ชื่อของ ‘โชน ปุยเปีย’ เริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อราว 2 ปีก่อน เมื่อเขาจัดนิทรรศการเพื่อโชว์คอลเล็กชันแรกที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม จังหวัดเชียงใหม่ และเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทางแบรนด์ ‘Shone Puipia’ ของดีไซเนอร์วัย 26 ปีที่มีชื่อเดียวกันกับแบรนด์ โชน ปุยเปียก็ได้จัดแฟชั่นโชว์คอลเล็กชันประจำปี 2019 ไปเป็นที่เรียบร้อย
(ตามอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับคอลเล็กชันแรกของ โชน ปุยเปีย ได้ที่ thestandard.co/shone-puipia)
หลายคนที่ติดตามแวดวงแฟชั่นจะรู้จักเขาในฐานะลูกชายคนเดียวของสองศิลปินชื่อดัง ชาติชาย ปุยเปีย และ พินรี สัณฑ์พิทักษ์ โดย โชน ปุยเปีย เป็นศิษย์เก่าจาก Royal Academy of Fine Art เมืองแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม วิทยาลัยที่ผลิตดีไซเนอร์ระดับตำนาน ทั้ง Martin Margiela, Dries Van Noten, Demna Gvasalia ฯลฯ ประสบการณ์ชีวิตเหล่านี้ทำให้ผลงานของเขาโดดเด่นจากสิ่งที่เราเคยเห็น ทั้งการใช้สีสันที่จัดจ้าน รูปทรงที่เหนือความคาดหมาย การตัดเย็บ และการผสมผสานวัสดุเข้าด้วยกันอย่างน่าพิศวง
ภายในงานแฟชั่นโชว์คอลเล็กชันที่ ‘soi sa:m’ (ซอยสาม) แกลเลอรีเล็กๆ ในซอยสวนพลู วันนั้นเราได้เห็นผู้คนมากมายมาร่วมแสดงความยินดี ทั้งสื่อ นางแบบ เซเลบริตี้ ลูกค้า และแขกของคุณพ่อและคุณแม่ จนทำให้บริเวณงานแน่นขนัด และหนึ่งสัปดาห์ต่อมา หลังติดต่อสัมภาษณ์ในบ่ายวันหนึ่งที่แกลเลอรีที่ไร้คนพลุกพล่าน ก็ทำให้เราได้รู้จัก โชน ปุยเปีย มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ในฐานะลูกศิลปินชื่อดัง แต่ในฐานะดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่น่าจับตามองมากที่สุดคนหนึ่ง
ขอย้อนกลับไปตั้งแต่เริ่มต้น คุณรู้ตัวว่าสนใจแฟชั่นตอนไหน
ตอนเรียนมัธยมที่สาธิตปทุมวัน โชนกำลังอยู่ในช่วงที่คิดว่าจะเรียนอะไรต่อดี และพอดีว่าเรียนภาษาฝรั่งเศสอยู่ที่สมาคมฝรั่งเศส แล้วเห็นเขามีคลาสสอน Pattern Making, Draping ดูน่าสนใจดี เลยลองไปเรียน แล้วก็เริ่มชอบมาจากตรงนั้น พวกศาสตร์ของการทำเสื้อ การทำแพตเทิร์น การทำอะไรจากสองมิติมาเป็นสามมิติ เหมือนการทำประติมากรรมด้วยอีกวัสดุหนึ่ง
ตอนนั้นเรารู้แหละว่าอยากเรียนต่อด้านการออกแบบและศิลปะ แต่ยังไม่รู้ว่าจะไปทางไหน และไม่ได้อยากทำอะไรตามคุณพ่อคุณแม่ เคยลองไปเรียนสถาปัตย์ก็รู้สึกว่าไม่ใช่ แต่พอเป็นเสื้อผ้ามันมีความ Personal บางอย่าง เป็นงานศิลปะที่เราใส่ไว้บนตัวได้ พอได้เริ่มจากการเรียนคลาสนี้ ก็เลยรู้ว่าสิ่งนี้จะเป็นวิธีที่เราใช้แสดงความรู้สึกบางอย่างออกมา
