ต้นเดือนกรกฎาคม 2023 สายตาทุกคู่ของบุคลากรสายความมั่นคงจะจับจ้องไปที่ประเทศอินเดีย เพราะการประชุมสุดยอดผู้นำองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ในรูปแบบการประชุมทางไกลจะเกิดขึ้น และในการประชุมสุดยอดผู้นำรอบนี้อิหร่านจะได้รับสถานะสมาชิกอย่างเป็นทางการ ภูมิรัฐศาสตร์โลกกำลังจะเปลี่ยนไป SCO จะกลายเป็น International Platform ในระดับโลกทางด้านความมั่นคง และนี่คือสิ่งที่เราต้องรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการติดตามการประชุมสุดยอดผู้นำครั้งนี้
องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation: SCO) คือการพัฒนาต่อยอดจากความห่วงกังวลของจีนในพื้นที่เปราะบางทางตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งก็คือเขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ ที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศในภูมิภาคเอเชียกลาง ซึ่งเดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต โดยเฉพาะในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ที่อิทธิพลของสหรัฐอเมริกากำลังแทรกเข้าในภูมิภาคเอเชียกลาง ซึ่งเป็นปัญหาในลักษณะเดียวกันกับกรณีรัสเซีย ยุโรปตะวันออก และการขยายอิทธิพลขององค์การความร่วมมือแอตแลนติกเหนือ (NATO)
ดังนั้นจีน ภายใต้การสนับสนุนของรัสเซีย ที่ไม่ต้องการเห็นสหรัฐฯ เข้ามาแทรกแซงกิจการในพื้นที่ซึ่งเคยเป็นเสมือนสนามหลังบ้านของตน จึงสร้างเวทีในการเจรจาการปักปันเขตแดนและเขตปลอดทหาร (Border Demarcation and Demilitarization Talks) ขึ้นระหว่างจีน รัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และทาจิกิสถานขึ้น โดยต่อมาในปี 1996 เวทีการเจรจานี้ได้ยกระดับขึ้นเป็นการรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านความมั่นคงระหว่างประเทศภาคีภายใต้ชื่อกลุ่ม Shanghai Five
ความร่วมมือระหว่าง 5 ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในยุคปลายของทศวรรษ 1990 ได้ขยายขอบเขตออกไปเป็นความร่วมมือหลากมิติ เช่น ความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ สังคมวัฒนธรรม และการทหารและความมั่นคง โดยในปี 2000 เมื่อมีการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม Shanghai Five ณ กรุงดูแชนเบอ ประเทศคีร์กีซสถาน ผู้นำทั้ง 5 ประเทศได้ตกลงกันที่จะจัดตั้งสภาผู้ประสานงานแห่งชาติ (Council of National Coordinators) ขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นสถาบันหลักในการเป็นแกนกลางประสานความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก
ความพยายามของจีนและรัสเซียในฐานะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในการถ่วงดุลกับการขยายอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการเป็นผู้จัดระเบียบโลกแต่เพียงผู้เดียวในลักษณะ Hegemonic Unipolarity เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เมื่อจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน และประธานาธิบดีบอริส เยลซิน ผลักดันให้ที่ประชุมใหญ่แห่งสหประชาชาติยอมรับ Russian-Chinese Joint Declaration on a Multipolar World and the Establishment of a New International Order ที่กลุ่ม Shanghai Five ลงนามระหว่างกันในวันที่ 23 เมษายน 1997 ซึ่งแน่นอนว่า ณ ขณะนั้นหลายๆ ประเทศทั่วโลกยังไม่เชื่อว่าทั้งรัสเซียและจีนจะมีศักยภาพเพียงพอในการขึ้นมาเป็นมหาอำนาจระดับโลกได้
พัฒนาการสำคัญของกลุ่ม Shanghai Five เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2001-2002 เมื่อประเทศอุซเบกิสถานเข้าร่วมเป็นสมาชิกลำดับที่ 6 ซึ่งนี่ถือเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ เพราะต้องอย่าลืมว่าด้วยทำเลที่ตั้งของอุซเบกิสถานที่ถึงแม้จะเป็นประเทศ Double Landlocked Country นั่นคือประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลที่ถูกปิดล้อมด้วยประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลอีกชั้นหนึ่ง
แต่อุซเบกิสถานก็เป็นดินแดนหัวใจของภูมิภาคเอเชียกลาง และในมิติสังคมวัฒนธรรม อุซเบกิสถานคือประเทศแกนหลักสำคัญของกลุ่มประชากรชาวเติร์กที่มีประชากรรวมกันในโลกกว่า 170 ล้านคน โดยมีตุรกี อุซเบกิสถาน และอิหร่าน เป็น 3 ประเทศหลักที่มีประชากรชาวเติร์กอาศัยอยู่มากที่สุด โดยชาวเติร์กและกลุ่มชาติพันธุ์อุยกูร์ที่อาศัยอยู่ในประเทศจีนต่างก็มีปูมหลังทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม ที่ใกล้เคียงกันอย่างยิ่ง รวมทั้งอุซเบกิสถานยังเป็นผู้เล่นสำคัญในกลุ่มความเชื่อลัทธิซุนนีของศาสนาอิสลาม
ดังนั้นการสร้างพันธมิตรกับอุซเบกิสถาน คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และทาจิกิสถาน จึงเป็นหลักประกันที่สำคัญว่า ชาวอุยกูร์ในเขตปกครองตนเองซินเจียงจะไม่โดดเดี่ยว และจีนจะได้รับการสนับสนุนจากโลกมุสลิม
การเข้ามาของอุซเบกิสถานในปี 2001 ทำให้ทั้งกลุ่มมีการเปลี่ยนชื่อเป็น ‘องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้’ (Shanghai Cooperation Organisation: SCO) ภายใต้ Declaration of Shanghai Cooperation Organisation ที่เน้นการสร้างความร่วมมือที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นในมิติการเมืองและเศรษฐกิจ โดยทั้ง 6 ประเทศได้ออกกฎบัตร (SCO Charter) ในปี 2002 เพื่อเป็นการกำหนดวัตถุประสงค์ หลักการ โครงสร้าง รูปแบบการดำเนินงานขององค์กร รวมทั้งทิศทางและแนวทางการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรม และทำให้ SCO มีสถานะทางกฎหมายบนเวทีระหว่างประเทศ
มาถึงเวลานี้ SCO กลายเป็นความร่วมมือที่มีความเข้มแข็งอย่างยิ่งในมิติภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ เพราะต้องอย่าลืมว่ารัสเซียคือประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลที่สุดในโลก และมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่งในพื้นที่ทุ่งน้ำแข็งไซบีเรียที่อุดมไปด้วยน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ทองคำ ทองแดง เงิน และสินแร่เหล็ก ในขณะที่อุซเบกิสถานคือประเทศที่ผลิตทองคำมากเป็นอันดับที่ 7 ของโลก มีปริมาณสำรองทองแดงอันดับ 10 และปริมาณสำรองยูเรเนียมอันดับที่ 7 และเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติอันดับที่ 11 ของโลก เช่นเดียวกับที่คาซัคสถานก็เป็นทางออกให้จีนสามารถเดินทางเชื่อมโยงสู่ทะเลสาบแคสเปียน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก
อย่างไรก็ตาม วาระหลักที่ทุกประเทศทั่วโลกหวาดกลัวตลอดทั้งทศวรรษ 2000 จากภัยการก่อการร้ายโดยกลุ่มหัวรุนแรงที่ตีความทางศาสนาอย่างบิดเบี้ยว และสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (War on Terror) หลังเหตุการณ์ 9/11 ทำให้บทบาทของการรวมกลุ่มด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจของ SCO ไม่ได้รับความสนใจหรือเป็นที่จับตาเฝ้าระวังมากนัก โดยเฉพาะจากฝั่งสหรัฐฯ หากแต่ SCO ก็มีพัฒนาการที่สำคัญๆ เกิดขึ้นตลอดทศวรรษดังกล่าว เช่น การเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์การประชุมของอินเดีย อิหร่าน มองโกเลีย และปากีสถาน ในปี 2005 การสร้างความร่วมมือในการพัฒนา 20 โครงการขนาดใหญ่ร่วมกันในมิติโลจิสติกส์ พลังงาน และโทรคมนาคม ในปี 2007 ซึ่งต่อมาจะถูกพัฒนาให้กลายเป็นโครงการนำในความริเริ่มแถบและเส้นทาง (BRI) ที่จะเกิดขึ้นในปี 2012-2013
SCO เริ่มถูกจับตาเฝ้าระวังจากสหรัฐอเมริกาอีกครั้งเมื่อมีการรับอินเดียและปากีสถานเข้าเป็นประเทศภาคีสมาชิกอย่างเป็นทางการในปี 2015 ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้ SCO กลายเป็นกรอบความร่วมมือที่ใหญ่ที่สุดกรอบหนึ่งของโลก ในมิติพื้นที่ SCO ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 60% ของมหาทวีปยูเรเชีย กินพื้นที่ตั้งแต่ดินแดนใจกลางทวีปสู่พื้นที่ขอบทวีป โดยมีรัสเซีย จีน อินเดีย และคาซัคสถาน เป็นประเทศที่มีอาณาเขตใหญ่เป็นอันดับที่ 1, 3, 7 และ 9 ของโลก
SCO คือกรอบความร่วมมือของประชากรมากกว่า 3.3 พันล้านคน หรือกว่า 40% ของประชากรของโลก และมีพลังอำนาจทางเศรษฐกิจขนาดมหาศาลที่คิดรวมเป็นกว่า 20% ของมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศของทั้งโลก (World GDP) โดยมีจีน อินเดีย และรัสเซีย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับที่ 1, 3 และ 6 ตามลำดับ (พิจารณาจากค่า GDP PPP)
แต่ทั้งหมดนั้นยังไม่ใช่ประเด็นที่สร้างความสนใจเท่ากับการที่สมาชิกของกลุ่มมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยอิหร่านที่เป็นผู้สังเกตการณ์การประชุมมาตั้งแต่ปี 2005-2006 กำลังจะได้เป็นสมาชิกทางการในการประชุมสุดยอดผู้นำในเดือนกรกฎาคม 2023 และ ณ ปี 2023 SCO ยังมีประเทศผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมอีก 3 ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน เบลารุส และมองโกเลีย มีประเทศคู่เจรจาอีก 13 ประเทศ ได้แก่ ศรีลังกา, ตุรกี, กัมพูชา, อาเซอร์ไบจาน, เนปาล, อาร์มีเนีย, อียิปต์, กาตาร์, ซาอุดีอาระเบีย, คูเวต, มัลดีฟส์, เมียนมา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้งยังมีอีก 1 ประเทศที่กำลังจะได้รับสถานะคู่เจรจานั่นคือ บาห์เรน และในรายชื่อประเทศที่สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกสังเกตการณ์และคู่เจรจา อันได้แก่ บังกลาเทศ ซีเรีย อิสราเอล อิรัก และแอลจีเรีย
จากแผนที่ รายชื่อประเทศสมาชิก และพัฒนาการในอนาคตของการเพิ่มจำนวนประเทศสมาชิก นั่นทำให้เราเห็นว่า SCO ได้กลายเป็น International Platform หลักของโลกไปแล้วในการพัฒนาความร่วมมือในมิติความมั่นคง (และยังขยายต่อยอดไปยังมิติอื่นๆ) สำหรับพันธมิตร จีน โลกมุสลิม และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั่วโลกที่มีความสามารถทางการแข่งขัน ทั้งในมิติอำนาจซื้อ ทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรมนุษย์ และทำเลที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์
ไม่ว่า SCO จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่ขณะนี้สหรัฐฯ เองก็ต้องติดตามเฝ้าระวังพัฒนาการของกรอบความร่วมมือนี้อย่างใกล้ชิด เพราะนี่คือความท้าทาย ภาวะคุกคามที่น่าจะยิ่งใหญ่ที่สุดต่อสถานะเจ้ามหาอำนาจโลกเชิงเดี่ยวทางด้านความมั่นคงที่สหรัฐฯ เคยกุมระเบียบเอาไว้แต่เพียงผู้เดียวมาตลอดตั้งแต่หลังสงครามเย็น
ภาพ: China Photos / Getty Images, ShutterStock