ย้อนกลับไปในกาลก่อน จะพบว่ากว่าที่บทบาทของผู้หญิงจะเปิดกว้างและได้รับการยอมรับดังเช่นทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย สังคมโลกแทบจะทุกวัฒนธรรมก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่เจเนอเรชันยังมีค่านิยมที่จำกัดบทบาทความฝันให้ผู้หญิงต้องอยู่แต่ในบ้าน โดยเฉพาะสังคมไทยที่มักจะมองและมีคำพูดติดปากกันว่า ‘ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง’ การที่ผู้หญิงสักคนจะมีความใฝ่ฝันที่ผิดแผก ลุกขึ้นมาทำอะไรจนประสบความสำเร็จเกินกว่าที่สังคมในสมัยนั้นจะยอมรับและเปิดโอกาสให้ทำได้จึงนับเป็นเรื่องน่าทึ่ง แต่ด้วยความงดงามของโลกที่ขับเคลื่อนหมุนไปในวิถีที่เท่าเทียมและเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรก็ตาม เมื่อสังคมยอมที่จะให้อิสระกับผู้หญิง เปิดโอกาสให้พวกเธอได้แสดงความสามารถ เราจึงเห็นผู้หญิงมากมายที่ลุกขึ้นมาไขว่คว้าความฝัน ความสำเร็จ สร้างสรรค์สิ่งดีๆ อีกทั้งยังส่งต่อแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงคนอื่นๆ ตระหนักถึงคุณค่าที่มีอยู่ในตัวเอง พร้อมมอบความเชื่อมั่นว่าพวกเธอเป็นอะไรได้มากกว่าที่เคยคิด
ด้วยตระหนักดีถึงคุณค่าของผู้หญิงที่สรรสร้างสิ่งดีงามต่างๆ ให้เกิดขึ้น เป็นการสร้างความแตกต่างให้กับโลกใบนี้ในทางที่ดีขึ้น จึงทำให้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-Benz) แบรนด์ยานยนต์ชั้นนำระดับโลกเชื่อมั่นในพลังของผู้หญิง และให้กำเนิด ‘ชีส์ เมอร์เซเดส’ (She’s Mercedes) ซึ่งเป็นโกลบอลแพลตฟอร์มที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่ในการสร้างและส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิง และเพื่อผลักดันให้ผู้หญิงก้าวสู่จุดที่ดีที่สุดของตนเอง นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างรูปแบบการสื่อสารและการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างแบรนด์กับลูกค้ากลุ่มผู้หญิงผ่านการสร้างเครือข่ายสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะขึ้นมา เมอร์เซเดส-เบนซ์ดำเนินแคมเปญนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในปี 2019 นี้ ภายใต้คอนเซปต์ ‘She believes, she makes a difference.’ ได้มีการคัดเลือกผู้หญิงโดดเด่น 3 คนจาก 3 วงการ ได้แก่ ซาซ่า ศ.อารีย์ นักมวยหญิงไทยแชมป์โลก เจ้าของฉายาควีนออฟมวยไทย, รัสมี เวระนะ นักร้องและนักแต่งเพลงวง Isan Soul ที่ผสมผสานเพลงพื้นบ้าน ลูกทุ่ง และหมอลำ เข้ากับดนตรีโซลแจ๊ส เจ้าของรางวัลศิลปินยอดเยี่ยม คมชัดลึก อวอร์ด รวมถึงอื่นๆ อีกหลายรางวัล และ วีรยา โอชะกุล ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้เป็นหญิงแกร่งแห่งแวดวงป่าไม้ของไทย
ผู้หญิงทั้ง 3 คนนี้ล้วนมีเรื่องราวที่สร้างความแตกต่าง ส่งต่อแรงบันดาลใจและความมั่นใจให้กับผู้หญิงคนอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับเป็นตัวแทนที่แสดงถึงจิตวิญญาณของ ‘ชีส์ เมอร์เซเดส’
She’s unbeatable but gentle.
ซาซ่า ศ.อารีย์
นักมวยหญิงไทยแชมป์โลก
ยอมรับนะคะว่าเคยคิดว่าการที่ตัวเองเป็นผู้หญิงมันเป็นอุปสรรคจังเลย แต่เมื่ออยู่กับความรู้สึกตรงนี้มาได้จนถึงจุดหนึ่งก็รู้สึกว่า ถ้าก้าวมาได้ขนาดนี้แล้ว ทำไมเราจะทำให้สุดมากไปกว่านี้ไม่ได้ล่ะ จากที่เคยคิดลบ เราก็เรียนรู้ที่จะคิดบวกและให้กำลังใจตัวเองจนสามารถพัฒนาตัวเองมาจนถึงจุดนี้ได้
หญิงสาวอายุ 26 ปี บุคลิกร่าเริงสดใส เปี่ยมไปด้วยพลังบวก เล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงกระตือรือร้น ใครที่ไม่เคยรู้จักกับ อังศนา คำหาญผล อาจจะคิดว่าเธอเป็นเพียงผู้หญิงหน้าตาดีคนหนึ่ง หากเธอเป็นที่รู้จักในนาม ซาซ่า ศ.อารีย์ นักมวยหญิงไทยแชมป์โลก อี-วัน รุ่น 52 กิโลกรัม ของสภามวยไทยโลก ซึ่งก็อย่างที่รู้กันว่ามีผู้หญิงไทยน้อยคนนักที่จะเลือกเส้นทางนักมวยอาชีพ ด้วยคนภายนอกส่วนใหญ่มักจะมองว่ากีฬาดิบเถื่อนชนิดนี้เป็นกีฬาเฉพาะของผู้ชาย ทว่าหญิงสาวคนนี้กลับเลือกที่จะเดินบนเส้นทางที่แตกต่างจากผู้หญิงโดยส่วนใหญ่ แถมยังประสบความสำเร็จบนเส้นทางที่ตัวเองเลือกเป็นอย่างดี ด้วยฝีไม้ลายมือและดีกรีแชมป์โลก ทำให้เธอได้รับฉายาว่า ‘ควีนออฟมวยไทย’
คนส่วนใหญ่และผู้หญิงโดยทั่วไปมักมองว่ามวยเป็นกีฬาของผู้ชาย ทำไมซาซ่าจึงเลือกที่จะเดินบนเส้นทางนี้อย่างเอาจริงเอาจังจนถึงกับเลือกเป็นอาชีพ
ซาซ่า: ตั้งแต่เด็กๆ ซ่าเป็นเด็กแก่นๆ ห้าวๆ แต่ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงนัก เพราะเป็นโรคภูมิแพ้ ด้วยความที่ซ่าติดคุณพ่อซึ่งเป็นนักกีฬามาก ท่านก็จะสนับสนุนให้เราเล่นกีฬาเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ซ่าเลยเล่นกีฬาหลายอย่าง ทั้งยิงปืน ขี่ม้า ฯลฯ จนเมื่อคุณพ่อพาเด็กๆ จากต่างจังหวัดซึ่งเป็นญาติๆ กันมาสอนมวยเพื่อทำค่ายมวย คุณพ่อก็ถามซ่าว่าลองฝึกดูไหม จะได้มีวิชาไว้ป้องกันตัว ซ่าก็เลยลองฝึกดู วันหนึ่งหลังจากหัดมวยได้เพียงไม่นานนัก ตอนนั้นซ่าเพิ่งอายุได้ประมาณ 15-16 ปีเท่านั้นเอง เราตามลูกพี่ลูกน้องที่ไปเปรียบมวยเพื่อเตรียมแข่งชกในงานวัด ก็มีลูกสาวของค่ายมวยแห่งหนึ่งเดินเข้ามาทักว่าเป็นนักมวยหรือเปล่า เขาเองก็เพิ่งหัดมวยเหมือนกัน แต่หาคู่ชกไม่ได้ อยากจะขึ้นชกกันไหม ซ่าก็หันไปถามพ่อ ท่านก็ให้ซ่าตัดสินใจเอาเอง หลังจากนั้นอีก 1 เดือนซ่าก็ได้ขึ้นชกเป็นครั้งแรกและชนะ ทั้งๆ ที่โดนเตะ โดนแทงเข่า โดนศอกฟันจนหน้าแหก แต่ด้วยความที่เราชนะ ความภูมิใจ ความดีใจ มันทำให้ซ่าฝึกมวยและหลงใหลการชกต่อยมาเรื่อยๆ
มีอะไรที่เป็นอุปสรรคบ้างในช่วงแรกๆ ที่ซ้อม
ซาซ่า: มีหลายอย่างมากค่ะ คือเวลาซ้อมก็ต้องซ้อมกับผู้ชาย เพราะหาคู่ซ้อมที่เป็นผู้หญิงเหมือนกันได้ยากมาก เพราะผู้หญิงคนอื่นเขาอาจจะไม่ได้หาญกล้าเหมือนกับเรา แล้วช่วงแรกๆ ที่เพิ่งเริ่มฝึกมวย จิตใจเราก็ค่อนข้างอ่อนไหว ไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนอย่างทุกวันนี้ เวลาเราซ้อมกับผู้ชายซึ่งเขาแข็งแรงกว่ามาก เราก็สู้เขาไม่ได้ ด้วยความที่ร่างกายของเราเป็นผู้หญิง ซ่าเองถึงกับเคยคิดว่าการที่ตัวเองเป็นผู้หญิงมันเป็นอุปสรรคจังเลย แต่เมื่ออยู่กับความรู้สึกตรงนี้มาได้จนถึงจุดหนึ่ง ก็เริ่มรู้สึกว่าถ้าก้าวมาได้ขนาดนี้แล้ว ทำไมเราจะทำให้สุดมากไปกว่านี้ไม่ได้
จากที่ท้อและเหนื่อยทุกวัน เราก็เริ่มเรียนรู้ที่จะคิดบวก สร้างกำลังใจให้กับตัวเอง ซึ่งกีฬามวยเนี่ยมันขึ้นไปชกเพียงแค่คนเดียวก็จริง แต่เวลาที่ฝึกซ้อมมันซ้อมกันเป็นทีม กลายเป็นว่าขนาดทีมยังเชื่อมั่นในตัวเรา คือนอกจากคู่ซ้อม เทรนเนอร์ และคุณพ่อที่เป็นโค้ชแล้ว ก็ยังมีคุณแม่กับพี่สาวที่คอยดูแล คอยให้กำลังใจ ตลอดจนเพื่อนๆ ร่วมค่าย เมื่อซ่ามองไปรอบๆ ก็เลยรู้สึกว่าเราท้อไม่ได้ เพราะถ้าคนอื่นเขายังเชื่อมั่นในตัวเรา ซ่าเองก็ต้องเชื่อมั่นในตัวเองด้วยเหมือนกัน
อุปสรรคอื่นๆ สำหรับการเป็นนักมวยหญิง
ซาซ่า: ก็จะเป็นในเรื่องของสรีระร่างกายที่เราไม่ได้แข็งแรงเท่ากับผู้ชายร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งตัวซ่าเองก็เคยประสบกับปัญหาที่เกิดจากการฝึกซ้อมหนักเกินไปโดยไม่ได้ดูแลตัวเองเท่าที่ควร คือด้วยใจที่มุ่งมั่นของเรา บางทีมันก็ทำให้เราลืมคิดถึงเรื่องนี้ไป บางทีเราก็อดทนโดยไม่รู้ตัวว่าข้างในมันมีอะไรที่พังไปบ้าง ซึ่งร่างกายเราไม่แข็งแรงเท่ากับผู้ชายอยู่แล้ว มันย่อมต้องการการดูแลที่มากกว่าผู้ชาย ซึ่งเขาร่างกายแข็งแรงกว่า ดังนั้นสรีระรูปร่างของผู้หญิงก็จะเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งอยู่แล้ว แต่โชคดีที่ทุกวันนี้ก็มีความรู้ที่พัฒนาขึ้นว่าจะต้องดูแลตัวเองอย่างไร มีอุปกรณ์ที่คอยซัพพอร์ตผู้หญิงมากกว่าสมัยก่อน
นอกเหนือจากนี้ก็จะเป็นในเรื่องของคำสบประมาท ซึ่งสำหรับตัวซ่าเองก็เคยเจอคนที่มองเราว่ามาเป็นนักมวยหญิงเพราะอยากเด่น อยากเท่ หรืออยากจะเข้าไปอยู่ท่ามกลางผู้ชาย มันมีคนที่มองเราแบบนี้จริงๆ นะคะ บ้างก็พูดกันว่าเป็นผู้หญิงคงไปได้ไม่ไกลหรอก ถ้าเป็นสมัยแรกๆ ก็จะได้ยินคำพูดทำนองนี้เยอะ แต่เรารู้ตัวเองดีว่าเราไม่ได้เป็นแบบที่เขาพูด ซ่าก็เลยไม่นำไปคิดหรือใส่ใจ โชคดีที่สมัยนี้มันมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป มีการรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมกันระหว่างเพศมากขึ้น คนก็จะมองว่าผู้หญิงที่ทำอะไรแบบนี้ได้เป็นผู้หญิงที่เก่ง มีความสามารถ และน่าชื่นชม
คุณมีวิธีตั้งเป้าหมายเพื่อไปสู่ความสำเร็จได้อย่างไร
ซาซ่า: ซ่าไม่ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าอยากจะเป็นแชมป์โลก ไม่เคยตั้งเป้าหมายอะไรแบบนั้นเลย แต่ตั้งเป้าหมายว่าในทุกๆ ไฟต์ที่เราต่อยจะต้องแก้ไขข้อผิดพลาดจากไฟต์ที่แล้ว และทำให้ดีมากยิ่งขึ้นต่อๆ ไป ไม่เคยมองว่าฉันจะต้องชนะและจะต้องไปเป็นแชมป์ สิ่งสำคัญคือเราต้องแข่งกับตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก เราโฟกัสที่ตัวเองก่อนเลย ไม่ได้มองว่าฉันจะต้องชนะคนนี้แล้วไปต่อยกับคนโน้น ความพยายามของเราคืออยากพัฒนาตัวเองให้ดีที่สุด ซึ่งมันก็ต่อยอดจนทำให้เรามาจนถึงจุดนี้ได้
ความรู้สึกของการได้เป็นแชมป์มวยหญิงโลกเป็นอย่างไร
ซาซ่า: ภูมิใจมากค่ะ เพราะไม่ใช่ว่านักมวยคนไหนก็ได้ที่จะมาต่อยชิงแชมป์ คุณต้องทำผลงานที่ดีมาเรื่อยๆ จึงจะสามารถขึ้นชิงแชมป์ระดับนี้ได้ นับเป็นผลงานครั้งหนึ่งของซ่าที่ทุกคนให้การยอมรับ ไม่เหมือนกับที่เคยเจอมาว่าเพราะเป็นผู้หญิงก็เลยดัง หรือเพราะหน้าตาดีก็เลยมีคนให้โอกาส คือเวลาเราขึ้นไปชก หน้าตามันไม่ได้ช่วยอะไรเลยนะคะ การจะชกชนะหรือไม่มันเป็นเรื่องของความตั้งใจและความสามารถของเราล้วนๆ ซึ่งซ่าต้องต่อสู้กับเรื่องนี้มาโดยตลอด มันไม่ใช่เพราะใครทั้งนั้นที่ทำให้เรามายืนอยู่จุดนี้ เราอาจจะมีคนรอบข้างที่คอยให้การสนับสนุน คอยให้กำลังใจ แต่ในขณะเดียวกันเราต้องสร้างมันขึ้นมาเองด้วย เราจะต้องพยายามทำผลงานทุกอย่างให้ดี ให้เข้าตาคนอื่น เราต้องสร้างโอกาสและไขว่คว้ามันด้วยตัวเอง ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีวันประสบความสำเร็จได้หรอกค่ะ
มองบทบาทของผู้หญิงทุกวันนี้อย่างไร และอยากพูดอะไรกับผู้หญิงคนอื่นที่อาจจะยังไม่ประสบความสำเร็จหรือมีความมั่นใจเท่ากับคุณ
ซาซ่า: ซ่ามีความภูมิใจมากที่ได้เกิดมาเป็นผู้หญิง ผู้หญิงหลายๆ คนในสมัยนี้เก่งและมีความกล้ามากที่จะลงมือทำอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งก็ทำได้ดีเทียบเท่ากับผู้ชายเลย ซ่าดีใจมากที่ผู้หญิงทุกคนเริ่มหันมามองเห็นคุณค่าในตัวเองและกล้าที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรที่แตกต่างจากเดิมมากขึ้น ซึ่งก็ยังมีผู้หญิงบางคนที่อาจจะยังไม่กล้าแล้วก็ยังไม่มั่นใจในตัวเองอยู่
ซ่าอยากจะให้กำลังใจผู้หญิงเหล่านั้นที่ยังไม่กล้าเปิดใจ อยากจะบอกกับเขาว่าถ้าเขาค้นพบสิ่งที่ตัวเองรัก ก็อยากจะให้ทุ่มเทและตั้งใจทำมันอย่างสุดความสามารถโดยไม่ต้องกลัวที่จะผิดพลาด สมมติว่าคุณอยากจะทำอะไรสักอย่างจังเลย แล้วมามัวแต่คิดว่าเป็นผู้หญิงก็เลยไม่กล้า ก็อยากให้ลองเปิดใจดู เวิร์กหรือไม่เวิร์กไม่เป็นไร แต่ขอให้คิดว่าได้ทำเพื่อเป็นการเรียนรู้ อยากจะให้รู้ว่าการเสี่ยงมันสนุก และถ้าเราพยายามอย่างที่สุดแล้ว ผลที่ได้กลับมามันย่อมคุ้มค่า เพราะจะได้เรียนรู้อะไรกลับมาแน่นอน
She’s limitless with Her soul.
รัสมี เวระนะ
นักร้อง นักแต่งเพลง รางวัลศิลปินยอดเยี่ยม
สมัยก่อนตอนที่แป้งเริ่มทำเพลงใหม่ๆ วงดนตรีต่างๆ ก็มักจะมีผู้ชายเป็นผู้นำ
เสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ค่อยจะมีวงที่ผู้หญิงเป็นผู้นำสักเท่าไร ก่อนหน้านั้นที่ทำวงมาโดยตลอดเราจะเป็นผู้ตามอย่างเดียว จนเมื่อไปทำวงที่เชียงใหม่ก็ได้อยู่ในฐานะผู้นำวง ซึ่งเราก็ได้รับหน้าที่และบทบาทเต็มที่ ได้แสดงความเป็นศิลปินของตัวเองอย่างเต็มที่ ได้สร้างสรรค์ดนตรีในแบบที่เราอยากจะสร้างสรรค์
ด้วยความโดดเด่นในสไตล์ดนตรีที่แตกต่าง เป็นเอกลักษณ์ แปลกใหม่ และสร้างสรรค์ จึงทำให้ แป้ง-รัสมี เวระนะ นักร้องและนักแต่งเพลงวง Isan Soul สาวลูกครึ่งไทย-กัมพูชา ผู้ผสมผสานดนตรีพื้นบ้าน ลูกทุ่ง และหมอลำ เข้ากับดนตรีแจ๊ส แอโฟร และโซลได้อย่างลงตัว กลายเป็นเพลงอีสานไทยร่วมสมัยที่ได้รับการยอมรับและได้รับความสนใจจากนานาประเทศ ส่งผลให้เธอเป็นเจ้าของรางวัลศิลปินยอดเยี่ยม คมชัดลึก อวอร์ด รวมถึงอื่นๆ อีกหลายรางวัล ทั้งยังได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 50 ชาวเอเชียผู้น่าจับตามองในสาขาศิลปวัฒนธรรมประจำปี 2018 จากหนังสือพิมพ์ The Straits Times ในประเทศสิงคโปร์อีกด้วย
THE STANDARD ได้สนทนากับรัสมีในวันที่เธอกำลังจะให้กำเนิดบุตรคนแรก เราเชื่อว่าจิตวิญญาณแห่งการสร้างสรรค์อันไร้ขอบเขตของศิลปินทางดนตรีหญิงผู้โดดเด่น ซึ่งกำลังจะได้รับบทบาทใหม่ล่าสุดในฐานะ ‘แม่’ คนนี้จะสามารถมอบแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงคนอื่นๆ ได้อีกมากมาย
จุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจในการทำเพลงแนวอีสานโซล
รัสมี: แป้งหัดร้องเพลงหมอลำและเพลงเจรียงมาตั้งแต่เด็ก โดยมีพ่อเป็นครูคนแรก เมื่อย้ายมาเชียงใหม่ แป้งก็ได้มีโอกาสทำความรู้จักกับดนตรีสไตล์อื่นๆ มากขึ้น เมื่อรู้จักกับดนตรีแจ๊ส และมีเพื่อนนักดนตรีจากฝรั่งเศสคนหนึ่งที่เก่งมาก เขาไปอยู่แอฟริกามาแล้วอยากทำเพลง African Afro ก็เลยชวนเราไปทำด้วย ซึ่งฟังดูแล้วมันก็มีความเป็นพื้นบ้านที่ทำให้นึกถึงเพลงหมอลำ ก็เลยตกลงทำเพลงกับเขา แล้วก็ได้ไปที่ฝรั่งเศส หลังจากนั้นเราก็จริงจังกับดนตรีแนวนี้มากขึ้น และทดลองผสมผสานดนตรีแจ๊ส โซล กับหมอลำขึ้นมา
เพราะอะไรคุณจึงกล้าที่จะแตกต่างจนประสบความสำเร็จ
รัสมี: จริงๆ แป้งไม่ได้คิดว่าตัวเองจะต้องแตกต่าง คือเราก็แค่หยิบเอาสิ่งที่มีอยู่ ที่เรารู้จักคุ้นเคยมาสร้างสรรค์ นั่นคือเพลงหมอลำ เพลงเขมร ซึ่งแป้งซึมซับมาจากคุณพ่อ แล้วใส่ความเป็นส่วนตัวจากประสบการณ์ที่ได้พบเจอเข้าไปในงานเอามาแต่งเป็นเพลง ซึ่งมันจะทำให้ผลงานของเรามีเอกลักษณ์และแตกต่างจากคนอื่น
เพลงอีสานโซลที่คุณทำมีอิทธิพลและสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้กับวงการเพลง
รัสมี: แป้งคิดว่าจริงๆ แล้วเพลงหมอลำก็ได้รับการยอมรับอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนขึ้นตอนนี้ก็คือคนรุ่นใหม่เริ่มหันมาทำเพลงร่วมสมัยโดยหยิบเอารากจากวัฒนธรรมที่เรามีมาใช้กันเยอะขึ้น โดยเฉพาะเพลงหมอลำก็ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางขึ้น ซึ่งในทางที่ดีแป้งก็คิดว่ามันก็ทำให้ดนตรีหมอลำยังคงมีชีวิตและลมหายใจต่อไปได้โดยไม่สูญหาย แม้จะแตกต่างจากที่คนรุ่นก่อนๆ เขาเคยทำกันมา กลายเป็นเพลงหมอลำสมัยใหม่ที่มีการประยุกต์ให้ร่วมสมัยมากขึ้น เพราะอันที่จริงดนตรีมันไม่เคยหยุดนิ่งอยู่แล้ว มันก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ต้องมาพร้อมๆ กับการเปิดรับและประยุกต์ของคนรุ่นใหม่อยู่แล้ว
บทบาทของผู้หญิงในวงการเพลงสมัยก่อนเป็นอย่างไร
รัสมี: ถ้าจะให้พูดจากประสบการณ์ของตัวแป้งเอง คือสมัยก่อนวงดนตรีก็มักจะมีแต่ผู้ชายที่เป็นผู้นำเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยจะมีผู้หญิงที่เป็นผู้นำวงสักเท่าไร อย่างตัวแป้งเองก่อนหน้าที่จะย้ายมาทำเพลงที่เชียงใหม่ เราก็เป็นแค่ผู้ตามเพียงอย่างเดียว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับหัวหน้าวงที่เป็นผู้ชายว่าจะให้เราร้องเพลงแบบไหน สไตล์อย่างไร คือเราไม่ได้ทำหน้าที่ตามบทบาทเต็มที่ แต่พอได้มีโอกาสมาทำวงและทำเพลงอีสานโซล เราก็ได้แสดงความเป็นศิลปินของตัวเองอย่างเต็มที่ ได้สร้างสรรค์ดนตรีในแบบที่เราอยากจะสร้างสรรค์
แล้วสมัยนี้ล่ะ สถานการณ์ของผู้หญิงในวงการเพลงดีขึ้นไหม
รัสมี: พอมาถึงทุกวันนี้ ผู้หญิงที่ทำงานแบบแป้งก็มีเยอะขึ้นนะคะ แต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการทำงานก็คือการที่เราจะต้องพิสูจน์ตัวเอง โดยเราจะหยุดนิ่งไม่ได้ เราจะต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา พัฒนาในที่นี้แป้งไม่ได้หมายถึงว่ามันจะต้องไปในทางที่ถูกเพียงอย่างเดียว คือดนตรีมันเป็นเรื่องของการทดลอง มันมีสิ่งใหม่เข้ามาอยู่ตลอดเวลา เช่น อัลบั้มแรกเราอยากจะทำเป็นอะคูสติก ส่วนอัลบั้มที่ 2 ก็อยากทำฟูลแบนด์ เราก็ต้องเรียนรู้เพื่อจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และแอ็กทีฟอยู่ตลอดเวลา ยิ่งในโลกที่เราอยู่ในปัจจุบัน ศิลปินยิ่งต้องฟังเพลงเยอะ ต้องพูดคุยกับคนเยอะขึ้นเพื่อจะได้เรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาใช้กับงาน ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ต้องแอ็กทีฟ ถ้าเราจะทำในด้านของดนตรีหรือไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตาม
ตอนนี้คุณกำลังคิดจะทำโปรเจกต์ใหม่ๆ อะไรบ้าง
รัสมี: แป้งมีโปรเจกต์ที่อยากจะทำอยู่เยอะมาก อย่างหนึ่งก็คือเราอยากทำงานศิลปะ Solo Art Exhibition ของตัวเองสักครั้ง เป็นโปรเจกต์ใหญ่ที่อยากทำ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับหมอลำด้วยเหมือนกัน แต่ก็ต้องหาเวลาทำ เพราะต้องไปตามติดวงหมอลำเพื่อบันทึกภาพและเสียงออกมาทำเป็นงานศิลปะที่อาจจะมีอินสตอลเลชันอาร์ต แล้วก็กำลังหาคอนเน็กชัน เพราะอยากจะพาวงไปทัวร์ยุโรปสัก 3-4 ประเทศ ตอนนี้ก็กำลังเวิร์กกับตรงนี้อยู่ และก็กำลังจะออกเพลงใหม่ชื่อ ‘ดาวดวงใหม่’ ซึ่งเพลงนี้ก็น่าจะปล่อยวันที่แป้งคลอดลูกชาย เป็นเพลงพิเศษที่แต่งขึ้นมาสำหรับเขา เป็นซิงเกิลใหม่ที่มีความหมายสำหรับเรามาก ก็อยากฝากให้ติดตามกันด้วยค่ะ
การกำลังจะได้เป็นแม่คน ซึ่งถือเป็นบทบาทที่สำคัญมากสำหรับผู้หญิง สำหรับคุณแล้วเป็นอย่างไร
รัสมี: แป้งไม่ได้มองว่าเป็นปัญหานะคะ เราก็ใช้ชีวิตตามปกติเหมือนเดิมทุกวัน อย่างตอนที่กำลังท้องเขาอยู่ แป้งก็ทำงานทุกวันตลอดเวลาอยู่แล้ว เราตื่นเต้นมากและรอคอยที่จะได้เห็นหน้าลูก ก็คิดว่าอยากใช้ชีวิตให้ปกติที่สุด คือแป้งได้ยินคนทั่วไปเขาพูดกันว่าเดี๋ยวมีลูกแล้วจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ แต่เราก็อยากจะใช้ชีวิตให้ปกติที่สุด ทำทุกสิ่งที่อยากจะทำเหมือนเดิม พร้อมๆ กับเลี้ยงดูเขาไปด้วย เราก็อยากจะทำงานของเราโดยที่ไม่คิดว่าเรื่องนี้เป็นอุปสรรคกับการทำงาน ซึ่งแป้งก็คุยกับแฟนว่าในช่วงแรกๆ ก็อาจจะต้องช่วยกันดูแลลูกไปก่อน ซึ่งแป้งโชคดีมากที่เรามีแฟนที่เข้าใจและพร้อมที่จะซัพพอร์ต
เชื่อมั่นในพลังของผู้หญิงอย่างไรบ้าง และมีคำแนะนำอย่างไรให้กับผู้หญิงคนอื่นๆ