เมืองที่มีโรงเรียนแฟชั่น ทั้งลอนดอน ปารีส นิวยอร์ก ทำไมคุณถึงเลือกเรียนที่แอนท์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม
เราเริ่มสนใจเรื่องแฟชั่นมากขึ้น ศึกษาดีไซเนอร์ต่างๆ มากขึ้น เลยไปค้นพบ Belgian Designer เช่น Martin Margiela, Dries Van Noten ทำให้เรารู้จักเมืองแอนต์เวิร์ป ตรงนั้นเลยเป็นจุดที่ทำให้ศึกษาเรื่องโรงเรียนแฟชั่นมากขึ้น
เราได้หนังสือมาเล่มหนึ่งที่มีเรื่องเกี่ยวกับ Dries Van Noten แล้วก็ชอบงานของเขา มันดูแปลก ใหม่ ไม่เหมือนที่อื่น เขาจะอิงเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม ไม่เป็นงานขายมาก ซึ่งคล้ายกับความสนใจเรา บวกกับกำลังดูโรงเรียนอยู่ ดูไว้ทั้งที่ Parsons (นิวยอร์ก), Central Saint Martins (ลอนดอน) แต่พอมาถึงที่แอนต์เวิร์ป มาตรงวัน Open Day พอดี พวกเราทั้งพ่อ แม่ ลูก ทุกคนชอบมาก เพราะมันเป็นโรงเรียนศิลปะจริงๆ แล้วเขาก็มีการโชว์ผลงานนักเรียนที่มันแตกต่างจากที่โรงเรียนอื่นมาก งานดูโต ดูบ้าบอ ดูครีเอทีฟ มันอิมแพ็กเรามาก แล้วบรรยากาศเมืองก็เป็นเมืองยุโรปเล็กๆ น่ารัก
ในหนึ่งรุ่นมีนักเรียนประมาณกี่คน
ปีหนึ่งเขาจะรับประมาณ 60-70 คน แต่หลังจากนั้นคนมันจะน้อยลงไปทุกๆ ปี เพราะเขาไม่ให้ทุกคนผ่าน อย่างปี 2 ก็จะเหลือประมาณ 30 คน ที่นั่นเราเรียน 3 ปีได้ปริญญาตรีแล้ว อีก 1 ปีเป็นปริญญาโท ตอนเข้าปีที่ 4 จะมีนักเรียนเหลือแค่ราวๆ 15 คน แต่อย่างปีโชนมันน้อยเป็นพิเศษ เพราะเรามีกันอยู่ 6 คน จาก 60 เหลืออยู่แค่ 6 คน
ที่เหลือนักเรียนน้อยมาก เพราะ Workload ซึ่งมันทำให้เราต้องมีวินัยในการทำงาน ต้องหมั่นคอยเข้าไปคุยกับอาจารย์ทุกสัปดาห์ ให้เขาดูพัฒนาการ เพราะบางทีมันไม่ได้อยู่ที่ตัว Final Collection ที่ออกมา เขาดูที่กระบวนการทำงานของเราด้วย ทั้งการรีเสิร์ช ทุกขั้นตอนในการคิดแต่ละชิ้น
ชีวิตตอนเป็นนักเรียนที่นั่นเป็นอย่างไรบ้าง
จริงๆ เมืองมันไม่ได้มีอะไรเลยนะ เป็นเมืองที่เล็กมาก เวลาส่วนใหญ่ก็จะเทาๆ เหงาๆ ฝนตกก็หนาว ไม่ได้เหมือนเมืองใหญ่อย่างลอนดอนหรือปารีส ที่จะมีนิทรรศการหรือกิจกรรมให้ทำเยอะๆ บรรยากาศมันเลยเหมาะกับการเรียนอะไรที่มันเข้มข้น ทำให้เรามีสมาธิกับงานจริงๆ ตัวโรงเรียนก็ไม่ได้ใหญ่ด้วย ทุกคนอยู่กันเป็นครอบครัว เหมือนเรากำลังต่อสู้กับการศึกษาที่มันยากมากไปด้วยกัน
การเรียนการสอนส่วนใหญ่ใช้ภาษาอะไร
อังกฤษครับ แต่บางทีเขาก็ใช้ภาษาดัตช์ เพราะเบลเยียมมันจะมีฝั่งเหนือ อย่างที่แอนต์เวิร์ปจะพูดภาษาดัตช์ แต่ถ้าทางใต้อย่างบรัสเซลส์เขาก็จะพูดฝรั่งเศส แต่ที่โรงเรียนพอมีเด็กต่างชาติเยอะ เขาก็เลยใช้ภาษาอังกฤษ โชนเคยคุยกับน้องๆ หลายคนที่สนใจอยากไปเรียนที่นั่น แต่นึกว่าต้องเรียนภาษาดัตช์ โชนเลยคิดว่านี่คือเหตุผลที่ทำให้คนไม่ค่อยไปเรียนที่แอนต์เวิร์ป ซึ่งจริงๆ แล้วเราก็เรียนกันเป็นภาษาอังกฤษ
ตอนไปอยู่แรกๆ ปรับตัวยากไหม ทั้งเรื่องภาษาและวัฒนธรรม
เราก็เป็นเด็กไทย โตมาแบบไทย เป็นครั้งแรกที่ไปอยู่คนเดียว ปีแรกก็มีเหงาๆ เพราะเพิ่งเริ่มรู้จักคน โชนโตมาในการศึกษาไทยที่วิชาศิลปะเป็นวิชาที่คนไทยไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก แต่ที่นั่นเป็น Formal Education เขาเรียนศิลปะกันตั้งแต่เด็ก การปรับตัวก็จะมีการพูดคุย ทั้งงาน โปรเจกต์ รีเสิร์ช เราใหม่หมดเลย เด็กฝรั่งเขาค่อนข้างมีพื้นฐานมาก่อน ปีแรกก็ถือว่าหนักเหมือนกัน
ถ้าอย่างนั้นอะไรนับว่าเป็นข้อเสียเปรียบสำหรับเราตอนไปที่นั่น
โชนว่าโชนค่อนข้างโชคดีที่คุณพ่อคุณแม่อยู่ในสายงานศิลปะอยู่แล้ว ถึงเราไม่ได้เทรนตรงนั้นจากโรงเรียน เรายังได้จากที่บ้าน โชนว่าอาจจะเป็นการพูดถึงไอเดีย การ Defend ไอเดีย การพูดเรื่องอะไรที่มัน Conceptual มากๆ ที่ระบบในโรงเรียนไทยอาจจะไม่ได้เน้น และโชคดีอีกที่มีพื้นฐานตอนไปเรียนที่สมาคมฯ ครั้งนั้น ช่วยแบ่งเบาความเครียดตอนปี 1 ไปได้เยอะ
ถ้าหากคิดภาพว่าเราไม่ได้เรียนที่นี่ เรายังจะเป็น โชน ปุยเปีย ตอนนี้หรือเปล่า
โชนว่าก็คงไม่นะ หลายอย่างที่โชนทำก็เป็นพื้นฐานมาจากที่นั่น ซึมซับสภาพแวดล้อม แนวความคิด เพราะงานโชนไม่คอมเมอร์เชียลเลย ซึ่งที่อื่นอาจจะเป็นแบบนั้น ที่นี่เขาจะผลักดันให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ทำงานเพื่อให้เสื้อผ้ามันเล่าเรื่องอะไรบางอย่างได้
มีวิชาที่ชอบเป็นพิเศษไหม
ที่นั่นก็จะมีทั้งวิชาออกแบบ ทำแพตเทิร์น วาดรูป กราฟิก ทุกวิชามันจะออกมาเป็นคอลเล็กชันตอนปลายเทอม อย่างวิชาออกแบบก็คือการทำชิ้นงานอีกหนึ่งวิชาที่โชนคิดว่าดีมากเลยคือวิชากราฟิก เขาสอนให้เรามีวิธีสื่อสารคอลเล็กชันด้านอื่นที่ไม่ใช่แค่ตัวชิ้นงาน เช่น เราต้องทำงาน Collage เพื่อมานำเสนอ แทนการวาดรูปชุด ซึ่งเราว่ามันต่างจากที่อื่น
ส่วนตัวเรามีวิธีการคิดอย่างไรกว่าจะออกมาเป็นหนึ่งคอลเล็กชันให้ได้เห็น
ขั้นตอนแรกของทุกๆ ปี จะต้องมีการค้นคว้าหาวิชวลและแรงบันดาลใจต่างๆ เราต้องอธิบายได้ว่าเอาอันนี้มาทำไม เรากำลังเล่าเรื่องอะไรอยู่ แต่ละคอลเล็กชันก็ค่อนข้างต่างกัน มีมาจากหนังบ้าง ตัวละครในหนังบ้าง เอามาผูกเรื่องใหม่ เอาคอลเล็กชันที่แล้วมาพัฒนา เราทำอะไรมา เราอยากให้เขาโตขึ้นมาเป็นอย่างไร แต่หลังๆ เราจะลดเรื่องธีมหรือการเล่าเรื่อง แล้วทำให้แอ็บสแตรกต์มากขึ้น
โชนมองแค่ภาพการทำชิ้นงานมากขึ้น เราชอบกระบวนการทำ Collage ปะอันโน้น ผสมอันนี้เข้าด้วยกัน สร้างโลกใบใหม่ให้กับคอลเล็กชัน มันเลยยากที่จะบอกที่มาที่ไปจากเรื่องเดียว เพราะมันคือการผสานหลายสิ่งเข้าด้วยกัน เช่น ดีเทลของเสื้อ แขนเสื้อจากอดีตจากยุคหนึ่ง รวมไปถึงผ้าจากหลายๆ วัฒนธรรมมารวมกัน เราอยากให้คนที่ได้ไปเป็นของสะสม
หลังจากที่จบมาแล้วกลับมาอยู่ที่ไทยได้ 2 ปี มองอุตสาหกรรมแฟชั่นบ้านเราเป็นอย่างไรบ้าง
เราคิดว่ายังไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับวงการแฟชั่นไทยมากขนาดนั้นนะ (หัวเราะ) เพราะเราอยู่ระหว่างศิลปะกับแฟชั่น เราอยากคงความรู้สึกตอนทำงานเหมือนสมัยเรียน ยังไม่อยากทำอะไรแมสหรือคอมเมอร์เชียลเกินไป อยากให้มีความพิเศษ เป็นงานศิลปะที่เรามานั่งวาดมือ เราตั้งใจทำให้ทุกชิ้นมีเอกลักษณ์พิเศษของมัน
ก่อนที่เราจะไปเรียนที่โน่น เรารู้สึกว่าทุกอย่างดูคล้ายกัน แต่ตอนนี้เริ่มเห็นความหลากหลายมากขึ้น มีคนกลับมาทำอะไรน่าสนใจมากขึ้น อย่างพี่ใหม่ (พลัฏฐ์ พลาฎิ) ที่ทำให้ Mesh Museum เรารู้สึกดีที่คนทำอะไรที่มันเป็น Pure Beauty แต่เราก็ยังรู้สึกว่าตลาดก็ยังเน้นที่ผู้บริโภค ทำออกมาให้คนใส่ ทุกคนเลยทำของที่ต้องขายคนได้ เมืองไทยเป็นตลาดที่แบรนด์เอาตัวเองไปเสี่ยงเยอะไม่ได้ เพราะยังไม่มีความต้องการตรงนั้นมากพอ และการที่เรารู้ว่าเรานีชมาก ตอนกลับมาเริ่มทำจึงตั้งใจว่าเราจะทำเล็กๆ แบบนี้ไปก่อน made-to-order ไม่ทำสต๊อก
ในฐานะที่เป็นดีไซเนอร์ คุณสมบัติอะไรที่นักออกแบบควรมีมากที่สุด
ต้องรักมันจริงๆ เพราะมันเป็นงานที่หนักมาก (ลากเสียงยาว) ต้องคลั่งมากจริงๆ เพราะมันเป็นงานที่มีรายละเอียดยิบย่อยที่ต้องตัดสินใจในทุกจุด ต้องจมไปกับสิ่งที่เราชอบ สไตล์ที่เราชอบ
ในโลกยุคดิจิทัลแบบนี้ คิดว่าโซเชียลมีเดียมีผลต่อแบรนด์เราหรือเปล่า
ต้องบอกว่าเราเป็นคนไม่เก่งเรื่องโซเชียลมีเดีย แต่สมัยนี้ก็ต้องมี Online Presence แหละ มีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือมีแพลตฟอร์มให้คนใหม่ๆ โชว์ผลงานออกมาได้ แต่เราว่าบางทีรายละเอียดบางอย่างหรือความตั้งใจบางอย่างมันค่อนข้างกลืนหายไปในรูปที่เรามองผ่านๆ
ที่เราตั้งใจจัดนิทรรศการนี้ขึ้นมา เราอยากให้มีสเปซให้คนเข้ามาดูผลงานเรา เพราะงานเรามันสื่อสารผ่านสื่อพวกนี้ค่อนข้างยาก ความงามของเท็กซ์เจอร์ที่มองไม่เห็นในรูป ดีเทลบางอย่างที่เราอุตส่าห์คิดแล้วใส่เข้าไปในงาน เราก็อยากให้คนรู้
ฝากอะไรถึงคนที่อยากไปเรียนต่อด้านแฟชั่นโดยเฉพาะที่ต่างประเทศ
อยากให้แวดล้อมตัวเองกับคนที่มีแพสชันในเรื่องเดียวกัน อยู่กับสิ่งที่เราชอบ หากิจกรรมทำเยอะๆ เพราะมันจะช่วยพัฒนางานและตัวตนของเรา เรื่องภาษาไม่สำคัญมาก พอเราไปอยู่ตรงนั้นเราจะเรียนรู้เอง เราจะโตขึ้นเยอะ ทั้งความคิด งาน เอ็นจอยกับโอกาสตรงนั้น ซึมซับให้เต็มที่ เพราะเราสนุกมากตอนอยู่ที่นั่น
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
นิทรรศการคอลเล็กชันล่าสุด ‘The Brighter World’
เปิดให้เข้าชมที่สตูดิโอศิลปะ soi sa:m ซอยสวนพลู 3 ถนนสาทรใต้
ตั้งแต่วันนี้ถึง 20 ตุลาคม (ทุกวันศุกร์ถึงอาทิตย์)