เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2564 ของ ธปท. หัวข้อ ‘สร้างภูมิคุ้มกัน ผลักดันเศรษฐกิจไทย’ โดยระบุว่า นอกจากการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิดแล้ว ขณะนี้ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในบริบทโลกใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม ทั้งพัฒนาการทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด การเข้าสู่สังคมสูงวัย การปรับเปลี่ยนของภูมิรัฐศาสตร์โลก และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ดังนั้น หากจะก้าวต่อไปในอนาคตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และมีเสถียรภาพภายใต้ความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน ประเทศไทยจำเป็นต้องมี Resiliency หรือ ‘ภูมิคุ้มกัน’ ที่เข้มแข็งเพียงพอ
เศรษฐพุฒิระบุว่า ในอดีตที่ผ่านมา เสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจมักถูกกล่าวถึงในมิติของความยั่งยืนทางการคลัง ความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน และความเข้มแข็งของดุลการชําระเงิน ซึ่งถือได้ว่าประเทศไทยมีเสถียรภาพในมิติต่างๆ เหล่านี้ในระดับที่ค่อนข้างดี
อย่างไรก็ตาม ภายใต้เศรษฐกิจมหภาคที่ดูมั่นคงนั้น เศรษฐกิจไทยกลับไม่ Resilient และมีความเปราะบางมาก ซึ่งวิกฤตโควิดได้ตอกยํ้าว่านิยามของคําว่า ‘เสถียรภาพ’ จะต้องเปลี่ยนแปลงไป ต้องมองในมุมที่กว้างขึ้นและครอบคลุมถึงปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจัยด้านสังคมและปัจจัยด้านส่ิงแวดล้อม
ผู้ว่า ธปท. กล่าวอีกว่า ภายใต้บริบทโลกใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนสูงนั้น เศรษฐกิจที่จะ Resilient ได้ ต้องมีลักษณะที่สําคัญอย่างน้อย 3 ประการ คือ 1. ความสามารถในการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ หรือ Ability to avoid shocks 2. ความสามารถในการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น หรือ Ability to withstand shocks และ 3. ความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบดังกล่าว หรือ Ability to recover from shocks
ทั้งนี้ หากพิจารณาความสามารถของเศรษฐกิจไทยใน 3 ด้านน้ี จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันยังมีขีดจํากัดในทุกด้าน
ประการที่หนึ่ง เศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ หรือ Ability to avoid shocks ที่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่มีการกระจายความเสี่ยงที่เพียงพอ มีการพึ่งพาต่างประเทศที่สูงในแทบทุกมิติ ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว และเทคโนโลยี รวมถึงการพึ่งพาแรงงานต่างชาติที่มากขึ้นเรื่อยๆ จากภาวะสังคมสูงวัย เศรษฐกิจไทยจึงหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและการเมืองโลกได้ยาก
โดยนอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจแล้ว เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงในด้านอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ที่มีความรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้น โดยดัชนีความเสี่ยง Global Climate Risk Index 2021 ของ Germanwatch ได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับท่ี 9 จากกว่า 180 ประเทศทั่วโลก
สภาพอากาศสุดขั้ว อุณหภูมิที่สูงข้ึน และความผันผวนของปริมาณนํ้าฝนจาก Climate Change จะเข้ามาซํ้าเติมความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคเกษตร ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสําคัญสูงในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย มีการจ้างงานจํานวนมาก เป็นต้นนํ้าของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สําคัญ และยังเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ของประเทศอีกด้วย
นอกจากนี้ ความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศพัฒนาแล้ว ทําให้มีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานสินค้า นโยบายการลงทุน และนโยบายการค้าระหว่างประเทศ เช่น การออกแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของยุโรป (European Green Deal) รวมถึงการออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกสินค้าของไทยอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากการที่มาตรการ CBAM จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2023 นี้แล้ว
ประการที่สอง เศรษฐกิจไทยยังมีขีดความสามารถในการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น หรือ Ability to withstand shocks ที่จำกัด
เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ความสามารถของระบบเศรษฐกิจในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ประการ คือ 1. การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ช่วยให้ครัวเรือนและธุรกิจมีสภาพคล่อง หรือสายป่านที่ยาวเพียงพอให้อยู่รอดจนผ่านพ้นวิกฤต และ 2. ความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น การปรับเปลี่ยนอาชีพของแรงงาน และการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตและการตลาดของธุรกิจ
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ค่อนข้างจํากัด เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงและมีภาคเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal Sector) ที่ใหญ่ ซึ่งกลุ่มเปราะบางในระบบเศรษฐกิจ เช่น ครัวเรือนยากจน แรงงานที่เพิ่งเรียนจบ (First Jobbers) แรงงานอิสระที่ไม่ได้รับค่าจ้าง หรือได้ค่าจ้างเป็นรายวัน และธุรกิจ SMEs ที่มีจํานวนมากและมักอยู่นอกระบบ ไม่สามารถรับมือและปรับตัวต่อวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้
ขณะเดียวกัน ในด้านสภาพคล่อง กลุ่มเปราะบางเหล่านี้มักมีสายป่านทางการเงินท่ีสั้น เนื่องจาก 1. มีเงินออมที่ไม่เพียงพอ 2. กู้ยืมเงินได้ยาก 3. ไม่สามารถพึ่งพาความช่วยเหลือจากเครือข่ายทางสังคม เช่น ญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงในยามวิกฤตได้เหมือนในยามปกติ เนื่องจากคนอื่นๆ อาจประสบปัญหาทางการเงินเช่นกัน และ 4. ไม่ได้รับการชดเชย ช่วยเหลือ และเยียวยาจากภาครัฐอย่างรวดเร็วและเพียงพอ เนื่องจากอยู่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ ยิ่งไปกว่านี้ กลุ่มเปราะบางเหล่านี้มีข้อจํากัดด้านทักษะและเทคโนโลยีที่จําเป็นสําหรับการปรับตัว รวมถึงทางเลือกในการปรับเปลี่ยนวิถีการทํางาน เช่น ไม่สามารถทํางานจากบ้านหรือเปลี่ยนอาชีพได้ในระยะเวลาอันสั้น
นอกจากนี้ ความสามารถในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ยังขึ้นกับปัจจัยทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสมานฉันท์ ซึ่งช่วยเสริมสร้างความสามารถผ่านกลไกใน 2 ระดับ คือ
- ในระดับชุมชน ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันเป็นรากฐานของเครือข่ายทางสังคม (Social Networks) ระหว่างคนในครอบครัวและมิตรสหาย ซึ่งงานวิจัยในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยพบว่า เครือข่ายทางสังคมมีบทบาทในการช่วยครัวเรือนและธุรกิจรับมือกับผลกระทบต่างๆ ผ่านการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหลายด้าน ทั้งเงินทุน แรงงาน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี
- ในระดับประเทศ สังคมที่ผู้คนยอมรับและเคารพความแตกต่างของกันและกัน เชื่อใจกัน และสามารถประนีประนอมกันได้บนพื้นฐานของเหตุผล จะสามารถสร้างฉันทามติ (Consensus) ในการดำเนินนโยบายสาธารณะ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและภัยพิบัติต่างๆ และการออกมาตรการทางเศรษฐกิจและสังคมที่ช่วยเยียวยาผู้ประสบภัย อันเป็นกลไกสําคัญในการทําให้ประเทศ Resilient ต่อความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้น
สําหรับประเทศไทย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความแตกต่างทางความคิดในสังคมไทยนําไปสู่ความขัดแย้งที่ฝังลึก มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ความสมานฉันท์ในสังคมไทยลดต่ำลง ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ข้อมูลจาก World Values Survey ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ที่พบว่าดัชนีวัดความไว้เนื้อเชื่อใจกันของคนในสังคมไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจนั้นได้บั่นทอนกลไกในการสร้าง Resiliency ของระบบเศรษฐกิจไทย
ประการสุดท้าย เศรษฐกิจไทยยังมีขีดความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบต่างๆ หรือ Ability to recover from shocks ที่จำกัด จากการท่ีครัวเรือนและธุรกิจในกลุ่มเปราะบางมักได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างย่ิง รายได้ที่ขาดหายไปจนก่อให้เกิด ‘แผลเป็น’ ทางเศรษฐกิจ (Economic Scars) ซึ่งทำให้การฟื้นตัวของครัวเรือนและธุรกิจเหล่านี้ใช้เวลานาน และเหนี่ยวรั้งการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโดยรวม
โดยแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่สําคัญ ได้แก่ สินทรัพย์ของครัวเรือนและธุรกิจ รวมถึงทักษะของแรงงานที่ลดลง ในขณะที่หนี้สินพอกพูนขึ้นจนเกิดภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว (Debt Overhang) ซึ่งทําให้ครัวเรือนและธุรกิจมีความสามารถในการบริโภคและการลงทุนที่ตํ่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจึงไม่สามารถเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้
ทั้งนี้ ผู้ว่า ธปท. ได้เสนอ 7 แนวทางในการทำให้เศรษฐกิจไทย Resilient ต่อความท้าทายต่างๆ มากขึ้นในอนาคตไว้ดังนี้
- ต้องมีการบริหารความเสี่ยงภาพรวมของประเทศ (Country Risk Management) ที่ดี ต้องมีการบูรณาการของข้อมูลและองค์ความรู้ และมีการวิเคราะห์ฉากทัศน์ (Scenario Analysis) ที่มีการพิจารณาถึงสถานการณ์ที่แม้มีโอกาสเกิดขึ้นตํ่าแต่สร้างความเสียหายที่สูงด้วย โดยทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมมือกันเพื่อให้ข้อมูล องค์ความรู้ และมุมมองสมบูรณ์ครบถ้วนรอบด้าน โดยภาครัฐอาจทําหน้าท่ีประสานงาน หรือจัดหาแพลตฟอร์มในการดําเนินการ
- ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้พร้อมรับความท้าทายในอนาคต เช่น การปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ Resilient ต่อสถานการณ์ Climate Change รวมถึงความท้าทายในด้านอื่นๆ ทั้งเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด สังคมที่สูงวัย และภูมิรัฐศาสตร์โลกท่ีเปลี่ยนไป โดยภาครัฐมีบทบาทในการออกนโยบาย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจและครัวเรือนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและบริโภคไปในทิศทางท่ีมั่นคงและยั่งยืน
- ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยทั้งในเชิงอุตสาหกรรมและในเชิงพื้นที่ เพื่อกระจายความเสี่ยงให้ดีขึ้น ลดการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งมากเกินไป และเพิ่มการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค โดยเน้นบทบาทของภาคเอกชนเป็นหลัก ส่วนภาครัฐมีบทบาทในการชี้ทิศทางและสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนในกิจกรรมและพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่จําเป็น
- ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ (Formalization) มากขึ้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจ และให้แรงงานและธุรกิจต่างๆ สามารถได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีในยามวิกฤต โดยภาครัฐมีบทบาทสําคัญในการสร้างแรงจูงใจให้แรงงานและธุรกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบ
- ลดความเหลื่อมล้าและความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างย่ิง ความเหลื่อมลํ้าเชิงโอกาสในด้านต่างๆ ทั้งการเข้าถึงความจําเป็นขั้นพื้นฐาน การศึกษา การประกอบอาชีพ การแข่งขันทางธุรกิจ และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งภาครัฐมีบทบาทสําคัญ ทั้งในการกํากับดูแล ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงไม่สร้างและบังคับใช้กฎเกณฑ์ท่ีไม่เป็นธรรมในสังคม
- สร้างโครงข่ายความคุ้มครอง (Safety Nets) ในทุกระดับ เพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจอยู่รอดได้ในยามวิกฤต ตั้งแต่ความสามารถในการช่วยเหลือและพึ่งพาตนเอง เครือข่ายทางสังคม เครือข่ายระหว่างผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chains) และระบบการเงินที่มีประสิทธิภาพ โดยเน้นบทบาทการดําเนินการของภาคเอกชน เพื่อสร้างความยั่งยืนของระบบ ส่วนความช่วยเหลือเยียวยาโดยตรงจากภาครัฐที่ก่อให้เกิดภาระทางการคลังในอนาคต และปัญหา Moral Hazard ควรจํากัดอยู่ในเฉพาะสถานการณ์ที่กลไกตลาดทํางานไม่ได้
- ลดการเกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจในยามวิกฤต เพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เช่น สร้างสายป่านที่ยาวพอให้ธุรกิจดําเนินอยู่ได้และจ้างงานต่อเนื่อง ฝึกทักษะแรงงานเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนไปหลังวิกฤต สร้างกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ และกระบวนการล้มละลายที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม