×

จาก Harvey Weinstein สู่ Kevin Spacey เมื่อเหยื่อคุกคามทางเพศไม่ใช่แค่ผู้หญิง แต่คือคนไร้อำนาจ

03.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

11 Mins. Read
  • สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้หลายๆ คนได้เห็นจากปรากฏการณ์ Sexual Harassment ในวงการฮอลลีวูด คือ เหยื่อผู้ถูกกระทำและคุกคามทางเพศหลายรายไม่ได้เป็น ‘เพศหญิง’ เสมอไปอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ เพราะผู้ชายก็ตกอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่นี้ได้ไม่ต่างกัน และบ่อยครั้งผู้กระทำส่วนใหญ่ที่ปรากฏเป็นข่าวตามหน้าสื่อก็มักจะเป็นผู้ที่มี ‘อำนาจ’ หรือผู้ที่ ‘อาวุโส’ กว่าผู้ถูกกระทำเกือบจะแทบทั้งนั้น
  • ลักขณา ปันวิชัย หรือเจ้าของนามปากกา ‘คำ ผกา’ มองว่าการคุกคามทางเพศไม่ใช่แค่เรื่องของการกระทำเท่านั้น แต่นับรวมถึงการใช้คำพูดด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องการหยอกล้อ ‘แซว’ กัน ซึ่งผู้ที่แซวมักจะรู้สึกมั่นใจในอำนาจของตัวเองและรู้ว่าคนถูกแซวจะไม่โกรธ ต่อให้โกรธก็รู้ว่าเขาจะไม่ตอบโต้ ไม่กล้าเถียง หรือโจมตีกลับ
  • ความรู้สึกหวาดกลัวต่อการออกมาบอกว่าตัวเองถูกคุกคามทางเพศจะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ผู้กระทำความผิดลอยหน้าลอยตาในสังคมต่อไป และคุกคามทางเพศผู้อื่นซำ้แล้วซ้ำเล่าอย่างไม่มีวันจบ

     หลังเกิดกรณีเปิดโปงการกระทำการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศสุดอื้อฉาวในวงการฮอลลีวูดของฮาร์วีย์ ไวน์สตีน โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์มือทองไปไม่ทันไรในเดือนตุลาคม ล่าสุด เควิน สเปซีย์ นักแสดงชายเจ้าบทบาทมากความสามารถก็กลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาอีกหนึ่งรายที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายการคุกคามทางเพศ

     ภายหลังจากที่ แอนโธนี แรปป์ นักแสดงชายวัย 46 ปีออกมาบอกว่า เขาถูกเจ้าของรางวัลนักแสดงนำชายเวทีออสการ์ 2 รางวัลผู้นี้คุกคามทางเพศเมื่อ 31 ปีที่แล้วในขณะที่เขาอายุได้เพียง 15 ปีเท่านั้น

     ฟินน์ วูล์ฟฮาร์ด นักแสดงเด็กผู้รับบท ‘ไมค์’ ในซีรีส์ฮิต Stranger Things ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ตกเป็นข่าวในทำนองนี้เหมือนกัน โดยสำนักข่าวบันเทิงหลายแห่งในสหรัฐอเมริการายงานตรงกันว่า ฟินน์ประกาศไล่ ไทเลอร์ แกรแชม ออกจากการเป็นผู้ดูแลงาน เพราะแกรแชมพยายามจะลวนลามเขาในระหว่างที่หลอกให้ลองดื่มแอลกอฮอล์

     เหตุการณ์เหล่านี้สร้างความสั่นสะเทือนให้แก่วงการฮอลลีวูดพอสมควร ทั้งยังก่อให้เกิดบทลงโทษที่ตามมาวัดจากความรุนแรงของการกระทำที่ต่างกันออกไป

     สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้หลายๆ คนได้เห็นจากปรากฏการณ์เหล่านี้คือ เหยื่อผู้ถูก Sexual Harassment และคุกคามทางเพศหลายรายไม่ได้เป็น ‘เพศหญิง’ เสมอไปอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะผู้ชายก็ตกอยู่ในสถานการณ์นี้ได้ไม่ต่างกัน และบ่อยครั้งผู้กระทำส่วนใหญ่ที่ปรากฏเป็นข่าวตามหน้าสื่อก็มักจะเป็นผู้ที่มี ‘อำนาจ’ หรือผู้ที่ ‘อาวุโส’ กว่าผู้ถูกกระทำเกือบจะแทบทั้งนั้น!

 

 

หรือ ‘อำนาจ’ คือเชื้อเพลิงชั้นดีในการคุกคามและลวนลามทางเพศผู้อื่น?

     THE STANDARD ได้ติดต่อไปยัง ลักขณา ปันวิชัย หรือเจ้าของนามปากกา ‘คำ ผกา’ นักเขียน-ผู้ดำเนินรายการ In Her View ทางสถานีโทรทัศน์ Voice TV

     และ เจ้าของเพจ ‘เจ้าหญิงแห่งวงการ HR’ เพื่อสอบถามความเห็นของทั้งคู่ที่มีต่อประเด็นการคุกคามทางเพศที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะกับผู้หญิงเท่านั้น หากแต่ใครๆ ก็มีสิทธิ์ตกเป็นเหยื่อได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไร้ซึ่งอำนาจ

     ในตอนหนึ่งของรายการ In Her View ลักขณาได้ยกประเด็นเรื่องการคุกคามทางเพศขึ้นมาบอกเล่าและแสดงทรรศนะไว้ว่า ปัญหาการคุกคามทางเพศมักจะเกิดขึ้นจากการกระทำของผู้ที่มีอำนาจมากกว่าผู้ที่ถูกกระทำอยู่บ่อยครั้ง ไม่ใช่ฝ่ายชายกระทำต่อฝ่ายหญิงอย่างที่หลายคนเข้าใจ

     ลักขณาบอกกับเราว่า “ด้วยคำว่า Sexual Harrasment มันไม่ได้แบ่งเพศอยู่ในนั้น เพราะฉะนั้นจึงอาจจะตีความได้ว่าคนทุกเพศทุกวัยมีสิทธิ์ที่จะถูกล่วงละเมิดได้เหมือนกัน แล้วอะไรที่ทำให้คนกล้าไปคุกคามทางเพศคนอื่น? เงื่อนไขแรกเกิดจากความรู้สึกว่า เรามีอำนาจมากกว่าคนนั้น ง่ายๆ เลยทำไมเรารู้สึกว่าเรากล้าแซวคนคนนี้ ซึ่งการแซวก็ถือเป็นการคุกคามอย่างหนึ่ง แต่ในเมืองไทยจะไม่ค่อยซีเรียสกับการคุกคามหรือการล่วงละเมิดทางวาจา (Verbal Harassment) เช่น ‘ทำไมเธอดูง่วงจัง เมื่อคืนหนักล่ะสิ?

     “การที่เราไปแซวเขาแล้วรู้สึกว่าสามารถเล่นกับเขาได้ มันแสดงว่าเรามั่นใจในอำนาจของเรา และรู้ว่าคนคนนี้จะไม่โกรธ ไม่ตอบโต้เรา หรือต่อให้โกรธก็รู้ว่าเขาไม่กล้าเถียงหรือโจมตีเรากลับ เพราะฉะนั้นถ้ามองในมุมนี้ก็จะเห็นเงื่อนไขการเกิดกรณีการคุกคามทางเพศที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอำนาจเหนืออีกฝ่าย”

     ขณะที่เจ้าของเพจเจ้าหญิงแห่งวงการ HR เจ้าหน้าที่พนักงานที่มีประสบการณ์ดำรงตำแหน่งงานด้านทรัพยากรมนุษย์ให้กับหลายๆ บริษัทบอกเราว่า “ในอดีตการคุกคามทางเพศอาจถูกตีความว่าผู้ชายจะเป็นฝ่ายกระทำผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันที่สังคมเปิดกว้างขึ้น เรื่องพวกนี้จะเกิดขึ้นได้หลากหลายมากๆ ไม่ว่าจะระหว่างหัวหน้าผู้ชายและลูกน้องผู้หญิง, หัวหน้าผู้หญิงและลูกน้องผู้ชาย หรือหัวหน้าและลูกน้องที่เป็นเพศเดียวกัน

     “ส่วนใหญ่แล้วเคสที่เป็นการคุกคามด้วยวาจามักจะไม่มีการร้องเรียนสักเท่าไร เนื่องจากผู้ถูกกระทำจะยังไม่แน่ใจว่าตนถูกคุกคามทางเพศด้วยคำพูดหรือเปล่า ประกอบกับสังคมไทย คนเล็กคนน้อยจะมีความเจียมตัวในการออกมาเรียกร้องกล่าวหาผู้ใหญ่ จนกระทั่งพฤติกรรมการคุกคามทางเพศลามไปสู่การสัมผัสการแตะเนื้อต้องตัว

     “ทั้งนี้ทั้งนั้นหากกรณีการร้องเรียนของพนักงานนำไปสู่ขั้นตอนการตรวจสอบและสอบสวน ก็จะมีการพิจารณาจากหลักฐานบริบทอื่นๆ มาประกอบด้วย เช่น หัวหน้าที่ถูกกล่าวหาเคยพูดจาเชิงชู้สาวกับพนักงานที่มาฟ้องร้องหรือเปล่า หรือบริเวณร่างกายที่หัวหน้าไปสัมผัสลูกน้องเป็นจุดที่จะไปกระตุ้นให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศหรือไม่ เช่น การสัมผัสต้นแขนอาจจะมีน้ำหนักเข้าข่ายการคุกคามทางเพศเบากว่าการสัมผัสต้นขา”

     ในปัจจุบัน เจ้าของเพจเจ้าหญิงแห่งวงการ HR ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD ว่า ตัวกฎหมายแรงงานเองก็มีมาตรการในการคุ้มครองลูกจ้างกับการถูกคุกคามทางเพศโดยหัวหน้างานแล้ว ซึ่งในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 มาตรา 16 จะระบุไว้อย่างชัดเจนเลยว่า ‘ห้ามมิให้นายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงาน กระทำการล่วงเกิน คุกคาม หรือก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศต่อลูกจ้าง’ ซึ่งลูกจ้างในที่นี้ก็จะครอบคลุมถึงลูกจ้างทุกเพศทุกวัย

การคุกคามทางเพศเป็นเรื่องของอำนาจและความกลัวที่จะเสียผลประโยชน์ มันเลยกลายเป็นช่องทางให้ผู้ที่ไปอยู่ในจุดสูงสุดของอำนาจรู้สึกสบายที่จะทำอะไรก็ได้ จะเห็นคนเป็นผักเป็นปลาก็ไม่ผิด

 

สะท้อนกรณีฮาร์วีย์ ไวน์สตีน เมื่อผู้มีอำนาจสามารถชี้เป็นชี้ตายคนไร้อำนาจ

     จากกรณีของฮาร์วีย์ ไวน์สตีน โปรดิวเซอร์ที่กระทำการคุกคามทางเพศต่อนักแสดงสาวทั้งหลายในวงการ ลักขณามองว่า เรื่องราวเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่วงการบันเทิงเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นกับตัวบุคคลได้ในทุกๆ วงการ และการที่ผู้มีอำนาจกล้าที่จะคุกคามทางเพศคนอื่นต่อไปเรื่อยๆ เพราะผู้ถูกกระทำรู้สึกว่าตัวเองด้อยอำนาจ เป็นผู้น้อย หากไปแจ้งความตำรวจก็คงไม่เข้าข้าง เพื่อนร่วมงานก็ไม่กล้าสนับสนุนเพราะกลัวจะซวยไปด้วย

     “คือตัวผู้ถูกกระทำก็กลัวว่าถ้ามีปัญหากับผู้บังคับบัญชา เขาจะมีอำนาจในการไล่เราออกจากงานไหม? จะกลั่นแกล้งเราในเรื่องอื่นๆ หรือใช้อำนาจที่มีอยู่ในมือทำให้เราเดือดร้อนหรือเปล่า? ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่มันเกิดขึ้นในกรณีการคุกคามทางเพศคือ ฝั่งผู้ถูกกระทำจะโดดเดี่ยว ไม่มีใครอยู่เคียงข้างกล้าช่วย เพราะกลัวตัวเองซวย” ลักขณาบอก

     เธอกล่าวต่อว่า “มองในกรณีของฮาร์วีย์ที่เป็นผู้อำนวยการสร้างที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลมากๆ สามารถชี้เป็นชี้ตายนักแสดงในวงการได้ ถ้านักแสดงสักคนถูกคุกคามทางเพศขึ้นมาแล้วโวยวาย แต่โลกทั้งใบไม่มีใครเชื่อ อนาคตอาชีพการแสดงของเขาหรือเธอก็จะจบลงทันที เพื่อนนักแสดงก็ไม่กล้าปกป้องคุณเพราะกลัวไม่มีงานให้เล่น

บางทีหัวหน้าหรือผู้ที่มีอำนาจมักจะประมาทเหมือนกัน เพราะการกระทำที่มิได้มีเจตนาไม่ดีของพวกเขาอาจถูกพนักงานตีความว่าเป็นการคุกคามทางเพศได้

 

     “กลไกอย่างนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่าการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องของอำนาจและความกลัวที่จะเสียผลประโยชน์ มันเลยกลายเป็นช่องทางให้ผู้ที่ไปอยู่ในจุดสูงสุดของอำนาจรู้สึกสบายที่จะทำอะไรก็ได้ จะเห็นคนเป็นผักเป็นปลาก็ไม่ผิด  บางคนมีอำนาจแล้วไม่มีกลไกทางกฎหมายมากำกับ ใช้อำนาจที่มีอยู่ได้ตามอำเภอใจ เขาก็จะคุกคามคนด้วยวิธีไหนก็ได้ สมมติ เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ เขาเป็นหัวหน้าของคุณ เขามีอำนาจอยู่ในมือ เขาเดินผ่านคุณก่อนเตะก้นแล้วทำเป็นเดินผ่านไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เขาก็ทำได้ แล้วเพื่อนร่วมงานของคุณก็คงไม่มีใครมาเข้าข้างเพราะกลัวจะถูกพี่เคนเขี่ยทิ้ง”

      ถึงแม้ผู้มีอำนาจและหัวหน้างานบางคนจะใช้ ‘อำนาจ’ ที่มีในมือได้อย่างสำราญใจ แต่ในเวลาเดียวกันมันก็กลับมาเป็นดาบสองคมย้อนมาเล่นงานตัวของพวกเขาเองได้เช่นกัน แม้หัวหน้างานคนนั้นๆ จะไม่ได้มีเจตนาล่วงละเมิดทางเพศผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเลยก็ตาม

     เจ้าของเพจเจ้าหญิงแห่งวงการ HR บอกว่า “บางทีหัวหน้าหรือผู้ที่มีอำนาจมักจะประมาทเหมือนกัน เพราะการกระทำที่มิได้มีเจตนาไม่ดีของพวกเขาอาจถูกพนักงานตีความว่าเป็นการคุกคามทางเพศได้ เช่น หากลูกน้องไม่พอใจการทำงานของหัวหน้า ก็สามารถเอาประเด็นการพูดหยอกล้อหรือการสัมผัสเนื้อต้องตัวไปเชื่อมโยงเป็นประเด็นการคุกคามทางเพศได้เหมือนกัน จนอีกฝั่งอาจเสียหายและถูกไล่ออกจากงาน ทั้งที่จริงๆ แล้วเขาไม่ได้มีเจตนาคุกคามทางเพศเลยด้วยซ้ำ

บางทีหัวหน้าหรือผู้ที่มีอำนาจมักจะประมาทเหมือนกัน เพราะการกระทำที่มิได้มีเจตนาไม่ดีของพวกเขาอาจถูกพนักงานตีความว่าเป็นการคุกคามทางเพศได้

 

     “ที่ผ่านมาก็เคยมีเคสของลูกน้องผู้หญิงที่เข้ามาแจ้งว่าถูกหัวหน้าผู้ชายที่มีช่วงอายุต่างกัน 20 ปีแตะเนื้อต้องตัว โดยที่ในมุมมองของหัวหน้าเขารู้สึกว่าเป็นเรื่องของความคุ้นเคยเป็นกันเองและความเอ็นดูมากกว่า และหลังจากที่เราได้ทำการสอบสวนจากพยานรอบข้างและบริบทประกอบทั้งหมดก็พบว่า ลูกน้องไม่พอใจในตัวหัวหน้าคนนี้มาก่อนอยู่แล้ว เธอจึงไม่สบายใจที่หัวหน้าจะมาแตะเนื้อต้องตัว แต่สุดท้ายเคสนี้เราก็จำเป็นจะต้องออกหนังสือเตือนหัวหน้างาน ไม่ว่าหัวหน้าจะเจตนาหรือไม่เจตนาจะคุกคามทางเพศกับลูกน้องก็ตาม แต่หากการกระทำเข้าข่ายดังกล่าว มันก็เพียงพอที่จะพิจารณาความผิดได้”

 

ความกลัวที่จะสูญเสียทุกอย่างทำให้ผู้ถูกกระทำไร้ซึ่งพลัง การคุกคามทางเพศจึงยังสืบสันดานเสียต่อไป!

     ครั้งหนึ่ง แอน โรบินสัน นักข่าวและผู้ประกาศข่าวหญิงชาวสหราชอาณาจักรเคยให้สัมภาษณ์กับ BBC ด้วยน้ำเสียงเชิงเรียกร้องให้ผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศคนอื่นๆ กล้าออกมาบอกเล่าเรื่องราวที่พวกเธอถูกกระทำ และไม่ควรอดทนต่อสิ่งที่พวกเธอได้รับ คล้ายว่าเป็นการกดดันทางอ้อมให้เกิดการลงโทษผู้กระทำผิดไม่ให้ลอยนวล

     เช่นเดียวกับลักขณาที่มองว่า ปัจจัยที่ผลักดันให้วงจรอุบาทว์ของการคุกคามทางเพศระหว่างผู้มีอำนาจและผู้ไร้ซึ่งอำนาจยังคงดำเนินอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เกิดจากความรู้สึกของผู้ถูกกระทำที่มองว่าตัวเองเป็น ‘เหยื่อ’ อับอาย และแปดเปื้อนจากการกระทำเหล่านั้น

อย่าคิดว่าตัวเองเป็นเหยื่อ คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมไม่ใช่เหยื่อ แต่เป็นผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม และสิ่งที่เขาและเธอควรกระทำคือต่อสู้เพื่อความยุติธรรม คนทำผิดต้องได้รับการลงโทษตามกฎหมาย

 

     “เรามองว่ากลไกที่ทำให้เกิดกระบวนการคุกคามด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุดคือการที่ผู้ถูกกระทำไม่กล้าเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตัวเอง ผู้ด้อยอำนาจทั้งหมดไม่เชื่อว่าตัวเองสามารถต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้กับตัวเองได้  แล้วในเมื่อผู้ด้อยอำนาจทั้งหมดไม่ผนึกกำลังกันเพื่อต่อสู้ กลไกการคุกคามก็จะดำเนินต่อไปได้ 10-20 ปี เหมือนกรณีของฮาร์วีย์ ที่สมมติว่าถ้ากวินเน็ธ พัลโทรว์ ออกมาพูดแค่คนเดียวว่าเธอถูกคุกคามแล้วไม่มีนักแสดงหรือคนอื่นสนับสนุนเพราะกลัวจะไม่ได้งานจากฮาร์วีย์ กลไกการเรียกร้องความยุติธรรมก็จะไม่เกิดขึ้น

     “เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกใบนี้ต้องมี Hierarchy (ลำดับขั้นชนชั้น) ฮอลลีวูดจะมีแต่นักแสดงก็คงไม่ได้ ก็ต้องมีผู้อำนวยการสร้างที่อยู่เหนือนักแสดง แต่ถ้าคุณอยากทำลายกลไกของอำนาจที่ไม่เป็นธรรม หยุดไม่ให้ผู้มีอำนาจใช้อำนาจของเขาตามอำเภอใจในทางที่มิชอบ กลไกแรกสุดที่จะช่วยได้ก็คือ ‘กฎหมาย’ ที่ใช้งานได้จริง

     “กลไกที่สองคือผู้ที่ถูกกระทำจะต้องไม่เงียบ ส่วนคนไร้อำนาจคนอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้เจอการคุกคามกับตัวเองก็ต้องออกไปช่วยพวกเขาและเธอ อย่ากลัวและอย่าให้คนที่ถูกกระทำออกไปสู้อย่างโดดเดี่ยว มิฉะนั้นเขาก็จะตกเป็นเหยื่อของความไม่เป็นธรรมอยู่เรื่อยไป ถ้าทุกคนห่วงความปลอดภัยของตัวเองก็จะไม่มีใครมาช่วยผู้ถูกกระทำ เมื่อไรก็ตามที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ผู้ที่ใช้อำนาจลอยนวลแบบฮาร์วีย์ก็จะสามารถคุกคามคนอื่นต่อไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

     “อย่าคิดว่าตัวเองเป็นเหยื่อ คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมไม่ใช่เหยื่อ แต่เป็นผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม และสิ่งที่เขาและเธอควรกระทำคือต่อสู้เพื่อความยุติธรรม คนทำผิดต้องได้รับการลงโทษตามกฎหมาย อย่าคิดว่าตัวเองถูกจับก้นหรือขยำหน้าอกไปแล้วจะมีมลทิน ชีวิตจบสิ้น มีราคี นี่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งเหมือนกัน ต้องไม่ทำให้ตัวเองตกอยู่ในสภาวะ Powerlessness เพราะเมื่ออ่อนแอลง ผู้ถูกกระทำก็จะไม่กล้าเปิดปากพูด”

     นอกจากนี้ลักขณายังบอกอีกด้วยว่า กลไกที่ผู้มีอำนาจมักใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษคือการนำ ‘ความกลัว’ มาข่มขู่ ให้พนักงานที่กลายเป็นผู้ถูกกระทำเกิดความหวั่นเกรงว่าตนอาจจะตกงาน แล้วจึงใช้เงินมาปิดปากประนีประนอมและเจรจา โดยหวังว่าอีกฝ่ายจะต้องยอมความเพื่อไม่ให้เรื่องราวบานปลายไปถึงขั้นขึ้นศาล

     ไม่ต่างจากเจ้าของเพจเจ้าหญิงแห่งวงการ HR ที่เช่ือว่า ความกลัวของพนักงานที่ว่าตนอาจจะตกงานคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้การคุกคามทางเพศยังคงเป็นเชื้อร้ายที่มีลมหายใจได้ต่อไป  

     “นี่คือประเด็นสำคัญเลยที่ทำให้ปัญหาการคุกคามทางเพศยังคงอยู่ โดยเฉพาะในองค์กรที่ให้ผลตอบแทนไม่ชัดเจน คนที่เป็นหัวหน้าเลยมีอำนาจสูงมากในการให้คุณหรือโทษพนักงาน มันจะมีหัวหน้าบางคนที่คอยใช้อำนาจในทางที่ไม่เหมาะสมต่อรองแลกเปลี่ยนบางอย่างกับพนักงานที่ตกเป็นเหยื่อ การคุกคามทางเพศจึงกลายเป็นวิธีการหนึ่งในการปกครอง คล้ายว่าเป็นการกดคนภายใต้อำนาจการดูแลไว้ ซึ่งเราเชื่อว่าหัวหน้าบางคนกล้าทำเรื่องพวกนี้เพราะเชื่อว่าลูกน้องจะไม่พูด แต่ก็มีลูกน้องหรือพนักงานบางคนที่ยอมแลกเรื่องพวกนี้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองเช่นกัน”

การป้องกันการคุกคามทางเพศไม่ใช่การสร้างเกาะขึ้นมาใหม่แล้วให้ผู้หญิงไปอยู่รวมกัน มันทำให้ผู้หญิงต้องมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าพวกเธอเป็นใคร? เป็นสัตว์ประหลาดหรือพืช GMO พันธ์ุพิเศษที่อยู่ร่วมกับคนอื่นไม่ได้?

หลงประเด็นการคุกคามทางเพศจะทำให้ผู้หญิงกลายเป็น ‘พืชดัดแปลงพันธุกรรม’ และเป็นตัวประหลาด!?

     อย่างไรก็ดี ตามที่ลักขณาได้บอกไว้ในตอนต้น เธอเชื่อว่าหากเรามัวแต่คิดหรือเอาแต่ทึกทักไปเองว่า ‘ผู้หญิง’ เท่านั้นที่จะกลายเป็นผู้ถูกกระทำจากการคุกคามทางเพศได้ มาตรการต่างๆ ที่เป็นไปเพื่อปกป้องพลเมืองเพศหญิงก็มีแต่จะทำให้พวกเธอกลายเป็นพืช GMO หรือตัวประหลาดในที่สุด

     “ข้อควรระวังเรื่องการคุกคามทางเพศคือพอเราไปโฟกัสที่ผู้หญิง คนก็มักจะคิดว่ากลไกที่ป้องกันไม่ให้พวกเธอถูกคุกคามคือการทำตู้รถไฟหญิงล้วน, รถเมล์หญิงล้วน หรือลานจอดรถสำหรับผู้หญิง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะคุณไปคิดว่าปัญหาการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นเฉพาะกับเพศหญิง การแก้ปัญหาเลยกลายเป็นว่าคุณกำลังจะสร้างโลกอีกใบที่มีแต่ผู้หญิงขึ้นมา ซึ่งมันไม่ใช่การแก้ปัญหาเลย

     “การป้องกันการคุกคามทางเพศไม่ใช่การสร้างเกาะขึ้นมาใหม่แล้วให้ผู้หญิงไปอยู่รวมกัน (หัวเราะ) มันทำให้ผู้หญิงต้องมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าพวกเธอเป็นใคร? เป็นสัตว์ประหลาดหรือพืช GMO พันธ์ุพิเศษที่อยู่ร่วมกับคนอื่นไม่ได้? และเราก็มองว่าวิธีเหล่านี้ไม่ใช่การแก้ปัญหา การแก้ปัญหาคือคุณต้องผดุงความเป็นธรรม ไม่ใช่แยกผู้หญิงไปอยู่เกาะร้างหรือพื้นที่พิเศษที่ล้อมรั้วพร้อมติดป้าย ‘เขตพิเศษสำหรับผู้หญิง เพศอื่นห้ามเข้า’ มันไม่ใช่ไง”

     ลักขณายังบอกอีกด้วยว่า แนวคิดเรื่องการแต่งกายวับๆ แวมๆ เป็นสาเหตุหลักของการเกิดภัยคุกคามทางเพศในผู้หญิงล้วนแล้วแต่เป็นความเชื่อแบบผิดๆ ทั้งสิ้น และไม่ใช่การแก้ปัญหาที่เกาถูกที่คันสักเท่าไร

     “เรื่องของความรุนแรงมันเกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกคนไม่ใช่เฉพาะผู้หญิง โอเคแหละ คุณสามารถแยกย่อยได้อีกว่าระบอบชายเป็นใหญ่ ปิตาธิปไตยหรือ Patriarchy ทำให้ผู้ชายมีความชอบธรรมที่จะทำร้ายผู้หญิง แต่นั่นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

     “แต่หากคุณมองเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศและการใช้ความรุนแรง คุณต้องมองว่า Patriarchy มันไม่ใช่แค่เรื่องระหว่างหญิง-ชาย แต่เกิดจากการที่เราสวมบทบาทความเป็นชายอยู่ในวิธีคิดของเราไม่ว่าจะอยู่ในเพศไหน เมื่อเราสวมบทบาททางอำนาจดังกล่าว เราก็พร้อมที่จะไปกลั่นแกล้งหรือใช้อำนาจกับคนที่มีอำนาจน้อยกว่าเราได้”

     สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาการถูกคุกคามทางเพศ นอกจากการให้ผู้ถูกกระทำปรับเปลี่ยนทัศนคติของตัวเองตามที่ลักขณาได้บอกไว้ เจ้าของเพจเจ้าหญิงแห่งวงการ HR ยังให้คำแนะนำเพิ่มเติมไว้ว่า หากสงสัยว่าตัวเองอาจจะถูกกระทำการคุกคามทางเพศ ก็สามารถแจ้งเรื่องไปยังฝ่ายทรัพยากรบุคคลเพื่อให้ทำการตรวจสอบได้ทันที

     และหากหน่วยงานของคุณยังเพิกเฉยต่อการตรวจสอบและการปฏิบัติหน้าที่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ให้คำแนะนำไว้ว่า คุณยังสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนไปยังสำนักงาน ก.พ., คณะกรรมการการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และผู้ตรวจการแผ่นดินได้อีกด้วย

     ส่วนวิธีการแก้ไขปัญหาในฝั่ง ‘ผู้กระทำ’ ลักขณาได้ให้คำแนะนำที่น่าสนใจว่า หากเป็นการแก้ไขปัญหาในเชิงอุดมคติ ก็คงหนีไม่พ้นการปรับมุมมองให้ผู้มีอำนาจทั้งหลายไม่รู้สึกว่าตัวเองมีสถานะพิเศษอยู่เหนือผู้อื่น ปฏิบัติกับผู้ใต้บังคับบัญชาหรือคนอื่นๆ ให้เท่าเทียม แต่วิธีนี้ก็คงจะไม่มีวันเกิดขึ้นจริงได้

     “เราเคยวิเคราะห์และตั้งคำถามกันอย่างจริงจังหรือไม่ว่า คนที่ใช้อำนาจในทางที่ผิดเพื่อข่มเหงคนเล็กคนน้อยมีปัญหาทางจิตอะไรบ้าง?

     “ปัญหาทางจิตไม่ได้หมายความว่าคนกลุ่มนี้เป็นโรคจิตนะ สมมติการติดเซ็กซ์ ก็เป็นปัญหาทางจิตเหมือนกัน แต่ไม่ได้แปลว่าคนที่เป็นต้องเป็นบ้า อาจจะเป็นผลมาจากปัญหาการหลั่งเคมีทางสมองหรือเปล่า ซึ่งเขาก็ต้องได้รับการรักษาบำบัด ฉะนั้น ไม่ใช่ว่าผู้กระทำผิดจะต้องตายตกตามกันเสมอ มันก็ต้องมีการจำแนกอีกทีว่าเขามีปัญหาอะไรในชีวิตหรือเปล่า บางทีเขาอาจจะต้องได้รับการเยียวยาบำบัดหรือความรักมากกว่าคนปกติทั่วไปเสียอีก”

 

Photo: AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X