×

‘ม่อนน้องแกะ’ โครงการหลวง ดอยอินทนนท์ ฟาร์มขนปุยที่ทำให้เกือบหลงนึกไปว่าอยู่สวิตเซอร์แลนด์

18.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ฟาร์มน้องแกะสถานีหน่วยย่อยผาตั้งแห่งนี้ อาจจะไม่เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวมากนัก เนื่องจากเป็นฟาร์มปิดของโครงการหลวง เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2553 ปัจจุบันขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนจนมีแกะอยู่ทั้งหมด 160 ตัว ประกอบด้วยแกะ 4 สายพันธุ์
  • นอกจากเลี้ยงแกะเพื่อเอาขน และสร้างงานให้กับชาวบ้านแล้ว ที่นี่ยังมีการวิจัยเลี้ยงแกะเพื่อขุนเอาเนื้อ คาดว่าหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เราจะได้บริโภคเนื้อแกะของโครงการหลวงกันในอีก 3 ปีข้างหน้า

     บนความสูง 1,480 เมตรจากระดับน้ำทะเล บนพื้นที่ขนาด 120 ไร่ มีแกะกว่าร้อยตัวเดินละเลียดเล็มหญ้าอย่างสบายอารมณ์ท่ามกลางขุนเขา ภาพความสงบสวยงามที่ปรากฏต่อสายตาตรงหน้า ประหนึ่งว่าเรากำลังอยู่ในฟาร์มแกะแถบสวิตเซอร์แลนด์หรือนิวซีแลนด์ก็ไม่ปาน เพียงแต่ที่นี่คือภาคเหนือของประเทศไทยเราดีๆ นี่เอง ฟาร์มแกะโครงการหลวง ‘สถานีหน่วยย่อยผาตั้ง’ เป็นส่วนหนึ่งของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

 

 

     ด้วยภาพที่สวยงามตรงหน้าเชื่อแน่ว่าจะต้องทำให้หลายคนอยากจะรู้จักฟาร์มแกะแห่งนี้กันให้ดีขึ้น พร้อมทั้งหาโอกาสไปเยี่ยมเยือนในช่วงหน้าหนาวนี้ และต่อไปนี้คือ 6 ข้อควรรู้สำหรับผู้ที่ต้องการมาเยือนสถานที่แห่งนี้  

  1. ฟาร์มแกะแห่งนี้อาจจะไม่เป็นที่รู้จักสำหรับนักท่องเที่ยวมากนัก เนื่องจากเป็นฟาร์มปิดของโครงการหลวง ซึ่งตามปกติแล้วไม่ได้โปรโมตไว้สำหรับการท่องเที่ยว แต่เลี้ยงแกะเพื่อจุดประสงค์สำหรับการวิจัยและสร้างงานให้กับชาวบ้าน โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อให้มีการพัฒนาการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับกลุ่มแม่บ้านโดยการผลิตผ้าทอขนแกะ ซึ่งตามปกตินั้นเกษตรกรมักจะทำการปลูกพืช ผัก หรือไม้ดอก ในช่วงกลางวัน แต่หากมีเวลาเหลือก็สามารถหากิจกรรมอย่างอื่นทำ เช่น ทอผ้าเป็นอาชีพเสริมได้อีกทาง โครงการหลวงจึงได้ทำการวิจัยพัฒนาเลี้ยงแกะเพื่อเอาขนให้ชาวบ้านได้นำไปทอผ้า
  2. ฟาร์มน้องแกะสถานีหน่วยย่อยผาตั้งแห่งนี้ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2553 โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแกะจำนวน 35 ตัวมาจากพระตำหนักปางตอง ปัจจุบันขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนจนมีแกะอยู่ทั้งหมด 160 ตัว ประกอบด้วยแกะ 4 สายพันธุ์ จากพื้นถิ่นออสเตรเลียและอังกฤษ ได้แก่ บอนด์, ดอร์เซต, คอร์ริเดล และพันธุ์พื้นเมืองลูกผสม

 

  1. ปัจจุบันมีจำนวนชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการรับขนแกะไปผลิตเป็นผ้าทอประมาณ 15 ราย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นชาวบ้านจากบ้านแม่กลางหลวง ชาวบ้านจะซื้อขนแกะไปในราคาที่ถูก แล้วผลิตผ้าทอขนแกะซึ่งเป็นงานฝีมือออกมา แล้วส่งกลับมาจำหน่ายให้กับทางสถานีฯ เพื่อนำไปจำหน่ายต่อในงานของโครงการหลวง เป็นการช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ซึ่งในอนาคตทางศูนย์แห่งนี้ยังมีแผนที่จะสนับสนุนให้ชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้เคียงอย่าง บ้านอ่างกาน้อย และบ้านผาหมอน เข้าร่วมโครงการด้วย

 

  1. แกะที่โตเต็มวัยมีอายุประมาณ 2 ปี จะให้ขนตัวละประมาณ 3 กิโลกรัมต่อการตัด 1 ครั้ง (รอบการตัดขนปีละ 1 ครั้ง) ขนแกะส่วนที่ดีที่สุดคือช่วงหัวไหล่ซึ่งจะนุ่มที่สุดจะถูกนำไปปั่นทอร่วมกับฝ้ายแล้วตัดเย็บเป็นเสื้อหรือผ้าคลุมไหล่ ส่วนขนส่วนอื่นๆ จะถูกนำไปผลิตเป็นสินค้าอย่างอื่น เช่น ผ้าปูโต๊ะหรือย่าม หากต้องการที่จะอุดหนุนผลิตภัณฑ์จากขนแกะของชาวบ้านหรือชมวิธีการผลิต นักท่องเที่ยวสามารถแวะไปที่ ‘แม่กลางหลวงฮิลล์ Coffee’ ที่บ้านแม่กลางหลวงในละแวกใกล้เคียง ซึ่งจะมีจุดสาธิตการผลิตและจำหน่าย
  2. นอกจากเลี้ยงแกะเพื่อเอาขน และสร้างงานให้กับชาวบ้านแล้ว ที่นี่ยังมีการวิจัยการเลี้ยงแกะเพื่อขุนเอาเนื้อ โดยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รับหน้าที่ดูแลการวิจัยพัฒนาผลิตสูตรอาหารสำหรับแกะ เพื่อให้ได้เนื้อแกะที่มีคุณภาพ ลดการนำเข้าเนื้อแกะจากต่างประเทศ แต่ยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัย ซึ่งคาดว่าหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เราจะได้บริโภคเนื้อแกะของโครงการหลวงกันในอีก 3 ปีข้างหน้า
  3. แม้จะไม่ได้เปิดและมีการจัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่ผู้ที่สนใจก็สามารถแวะชมได้ ช่วงเวลาดีที่ควรเดินทางไปถึงก็คือช่วงตอนเช้าๆ ซึ่งแกะจะเริ่มเดินออกมากินหญ้าตอน 9.30 น. เรื่อยไปจนถึงเวลา 15.30 น. ก็จะถูกต้อนให้เข้าโรงนอน

 

ชาวบ้านแม่กลางหลวงกับการผลิตงานฝีมือจากผ้าทอขนแกะ

FYI
  • ฟาร์มแกะโครงการหลวง สถานีหน่วยย่อยผาตั้ง อยู่ใกล้ๆ กับพระตำหนักดอยผาตั้ง จากตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 108 จนมาถึงอำเภอจอมทอง เลี้ยวขวาบริเวณสามแยกที่มุ่งหน้าสู่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตามทางหลวงหมายเลข 1009 ผ่านด่านตรวจที่ 1 (น้ำตกแม่กลาง) จนมาถึงตลาดม้ง ให้สังเกตด้านซ้ายมือจะมีทางแยกบริเวณโค้ง ซึ่งมีป้ายบอกทาง ‘หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ดอยผาตั้ง’
  • ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ 202 ม.1 ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ โทร. 05 3286 7777-8
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X