รัสมี: แป้งว่าทุกวันนี้ผู้หญิงมีบทบาททางสังคมมากกว่าสมัยก่อนมาก ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรก็แล้วแต่ สังคมเปิดกว้างและยอมรับผู้หญิงมากขึ้น ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากไปถึงผู้หญิงคนอื่นๆ ที่อาจจะยังไม่กล้า ไม่มีความมั่นใจ คือแป้งสังเกตเห็นได้จากเพื่อนๆ ผู้หญิงรอบตัวของเราเองนี่ล่ะว่ายังมีผู้หญิงอีกหลายคนที่มักจะติดอยู่ในคอมฟอร์ตโซน ซึ่งเขาไม่ค่อยกล้าที่จะก้าวออกมา
แป้งอยากจะบอกผู้หญิงทุกคนว่า ถ้าคุณรู้สึกไม่ดี ถ้าคุณอยู่ตรงนั้นแล้วมันแย่ เราต้องลองก้าวออกมาจากตรงนั้น จากตรงที่เป็นคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง มันจะทำให้เราก้าวไปข้างหน้า ซึ่งก้าวแรกมันอาจจะยากสักหน่อย แต่ถ้าเราไม่กล้าที่จะทำมัน ไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่กล้าที่จะทดลอง ก็อาจจะไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
She’s determind for a better world.
วีรยา โอชะกุล
ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์)
หญิงแกร่งแห่งแวดวงป่าไม้ไทย
เรื่องการทำให้ลูกน้องและคนในแวดวงป่าไม้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายยอมรับเป็นปัญหาใหญ่สำหรับพี่เลย เราไม่สามารถที่จะทำให้เขายอมรับเราได้จากความรู้ ความสามารถ หรือตำแหน่งได้ในทันทีหรอก กว่าจะทำให้เขายอมรับได้ก็จะต้องใช้เวลา แสดงให้เห็นว่าเราทำได้ ต้องใช้ทั้งพลังและความตั้งใจ
วีรยา โอชะกุล เจ้าของฉายา ‘ดอกไม้เหล็กแห่งผืนป่าตะวันตก’ เล่าให้ THE STANDARD ฟังด้วยน้ำเสียงแน่วแน่ ชัดถ้อยชัดคำ ตรงประเด็น แฝงความเด็ดขาด เรารู้สึกได้ในทันทีว่าผู้หญิงคนนี้เป็น ‘คนจริง’ ยิ่งบวกกับเรื่องราวเข้มข้น ประสบการณ์กว่า 20 ปีในแวดวงป่าไม้ของไทย ทั้งในฐานะหัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่า ลงพื้นที่ลาดตระเวนจับกุมผู้ลักลอบกระทำผิดเคียงบ่าเคียงไหล่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ชาย เคยได้เป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ด้วยการทำงานอย่างตรงไปตรงมา วีรยาจึงเคยขัดแย้งกับผู้มีอิทธิพลจนถูกตั้งค่าหัว ไม่น่าแปลกใจเลยที่เธอช่างเหมาะสมกับฉายาดังกล่าวเสียเหลือเกิน
บทบาทของผู้หญิงในงานด้านป่าไม้ไทยเป็นอย่างไร
วีรยา: สมัยที่เรียนจบใหม่ๆ เมื่อปี 2535 ผู้หญิงเรายังมีบทบาทค่อนข้างน้อยมากในแวดวงป่าไม้ ตอนนั้นคณะวนศาสตร์ยังกำหนดโควตารับผู้ชาย 100 คน แต่รับผู้หญิงเพียง 30 คนเท่านั้น ด้วยความที่ต้องอยู่กับป่า ทำให้งานนี้ถูกมองว่าเหมาะสำหรับผู้ชายมากกว่า ยิ่งโดยเฉพาะสำหรับผู้หญิงที่จบออกมาแล้วจะได้ทำงานอยู่ในพื้นที่ป่าจึงยิ่งมีน้อยเข้าไปใหญ่ ผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่สำนักงาน ไม่ค่อยมีโอกาสลงไปปฏิบัติงานในที่พื้นที่จริง ซึ่งถูกมองว่ายากลำบาก อันตราย เพราะเจ้าหน้าที่ป่าไม้อย่างเรามีหน้าที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย จึงต้องเจอกับพวกลักลอบตัดป่าไม้ ซึ่งเป็นงานที่เหมาะสำหรับผู้ชายมากกว่า ทำให้ไม่ค่อยเห็นบทบาทของผู้หญิงในภารกิจเหล่านั้นสักเท่าไร
แต่ในปัจจุบันมีผู้หญิงที่เรียนวนศาสตร์มากขึ้น และมีการฝึกอบรม เพิ่มทั้งความรู้และสมรรถนะให้มีความพร้อมเพื่อที่จะให้ออกปฏิบัติงานในพื้นที่จริงได้ ซึ่งทำให้ผู้หญิงเรามีโอกาสมากขึ้น มีทั้งงานที่ผู้หญิงทำได้หลากหลายขึ้น ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสได้แสดงผลงานจนสำเร็จ เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ก็เลยเป็นเหตุผลให้ผู้หญิงมีที่ยืนในแวดวงนี้มากขึ้นด้วย
ก่อนที่จะมาเป็นผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างทุกวันนี้ ทำไมคุณจึงเลือกที่จะทำงานในป่านานถึงกว่า 20 ปี
วีรยา: ก่อนจะตัดสินใจเรียนวนศาสตร์ พี่ก็ตั้งใจอยู่แล้วว่าอยากจะทำงานในป่า พี่ไม่ได้อยากจะทำงานเอกสารในออฟฟิศ คือเราอาจจะเป็นคนที่ไม่ได้ชอบอยู่ในกรอบนัก จึงเลือกเรียนวนศาสตร์ทั้งๆ ที่ไม่มีใครสนับสนุนเลย เมื่อเรียนจบและได้เริ่มทำงานป่าไม้ วันหนึ่งก็ได้รับโอกาสจากหัวหน้าให้เป็นหัวหน้าชุดสายตรวจปราบปราม ซึ่งเป็นงานที่ใหม่มากสำหรับผู้หญิง และเป็นงานที่ท้าทายมาก
การได้เป็นหัวหน้าทีมปฏิบัติการซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายนั้นมีอุปสรรคอย่างไร
วีรยา: เรื่องการทำให้ลูกน้องและคนส่วนใหญ่ในแวดวงนี้ซึ่งเป็นผู้ชายยอมรับถือเป็นปัญหาใหญ่ อันที่จริงพี่ไม่สามารถที่จะทำให้เขายอมรับเราจากความรู้ ความสามารถ หรือตำแหน่งได้ในทันทีหรอกค่ะ กว่าที่จะทำให้เขายอมรับได้มันจะต้องใช้เวลา ซึ่งพี่ก็ต้องใช้ทั้งพลังและความตั้งใจแสดงให้เห็น เพราะเราเองก็เข้าใจนะว่าบางทีมันก็เป็นเรื่องอีโก้ของผู้ชายด้วย คือเขาก็มองว่าเราเป็นผู้หญิง จะทำได้เหรอ แถมต้องเป็นหัวหน้าเขาด้วย เขาทำงานนี้มาตลอดทั้งชีวิต จับกุมคนฝ่าฝืนส่งขึ้นโรงขึ้นศาล ต่อสู้ ยิงปืน จับกุมผู้ต้องหามาตลอดทั้งชีวิต วันดีคืนดีก็มีผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งถ้าพูดตรงๆ ก็ทำอะไรยังไม่เป็นเลยเสียด้วยซำ้ในตอนนั้นเข้ามาเป็นหัวหน้าเขา พี่ก็เข้าใจเขานะ แต่การที่เราจะทำให้คนเหล่านี้ยอมรับเราได้ เรื่องของเวลาเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งพี่ต้องใช้พลังทุ่มเทลงไป ทำให้เขาเห็นความตั้งใจ และเรียนรู้วิธีที่จะทำงานร่วมกับเขาให้ได้ ซึ่งต้องใช้เวลาอยู่นานมาก
แล้วอะไรเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้คุณได้รับการยอมรับในที่สุด
วีรยา: พี่ว่าสิ่งที่เป็นกุญแจสำคัญคือเราต้องแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและความพยายาม เราก็แค่ตั้งใจทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดตามที่ได้รับมอบหมายมา เราต้องยืนหยัดกับตรงนี้ ใช้เวลาเรียนรู้ ซึ่งพี่ก็ใช้ความสามารถของคนที่เขาไม่ได้ยอมรับเรามาเป็นครูในการที่จะปรับตัว อีกอย่างคือเราต้องรู้จักมองเห็นจุดบกพร่องและส่งเสริมคนอื่นที่อยู่ในทีม ซึ่งพี่คิดว่ามันเป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาที่จะต้องมองให้เห็นและทำหน้าที่ตรงนี้ เราต้องหาทางสนับสนุนในส่วนที่ขาดไปของเขา เพราะตำแหน่งหน้าที่การงานเขาอาจจะไม่สูง เสียงไม่ดัง เสียงเราดังกว่าเขาก็ต้องเป็นกระบอกเสียงให้กับเขา อันนี้เป็นความรับผิดชอบในส่วนที่เราต้องทำให้กับเขา เราถึงจะเป็นผู้นำและผู้บังคับบัญชาของเขาได้
แล้วในการทำหน้าที่ตรงนี้ มีข้อได้เปรียบอะไรของการที่เป็นผู้หญิงซึ่งผู้ชายไม่มีไหม
วีรยา: ข้อดีของการเป็นผู้หญิงกับการทำงานตรงนี้ก็มีนะคะ เช่น การที่พี่ทำงานเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย เรามีวิธีคิดแบบใหม่ วิธีการแก้ไขปัญหาแบบใหม่ ซึ่งไม่เหมือนกับวิธีการเดิมๆ ที่ผู้ชายเขาเคยทำตามกันมาจนเป็นระเบียบวิธีปฏิบัติในวงการนี้ ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องนัก พอเรามาทำก็มองเห็นและใช้วิธีอีกแบบ แล้วก็แก้ไขให้ถูกต้อง อีกอย่างหนึ่งคือเวลาที่เกิดการปะทะหรือมีข้อขัดแย้งกัน เมื่อเป็นผู้หญิงพูดแล้วก็เหมือนกับว่ามันเบาบางลง ซึ่งถ้าเป็นผู้ชายกับผู้ชายเขามาคุยกัน เขาอาจจะขัดแย้งจนหักกันไม่ลงเลยก็ได้ ซึ่งตรงนี้ก็ถือเป็นข้อได้เปรียบของการเป็นผู้หญิงด้วยเหมือนกัน มันก็เป็นประโยชน์ของการที่มีผู้หญิงเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้
ทราบมาว่าสมัยที่ยังทำงานบังคับใช้กฎหมาย คุณเคยถึงขนาดโดนตั้งค่าหัวเพราะไปขัดผลประโยชน์ของผู้มีอิทธิพลเข้า
วีรยา: การทำงานตรงนี้แล้วเกิดความขัดแย้งเช่นนี้ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพราะคนอื่นเขาก็ต้องการจะฉกฉวยทรัพยากรไปใช้ประโยชน์ แต่เมื่อมันเป็นหน้าที่ของพี่ที่จะต้องรักษาเอาไว้ พี่ก็จะทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ โดยไม่ได้มองว่าชาวบ้านหรือผู้มีอิทธิพลจะเสียผลประโยชน์แล้วจะเกลียดหรือแค้นหรือไม่ คือพี่จะไม่มานั่งเกรงกลัว ไม่ว่าจะเป็นว่าจะเป็นผู้มีอิทธิพลหรือเป็นคนธรรมดา พี่ก็จะใช้มาตรฐานเดียวกัน
ถามว่ากลัวตายไหม หรือกลัวไม่เติบโตในหน้าที่การงานไหม ก็ไม่ได้คิดอะไรเลยค่ะ คิดแต่ว่าเรามีหน้าที่ อะไรเป็นสิ่งที่ถูกต้องก็จะมุ่งมั่นทำไปให้ดีสุดความสามารถ ซึ่งสุดท้ายแล้วเราจะถูกยิงตายหรือไม่นั้นมันก็ขึ้นอยู่กับความรอบคอบระมัดระวัง ถามว่าพี่ระมัดระวังมากไหมในตอนนั้น ด้วยความที่เป็นผู้หญิง ดังนั้นเราก็จะละเอียดรอบคอบมากในเรื่องนี้ เพราะว่าถ้าพี่พลาดเสียชีวิตในหน้าที่แล้ว ผู้หญิงคนอื่นๆ ก็อาจจะไม่ได้รับโอกาสให้ทำงานตรงนี้อีกเลย
คุณคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมามีอิทธิพลและสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
วีรยา: พี่คิดว่าสิ่งที่พี่และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ทุกคนช่วยกันทำมานานหลายสิบปี เมื่อมาถึงทุกวันนี้ก็ได้รับความสนใจจากสังคมกันมากขึ้น เมื่อโลกเราเปลี่ยนแปลงไป คนเราก็หันมาใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น เห็นว่ามันมีผลกระทบต่อชีวิตของแต่ละคนอย่างไร ก็เลยกลับมาให้ความสำคัญและร่วมมือกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และทุกวันนี้พี่เองก็ดีใจที่มีน้องๆ ผู้หญิงที่ทำงานทางด้านนี้กันมากขึ้นด้วย
คุณเชื่อมั่นในพลังของผู้หญิงขนาดไหน และอยากจะบอกกับผู้หญิงคนอื่นๆ ว่าอย่างไร
วีรยา: พี่คิดว่าผู้หญิงทุกวันนี้มีพลังมากเลยนะ คือเมื่อก่อนผู้หญิงเราอาจจะเป็นคนที่ถูกซ่อนเอาไว้ข้างหลัง แต่ทุกวันนี้ผู้หญิงไทยเราได้รับการยอมรับในสังคมมากขึ้น กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองกว่าเมื่อก่อน กล้าที่จะลุกขึ้นมาทำสิ่งต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการดำรงอยู่ในสังคมมากขึ้น
พี่อยากจะพูดกับน้องผู้หญิงหลายๆ คนที่ไม่มั่นใจในตัวเอง สมมติว่าเขาอยากจะทำอะไรสักอย่าง แต่ไม่มีความเชื่อมั่น พี่ก็อยากจะบอกว่าถ้าเราไม่ก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดของตัวเองที่คิดว่าเราเป็นผู้หญิง เราทำไม่ได้หรอก ไม่ใช่เฉพาะกับงานด้านนี้อย่างเดียวนะคะ แต่เป็นเรื่องอื่นๆ ด้วย ถ้าเรามีความมั่นใจ ตั้งใจ และรักที่จะทำมัน ก็จะสามารถข้ามผ่านได้ทุกอาชีพ ขอให้รักที่จะทำก่อน มีความตั้งใจจริง และต้องเชื่อมั่นว่าตัวเองจะต้องทำได้
พี่อยากให้เขาถามตัวเองว่าอยากทำอะไรและเลือกที่จะเป็นตัวเองให้มากที่สุด ขอให้มั่นใจในตัวเองก่อนที่จะให้คนอื่นมั่นใจในตัวเรา พี่คิดว่าผู้หญิงเรามีคุณสมบัติดีๆ อยู่แล้ว ทั้งเรื่องความอดทน ความสามารถในการรับแรงกดดันของผู้หญิงก็ไม่ได้น้อยหน้ากว่าผู้ชายเลย แถมยังมีความละเอียดอ่อนเพิ่มเติมขึ้นมาอีก ดังนั้นถ้าคุณเติมความตั้งใจกับความมุ่งมั่นลงไปให้มากพอเพื่อเดินไปให้ถึงยังจุดหมาย พี่เชื่อว่าผู้หญิงทุกคนเดินไปถึงมันได้ ผู้หญิงทุกคนถ้าตั้งใจแล้วย่อมทำได้ดีไม่แพ้ผู้ชายแน่นอน
ด้วยความเชื่อมั่นที่ว่าผู้หญิงทุกคนสามารถสร้างความแตกต่างให้กับโลกใบนี้ได้เช่นนี้เอง จึงทำให้ผู้หญิงทั้ง 3 คนนี้เป็นตัวแทนจิตวิญญาณของ She’s Mercedes ประจำปี 2019 และโปรดเชื่อเถอะว่าตัวคุณเองก็เป็นผู้หญิงอีกคนที่จะสามารถสร้างความแตกต่างให้กับโลกใบนี้ได้เช่นกัน ‘She believes, You makes a difference.’
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์