×

วิเคราะห์ ShopeeFood และ ShopeePay ปลดพนักงาน ‘ฟ้าผ่า’ สะท้อนอะไรถึงภาพอุตสาหกรรม Food Delivery ของไทยบ้าง?

14.06.2022
  • LOADING...
ShopeeFood

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • ไม่เพียงแต่ ‘ช็อกหัวใจ’ ของพนักงาน แต่ยังสร้างเสียงอื้ออึงไปทั่ว สำหรับกรณีที่ Shopee ประกาศ ‘ปลดพนักงานจำนวนมาก’ ในหลายประเทศพร้อมกัน ซึ่งสิ่งที่น่าตกใจคือ ทีม ShopeeFood และ ShopeePay ของไทยถูกปลด 50%
  • ShopeeFood ถือเป็นน้องใหม่ในตลาด Food Delivery ที่ต้องมาเจอคู่แข่งสายแข็งที่เข้ามาอยู่ในสังเวียนก่อนแล้วอย่าง Grab Food, Foodpanda, LINE MAN และ Robinhood ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม Food Delivery สัญชาติไทย เป็นต้น
  • ถึงจะไม่มีการเปิดเผยอย่างชัดเจนถึงเหตุผลในการปรับลดคนออกจาก Shopee แต่แหล่งข่าวระดับสูงที่อยู่ในอุตสาหกรรม Food Delivery กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ภาพรวมของตลาดหุ้นขาลงของโลกทำให้ธุรกิจที่เคยถูกมองว่า High Growth แต่ขาดทุนอยู่ถูกเทขายอย่างหนัก นักลงทุนให้ความสนใจกับธุรกิจที่มี ‘รายได้’ มากขึ้นมาก เหล่านี้เป็นแรงกดดันให้บริษัทที่โตด้วยการ Burn เงินต้องเริ่มแสดงผลกำไร การลดต้นทุนจากการเอาคนออกจึงเป็นสิ่งที่ทำได้เร็วสุด
  • Shopee เป็นหนึ่งใน 2 ธุรกิจที่ทำรายได้หลักให้กับ Sea Group ซึ่งไตรมาส 1/2565 ได้มีการรายงานรายได้ของ Shopee อยู่ที่ 1.52 พันล้านดอลลาร์ ลดลงจาก 1.59 พันล้านดอลลาร์ ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ด้วยค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์และการตลาดจำนวนมาก ทำให้ขาดทุน 810 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าไตรมาสก่อน 131 ล้านดอลลาร์
  • การปลดพนักงานในส่วนของ ShopeeFood อาจเป็นโอกาสให้กับอุตสาหกรรมโดยรวมและการแข่งขันที่สมเหตุสมผลมากขึ้น ซึ่งเราน่าจะเห็นโปรโมชันราคาถูกน้อยลง และราคาจะสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น โดยคาดว่าน่าจะมีผู้เล่นอย่างน้อย 1-2 รายเลิกกิจการใน 1-2 ปีนี้ ขณะที่การเติบโตโดยรวมน่าจะยังทรงตัวในระดับ Single Digit

ไม่เพียงแต่ ‘ช็อกหัวใจ’ ของพนักงาน แต่ยังสร้างเสียงอื้ออึงไปทั่ว สำหรับกรณีที่ Shopee ประกาศ ‘ปลดพนักงานจำนวนมาก’ ในหลายประเทศพร้อมกัน ซึ่งสิ่งที่น่าตกใจคือ ทีม ShopeeFood และ ShopeePay ของไทยถูกปลด 50%

 

คลื่นสงบก่อนพายุจะเข้า

หลายคนอาจเคยเห็นคลิปใน TikTok ถึงสภาพแวดล้อม สวัสดิการ และการทำงานที่ชิลแค่ไหนของพนักงาน Shopee สิ่งเหล่านี้ทำให้ Shopee อยู่ในอันดับ 3 จาก 50 องค์กรชั้นนำที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานด้วยมากที่สุดในปี 2565 ซึ่งสำรวจโดย WorkVenture ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มค้นหางาน

 

ภาพเหล่านั้นเป็นเพียงคลื่นสงบก่อนพายุขนาดใหญ่จะถาโถมเข้ามา เพราะ ‘ก่อนหน้านี้ทุกอย่างปกติหมดเลย เพื่อนดี สังคมดี เงินดี’ หนึ่งในพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการปลดพนักงานในครั้งนี้บอกกับ THE STANDARD WEALTH

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

แต่แล้วช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 13 มิถุนายนก็มีอีเมลด่วนเรียกประชุม โดย DealStreetAsia รายงานว่า ผู้บริหารจาก Sea Group ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Shopee ได้ประกาศให้พนักงานทราบในการประชุม Town Hall ระหว่างประเทศ ถึงเรื่องการปลดพนักงาน โดยใช้เวลาสั้นๆ เพียง 15 นาที ในการประชุม

 

รายงานระบุถึงการปรับลดงานจะส่งผลกระทบต่อพนักงาน ShopeeFood และ ShopeePay ในหลายตลาด รวมถึงอินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุผลในการปลด

 

“ผู้บริหารไม่ได้บอกถึงเหตุผลที่ชัดเจน โดยบอกแต่ว่าเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ พร้อมกับว่าพนักงานที่ถูกปลดจะมีอีเมลแจ้ง ซึ่งถูกส่งไปหลังจากนั้นประมาณ 30 นาที” พนักงานท่านนี้กล่าว “พวกเรายังไม่ทันตั้งตัวเลย ออกมาคอมถูกล็อก ใช้งานไม่ได้ พร้อมกับแจ้งว่าในวันที่ 15 ให้เข้าไปพบ HR เพื่อคืนอุปกรณ์ของบริษัท บัตรพนักงาน ตลอดจนค่าชดเชยซึ่งยังไม่ได้มีการเปิดเผยถึงรายละเอียดดังกล่าว”

 

ตามข่าวระบุว่า ShopeeFood โดนปลด 50% แต่จริงๆ แล้วพนักงานรายนี้ระบุว่า โดนปลดราว 80% จากพนักงานประมาณ 50 คน เหลือเพียง 10 คนเท่านั้น

 

THE STANDARD WEALTH ติดต่อเพื่อสอบถามถึงรายละเอียดเรื่องยังกล่าวไปยังฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ Shopee แต่ได้รับคำตอบกลับมาว่า “ยังไม่มีการชี้แจงใดๆ ในขณะนี้”

 

 

น้องใหม่ในตลาด Food Delivery

ShopeeFood ถือเป็นน้องใหม่ในตลาด Food Delivery ที่ต้องมาเจอคู่แข่งสายแข็งที่เข้ามาอยู่ในสังเวียนก่อนแล้วอย่าง Grab Food, Foodpanda, LINE MAN และ Robinhood ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม Food Delivery สัญชาติไทย เป็นต้น

 

Shopee ได้เริ่มให้บริการ ShopeeFood ที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นที่แรกในช่วงต้นปี 2564 ตามมาด้วยประเทศเวียดนามที่ถูกรีแบรนด์มาจาก NowFood ในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 และประเทศมาเลเซียในช่วงเดือนกันยายนของปีเดียวกัน ก่อนจะเปิดตัวในไทยอย่างเป็นทางการช่วงปลายปีที่ผ่านมา

 

แหล่งข่าวที่อยู่ในแวดวงร้านอาหารขนาดใหญ่ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ด้วยความที่ ShopeeFood เป็นน้องใหม่จึงได้เร่งทำตลาดรวมไปถึงสร้างแรงจูงใจให้มีร้านอาหารเข้าสู่แพลตฟอร์มจำนวนมาก

 

“อย่างในปีแรก ShopeeFood คิดค่า GP (Gross Profit) เราเพียง 5% ในขณะที่ Grab Food และ LINE MAN คิดอยู่ราว 15-18% ส่วน Foodpanda คิดแพงสุดที่ 20% แต่ Foodpanda ไม่เหมือนแพลตฟอร์มอื่นตรงที่หากจัดโปรโมชันร้านอาหารจะไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม”

 

Grab Food คิดเป็นสัดส่วนยอดขายกว่า 45% ตามด้วย LINE MAN 20% Foodpanda 15% ที่เหลือ 10% เป็น TrueFood, Robinhood และ ShopeeFood โดยแต่ละแพลตฟอร์มมียอดการซื้อต่อบิลที่ไม่แตกต่างกันนัก

 

ตลาดยังโตแต่มีความท้าทายหลายด้าน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ปี 2564 มูลค่าตลาดของการสั่งอาหารไปส่งยังที่พัก หรือ Food Delivery (บนฐานคำนวณใหม่ รวมสินค้าเบเกอรีและเครื่องดื่ม) เติบโตกว่า 46.4% และปี 2565 จะมีมูลค่าราว 7.9 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 4.5%

 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้สภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในปี 2565 ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในธุรกิจ Food Delivery มีแนวโน้มเผชิญโจทย์ท้าทายมากขึ้น

 

ไม่ว่าจะเป็นการปรับราคาอาหารและค่าจัดส่งของผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจ Food Delivery ทำได้จำกัด ท่ามกลางต้นทุนที่เร่งตัวขึ้น โดยหากร้านอาหารมีการปรับขึ้นราคาอาหารหรือค่าจัดส่ง กลุ่มตัวอย่างราว 53% มีแนวโน้มจะปรับพฤติกรรมหันมาลดค่าใช้จ่ายในด้านอาหารลง และบางส่วนจะหันมาทำอาหารรับประทานเองมากขึ้น

 

ความถี่ในการสั่งอาหารจากแอปพลิเคชันจัดส่งอาหารต่อเดือนเฉลี่ยปรับลดลงมาเป็น 5 ครั้งต่อเดือน จาก 6 ครั้งต่อเดือน ในช่วงก่อนหน้าที่มีมาตรการควบคุมการระบาด เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนกลับไปใช้บริการนั่งทานในร้านและซื้อกลับหลังการเปิดให้กิจกรรมต่างๆ ดำเนินการได้มากขึ้น รวมถึงมาตรการรัฐได้หมดลง

 

 

ปริมาณอาหารและราคาเฉลี่ยการสั่งต่อออร์เดอร์ลดลง 3-5% ซึ่งมาจากหลายปัจจัย โดยนอกเหนือจากพฤติกรรมของผู้บริโภคบางกลุ่มที่มีการปรับลดค่าใช้จ่ายจากกำลังซื้อที่ลดลงแล้วยังมาจากปัจจัยเฉพาะของธุรกิจที่สำคัญ เช่น จำนวนร้านอาหารที่เข้ามาใช้บริการในแอปพลิเคชันจัดส่งอาหารมีความหลากหลายมากขึ้นและหลากหลายระดับราคา

 

นอกจากนี้การจัดโปรโมชันร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการร้านอาหารและผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน เช่น ส่วนลดหรือยกเว้นค่าจัดส่ง ทำให้ผู้บริโภคปรับมาสั่งอาหารในปริมาณที่ลดลงต่อออร์เดอร์ และหลากหลายร้านมากขึ้น

 

การใช้งานแอปพลิเคชันของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตามโปรโมชันด้านราคาและอาหาร โดยเฉลี่ยระหว่าง 2-3 แอปพลิเคชัน สะท้อนถึงภาวะการแข่งขันทางธุรกิจที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มยังจำเป็นต้องทำการตลาดเพื่อจูงใจผู้บริโภค รวมถึงดึงดูดร้านอาหารที่มีชื่อเสียงให้เข้ามาอยู่บนระบบตนอย่างต่อเนื่อง

 

ลดคนเพื่อลดต้นทุน

ถึงจะไม่มีการเปิดเผยอย่างชัดเจนถึงเหตุผลในการปรับลดคนออกจาก Shopee แต่แหล่งข่าวระดับสูงที่อยู่ในอุตสาหกรรม Food Delivery กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ภาพรวมของตลาดหุ้นขาลงของโลกทำให้ธุรกิจที่เคยถูกมองว่า High Growth แต่ขาดทุนอยู่ถูกเทขายอย่างหนัก นักลงทุนให้ความสนใจกับธุรกิจที่มี ‘รายได้’ มากขึ้นมาก

 

“เหล่านี้เป็นแรงกดดันให้บริษัทที่โตด้วยการ Burn เงินต้องเริ่มแสดงผลกำไร การลดต้นทุนด้วยการเอาคนออกจึงเป็นสิ่งที่ทำได้เร็วสุด” แหล่งข่าวกล่าว

 

Tech in Asia เว็บไซต์ข่าวเทคโนโลยีในสิงคโปร์และจาการ์ตา ได้ออกรายงานที่ระบุว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีในเอเชียได้มีการปลดพนักงานจำนวนมากในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

 

ด้วยสภาพคล่องที่แห้งแล้ง การระดมทุนผ่าน VC สำหรับสตาร์ทอัพในภูมิภาคนี้ลดลง โดยเงินทุนในภูมิภาคลดลง 7% ในไตรมาสแรกของปี 2565 เป็น 3.63 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.3 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานของ Crunchbase

 

ที่น่าหนักใจกว่านั้นคือตัวเลขลดลง 31% จากไตรมาสที่แล้ว ซึ่งการที่เงินทุนลดลงกลายเป็นที่มาของการปลดพนักงานของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการลดจำนวนที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่บริษัท EdTech ชื่อ Zenius, บริษัท FinTech ชื่อ LinkAja และบริษัทในเครือของ JD.com ในอินโดนีเซีย ซึ่งมีรายงานว่าแต่ละบริษัทปลดพนักงาน 200 คน

 

ในอินเดีย Tech in Asia รายงานว่า MPL สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นด้านเกมออนไลน์ และ E-Sports เพิ่งเลิกจ้างพนักงานประมาณ 10% ด้าน Yaari ซึ่งเป็นบริษัทโซเชียลคอมเมิร์ซเพิ่งเลิกจ้างพนักงานเกือบ 150 คน

 

ส่วนในแดนมังกร บริษัทอีคอมเมิร์ซจำนวนมากได้ไล่พนักงานออก ตามด้วยบริษัท EdTech และเกม โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 บริษัทเทคโนโลยีประมาณ 19 แห่งในประเทศได้ปลดพนักงานบางส่วนออก

 

ไตรมาสแรก Shopee ขาดทุน 2.8 หมื่นล้านบาท

Shopee อาจแตกต่างจากสตาร์ทอัพตรงที่ไม่ต้องพึ่งเงินจาก VC เพราะได้ติดนามสกุลมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ไปเรียบร้อยแล้ว แต่กระนั้นผลงานก็ยังคงไม่สวยหรูพอที่จะเตะตานักลงทุน

 

 

โดย Shopee เป็นหนึ่งใน 2 ธุรกิจที่ทำรายได้หลักให้กับ Sea Group ซึ่งไตรมาส 1/2565 ได้มีการรายงานรายได้ของ Shopee อยู่ที่ 1.52 พันล้านดอลลาร์ ลดลงจาก 1.59 พันล้านดอลลาร์ ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมียอดสั่งซื้อรวม 1.9 พันล้านรายการ เพิ่มขึ้น 71.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี

 

แต่ด้วยค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์และการตลาดจำนวนมาก ทำให้ขาดทุน 810 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าไตรมาสก่อน 131 ล้านดอลลาร์

 

Sea Group ได้ปรับตัวเลขประมาณการรายได้ของ Shopee ในปีนี้อยู่ที่ 8.5-9.1 พันล้านดอลลาร์ โดยอ้างถึง ‘ความไม่แน่นอนในระดับมหภาคที่เพิ่มขึ้น’ ขณะที่ Kristine Lau นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัย Third Bridge กล่าวว่า จำนวนเงินที่ผู้คนใช้ในแต่ละคำสั่งซื้ออาจมีแนวโน้มลดลง ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากเงินเฟ้อ

 

กระนั้น Sea Group ก็ประเมินว่า หลังจากการจัดสรรต้นทุนของสำนักงานใหญ่ ทาง Shopee จะอยู่ในเส้นทางที่จะบรรลุ EBITDA (กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) เป็น ‘เชิงบวก’ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวันภายในสิ้นปีหน้า

 

ค่าใช้จ่ายของสำนักงานใหญ่ประกอบด้วยต้นทุนพนักงาน ค่าใช้จ่ายทั่วไปและการบริหาร เช่น สิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารและค่าใช้จ่ายในการโฮสต์เซิร์ฟเวอร์ โดยค่าใช้จ่ายสำนักงานใหญ่ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนพนักงาน ซึ่งเพิ่มขึ้น 113.3 ล้านล้านดอลลาร์

 

สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มขึ้นของบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 86.0 ล้านล้านดอลลาร์ เนื่องจากต้องการลงทุนในการเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและขยายการให้บริการ แม้ Shopee จะเพิ่งถอนตัวออกจากฝรั่งเศสหลังจากผ่านไปเพียงห้าเดือนที่เปิดให้บริการ ตลอดจนการปิดกิจการในอินเดีย โดยเลิกจ้างพนักงานกว่า 300 คน

 

สำหรับ Shopee ในไทย การปลดคนในครั้งนี้ไม่ได้ปลดพนักงานในธุรกิจหลักอย่างอีคอมเมิร์ซ (หากหลายคนก็ร้อนๆ หนาวๆ เหมือนกัน) แต่เลือกที่จะปลดใน ShopeeFood ซึ่งไม่ใช่ธุรกิจหลัก แถมยังมีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง ส่วน ShopeePay ที่ผ่านมามีการรับคนจำนวนมาก ดังนั้นจึงมีการปรับให้เหมาะสมกับขนาดของธุรกิจและทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยยังไม่มีรายงานที่แน่นอนว่าพนักงาน ShopeePay ในไทยถูกปลดไปทั้งหมดประมาณกี่คน

 

ส่วนใหญ่ที่ถูกปลดจะเป็นพนักงานที่เพิ่งเข้าทำงานได้ไม่นาน หรือเป็นเด็กจบใหม่ ในระดับหัวหน้าก็มีการเสนอให้โยกไปฝั่งอีคอมเมิร์ซเช่นเดียวกัน ซึ่งหากไม่อยากย้ายก็สามารถรับแพ็คเกจ 6 เดือนเพื่อออกได้ 

 

อาจเห็น 1-2 รายเลิกกิจการใน 1-2 ปีนี้

แหล่งข่าวระดับสูงที่อยู่ในอุตสาหกรรม Food Delivery กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ต่อว่า การปลดพนักงานในส่วนของ ShopeeFood อาจเป็นโอกาสให้กับอุตสาหกรรมโดยรวมและการแข่งขันที่สมเหตุสมผลมากขึ้น

 

“เราน่าจะเห็นโปรโมชันราคาถูกน้อยลง และราคาจะสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น โดยคาดว่าน่าจะมีผู้เล่นอย่างน้อย 1-2 รายเลิกกิจการใน 1-2 ปีนี้ ขณะที่การเติบโตโดยรวมน่าจะยังทรงตัวในระดับ Single Digit”

 

 

ขณะที่ราคาอาหารและราคาขนส่งโดยรวมน่าจะปรับตัวขึ้นตามสภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนอาหารที่เพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นไปตามราคาหน้าร้านอยู่แล้ว ส่วนค่าขนส่งจะแพงขึ้นเพราะโปรโมชันและ ​Subsidy จะลดลง เพราะรายใหญ่จะทำธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ไม่ Burn เหมือนในอดีต

 

ซึ่งที่ผ่านมา Food Delivery เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่รู้กันดีกว่ามีการ ‘เผาเงิน’ ไม่ต่างจาก ‘อีคอมเมิร์ซ’ ผู้ที่มีสายป่านยาวเท่านั้นถึงจะสามารถอยู่รอดได้ และจากการตรวจสอบในกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า ปี 2564 ผู้เล่นหลักในสังเวียนต่าง ‘ขาดทุน’ กันถ้วนหน้า

 

  • Grab Food – บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด รายได้รวม 11,376 ล้านบาท โต 57.65% ขาดทุน 325 ล้านบาท ลด 14.41%
  • Foodpanda – บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด รายได้รวม 6,787 ล้านบาท โต 55.11 ขาดทุน 4,722 ล้านบาท เพิ่ม 31%
  • LINE MAN – บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด รายได้รวม 4,140 ล้านบาท โต 288.23% ขาดทุน 2,387 ล้านบาท เพิ่ม 114.10%
  • Robinhood – บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด รายได้รวม 15.8 ล้านบาท เพิ่ม 19,261.36% ขาดทุน 1,335 ล้านบาท เพิ่ม 1,420.42%

 

ส่วน บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด มีรายได้ 13,322.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 129.18% แต่ยังขาดทุน 4,972.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.24%

 

ทั้งนี้ รายได้ดังกล่าวไม่ได้สะท้อนถึงรายได้ที่มาจาก Food Delivery อย่างเดียว เพราะในแต่ละแพลตฟอร์มก็มีธุรกิจอื่นๆ อยู่ด้วยเช่นกัน ซึ่งไม่สามารถแบ่งได้ชัดเจนว่ารายได้จาก Food Delivery คิดเป็นสัดส่วนเท่าไร ด้วยเป็นความลับของแต่ละบริษัท

 

คาดใช้งบโฆษณาสร้างแบรนด์ลดลง

อีกสิ่งที่น่าสนใจคือการ ‘เผาเงิน’ ของ Food Delivery เพื่อดึงคนเข้ามาใช้งาน นอกจากอัดโปรโมชันแล้วยังมีการใช้เงินสำหรับ ‘โฆษณา’ เพื่อสร้างการรับรู้อีกด้วย

 

ข้อมูลจาก MI Group เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ในปี 2562 อุตสาหกรรม Food Delivery มีการใช้เม็ดเงินโฆษณารวมกัน 322 ล้านบาท ปี 2563 ใช้เงินเพิ่มเป็น 436 ล้านบาท และขยับเพิ่มในปี 2564 เป็น 648 ล้านบาท โดยช่วง 3 ปีมานี้ Foodpanda ใช้เงินมากที่สุด ตามด้วย LINE MAN และ Grab Food

 

ส่วนช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 มีการใช้เงินรวมกัน 181 ล้านบาท ลดลง 28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งใช้เงินไป 253 ล้านบาท โดยบรรดาผู้เล่นหลักต่างใช้เงินลดลงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Foodpanda ที่ใช้เงินลดลง 50% เหลือ 121 ล้านบาท ตามด้วย Grab Food ที่ใช้เงิน 38 ล้านบาท

 

ที่น่าสนในคือ LINE MAN เป็นเพียงรายเดียวที่ใช้เงินเพิ่มขึ้นกว่า 47% จาก 8.8 ล้านบาท เป็น 13 ล้านบาท ด้าน Robinhood ใช้เงินไปราว 6.8 ล้านบาท ส่วน ShopeeFood ใช้เงินเพียง 4.79 แสนบาทเท่านั้น ซึ่งส่วนหลักๆ น่าจะเป็นเพราะ Shopee มีแบรนด์ที่แข็งเกร่งเพียงพอที่จะไม่ต้องโฆษณา ShopeeFood เพิ่มไปอีก

 

 

สื่อหลักๆ ที่ถูกใช้งานยังเป็นทีวี โดยในปี 2564 ได้เงินไปราว 534 ล้านบาท ตามด้วยออนไลน์ 54 ล้านบาท, สื่อนอกบ้าน 38 ล้านบาท, วิทยุ 19 ล้านบาท และหนังสือพิมพ์ 1.21 แสนบาท ส่วน 5 เดือนแรกของปี 2565 ทีวีคว้าไป 157 ล้านบาท ตามด้วยออนไลน์ 18 ล้านบาท และสื่อนอกบ้าน 4.68 แสนบาท

 

ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI Group กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ในมุมมองที่น่าสนใจว่า ภาพรวมการใช้เม็ดเงินโฆษณาสื่อสารการตลาดไม่น่าจะคึกคักเท่า 2 ปีที่ผ่านมา ด้วยปัจจัย 3 เรื่อง คือ

 

  1. คนกลับไปใช้ชีวิตเป็นปกติมากขึ้น โดยออกนอกบ้านไปกินอาหารตามร้าน ไปเข้าสังคม

 

  1. Food Delivery ชั้นนำหลายๆ แบรนด์ได้สื่อสารและสร้างการรับรู้เรื่อง Brand Awareness, Preference และการดึงให้คนดาวน์โหลดแอปพลิเคชันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

“ต่อไปก็ไปว่ากันด้วยโปรโมชัน ค่าส่ง และสิทธิพิเศษต่างๆ มากกว่าการสื่อสารทางการตลาด ซึ่งจะเรียกได้ว่าเป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวรายได้กลับเข้ากระเป๋า”

 

  1. ปัจจัยเศรษฐกิจฟืดเคืองที่อาจทำให้คนไม่ค่อยอยากกด Food Delivery บ่อยเหมือนเดิม

 

“เหล่านี้ทำให้ Food Delivery ใช้เงินกับการลงโฆษณาน้อยลง และหันไปทุ่มกับการทำโปรโมชันเพื่อดึงคนใช้มากขึ้น ต่อไปการทำโฆษณาจะเกิดก็ต่อเมื่อมีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามา หรือบริการใหม่ๆ ที่ต่างจากคู่แข่ง”

 

ต่อไปก็ต้องจับตาดูว่าการใช้เงินไปกับโปรโมชันจะสามารถพยุงรายได้ ท่ามกลางเงินในกระเป๋าของลูกค้าที่น้อยลง และจะมีแบรนด์ไหนที่สายป่านสั้นจนต้อง ‘ล้ม หาย ตาย จาก’ ต้องออกจากสังเวียนที่ดุเดือดนี้ไป!

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising