×

เซี่ยงไฮ้ เมืองที่สอนให้รู้ว่าเราควรกลัวจีนพอๆ กับอัตราความเร็วในการพัฒนาประเทศตัวเอง

06.03.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MINS READ
  • ทุกอย่างในเซี่ยงไฮ้เปรียบเสมือนอนาคตของคนจีนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต เป็นโมเดลความเป็นจีนที่รัฐบาลจีนพยายามผลักดันหลายเมืองใหญ่ให้เป็นไป
  • ก่อนที่จะเข้าสู่สังคมไร้เงินสดในปัจจุบัน นักลงทุนหลายคนทั้งจีนและต่างชาติต่างคิดว่าระบบ cashless ไม่มีทางประสบความสำเร็จในประเทศจีน ไม่ว่าจะดูในแง่ของเทคโนโลยี จำนวนประชากร หรือการเปิดรับเทคโนโลยีในหัวคนรุ่นเก่า

การเดินทางสอนให้เราเห็นความต่าง และตระหนักถึงความเป็นจริง

ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เวลามีอาจารย์หรือนักวิชาการหลายท่านออกมาบอกว่า จีนกำลังมา เราสมควรกลัวจีน และจีนเป็นประเทศที่น่าจับตามองที่สุดขณะนี้ ผู้เขียนไม่เคยตระหนักกับประโยคเหล่านี้เลยจนกระทั่งไปเที่ยวเซี่ยงไฮ้ด้วยตนเองเมื่อกลางปีที่แล้ว จากที่เคยคิดว่า ‘แล้วไง’ พอได้สัมผัสจริงๆ ประโยคที่ว่า ‘เราต้องกลัวจีน’ ก็ลอยเข้าหัวดังโป๊ะ! ใช่ จีนนั้นโคตรน่ากลัว แต่คำว่า ‘น่ากลัว’ ไม่ได้หมายถึง ความเกรงกลัวในฐานะชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก แต่เป็นการพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดดชนิดที่ว่าประเทศเราไม่สามารถทำได้แม้ว่าจะเริ่มต้นพร้อมกัน

 

ในยุคหนึ่ง จีนเคยเป็นประเทศล้าหลังเรื่องเทคโนโลยี ด้วยจำนวนประชากรมากล้น ประชาชนชาวจีนจึงใช้ชีวิตแบบปากกัดตีนถีบ แย่งกันกินแย่งกันใช้ในทุกๆ เรื่อง แม้รัฐบาลภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์จะพยายามจัดสรรปันส่วนและกระจายรายได้ให้ทั่วถึงแล้วก็ตาม ฉลาก Made in China ได้กลายมาเป็นตราสัญลักษณ์ของสินค้าราคาถูก ไร้คุณภาพ เราเบื่อหน่ายแต่กลับอุดหนุนเพราะความถูกช่างหอมหวาน ในขณะที่เรากำลังก่นด่ากับความห่วยแตกของสินค้าจีน (แต่ก็ซื้อ) บ่นเรื่องความสะอาดของบ้านเมือง และระบบสาธารณูปโภค (แต่ก็จองทัวร์ไปเที่ยวจีนทุกปี) รัฐบาลจีนกลับนำเม็ดเงินเหล่านั้นมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศแบบเงียบๆ เผลอแป๊บเดียวจากประเทศที่ดูสะเปะสะปะ ตามเมืองใหญ่ของจีนกลับพัฒนากลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก อัดแน่นด้วยเทคโนโลยี ภาพลักษณ์ด้านลบค่อยๆ จางหายไปตามกาลเวลา

 

 

ตัวอย่างดีที่สุดคือ เซี่ยงไฮ้ หรือ ช่างไห่ (Shanghai) เมืองใหญ่ทางทิศตะวันออกของจีน มีฐานะเป็นเขตปกครองพิเศษขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง ว่ากันว่าที่นี่คือศูนย์รวมที่สุดของประเทศ เศรษฐกิจเติบโตมากที่สุด ทันสมัยที่สุด ประชาชนอยู่อาศัยมากที่สุด ร่ำรวยมากที่สุด ศูนย์กลางแฟชั่น สินค้าแบรนด์เนม ธนาคาร บริษัทยักษ์ใหญ่ และนักลงทุนต่างชาติ ทุกอย่างในเซี่ยงไฮ้เปรียบเสมือนอนาคตของคนจีนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต เป็นโมเดลความเป็นจีนที่รัฐบาลจีนพยายามผลักดันหลายเมืองใหญ่ให้เป็นไป

 

 

สังคมแบบไร้เงินสด

 

ชาวเซี่ยงไฮ้ไม่นิยมใช้เงินสด ก่อนเดินทางมาจีน รู้มาเสมอว่าคนจีนนิยมใช้จ่ายผ่านแอปฯ Alipay และ WeChat Pay แต่คิดไม่ถึงว่าการพกเงินสดในประเทศจีนจะทำให้เราดูแปลกแยก แตกต่างจากชาวจีนจนเรายังเอะใจ กว่าจะก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเฉกเช่นปัจจุบัน ประชาชนชาวจีนเคยต่อต้านระบบนี้สูงมาก อันที่จริงจะเรียกต่อต้านก็ไม่ถูก เรียกว่าเพิกเฉยและยังไม่สนใจมากกว่า ทำไมต้องเปลี่ยนถ้าเงินสดๆ ยังมีมูลค่าจับจ่ายใช้สอยได้ คนจีนไม่ชอบเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ เราทำมาเป็นโบราณกาลนานแล้ว ทำไมต้องเปลี่ยน นักลงทุนหลายคนทั้งจีนและต่างชาติจึงคิดว่าระบบ Cashless ไม่มีทางประสบความสำเร็จในประเทศจีน ไม่ว่าจะดูในแง่ของเทคโนโลยี จำนวนประชากร หรือการเปิดรับเทคโนโลยีในหัวคนรุ่นเก่า แต่ด้วยปัจจัยอะไรหลายๆ อย่าง เช่น ปัญหา ‘ธนบัตรปลอม’ ระบาด เทคนิคแทรกระบบอีคอมเมิร์ซ (e-commerce) ลงในไลฟ์สไตล์คนจีนของบริษัท Alibaba ฯลฯ ในที่สุดประเทศจีนก็กลายเป็นสังคมไร้เงินสดในที่สุด

 

 

ทุกวันนี้คนจีนเวลาซื้อของกินของใช้ตามร้านค้า หรือแม้แต่ของในตลาดสดก็ชำระค่าบริการผ่านมือถือ อากงอาม่าที่นั่นไม่มีใครพกเงินสดสักคน

 

ทุกวันนี้คนจีนเวลาซื้อของกินของใช้ตามร้านค้า หรือแม้แต่ของในตลาดสดก็ชำระค่าบริการผ่านมือถือ อากงอาม่าที่นั่นไม่มีใครพกเงินสดสักคน ขึ้นรถลงเรือผ่านบัตรใบเดียว นักท่องเที่ยวอย่างเราที่หอบหิ้วเงินสดไปเป็นกะตั้ก กลายเป็นบุคคลนอกคอกที่ชาวจีนพึงระวังว่า เอ๊ะ! เงินนั่นปลอมหรือเปล่านะ ใช้จ่ายแต่ละทีต้องเช็กธนบัตรแล้วเช็กอีก แถมบางร้านค้ายังหาเงินทอนให้เราลำบากด้วย เพราะไม่ได้ใช้เงินสดกัน

 

หากคุณจะเถียงว่าสังคมไร้เงินสดของจีนเป็นแค่เมืองใหญ่ ตามต่างจังหวัดยังคงจับจ่ายใช้เงินสดอยู่เป็นนิตย์ อันนี้เราไม่เถียง แต่อย่าลืมว่าในขณะที่เมืองใหญ่ระดับท็อปของประเทศแทบจะกลายเป็นสังคมไร้เงินสดอย่างสมบูรณ์ บ้านเรายังคงขึ้นรถลงเรือโดยใช้บัตรใบเดียวยังทำไม่ได้เลย แม้ว่าจะมีโครงการขึ้นเป็นโมเดลนานแสนนานแล้วก็ตาม

 

การคมนาคมขนส่งสะดวก รองรับการใช้งานของประชาชนได้จริง

 

อยากจะทำตัวไฮไลต์ ขีดเส้นใต้ 300 เส้น และใส่เครื่องหมายดอกจันเข้มๆ ตรงคำว่า ‘รองรับการใช้งานของประชาชนได้จริง’ อย่างที่ทราบกันว่าประเทศจีนเป็นชาติที่มีประชากรติดท็อป 2 ของโลก เบียดเสียดกับอินเดียซึ่งขึ้นเป็นที่ 1 ตลอดเวลา และเซี่ยงไฮ้ก็เป็นเมืองใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่มากที่สุดในจีน ฉะนั้นการอาศัยอยู่ในเซี่ยงไฮ้จึงมีเรื่องของความแออัดเข้ามาเกี่ยวด้วย สารภาพตามตรงว่าดิฉันติดใจการวางโครงสร้างของระบบขนส่งมวลชนในเซี่ยงไฮ้มาก เพราะเมืองที่มีขนาดใหญ่ ประชากรแออัด แลดูไม่น่าจัดการระบบขนส่งมวลชนได้ กลับจัดการได้ดีมากอย่างไม่น่าเชื่อ

 

นโยบายอย่างหนึ่งที่รัฐบาลจีนตั้งใจพัฒนาในเซี่ยงไฮ้และเมืองใหญ่อื่นๆ เพื่อรองรับจำนวนประชากรจีนในวันข้างหน้า คือระบบขนส่งมวลชนภายในประเทศ ประชาชนทุกคนต้องมีสิทธิเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะหลักภายในระยะ 500 เมตร (ข้อมูลนี้คุณไกด์บอกมา) แม้ตอนนี้จะทำได้เพียง 2 กิโลเมตร ตามที่เราสัมผัส แต่ก็ถือว่าดีงามมากๆ แล้วสำหรับการใช้ชีวิตของคนเมือง หากคุณลองกางแผนที่เมืองเซี่ยงไฮ้ แล้วสังเกตสายรถไฟไต้ดินทั้งหมดที่วิ่งผ่าน จะเห็นว่าครอบคลุมทุกโซนสำคัญๆ ของเมือง และยังเผื่อแผ่ไปยังโซนใหม่ที่รัฐบาลวางแผนขยายเมืองไว้ด้วย

 

ผังรถไฟใต้ดินและส่วนต่อขยาย

Photo: Wikimedia Commons

 

ประเทศไทยเริ่มพิจารณาวางแผนระบบขนส่งมวลชนหลากหลายรูปแบบตั้งแต่ปี 1984 และลงนามสร้างรถไฟยกระดับตั้งแต่ปี 1990 แต่เรามีรถไฟฟ้าใช้จริงในปี 2000 ในขณะที่เซี่ยงไฮ้เริ่มมีรถไฟฟ้าสายแรกใช้ในปี 1993 ก่อนหน้าเราถึง 7 ปี ทั้งๆ ที่ระยะเวลาเริ่มแผนพัฒนาไม่น่าต่างกันมาก ปัจจุบันรถไฟฟ้าใต้ดินเซี่ยงไฮ้กลายเป็นระบบรถไฟฟ้าที่โตเร็วอันดับต้นของโลก จาก 1 สายพัฒนาเป็น 16 สาย ภายในระยะเวลา 10 ปี และจะกลายเป็น 21 สาย พร้อมส่วนต่อขยายอีกหลายระยะในเส้นทางเก่าภายในปีหน้า

 

นอกจากเส้นทางที่ครอบคลุม สิ่งหนึ่งที่ฉันประทับใจมากคือขนาดของสถานี และการจัดสรรขบวนรถไฟ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเซี่ยงไฮ้มีขนาดใหญ่มาก โอ่อ่าสมนิสัยคนจีนที่เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ แถมยังครอบคลุมหลายหัวมุมถนนชนิดที่ว่าสถานีเดียวมีทางออกกว่า 20 ประตู แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมด สิ่งที่ฉันอยากบอกคือ การวางแผนของรัฐบาลที่คิดการล่วงหน้าว่าจะต้องรับมือกับประชาชนอันมหาศาลในช่วงไพรม์ไทม์ได้อย่างไร ภาครัฐรู้จักนิสัยพลเมืองตัวเองดี และเขาก็สามารถรับมือกับการใช้ชีวิตของพลเมืองได้

 

ตอนแรกคิดในใจว่า “ตายแน่ๆ! ตรูจะใช้ชีวิตแย่งกับคนจีนทันไหม? จะโดนเหยียบหรือเปล่า? ต้องรอรถไฟกี่ขบวนกันถึงจะได้กลับบ้าน” แต่เมื่อมาถึงชานชาลาก็ต้องผงะ ฉงนสงสัยว่าคนมันหายไปไหน?!

 

ใครที่เคยเดินทางไปเซี่ยงไฮ้ คงรู้ว่าสถานี People’s Square นั้นเป็นจุดเชื่อมต่อของรถไฟหลายสาย ทั้งยังเป็นสถานีที่อยู่ใกล้กับสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมหลายแห่ง ใครจะทำอะไร ไปไหน นึกออกไม่ออกก็มุ่งมาลงที่สถานีนี้ ทั้งคนทำงานเอง นักท่องเที่ยวเอง นักเรียน นักศึกษา อากงอาม่ามีหมด จำได้แม่นยำเลยว่าในทริปนั้นมีอยู่วันหนึ่งที่ฉันต้องใช้บริการสถานี People’s Square ในช่วงเลิกงาน ซึ่งเป็นช่วงที่คนใช้บริการเยอะมาก มากขนาดที่ว่าถ้ามีระเบิดลงตู้ม ต้องมีคนตายหลายพันคน สถานีที่เคยคิดว่าใหญ่โตกลับคับแคบขึ้นมาขนัด ฝูงชนไหลมาจากทุกทิศทุกทางผ่านประตูทางเข้าทั้ง 20 แห่ง

 

ฉันเดินตามฝูงชนไหลลงมาถึงตัวสถานี ตอนแรกคิดในใจว่า “ตายแน่ๆ! ตรูจะใช้ชีวิตแย่งกับคนจีนทันไหม? จะโดนเหยียบหรือเปล่า? ต้องรอรถไฟกี่ขบวนกันถึงจะได้กลับบ้าน” แต่เมื่อไหลมาถึงชานชาลาก็ต้องผงะ ฉงนสงสัยว่าคนมันหายไปไหน?! ให้คุณนึกหน้าสาวออฟฟิศในเมืองกรุงที่ใช้บริการสถานีอโศกทุกวัน แล้วต้องรออย่างต่ำ 3 ขบวนถึงได้กลับบ้าน บางวันก็ลงสถานีไม่ได้ด้วยเพราะคนเยอะเกินไป ต้องรอแล้วรออีกให้คนซาลงก่อนถึงมีโอกาสเหยียบชานชาลา แต่ต้องมาเจอความอัศจรรย์ของการเคลียร์คนในสถานีแบบขั้นเทพ จากที่คิดจะกลับบ้านเร็ว สิ่งที่ดิฉันทำคือยืนดูว่าคนหายไปไหน! และผลที่ได้ก็พบว่า นอกจากขนาดสถานีที่ใหญ่โต ชานชาลาและขบวนรถไฟใหญ่ยังยาวหลายร้อยเมตร ยังเทียบชานชาลาถี่ๆ ในช่วงที่คนต้องสัญจร หันกลับมาดูบ้านเรากว่าจะได้โดยสารสักขบวนก็เหนื่อยแสนเหนื่อย เผลอๆ นั่งย้อนกลับไปต้นสถานี อาจทำให้ขึ้นรถไฟฟ้ากลับบ้านได้เร็วกว่ารอที่สถานีเดิมก็ได้

 

 

นอกจากรถไฟฟ้า ระบบ Bike Sharing ในจีนก็ถือว่าแข็งแกร่งมากเช่นกัน และมีผลต่อไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตอย่างเห็นได้ชัด จากข้อมูลของ Beijing Tsinghua Tongheng Innovation Institute สถาบันนวัตกรรมการวางผังเมืองของประเทศจีน เผยว่า จำนวนคนใช้บริการรถจักรยานมากขึ้นเป็น 2 เท่า โดยเพิ่มจาก 5.5% ของการขนส่งทั้งหมดในจีน เป็น 11.6 % ภายใน 2 ปี หลังจากระบบ Bike Sharing แพร่หลาย (ตัวเลขนี้รายงานเมื่อปี 2017) ทุกวันนี้คนจีนตามเมืองใหญ่เป็นสมาชิกของผู้ให้บริการ Bike Sharing ไม่ทางแบรนด์ใดก็แบรนด์หนึ่ง ตื่นเช้าเอามือถือสแกนบาร์โค้ดที่จักรยานแล้วใช้บริการได้ทันที ปั่นไปจอดยังรถไฟฟ้า และเลือกหยิบคันใดไปใช้ต่อก็ได้เมื่อออกจากสถานี จะไปทำงาน ไปตลาด ก็แค่ปั่นๆ สะดวก ได้ทั้งสุขภาพ และค่าใช้จ่ายก็ไม่แพง

 

แม้ระบบ Bike Sharing จะช่วยให้คนจีนลดใช้รถส่วนบุคคล ลดฝุ่นควัน แก้ปัญหาการจราจรติดขัด และมลภาวะทางอากาศเป็นพิษ จนทุกอย่างดูเหมือนจะดีไปหมด ทว่าระบบนี้มีปัญหายิบย่อยเยอะ เช่น การจอดรถระเกะระกะขวางทางเดิน ซากขยะจากจักรยานที่มีมากเกินจัดการได้ ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องเข้ามาแก้ให้ได้ แต่หากมองจากมุมผู้บริโภค ดิฉันถือว่าเป็นโครงการพื้นฐานที่ทางรัฐบาลใส่ใจ และปูทางไว้ให้ เพื่อรองรับปัญหามลพิษ และการจราจรติดขัดในเมือง

 

 

ผังเมืองล่วงหน้าเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต

 

หากคุณไปเที่ยวเซี่ยงไฮ้ และบุกตะลุยเที่ยวทั้งย่านต่างๆ ที่ไม่เพียงแต่สถานที่ท่องเที่ยวดังๆ จะเห็นว่าเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองที่มีมิวเซียมเจ๋งๆ เยอะมาก กระจัดกระจายไปตามจุดต่างๆ ทั่วเมือง ทั้งโซนสำคัญในย่านเก่า และเมืองใหม่ที่รัฐบาลมีแผนพัฒนาเอาไว้ เราจะไม่พูดถึงย่านเก่า แต่จะเอ่ยถึงย่านใหม่ที่รัฐวางแผนขยาย เช่น ละแวกสถานี Longhua Middle Road ย่านนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวหลักคือ Long Museum พิพิธภัณฑ์งานอาร์ตร่วมสมัย ที่มีทั้งงานปั้น งานภาพ และแอ็บสแตรกต์ ตั้งอยู่ห่างจากสถานีประมาณกิโลฯ กว่าๆ ใช้เวลาประมาณ 20 นาทีในการเดินเท้าจากสถานี หากคุณสังเกตสักนิด จะเห็นว่าละแวกนี้เป็นย่านที่อยู่อาศัย ไม่ใช่สถานที่ที่คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว ผังเมืองในพื้นที่จะประกอบไปด้วยคอนโดที่อยู่อาศัย มิวเซียม โรงเรียน โรงพยาบาล และคอมมูนิตี้มอลล์ ช่วงเย็นๆ ก็จะเห็นคนในละแวกออกมาวิ่งตามสวนสาธารณะ ผังเมืองลักษณะนี้ไม่ใช่มีแค่ย่าน Longhua Middle Road แต่ยังมีให้เห็นในอีกหลายย่านราวกับ Copy/Paste เช่น ละแวก M50 คอมมูนิตี้อาร์ตขนาดใหญ่ริมแม่น้ำ Wusong หรือ Power Station of Art ซึ่งอยู่ตรงสถานี Xizang South Road

 

ผังเมืองเซี่ยงไฮ้จำลอง ตามไปดูได้ที่

Shanghai Urban Planning Exhibition Center

 

อย่างที่บอก ผู้เขียนตกใจมากที่เมืองจีนพัฒนาไปเร็วขนาดนี้ และประทับใจมากที่รัฐบาลวางแผนโครงสร้างสาธารณูปโภคได้ดีเกินคาด รู้จักนิสัยการใช้ชีวิตของคนในปกครองดีว่าคนใช้เมืองอย่างไร เวลาไหน และควรปรับเปลี่ยนแก้ไขอย่างไรให้เมืองมุ่งไปข้างหน้าอย่างที่ถูกที่ควร หันกลับมาดูบ้านเรา มีหลายโครงการที่เราเริ่มพัฒนาช่วงเวลาใกล้เคียงกับจีน แต่ความคืบหน้าแทบหาไม่ได้ หลายโครงการจำนวนมากรอการพัฒนาและสานต่อ รัฐบาลจีนมีการวางผังเมืองอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม คิดดูสิว่า ขนาดประเทศจีนยังพัฒนาไม่เต็มตัว หลายประเทศหวาดวิตก ถ้าวันหนึ่งประชากรทั้ง 1,300 ล้านคน ได้รับการพัฒนาทุกหนทุกแห่ง จีนจะน่ากลัวขนาดไหนกัน

 

เขียนมาขนาดนี้ ดิฉันไม่ได้คิดจะอวยจีนว่าดีเด่ และก็ไม่ได้ต้องการโจมตีหรือดิสเครดิตใครทั้งนั้น แต่อยากสื่อให้เห็นว่าการเดินทางช่วยเปิดโลกมากแค่ไหน ความรู้บางอย่างอ่านมากรู้มาก แต่ไม่สู้เกิดความตระหนักรู้ ไม่เข้าใจหรือเห็นภาพได้ชัดเจน จนกว่าจะสัมผัสกับตัวเอง การเดินทางให้อะไรเรามากกว่าที่คิด ขอเพียงเราเที่ยวอย่างมีสติ สังเกตสิ่งรอบตัว และเปิดใจรับความต่างก็เพียงพอ

 

อ่านเพิ่มเติม

 

ภาพ: พลอยจันทร์ สุขคง, Shutter Stock

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising