×

CRACKED: พูดแซว จับมือ ถือแขน โอบกอด…อะไรก็เป็น ‘Sexual Harassment’ ได้ ถ้าอีกฝ่ายไม่ยินยอม

16.04.2022
  • LOADING...
Sexual Harassment

ช่วงนี้ประเด็นข่าวร้อนเกี่ยวกับการถูกคุกคามทางเพศไปจนถึงล่วงละเมิด ปรากฏขึ้นให้เห็นทั้งในไทยและญี่ปุ่น ตั้งแต่ดาราและนางแบบสาว Kiko Mizuhara ออกมาไลฟ์เปิดเผยเกี่ยวกับการถูกคนในวงการบันเทิงคุกคามทางเพศ ไปจนถึงคดีของปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในข้อหากระทำอนาจารและข่มขืนร่วม 3 คดี 

 

ปัจจุบันประเด็นการคุกคามทางเพศ หรือ Sexual Harassment ถูกเอามาพูดถึงในวงกว้างในหลายประเทศ ทว่าสังคมบ้านเรายังมองว่าการคุกคามทางเพศจะต้องหมายถึงการข่มขืน และความรุนแรงทางเพศเท่านั้น ซึ่งความจริงการถูกคุกคามทางเพศนั้นตีความหมายกว้างกว่าที่เข้าใจมาก

 

🔺Sexual Harassment คืออะไร?

 

การคุกคามทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ หรือ Sexual Harassment หมายถึงการกระทำเรื่องเพศที่มีเจตนาไม่ดีต่อเพศตรงข้าม หรือเพศเดียวกัน และทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกไม่สบายใจ หวาดกลัว ตื่นตระหนก ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นแค่การพูดแซวหรือใช้สายตามองก็ตาม โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่า เป็นการกระทำเรื่องเพศ และฝ่ายตรงข้ามไม่ยินยอม นั่นก็เท่ากับการคุกคามทางเพศแล้ว 

 

🔺การกระทำใดบ้างที่ถือว่าเป็น Sexual Harassment?

 

การคุกคามทางเพศมีหลายรูปแบบ แต่จะแบ่งหลักๆ ออกเป็น 4 รูปแบบ คือ 

  1. การแสดงออกทางวาจา เช่น พูดจาล่วงเกินเรื่องเพศ การถามสัดส่วนของอีกฝ่ายในเชิงชู้สาว หรือพูดเล่นคำที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ เป็นต้น
  2. กิริยาท่าทาง เช่น การใช้สายตาจ้องมองส่วนต่างๆ ของร่างกาย หรือทำกิริยาที่ส่อไปทางเซ็กซ์
  3. การสัมผัสทางร่างกาย เช่น พยายามใกล้ชิดโดยไม่จำเป็น แตะเนื้อต้องตัว โอบกอด โอบไหล่ เป็นต้น
  4. การส่งข้อความเชิงอนาจาร เช่น การเขียนและส่งข้อความส่อไปทางเพศ รวมไปถึงการส่งรูปภาพร่างกาย หรืออวัยวะเพศให้แก่ผู้อื่น (อันหลังนี่ดูเหมือนเราจะเจอกันบ่อยในโลกอินเทอร์เน็ต)

 

🔺เกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องแค่ชาย-หญิง

 

แม้ว่าการถูกคุกคามทางเพศส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นระหว่างชายและหญิง แต่อันที่จริง ปัญหานี้เกิดในหลายเพศสภาพ ไม่ว่าจะเป็นชายกระทำต่อหญิง หญิงกระทำต่อชาย หรือแม้แต่ชายกระทำต่อชาย หรือบุคคลข้ามเพศ ฯลฯ โดยเฉพาะบุคคลข้ามเพศ และชาย ซึ่งมักถูกมองข้ามประเด็นประจำ เพราะคิดว่าอีกฝ่ายอาจชื่นชอบ หรือคิดว่าหยวนๆ ไม่เป็นไรหรอก 

 

🔺ถูกประณามจากสังคม และตราบาปที่ตนไม่ได้ก่อ

 

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ปัญหาของการคุกคามทางเพศแก้ไขยากคือ การถูกประณามจากสังคม ผู้ถูกกระทำจากเหตุการณ์นี้มักถูกพิพากษาว่า เป็นเพราะพฤติกรรมของตัวเองที่ทำให้เกิดการล่วงละเมิด แต่งตัวโป๊บ้างละ เล่นหูเล่นตาบ้างละ หรือถ้าเป็นภาษานางร้ายในละครก็คือให้ท่าผู้กระทำ แต่เดี๋ยวก่อน ถ้าเขาให้ท่าจริงมันจะเป็นคุกคามได้อย่างไรจริงไหม? คนที่เคยไปดูนิทรรศการ ‘Don’t tell me how to dress’ ที่เคยจัดขึ้นในประเทศไทยจะเห็นว่า เสื้อผ้าและการแต่งกายของเหยื่อที่ถูกข่มขืนนั้นล้วนแล้วแต่มิดชิดและเรียบร้อยมาก และต่อให้ผู้กระทำแต่งตัวโป๊จริง ผู้อื่นก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะคุกคามทางเพศต่อคนนั้นๆ 

 

การคุกคามทางเพศไม่เพียงส่งผลต่อร่างกาย แต่ยังส่งผลต่อจิตใจของผู้เสียหายอย่างใหญ่หลวง ชนิดที่ว่า อาจเป็นตราบาปที่ต้องได้รับการเยียวยาตลอดชีวิต สังคมจึงต้องตระหนักและสนับสนุนให้ผู้ถูกกระทำลุกขึ้นสู้ เลิกกล่าวโทษแล้วหันมาสนับสนุน เพราะเชื่อเถอะว่า ยังมีผู้ถูกกระทำอีกมากมายที่จำทนต้องรับชะตากรรม ด้วยไม่กล้าออกมาสู้ เพราะกลัวความอับอายและการประณามจากสังคม รวมถึงคนใกล้ตัวด้วย

 

ภาพ: Shutterstock

อ้างอิง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X