×

อ่านความคิด ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่กับ 5 โจทย์ใหญ่ ธปท.

20.10.2020
  • LOADING...
อ่านความคิด ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่กับ 5 โจทย์ใหญ่ ธปท.

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • เมื่อผู้นำด้านนโยบายการเงินของไทยอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีผู้ว่าฯ คนใหม่คือ ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ขึ้นรับตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. คนที่ 21 
  • เศรษฐกิจไทยต้องจับตา 3 ความท้าทายตั้งแต่การฟื้นตัวไม่เท่ากัน เศรษฐกิจซึมระยะยาว และความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น จับตาสถานการณ์การเมือง-ความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท
  • ประกาศ 5 โจทย์ใหญ่ของ ธปท. ใต้แนวคิด ‘คิดรอบ ตอบได้’ ที่ต้องสร้างความเชื่อมั่น คู่กับการแก้ปัญหาในวิกฤตทั้งระยะสั้นและยาวไปพร้อมๆ กัน

เศรษฐกิจไทยจะไปในทิศทางไหน หนึ่งในองค์กรที่ทุกคนต้องจับตาความเคลื่อนไหวอยู่เสมอคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ล่าสุดมีผู้ว่าการ ธปท. คนใหม่ คือ ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ที่ขึ้นรับตำแหน่งผู้ว่าฯ เป็นคนที่ 21 แล้วการดำเนินนโยบายการเงินของไทยจะเปลี่ยนไปทางใด

วิกฤตโควิด-19 สร้าง 3 ความท้าทายเศรษฐกิจไทย 

 

เศรษฐพุฒิ ผู้ว่า ธปท. คนใหม่ เล่าว่า วิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้ประเทศไทยและทั่วโลกต้องล็อกดาวน์ ส่งผลให้ปีนี้กระทบต่อเศรษฐกิจไทยหลายด้าน ทั้งการส่งออกไตรมาส 2/63 ที่หดตัวมากที่สุดในรอบ 11 ปี ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2563 จะเหลือเพียง 6.7 ล้านคน จากปี 2562 ที่อยู่ราว 40 ล้านคน ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ไม่ได้กดดันเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นเท่านั้น แต่สถานการณ์นี้จะอยู่กับไทยอีกยาว

 

ทาง ธปท. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยกว่าที่จีดีพีจะเริ่มเป็นบวกคือไตรมาส 2/64 แต่กว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 ยังต้องใช้เวลาอีก และคาดว่าจะเห็นในช่วงไตรมาส 3/65 แสดงว่าประเทศไทยต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปีกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเท่ากับช่วงก่อนหน้า

 

“(ไทย) เปรียบเสมือนอาการของผู้ป่วยหนักที่รักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู หลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หรือเมื่อผู้ป่วยออกมาพักฟื้นจากไอซียูแล้ว บริบทประเทศได้เปลี่ยนไปอย่างน้อย 3 ด้าน”

  1. การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันมาก (Uneven) การฟื้นตัวในแต่ละเซกเตอร์มีความแตกต่างกันมาก
  2. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคาดว่าจะใช้เวลานาน (Long) ไม่น้อยกว่า 2 ปี เพราะโครงสร้างตลาดส่งออกของไทยกระจุกอยู่ในกลุ่มสินค้าและตลาดที่ฟื้นตัวช้า
  3. ความไม่แน่นอน (Uncertain) ในหลายด้านทั้งคำถามที่ว่าวัคซีนจะทดลองสำเร็จเมื่อไร นักท่องเที่ยวจะกลับมาเมื่อไร ทำให้นักลงุทนอยู่ในหมวดรอคอยไปด้วย

 

นโยบาย-มาตรการของ ธปท. จะเป็นอย่างไร?

 

ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต้องมองไปถึงโจทย์ระยะยาวว่าอีก 2 ปี หรือช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัว ในขณะที่ช่วงวิกฤตต้องใช้มาตรการ ‘ปูพรม’ ให้ความช่วยเหลือทั่วไปให้ทุกคนและเร่งด่วน เช่น การพักชำระหนี้ 3-6 เดือน ฯลฯ แต่โจทย์ใหม่ระยะยาวคือจะทำอย่างไรให้กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ได้ผลลัพธ์ที่ดี การดูแลสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) การบริหารจัดการหนี้ในมิติต่างๆ 

 

“ธปท. ต้องเตรียมเครื่องมือไว้ให้ครบ เนื่องจากปัญหาที่เจอมีเข้ามาอย่างหลากหลาย รวมถึงการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในครั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลานานและมีความไม่แน่นอนระหว่างทางค่อนข้างสูง ซึ่งในระยะที่มีความยาว ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงคือ ผลข้างเคียง และผลระยะยาว เนื่องจากหากเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น สามารถที่จะอัดยาแรงในการแก้ไขได้ แต่ขณะนี้เมื่อมีความยาวเพิ่มเข้ามา ก็ต้องนึกถึงผลข้างเคียงที่จะตามมาด้วย เพื่อไม่ให้การแก้ไขปัญหาในระยะสั้น บั่นทอนการแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป”

 

ทั้งนี้ การคำนึงถึงผลข้างเคียงในระยะยาว เช่น การพักชำระหนี้ จำเป็นต่อการช่วยเหลือระยะสั้น แต่ผลข้างเคียงในระยาวค่อนข้างสูง เพราะถ้าลูกหนี้ที่สามารถชำระหนี้ได้ไม่ชำระหนี้ แต่ผ่อนผันไปเรื่อยๆ จะทำให้หนี้สะสมต่อเนื่อง ซึ่งหากปล่อยให้เกิดขึ้นจะอันตรายมาก เพราะโอกาสที่จะขยายในวงกว้างสูง เบื้องต้นผลกระทบจากมาตรการพักชำระหนี้หากดำเนินต่ออีก 1 ปี จะทำให้กระแสเงินสดหายไปจากสถาบันการเงินกว่า 2 แสนล้านบาท กระทบกับเสถียรภาพของสถาบันการเงินในอนาคต

 

ดังนั้นปัจจุบันการ ‘แก้ไขต้องตรงจุด’ ให้เข้าถึงคนที่ต้องการความช่วยเหลือ ‘ยืดหยุ่น’ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ที่หลากหลาย ‘ครบวงจร’ คือมีเครื่องมือตอบโจทย์สถานะของปัญหา นึกถึงผลข้างเคียงเพื่อรักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน รักษาวินัยทางการเงิน

 

“ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ถือเป็นของใหม่ ทำให้วิธีการรับมืออาจต้องเป็นการลองผิดหรือลองถูกบ้าง ซึ่งก็ไม่ได้เป็นแค่ในไทยเท่านั้น แต่หลายประเทศทั่วโลกก็อยู่ในรูปแบบการแก้ไขที่คล้ายกัน เน้นความยืดหยุ่นสูงในการแก้ปัญหา”

 

 

การสื่อสารของ ธปท.-สถานการณ์การเมือง-ค่าเงินบาทผันผวน

 

เมื่อขึ้นชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเป็นธนาคารที่มองในภาพรวม และทำให้แน่ใจว่าการสื่อสาร หรือสิ่งที่ทำอยู่เหมาะสมกับภาพรวมจริงๆ ที่สำคัญคือการสื่อสารที่สะท้อนต่อไปยังประชาชนว่า การจะออกนโยบายต่างๆ ล้วนผ่านการคิด วิเคราะห์ข้อมูลมาอย่างดีและรอบด้าน 

 

ส่วนสถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ทาง ธปท. ติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องการยืดเยื้อ ซึ่งก็ต้องติดตามดูว่าจะส่งผลกระทบอย่างไร โดยต้องดูทั้งผลต่อความเชื่อมั่น การลงทุน และการท่องเที่ยวว่าจะกลับมาได้หรือไม่ โดยเรื่องกังวลใจคือการจัดการภายใน ซึ่ง ธปท. จะต้องเป็นที่พึ่งทางใจในด้านเศรษฐกิจ เพื่อรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ที่อาจเกิดขึ้นกับระบบ

 

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ต้องยอมรับว่าการบริหารนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ธปท. จะดูสาเหตุและปัจจัยโดยรอบ เช่น หากดูข้อมูลย้อนหลัง 5 ปีพบว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทกว่า 85% มีผลมาจากปัจจัยของทิศทางค่าเงินสกุลหลัก ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินสกุลหลักในภูมิภาค โดยมีเพียง 15% เท่านั้นที่มาจากปัจจัยในประเทศ 

 

ขณะเดียวกันค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าสกุลเงินอื่น เป็นผลจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในเกาหลีใต้และไต้หวันก็ต่างเกินดุลเช่นกัน แต่เขาสามารถบริหารได้โดยการผลักดันเงินทุนเคลื่อนย้ายทำให้เงินออกไปต่างประเทศ (Recycle Flow) เช่น การลงทุนในต่างประเทศ เป็นต้น ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของไทย จึงอยู่ที่จะบริหารค่าเงินผ่านการ Recycle Flow อย่างไร

 

“การจะให้มาตรการด้านการเงินเป็นตัวขับเคลื่อนหลักคงเป็นไปไม่ได้ เพราะภาคท่องเที่ยว การบริโภค ซึ่งเป็นเครื่องมือสร้างความต้องการ (ดีมานด์) หลักหายไปจากประเทศไทย แต่จะให้ฝั่งนโยบายการเงินหาดีมานด์มาทดแทนนั้นคงไม่ใช่ แต่ต้องอาศัยเครื่องมืออื่นเข้ามาช่วยแทน ขณะที่ฝั่งการเงินจะต้องทำให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หากเปรียบเทียบกับทีมฟุตบอลแล้ว นโยบายการเงินไม่ใช่กองหน้า แต่เป็นกองหลัง ซึ่งมีความสำคัญมาก แต่ก็มีข้อจำกัด” 

 

5 โจทย์ใหญ่ ธปท. หวังสร้างความยั่งยืนทุกมิติ

 

สำหรับโจทย์ใหญ่ในช่วงเวลาต่อจากนี้แบ่งเป็น 5 ด้าน ด้วยกัน 1. แก้วิกฤตหนี้อย่างยั่งยืน ทั้งการสนับสนุนและเอื้อให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งการแก้ปัญหาลูกหนี้ต้องมองภาพรวมมากกว่าตัวลูกหนี้อย่างเดียว และต้องมองผลกระทบเซกเตอร์อื่นๆ โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่รู้จักลูกหนี้ดีที่สุด ช่วงที่ผ่านมา ธปท. เลยออกมาตรการเพื่อช่วยปัญหาในกรณีที่มีเจ้าหนี้หลายราย เช่น DR BIZ

  1. รักษาเสถียรภาพระบบการเงินให้เข้มแข็ง มีทุนสำรองเพียงพอ และสถาบันการเงินสามารถที่จะหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจและ​เดินหน้าต่อไปได้ 

 

  1. รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรองรับสถานการณ์ใหม่หลังโควิด-19 New Normal

 

  1. ความเชื่อมั่นของสาธารณชน ซึ่ง ธปท. ต้องเป็นหนึ่งในองค์กรที่ประชาชนเชื่อมั่นมากที่สุด 

 

  1. ประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยเป็นองค์กรที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ 

 

“แบงก์ชาติเป็นองค์กรที่มีข้อมูลเยอะมาก คนเก่งจำนวนมาก และเป็นคนที่ทุ่มเทและมีความตั้งใจมากด้วย ไม่ใช่แค่คนที่เก่งเพียงอย่างเดียว องค์กรที่มีคนเก่งและทุ่มเทรวมไว้ด้วยกันมากขนาดนี้ ก็ควรที่จะต้องมีอะไรเป็นผลลัพธ์ออกมามากกว่านี้หรือไม่ ซึ่งมองว่าสาเหตุที่ยังไม่มีผลลัพธ์ออกมาดีเท่าที่ควร เป็นเพราะติดขั้นตอนภายในขององค์กรเอง ทั้งกระบวนการทำงานและโครงสร้างภายในที่ยังไม่คล่องตัวมากนัก โจทย์ที่ต้องแก้ไขคือการปรับเงื่อนไขและขั้นตอนในองค์กร ให้สามารถดำเนินงานต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น”

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X