×

เปิดปม ‘รัฐฉาน’ จุดเดือดสงครามเมียนมา-ค้ามนุษย์จีนเทา ที่คนไทยตกเป็นเหยื่อ

10.11.2023
  • LOADING...

ท่ามกลางสถานการณ์สงครามและความขัดแย้งที่กำลังมีขึ้นในหลายมุมของโลก ประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียงอย่างเมียนมา ตอนนี้ก็กำลังตกอยู่ในการสู้รบครั้งใหญ่ ที่แทบจะไม่ต่างไปจากสงครามกลางเมือง เนื่องจากเสียงปืนและระเบิดจากการปะทะและการโจมตีทางอากาศที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

 

จุดที่เกิดการสู้รบนี้คือตอนเหนือของรัฐฉาน โดยเป็นการรบระหว่างกองทัพรัฐบาลทหาร กับกองกำลังพันธมิตรภราดรภาพ (Brotherhood Alliance) ซึ่งประกอบด้วย 3 กองกำลังชาติพันธุ์ ได้แก่

 

  • กองทัพโกก้าง (Myanmar National Democratic Alliance Army: MNDAA)
  • กองทัพตะอางหรือปะหล่อง (Ta’ang National Liberation Army: TNLA) 
  • กองทัพอาระกัน (Arakan Army: AA)

 

ทั้ง 3 กองกำลังจับมือกันต่อต้านรัฐบาลทหาร ภายใต้อุดมการณ์ที่อาจเป็นไปในทิศทางเดียวกับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defence Force: PDF) ซึ่งเป็นเครือข่ายกองทัพของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือรัฐบาลเงา NUG (National Unity Government) ที่มาจากขั้วอดีตสมาชิกรัฐบาลพลเรือน ซึ่งถูกกองทัพเมียนมารัฐประหารยึดอำนาจไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021

 

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือด ปรากฏรายงานอันน่าตกใจ หลังพบว่ามีคนไทยกลุ่มหนึ่งได้รับผลกระทบ และติดอยู่ในเมืองเล่าก์ก่าย (Laukkai) พื้นที่แนวหน้าของการสู้รบที่อยู่ติดชายแดนมณฑลยูนนานของจีน

 

โดยคนไทยกลุ่มนี้ไม่ใช่แค่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ แต่ยังเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ หรือแก๊งจีนเทาที่ล่อลวงพวกเขาไปทำงาน ‘ต้มตุ๋นออนไลน์’ หรือที่คนไทยเรียกว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์

 

THE STANDARD ได้รวบรวมข้อมูลสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งล่าสุดมีความพยายามจากทางการไทยในการดำเนินการช่วยเหลืออยู่ ณ ขณะนี้ และเหยื่อคนไทยบางส่วนได้รับการช่วยเหลือแล้ว แต่ยังคงติดอยู่ในค่ายทหารเมียนมาที่มีเสียงระเบิดจากการสู้รบดังเป็นระยะ ทำให้พวกเขาหวาดกลัวและอ้อนวอนไปยังรัฐบาลให้เร่งช่วยเหลือโดยด่วน

 

ปฏิบัติการ 1027

 

รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายถึงโครงสร้างอำนาจกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ทางเหนือของรัฐฉาน มีกองกำลังพันธมิตร 7-8 กลุ่ม ซึ่งนอกเหนือจาก 3 กองกำลังที่รวมเป็นพันธมิตรภราดรภาพ ยังมีอีก 4 กองกำลังทางตอนเหนือค่อนไปทางตอนกลางของรัฐฉานที่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน ได้แก่

 

  • กองทัพคะฉิ่นอิสระ (Kachin Independence Army: KIA)
  • กองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army: UWSA)
  • กองกำลังเมืองลา (NDAA)
  • กองทัพรัฐฉานเหนือ (SSPP)

 

การเคลื่อนไหวของกองกำลังพันธมิตรภราดรภาพเพื่อต่อต้านกองทัพรัฐบาลทหารในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐฉาน มีขึ้นในชื่อปฏิบัติการ 1027 ซึ่งเปิดฉากเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีกำลังรบรวมมากถึงกว่า 1.5 หมื่นคน 

 

รศ.ดร.ดุลยภาคชี้ว่า ปฏิบัติการ 1027 นั้นมุ่งเป้ายึดพื้นที่บริเวณเส้นทางการค้าสำคัญติดชายแดนจีน อย่าง ‘ถนนพม่า’ หรือ ‘Burma Road’ ที่เป็นถนนเชื่อมระหว่างรัฐฉานกับภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ตั้งแต่เมืองล่าเสี้ยว ไปจนถึงเมืองคุนหมิงในมณฑลยูนนาน 

 

ในแถลงการณ์ของกองกำลังพันธมิตรภราดรภาพ ระบุเป้าหมายหลักของปฏิบัติการ 1027 ว่ามีขึ้นเพื่อ

 

  1. คุ้มครองพลเรือน
  2. ยืนยันสิทธิในการป้องกันตนเอง
  3. รักษาการควบคุมอาณาเขตของตน
  4. ตอบสนองอย่างเด็ดเดี่ยวต่อการโจมตีด้วยปืนใหญ่ และการโจมตีทางอากาศของกองทัพรัฐบาลทหาร
  5. กำจัดการปกครองของทหารที่กดขี่ประชาชน
  6. ต่อสู้กับการฉ้อโกงและการพนันทางออนไลน์ที่กำลังแพร่ระบาดในเมียนมา โดยเฉพาะบริเวณชายแดนจีน-เมียนมา

 

การยึดครองเส้นทางการค้าติดชายแดนจีนนั้น เชื่อว่าเป็นความพยายามตัดแหล่งรายได้สำคัญอีกทางของรัฐบาลทหาร ที่กำลังประสบภาวะย่ำแย่ทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันแต่ละกองกำลังชาติพันธุ์ก็ได้ประโยชน์จากการยึดครองพื้นที่ยุทธศาสตร์และขยายเขตอิทธิพลของตนเองด้วย

 

สงครามในรัฐฉานเลวร้ายแค่ไหน

 

นับตั้งแต่เริ่มต้นปฏิบัติการมา 2 สัปดาห์ กองกำลังพันธมิตรภราดรภาพ สามารถบุกยึดค่ายทหารเมียนมาได้แล้วมากกว่า 150 จุด รวมถึงยึดรถหุ้มเกราะและอาวุธยุทโธปกรณ์ได้อีกจำนวนหนึ่ง ยึดเมืองได้อย่างน้อย 4 เมือง และสังหารเจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารและตำรวจเมียนมาไปเป็นจำนวนมาก รวมถึงผู้บัญชาการกองพลทหารราบ

 

การเพลี่ยงพล้ำและสูญเสียกองกำลังและฐานที่มั่นทางทหาร ส่งผลให้กองทัพรัฐบาลเมียนมาพยายามโต้กลับด้วยการทิ้งระเบิดโจมตีทางอากาศอย่างหนักหน่วง แต่ก็ยังไม่เป็นผล

 

สถานการณ์ที่เป็นอยู่ตอนนี้คือกองกำลังพันธมิตรภราดรภาพพยายามรุกคืบอย่างหนัก จนทำให้ พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย นายกรัฐมนตรีและผู้นำการก่อรัฐประหาร ต้องเรียกประชุมสภาความมั่นคงและการป้องกันแห่งชาติ (National Defense and Security Council) เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน เพื่อหารือฉุกเฉินถึงสถานการณ์สู้รบในรัฐฉาน

 

นักวิเคราะห์มองว่าการเรียกประชุมฉุกเฉินดังกล่าวสะท้อนขนาดวิกฤตที่รุนแรง เนื่องจากที่ผ่านมาสภาความมั่นคงและการป้องกันแห่งชาติมีการประชุมครั้งสุดท้ายคือหลังการรัฐประหารในปี 2021

 

ขณะที่ พล.อ. มินต์ ส่วย ประธานาธิบดีเมียนมา เตือนว่าอันตรายจากการพ่ายแพ้ในการรบที่รัฐฉานนั้น อาจทำให้ประเทศเสี่ยงที่จะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ โดยเป็นการยอมรับครั้งแรกของรัฐบาลทหารถึงความท้าทายร้ายแรงที่กำลังเผชิญอยู่

 

ด้านจีน ซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ของรัฐบาลทหารเมียนมา ในอีกทางหนึ่งก็เชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับกองกำลังชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในรัฐฉานอย่างกองทัพสหรัฐว้า ก็มีการแสดงท่าทีต่อการสู้รบที่เกิดขึ้น

 

หวังเหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทั้งฝ่ายกองกำลังพันธมิตรภราดรภาพและกองทัพรัฐบาลเมียนมายุติการสู้รบ และหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่รัฐฉานด้วยสันติวิธีผ่านการพูดคุยเจรจา แต่ยังไม่มีแนวโน้มว่าฝ่ายกองกำลังชาติพันธุ์ที่กำลังได้เปรียบจะยอมจับมือเจรจากับรัฐบาลทหารในตอนนี้

 

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ดุลยภาคให้ความเห็นว่า สถานการณ์สู้รบในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐฉานครั้งนี้อาจยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คิด 

 

โดยแม้ว่าที่ผ่านมากองกำลังพันธมิตรภราดรภาพจะบุกยึดค่ายทหารของกองทัพรัฐบาลเมียนมาได้อย่างรวดเร็วนับร้อยแห่ง แต่การคุมพื้นที่ที่ยึดไว้ก็ยากลำบาก และไม่มีกำลังรบประจำการระยะยาว อีกทั้งยังมีปัญหาความเป็นเอกภาพและความเปราะบางจากการแย่งชิงพื้นที่ที่ทับซ้อนกัน

 

ในขณะที่กองทัพรัฐบาลเมียนมาก็ยังยากจะยึดพื้นที่ค่ายทหารคืนกลับมาได้ เนื่องจากไม่สามารถโยกย้ายกำลังพลจากจุดอื่นของประเทศที่ยังมีการต่อสู้กับกองกำลังฝ่ายต่อต้าน และทำได้เพียงการโจมตีทางอากาศหรือยิงปืนใหญ่โต้กลับ 

 

แหล่งค้ามนุษย์จีนเทา

 

แถลงการณ์ของปฏิบัติการ 1027 มุ่งเน้นการต่อสู้กับขบวนการต้มตุ๋นออนไลน์ ซึ่งมีที่มาจากการหลั่งไหลข้ามชายแดนของแก๊งอาชญากรจากจีน ที่หลบหนีการกวาดล้างของรัฐบาลจีนเข้าไปในเมียนมานับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในปี 2021 จนทำให้วันนี้เกิดเป็นอุตสาหกรรมการฉ้อโกง ที่สร้างปัญหาให้กับชาวเมียนมาทั่วประเทศ 

 

โดยกองกำลังในรัฐฉานเชื่อว่ารัฐบาลเผด็จการทหารร่วมมือกับแก๊งอาชญากรชาวจีนเพื่อสร้างรายได้ ด้วยการลักลอบขนคนจากชาติต่างๆ กว่า 1.2 แสนคนเข้าประเทศ และนำมาบังคับทำงานในสภาพที่ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรี 

 

เมืองหลักที่เป็นแหล่งดำเนินการของแก๊งจีนเทาเหล่านี้คือเมืองเล่าก์ก่าย ที่อยู่ห่างชายแดนมณฑลยูนนานเพียงประมาณ 16 กิโลเมตร และแทบจะเรียกได้ว่าเป็นเมืองจีนขนาดย่อม นอกจากความคึกคักของการค้าขายภายในเมือง แทบทั้งเมืองยังปรากฏร้านค้า บ่อนคาสิโน ที่แปะป้ายอักษรจีน ใช้ภาษาจีนในการสื่อสาร และใช้เงินสกุลหยวนในการค้าขาย

 

และแม้ว่าเมืองเล่าก์ก่ายจะอยู่ในพื้นที่ปกครองตนเองโกก้าง อันเป็นเขตอิทธิพลของกองทัพโกก้างที่เป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรภราดรภาพ แต่ที่ผ่านมาเป็นกองกำลังรักษาชายแดนโกก้าง (Kokang Border Guard Force) ซึ่งเป็นพันธมิตรฝ่ายรัฐบาลทหารที่ควบคุมเมือง

 

อุตสาหกรรมต้มตุ๋นออนไลน์ที่ดำเนินการในเล่าก์ก่ายใหญ่โตอย่างรวดเร็ว และสามารถสร้างรายได้หลายพันล้านดอลลาร์ให้กับรัฐบาลทหารและแก๊งอาชญากรจากจีน อาคารและบ่อนคาสิโนหลายแห่งมีขบวนการค้ามนุษย์เหล่านี้ควบคุมอยู่ และมีเหยื่อที่ทำงานต้มตุ๋นออนไลน์จำนวนมาก จนทำให้เมืองเล่าก์ก่ายถูกขนานนามว่าเป็นเมืองแห่งการต้มตุ๋น (Scam Town) 

 

คนไทยตกเป็นเหยื่อ

 

ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ตอนนี้มีคนไทย 164 คนที่ได้รับการช่วยเหลือออกมาจากแก๊งต้มตุ๋นออนไลน์ในเมืองเล่าก์ก่าย และได้รับการดูแลจากทางการเมียนมา โดยส่วนใหญ่ไม่มีหนังสือเดินทางเพราะถูกยึดไว้ ซึ่งทางการเมียนมาจัดให้พักอยู่ในค่ายทหาร และนอกจากคนไทย ยังมีชาวเวียดนาม สปป.ลาว และจีน 

 

ปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี เผยว่า ได้รับการร้องเรียนว่ามีกลุ่มผู้หญิงไทยถูกหลอกไปบังคับค้าประเวณีที่ประเทศเมียนมา และถูกหลอกไปเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมืองเล่าก์ก่ายและเมืองมัณฑะเลย์ โดยเหยื่อขอความช่วยเหลือมายังมูลนิธิปวีณาฯ ตั้งแต่ต้นปีนี้จำนวน 87 คน แบ่งออกเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 62 คน บังคับค้ามนุษย์ ค้าประเวณี 25 คน

 

ขณะที่การติดตามประสานความช่วยเหลือกลุ่มคนไทยออกมาจากเล่าก์ก่ายนั้นมีความพยายามมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รอง.ผบ.ตร. และ รุจ ธรรมมงคล อธิบดีกรมการกงสุล เดินทางไปกรุงย่างกุ้งเพื่อหารือกับทางการเมียนมาเกี่ยวกับการช่วยเหลือกลุ่มคนไทยในเมืองเล่าก์ก่าย โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อยืนยันข้อมูลจากทางการเมียนมาว่า คนไทยที่ได้รับการช่วยเหลือทั้ง 164 คนอยู่ในที่ปลอดภัย และสอบถามสถานการณ์ความไม่สงบในบริเวณรอบเมืองเล่าก์ก่าย ตลอดจนแนวทางการอพยพคนไทยออกมา และช่วยเหลือคนไทยที่ยังติดอยู่

 

ซึ่งทางสถานเอกอัครราชทูตฯ ประจำย่างกุ้ง อยู่ระหว่างประสานทางการเมียนมาในการเดินทางไปยังเมืองเล่าก์ก่ายเพื่อยืนยันสัญชาติ และออกเอกสารเดินทางที่จำเป็น รวมถึงประสานงานเรื่องเส้นทางอพยพกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง 

 

โดยการอพยพคนไทยออกมานั้น ทางการเมียนมาจะต้องเป็นฝ่ายกำหนดเส้นทางว่าจะใช้เส้นทางไหน เพราะตามจุดต่างๆ ของเส้นทางนั้น ทางการเมียนมาจะต้องมีการวางกองกำลังไว้ตามเส้นทาง เนื่องจากขณะนี้รัฐฉานอยู่ระหว่างสงคราม พร้อมยืนยันว่าคนไทย 164 คนที่ช่วยออกมาได้ จะสามารถพากลับประเทศไทย และปลอดภัยอย่างแน่นอน 

 

พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ยังเผยว่า กำลังพยายามช่วยคนไทยอีก 74 คนที่ยังคงติดอยู่ในตึกของแก๊งต้มตุ๋นออนไลน์ เนื่องจากนายจ้างชาวจีนที่เป็นหัวหน้าแก๊งไม่ยอมให้ออกมา โดยคาดว่ามีหลายคนถูกซ้อมทรมานได้รับบาดเจ็บ และบางคนอาจมีอาการหนัก 

 

ขณะที่การช่วยเหลือกลุ่มคนไทยออกจากเล่าก์ก่ายนั้นเป็นไปอย่างลำบาก เนื่องจากเป็นการทำงานในพื้นที่ต่างประเทศ และในภาวะสงคราม จึงมีความยากยิ่งขึ้น 

 

เบื้องต้นต้องเข้าใจก่อนว่าคนไทยที่ตกเป็นเหยื่อในที่นี้ อาจไม่ได้รวมถึงคนไทยทั้งหมดที่เข้าไปทำงานในแก๊งต้มตุ๋นออนไลน์ เพราะนอกจากกลุ่มที่ถูกล่อลวงไป ที่ผ่านมายังมีอีกกลุ่มคนไทยที่ดูเหมือนจะสมัครใจไปทำงานหาเงินในเล่าก์ก่ายด้วย

 

โดย พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ระบุว่า ได้แบ่งคนไทยที่กำลังจะได้รับการช่วยเหลือออกมาเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่สมัครใจไปทำงาน ซึ่งพบว่ามีอยู่กว่า 70% เพราะมีรายชื่อในกลุ่มที่เคยถูกช่วยเหลือออกมาจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในกัมพูชามาแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งกลุ่มนี้จะต้องถูกดำเนินคดีในไทย ส่วนกลุ่มที่สองคือ กลุ่มที่ถูกหลอกไปทำงานจริงๆ ซึ่งเป็นรายชื่อใหม่มีเพียงราว 30% 

 

วอนรัฐบาลไทยช่วยเหลือด่วน

 

สำหรับชะตากรรมและสภาพความเป็นอยู่ของกลุ่มคนไทยที่ได้รับการช่วยเหลือและพักอยู่ในค่ายทหารที่เล่าก์ก่ายนั้น มีรายงานจากสำนักข่าวชายขอบ (Transbordernews.in.th) ที่สัมภาษณ์คนไทย 2-3 คน เผยถึงความรู้สึกกังวลและหวาดกลัว โดยกล่าวว่าตลอดทั้งคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน มีเสียงยิงปะทะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และมีเสียงระเบิดใกล้ค่ายทหารมากขึ้นทุกที โดยในช่วงเช้าจนถึงเย็นก็ยังมีเสียงระเบิดดังต่อเนื่อง 

 

“ตอนนี้ทุกคนที่อยู่ในค่ายทหารต่างรู้สึกไม่สบายใจเพราะมีระเบิดลงทั้งวัน บางครั้งลงห่างจากค่ายไม่ถึง 500 เมตร” 

 

นอกจากนี้ กลุ่มคนไทยยังเผยว่าการพักอยู่ในค่ายทหาร ไม่ได้มีข้าวปลาอาหารสมบูรณ์เหมือนที่กระทรวงการต่างประเทศระบุ โดยคนไทยมีอยู่ 164 คน แต่กลับได้รับข้าวกล่องเพียงวันละประมาณ 100 กล่องต้นๆ ทำให้ไม่เพียงพอ บางคนจึงต้องอดข้าว หรือได้รับอาหารเพียง 1 มื้อ ไม่สามารถออกจากค่ายไปซื้ออาหารหรือสิ่งจำเป็น เมื่อฝากทหารเมียนมาไปซื้อบางทีก็ไม่ได้รับและไม่คืนเงินให้ อาหารบางอย่างเช่นปลากระป๋องหรือนมก็หมดอายุ โรงครัวก็ไม่ให้ทำอาหาร และแม้แต่ผ้าห่มก็ไม่เพียงพอสำหรับทุกคนทั้งที่อากาศหนาวมาก 

 

บางคนที่ป่วยหรือต้องการการดูแล เช่นหญิงคนหนึ่งที่ตั้งครรภ์ 7 เดือน ที่มีอาการเจ็บท้องก็ไม่ได้รับการช่วยเหลืออะไรจากทหารเมียนมา ซึ่งบางคนป่วยจนหมดสติจึงมีการนำส่งโรงพยาบาลใกล้ค่ายทหาร

 

กลุ่มคนไทยเล่าว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่น่ากังวลใจ โดยทหารเมียนมาไม่มีการซ้อมหนีภัย และเมื่อเกิดระเบิดใกล้ค่ายต้องวิ่งไปหลบในบังเกอร์ที่มีแค่ 2 จุด 

 

พวกเขาบอกว่าสถานการณ์ในตอนนี้อันตรายมากๆ และต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือให้อพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยอย่างเร่งด่วนภายใน 24 ชั่วโมง

 

“ชีวิตพวกเราตอนนี้เหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้าย ถ้าพวกเราเป็นอะไรไป ทางสถานทูตไทยต้องรับผิดชอบ เพราะพวกเราขอความช่วยเหลือและให้ข้อมูลไปนานแล้ว แต่ก็ไม่เห็นท่านทำอะไร คลิปวิดีโอต่างๆ เราก็ส่งไปให้ เราไม่ได้ตั้งใจจะมาที่นี่แต่เราถูกหลอก อยากให้เห็นใจเราด้วย ไม่ใช่เห็นเราเป็นคนอื่น เราอยากให้เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศไทยติดต่อมา แต่เขาไม่แยแสหรือสนใจพวกเราเลย พวกเราเป็นเหยื่อ” หนึ่งในคนไทยบอกกับสำนักข่าวชายขอบ

 

ทั้งนี้ รศ.ดร.ดุลยภาค มองว่าสถานการณ์ปัญหาการค้ามนุษย์ในรัฐฉานนั้น รัฐบาลไทยอาจพยายามหาทางออกได้ ด้วยการแสดงท่าทีในการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ทั้งต่อคนไทยและคนต่างชาติที่ตกเป็นเหยื่อและติดอยู่ในเล่าก์ก่าย ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามประสานผ่านจีนและเมียนมาเพื่อนำคนไทยออกมาให้ได้โดยเร็วและปลอดภัยที่สุด

 

“เราก็ต้องแถลงท่าที ส่งเสียงทางการทูตที่ชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องประสานกับทางจีนและเมียนมา เพื่อนำคนไทยกลับมาให้ปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะทำได้”

 

แฟ้มภาพ: Reuters / Khin Maung Win / Pool (Myanmar Society Politics)

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X