ใครที่ติดตามชมเกมการแข่งขันฟุตบอลโลกในกลุ่ม E คู่ระหว่างทีมชาติเซอร์เบียและสวิตเซอร์แลนด์เมื่อคืนที่ผ่านมา (เช้าวันเสาร์ที่ 23 มิ.ย.) คงจะได้เห็นท่าดีใจ ‘อินทรีคู่สยายปีก’ ของ 2 ดาวเตะสวิตเซอร์แลนด์อย่าง กรานิต ชากา (Granit Xhaka) และ เซอร์ดาน ชากิรี (Xherdan Shaqiri) ว่าคล้ายคลึงกันพอสมควร
การฉลองชัยของทั้งคู่มีจุดร่วมบางอย่างที่เหมือนกันและไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่นอน…
จริงอยู่การพลิกกลับมาแซงเอาชนะเซอร์เบียได้ 2-1 โดยได้ประตูชัยในนาทีสุดท้ายของเกมหลังถูกออกนำไปก่อนตั้งแต่ 5 นาทีแรกคือชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ แถมยังช่วยเพิ่มโอกาสลุ้นเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายของ ‘Schweizer Nati’ ไปในตัว
แต่สำหรับชากาและชากิรีแล้ว การถลุงประตูทีมชาติเซอร์เบียบนเวทีฟุตบอลโลกในนัดนี้มีความหมายลึกซึ้งกับทั้งคู่มากกว่านั้น เปรียบได้ดั่งบทละครเรื่องหนึ่งที่สมบูรณ์แบบก็ไม่ปาน
ท่าดีใจ ‘อินทรีคู่สยายปีก’ ของชากาและชากิรีหมายถึงอะไร
การทำมือเป็นรูปนกอินทรี 2 ตัวสยายปีกพร้อมประทับไว้กลางหน้าอกคือท่าฉลองการยิงประตูใส่ทีมชาติเซอร์เบียของ กรานิต ชากา และ เซอร์ดาน ชากิรี ซึ่งเปรียบได้ดั่งสัญลักษณ์ธงชาติสาธารณรัฐแอลเบเนีย รากเหง้าที่แท้จริงของทั้ง 2 คน
มิดฟิลด์วัย 25 ปีจากรั้วสโมสรอาร์เซนอลไม่ใช่คนชาติสวิตเซอร์แลนด์โดยกำเนิด
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี 1968 ราจิป ชากา (Ragip Xhaka) คุณพ่อชาวแอลเบเนียของชากาในวัย 22 ปี เคยต้องโทษจำคุกกลายเป็นนักโทษการเมืองฐานเดินขบวนนักศึกษาต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์กลางของยูโกสลาเวียที่เบลเกรด (ปัจจุบันคือเซอร์เบียนั่นเอง)
“เท่าที่ผมรู้ ช่วงไม่กี่เดือนแรกที่พ่ออยู่ในคุก มันไม่ได้เลวร้ายสักเท่าไร แต่หลังจากนั้นไม่นาน ท่านก็เริ่มถูกเฆี่ยนตีและทรมาน” ชากาเคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ The Guardian เมื่อปี 2017
หลังการจองจำที่กัดกินวิญญาณและมอบความทรมานให้ราจิปนาน 3 ปี 6 เดือนเต็ม เขาก็ได้รับการปล่อยตัวและตัดสินใจอพยพมาตั้งถิ่นฐาน เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่เมืองบาเซิล สวิตเซอร์แลนด์ ประเทศซึ่งภรรยา ‘อิไล’ (Eli) ได้ให้กำเนิดชากาน้อยทั้ง 2 คนในปี 1991 และ 1992 ตามลำดับ
ในเวลาต่อมาชากาผู้พี่ ‘เทาลันต์’ (Taulant) เลือกลงเล่นรับใช้ชาติให้แอลเบเนีย ส่วนชากาคนน้อง กรานิตเลือกลงเล่นให้กับทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ และทั้งคู่ก็เคยลงดวลแข้งกันในนามทีมชาติ ที่ศึกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2016 ในกลุ่ม A ผลคือสวิตเซอร์แลนด์เอาชนะไปได้ 1-0
ชากาเคยบอกไว้ว่า เขามักจะคอยตื้อคุณพ่อให้เล่าประสบการณ์ที่เลวร้ายให้ฟังอยู่เสมอ แต่ดูเหมือนว่าราจิปจะไม่อยากให้แบ่งปันรอยแผลเป็นของความเจ็บปวดให้ลูกชายฟัง
“ในฐานะลูกชายของคุณพ่อ เรื่องที่ได้ยินมาทำให้ผมรู้สึกเศร้ามากๆ มันฝังลึกอยู่ในหัวใจของผมเลย ถึงผมจะไม่คิดว่าท่านเล่าทุกเรื่องให้ผมฟังก็ตาม
“พ่อภูมิใจความเป็นโคโซโวมาก ท่านยืนหยัดเพื่อแสดงออกโดยใช้สิทธิ์ของตัวเอง”
ในกรณีของชากิรี เรื่องราวของเขาก็มีความใกล้เคียงกับชากาไม่น้อย
ปีกดาวเตะหุ่นมะขามป้อมวัย 26 ปี ลืมตาดูโลกเมื่อปี 1991 ในเมือง Gjilan ณ สาธารณรัฐโคโซโว ก่อนที่คุณพ่อและคุณแม่ซึ่งเป็นชาวแอลเบเนียจะเลือกอพยพครอบครัวพาชากิรีและพี่น้องอีก 3 คนย้ายมานับหนึ่งใหม่ที่สวิตเซอร์แลนด์
การอพยพในครั้งนั้นช่วยให้ครอบครัวของชากิรีปลอดภัยและรอดพ้นอันตรายที่เกิดขึ้นจากสงครามโคโซโว ซึ่งรัฐบาลยูโกสลาเวียในเวลานั้น (เซอร์เบียและมอนเตเนโกร) ได้เปิดฉากเข้ารบกับกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนชาวแอลเบเนีย
เพียงแต่ญาติๆ ของชากิรีที่ไม่ได้ร่วมเดินทางมาสวิตเซอร์แลนด์ด้วย กลับไม่ได้โชคดีและมีลมหายใจที่ยืนยาวเช่นนั้น
ชากิรีเคยเล่าไว้ว่า “เมื่อสงครามเริ่มเปิดฉากขึ้น เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะกลับไปยังโคโซโว การใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ของสมาชิกครอบครัวผมที่ยังติดอยู่ที่นั่นเริ่มลำบากขึ้นเป็นอย่างมาก
“บ้านของคุณลุงผมถูกเผาไหม้จนย่อยยับ มันเจ็บปวดเป็นอย่างมาก คุณพ่อของผมได้ส่งเงินกลับไปช่วยเหลือทุกคนให้มากที่สุดเท่าที่ท่านจะทำได้
“ตั้งแต่ผมเด็กจนโตขึ้นก็จำได้แต่ว่าครอบครัวเราต้องประหยัดกันมากๆ เราจะไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายหรือใช้เงินกันเยอะเลย เว้นแต่ว่าจะเป็นวันเกิดของใครสักคนในบ้าน”
Shaqiri’s cleats – the Swiss flag on one, the Kosovo flag on the other. FIFA has not allowed Kosovo to field a national team. pic.twitter.com/GKmhmyw8l7
— Scott Wilson (@PostScottWilson) 22 มิถุนายน 2561
ชากิรีไม่เคยลืมรากเหง้าของตัวเอง ทุกวันนี้สตั๊ดข้างซ้ายของเขายังมีธงชาติสวิตเซอร์แลนด์ประทับไว้ ขณะที่ข้างขวาคือธงชาติผืนน้ำเงินพร้อมดาว 6 ดวงของโคโซโว
รอยแผลเป็นที่ยูโกสลาเวียเดิมได้ทิ้งไว้ให้ครอบครัวและคนที่รักต้องทุกข์ทน ทำให้ชากา ชากิรี เลือกแสดงออกด้วยท่าดีใจเช่นนั้น เพื่อสื่อถึงชัยชนะที่มีเหนือเซอร์เบีย และการเอาคืนให้ชาติกำเนิดที่แท้จริงตลอดจนบุคคลอันเป็นที่รัก
บางทีเบื้องบนอาจลิขิตให้ทายาทโคโซโว-แอลเบเนียเติบใหญ่มาช่วยนำชัยพิชิตเซอร์เบียไว้ล่วงหน้าแล้วก็ได้
FIFA จะทำอย่างไรกับกรณีแสดงออกประเด็นทางการเมืองดูโอ ‘ซากากิรี’
หลังจบเกมชากิรีได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เขาไม่อยากพูดถึงท่าดีใจดังกล่าว พร้อมบอกว่ามันคือการแสดงออกจากอารมณ์ล้วนๆ
“ผมไม่อยากพูดถึงมันแล้ว ในเกมฟุตบอลคุณจำเป็นต้องมีอารมณ์ร่วม และสิ่งที่ผมได้ทำให้พวกคุณเห็นก็คือสิ่งที่ผมเรียกว่า ‘อารมณ์ร่วม’ ผมดีใจที่ยิงประตูได้ แต่ก็คงไม่ขอพูดถึงเรื่องนั้นก็แล้วกัน”
เช่นเดียวกับ วลาดิเมียร์ เพ็ตโควิช (Vladimir Petkovic) เฮดโค้ชทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ที่ขอไม่ออกความคิดเห็นใดๆ ทั้งสิ้นในกรณีดังกล่าว ทั้งยังพูดเป็นนัยเชิงไม่เห็นด้วยกับการแสดงออกในสนามของลูกทีม
“คุณไม่ควรจะนำประเด็นการเมืองมาปะปนกับเกมฟุตบอล นี่คือบรรยากาศที่ยอดเยี่ยม (การคว้าชัยชนะ) และเต็มไปด้วยอารมณ์ของความสุข และมันก็คือสิ่งที่สื่อถึงเกมฟุตบอล
“ผมคิดว่าพวกเราทุกคนควรจะหนีห่างจากความบาดหมางทางการเมือง ไม่นำมันเข้ามายุ่งกับฟุตบอล เราควรจะสนใจให้ความสำคัญกับกีฬาในฐานะของเกมการแข่งขันที่สวยงามและเครื่องมือที่ช่วยรวมผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน”
ไม่มีใครอยู่เหนือกฎได้ ชากาและชากิรีเองก็เช่นกัน
FIFA ได้บัญญัติกฎไว้ชัดเจนว่า ห้ามไม่ให้ผู้เล่น สตาฟฟ์โค้ช หรือแม้แต่แฟนบอลรายใดกระทำการหรือแสดงออกใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเหยียดผิว ความเกลียดชัง การเกลียดกลัวเพศทางเลือก หรือแม้แต่ประเด็นทางการเมือง
ไม่กี่วันก่อนหน้านี้สมาคมฟุตบอลเซอร์เบียก็เพิ่งถูกสั่งปรับเป็นจำนวนเงินกว่า 10,035 เหรียญสหรัฐ หรือราว 330,843 บาทไปหมาดๆ โทษฐานที่แฟนบอลในสนามนำป้ายข้อความที่แสดงออกถึงประเด็นทางการเมืองและข้อความปลุกปั่นมากางโชว์ในสนาม
ไม่ต่างจากสมาคมฟุตบอลเม็กซิโกถูกสั่งปรับในจำนวนเงินที่เท่ากัน เมื่อแฟนบอลทีมจังโก้ดันไปตะโกนใส่ มานูเอล นอยเออร์ ผู้รักษาประตูทีมชาติเยอรมนีด้วยท่าทีที่แสดงออกถึงการเหยียดเพศและเกลียดกลัวคนรักชอบเพศเดียวกัน
ล่าสุด Jovan Surbatovic เลขาธิการประจำสมาคมฟุตบอลเซอร์เบียได้ออกมากดดัน FIFA ให้เข้ามาสอบสวนกรณีท่าฉลองยิงประตูของชากาและชากิรีแล้ว
และสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติก็ได้ยื่นมือเข้ามาตรวจสอบกรณีของชากา ชากิรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหากพิจารณาว่าท่าดีใจอินทรีสยายปีกเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองจริง ทั้งสองก็สุ่มเสี่ยงต่อการถูกแบนหรือสั่งปรับเงิน ซึ่งจะส่งผลเสียหายให้กับทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์เป็นอย่างมาก เพราะพวกเขาคือ 2 ฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนชัยชนะให้ทีม
ทุกๆ การกระทำย่อมส่งผลกระทบตามมา ไม่ว่าดีหรือร้าย และชากา ชากิรีก็ได้ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนแล้วจนปรากฏเป็นการแสดงออกเช่นนั้น
เพียงแต่อาจลืมคิดถึงความคุ้มค่าจากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น…
อ้างอิง:
- www.theguardian.com/football/2017/nov/17/granit-xhaka-dad-jail-beatings-arsenal-tottenham-derby
- www.dailystar.co.uk/news/world-news/711582/granit-xhaka-xherdan-shaqiri-switzerland-2018-world-cup-serbia-albania-kosovo
- www.rt.com/sport/430608-shaqiri-xherdan-celebration-switzerland-serbia/
- www.goal.com/en/news/why-did-xhaka-shaqiri-celebrate-by-making-double-eagle-signs/1lspggc9l9u4c10z6ettjsyqnh
- global.espn.com/football/switzerland/story/3539974/granit-xhaka-and-xherdan-shaqiris-albanian-flag-celebrations-for-switzerland-draw-attention
- www.theguardian.com/football/2018/jun/23/xhaka-and-shaqiri-goal-celebrations-bring-balkan-politics-to-world-cup
- www.independent.co.uk/sport/football/world-cup/world-cup-2018-xherdan-shaqiri-granit-xhaka-goal-celebrations-switzerland-albania-kosovo-serbia-a8413046.html