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X