ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ โดยหัวเรือใหญ่อย่าง วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. คนที่ 20 ได้ครบวาระหลังจากทำงานมาเป็นเวลา 5 ปี และส่งไม้ต่อให้กับ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. คนที่ 21 เป็นผู้สานต่องานของแบงก์ชาติ
BOT พระสยาม Magazine นิตยสารภายในของ ธปท. ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ เศรษฐพุฒิ ถึงเส้นทางชีวิตและแนวคิดการทำงาน รวมถึงมุมมองต่อวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น
เด็กชายนักเดินทาง
เศรษฐพุฒิ เริ่มต้นเล่าถึงชีวิตในวัยเด็กว่าเป็นชีวิตที่ต้องเดินทางอยู่บ่อยครั้ง เพราะคุณพ่อทำงานที่กระทรวงต่างประเทศ ทำให้ต้องปรับตัวกับสถานที่และสังคมใหม่ ๆ อยู่เสมอ
“เมื่อผมอายุ 2 เดือนกว่าคุณพ่อคุณแม่ก็พาย้ายไปอยู่ที่ออสเตรเลียแล้ว หลังจากนั้นก็ต้องเดินทางย้ายไปอยู่อีกหลายประเทศ มีทั้งอินเดีย, โปแลนด์, ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์ และอังกฤษ ซึ่งในบรรดาประเทศต่างๆ ที่เคยมีโอกาสได้ใช้ชีวิตอยู่ ประเทศที่ชอบมากที่สุดคือ ฝรั่งเศส อาจเพราะเป็นช่วงชีวิตที่กำลังอยู่ในช่วงมัธยมปลายด้วย ทำให้ผมมีความทรงจำที่สนุกมาก ประกอบกับวิวทิวทัศน์ที่สวยและวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์ และจากการที่ต้องย้ายไปหลายประเทศในวัยเด็ก ทำให้ผมต้องหาเพื่อนใหม่ตลอดเวลา และต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
จุดเริ่มต้นความสนใจด้านเศรษฐศาสตร์
การตัดสินใจเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์อย่างแน่วแน่ตั้งแต่ปริญญาตรีจนจบปริญญาเอก จึงเกิดเป็นคำถามว่า เพราะอะไรที่ทำให้ผู้ว่าการแบงก์ชาติท่านใหม่สนใจในสาขาวิชานี้
“ผมเองก็ไม่แน่ใจนักว่าจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เพราะตอนเด็กๆ ผมไม่ใช่เด็กเรียนและดูจะสนใจกีฬามากกว่าด้วยซ้ำ วิชาที่ชอบในตอนนั้นจะเป็นแนววิทยาศาสตร์ ชีววิทยา และคณิตศาสตร์ จนกระทั่งตอนที่ย้ายไปเรียนที่ฝรั่งเศส ในวิชาประวัติศาสตร์ยุโรป ยอมรับเลยว่าอาจารย์สอนเก่งมาก เขาไม่ได้สอนให้เราท่องจำ แต่เป็นการวิเคราะห์ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมเริ่มสนใจวิชาที่เป็นแนวสังคมศาสตร์ ประกอบกับความชอบคณิตศาสตร์เป็นพื้นฐาน จึงทำให้ตัดสินใจเรียนเศรษฐศาสตร์ในที่สุด”
ประสบการณ์ทำงานที่หล่อหลอมความเป็น เศรษฐพุฒิ
จากประสบการณ์การทำงานในองค์กรชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ หล่อหลอมให้ เศรษฐพุฒิ มีมุมมองและสไตล์การทำงานที่เปิดกว้าง มุ่งผลลัพธ์ของการทำงานที่ถูกต้องและทันการณ์
“ผมเริ่มต้นการทำงานที่แมคคินซีย์ นิวยอร์ก ซึ่งช่วยหล่อหลอมทัศนคติและวิธีการทำงานให้ผมจนกระทั่งทุกวันนี้ เรื่องแรกคือวัฒนธรรมการดีเบต คือ หากต้องการระดมความคิดกัน ไม่สำคัญว่าจะอยู่ในตำแหน่งอะไร เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ หน้าที่ของเราคือการถกเถียงกันเพื่อปิดช่องว่าง และให้แน่ใจว่าเราได้ผลงานที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ให้กับลูกค้า เรื่องที่สองคือโครงสร้างองค์กรที่มีความยืดหยุ่นสูง ทำให้สามารถเลือกใช้คนจากทุกทีมได้ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและประโยชน์กับงานมากที่สุด ไม่ต้องยึดติดกับโครงสร้างหรือสายงาน ภาษาที่แมคคินซีย์ใช้คือ ‘One Firm Concept’ คือ รูปแบบการทำงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้เราไม่หลงทาง มีแนวทางที่ชัดเจน และไม่ว่าจะทำงานที่สหรัฐฯ ญี่ปุ่น หรือสาขาใด เราก็สามารถต่องานกันได้เหมือนพูดเข้าใจในภาษาเดียวกัน”
ความท้าทายของการทำงานที่แบงก์ชาติ
นอกจากประสบการณ์ทำงานที่แมคคินซีย์แล้ว การทำงานที่ธนาคารโลกยังเป็นประสบการณ์ที่ดีมากของ เศรษฐพุฒิ โดยเฉพาะสำหรับการต่อยอดงานที่แบงก์ชาติ เพราะทั้งสององค์กรมีบางอย่างคล้ายกัน ประกอบกับประสบการณ์ที่เคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขณะเดียวกันก็เคยดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. ด้วย ทำให้ผู้ว่าการท่านใหม่เข้าใจถึงความท้าทายในการทำงานของคนแบงก์ชาติได้เป็นอย่างดี
“ลักษณะโดดเด่นที่เหมือนกันของคนแบงก์ชาติและธนาคารโลกคือ มีความเป็นเทคโนแครต หมายถึง ละเอียด, เชี่ยวชาญ, ลงลึก, รู้จริง แต่เพราะเรามีเวลาและข้อมูลที่จำกัด โดยเฉพาะในยามที่เราต้องเร่งเยียวยาแก้ไข จึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะทำทุกอย่างให้สมบูรณ์เต็ม 100% ได้ทั้งหมด ยกตัวอย่างสมัยผมทำงานที่ธนาคารโลก รายงานบางอย่างก็รู้สึกเหมือนเป็นข้อมูลเชิงลึกที่ทำเพื่อเก็บไว้มากกว่าที่จะเป็นประโยชน์ในวงกว้าง จึงเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย
“ดังนั้น การทำสิ่งที่ถูกต้องและให้ถูกเวลาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ผมเรียกว่า Getting The Right Things Right หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ คนแบงก์ชาติไม่ใช่นักวิจัยที่อยู่ในห้องแล็บ แต่ผมมองว่าเราคือหมอที่มีคนไข้ที่รอการรักษาและเราจะต้องทำอะไรบางอย่าง เราเป็นหน่วยงานที่ต้องผลิตนโยบายที่เวิร์กและใช้ได้จริง แต่ไม่ได้ผลิต Work of Art”
จากประสบการณ์การแก้วิกฤตปี 2540 สู่มุมมองต่อวิกฤตโควิด-19
เศรษฐพุฒิ ในฐานะที่เคยทำงานกระทรวงการคลังและเป็นหนึ่งในทีมงานแก้วิกฤตปี 2540 กับครั้งนี้ที่ได้เข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. ที่ต้องดูแลด้านเศรษฐกิจอีกครั้งในช่วงวิกฤตโควิด-19 ได้ให้มุมมองต่อสองเหตุการณ์นี้ไว้อย่างน่าสนใจ
“วิกฤตปี 2540 อาจเป็นเรื่องที่กระทบกับความรู้สึกของคนแบงก์ชาติมากกว่า เพราะเกิดกับสิ่งที่อยู่ในความดูแล เช่น สถาบันการเงิน ทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งครั้งนั้นยังพอมีตำรา มีเครื่องมือที่ช่วยแก้ไข แต่ครั้งนี้เกิดจากปัจจัยภายนอกที่ลุกลามและส่งผลกระทบเชื่อมโยงถึงกันหมดทั้งโลก ในครั้งนี้จึงหนักกว่าปี 2540 ซึ่งแก้ได้ยากกว่า เพราะผลกระทบกระจายเป็นวงกว้างและลงลึกไปถึงผู้ประกอบการและประชาชนจำนวนมาก อีกทั้งความคาดหวังจากภายนอกต่อแบงก์ชาติสูงขึ้น และบางอย่างก็อยู่นอกเหนือความสามารถของเราเองด้วยซ้ำ ครั้งนี้จึงเป็นปัญหาที่ไม่มีทางแก้ใดทางแก้หนึ่งเป็นสูตรสำเร็จ ต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือจากหลายฝ่าย ซึ่งเราต้องสื่อสารให้เข้าใจว่าความท้าทายนี้หนัก ยาก ยาวนาน แต่แก้ได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลา
บทเรียนที่ผมได้เรียนรู้จากปี 2540 คือการแก้ปัญหาจากภาครัฐ เราจะทำมากเกินไปไม่ได้ เพราะภาครัฐมีความสามารถในการจัดการที่จำกัดและลดลงด้วยในปัจจุบัน รวมถึงนโยบายที่มีต้นทุนและผลข้างเคียง หากสาดกระสุนไปโดยขาดความแม่นยำอาจกลายเป็นผลลบ เพราะเมื่อถึงคราวจำเป็นแล้วอาจไม่เหลือกระสุนให้ใช้ ซึ่งหากสังคมขาดความเชื่อมั่น ก็จะทำให้องค์กรที่มีหน้าที่กำกับดูแลและออกนโยบายทำงานยากขึ้นหลายเท่าเช่นกัน”
ฝากทิ้งท้ายถึงชาวแบงก์ชาติ
ก่อนจบการสัมภาษณ์ ดร.เศรษฐพุฒิ ได้เผยเคล็ดลับในการทำงานที่ใช้เป็นประจำให้กับคนแบงก์ชาติ 2 เรื่องด้วยกัน
- Step Back and Work Backwards
เวลาจะทำอะไร ผมจะถอยหลังกลับมามองก่อนทุกครั้งว่าสิ่งที่อยากได้จากงานที่กำลังทำคืออะไร (Intended Outcome) โดยอาจลองหมุนตัวเองไปมองจากมุมของคนนอก ทั้งมุมมองของเพื่อนร่วมงาน, หัวหน้า, ลูกค้า, สังคม หรือใครก็ตามที่เกี่ยวข้อง ว่าอะไรคือสิ่งที่เราทำแล้วเขาจะเรียกว่า ‘สำเร็จ’ และอะไรคือสิ่งที่ถ้าเราไม่ทำจะเรียกว่า ‘ล้มเหลว’ มันจะช่วยให้เราพอเห็นภาพว่าสิ่งที่เขาคาดหวังคืออะไร แล้วเราได้จัดสรรทรัพยากรของเราตามลำดับความสำคัญนั้นหรือไม่ ซึ่งในความเป็นจริงเรามักเสียเวลาไปกับอะไรที่ไม่ได้สะท้อนความสำเร็จขององค์กร
นอกจากนี้ ควรเริ่มจากผลลัพธ์เป้าหมาย แล้วค่อยถอยกลับมาถามตัวเองว่า ถ้าอยากได้แบบนี้เราต้องทำอะไรบ้าง ถ้าเราปรับฟอนต์ ปรับสี PowerPoint จะกระทบกับการตัดสินใจของลูกค้าหรือผู้บริหารของเราไหม ซึ่งหากเรากระโจนเข้าไปทำโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบ สุดท้ายอาจทำให้สับสนว่าอะไรเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือไม่จำเป็นต้องทำ (Need to Have หรือ Nice to Have)
- Teamworks
“มีคำพูดหนึ่งของ แกร์รี ดี. บริวเวอร์ ที่ผมยังจำได้จนวันนี้ ‘The world has problems, But universities have departments’ ที่สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันว่าโลกมีปัญหาแต่หากเรายังแก้ปัญหาไปตามหน้าที่ ยึดติดกับฝ่าย กับแผนก คงไม่ใช่วิธีที่จะทำให้เราเจอทางออกได้ ผมไม่อยากให้มองปัญหาแบบแยกส่วน ไม่อยากให้วัฒนธรรมนี้เกิดขึ้นในการทำงาน เราต้องมองให้เห็นภาพกว้าง รู้รอบ ทำงานแบบเข้าใจกันและกัน โดยเปลี่ยนจาก ‘กำหนดวิธีการ’ ไปเน้นที่ ‘กำหนดเป้าหมายร่วมกัน’ แล้วเดินไปในทิศทางเดียวกัน
จากที่ผมเคยสัมผัสและร่วมงานกับแบงก์ชาติมา ผมชื่นชมเสมอว่าคนที่นี่เก่งและมีพลังมาก เป้าหมายที่อยากจะชวนชาวแบงก์ชาติมาร่วมกันคิดร่วมกันทำต่อจากนี้ คงเป็นเรื่องที่ทำอย่างไรจะรักษาข้อดีของที่นี่เอาไว้ คือ ความรู้ลึกรู้จริง ความเป็นคนเก่งที่มีพลัง โดยที่ยังมีความยืดหยุ่นในการทำงานได้ และมุ่งสู่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดต่อประเทศ ผมเข้าใจว่าคงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เชื่อว่าทุกคนช่วยกันทำให้เกิดขึ้นได้ และเราน่าจะอยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นร่วมกัน”
3 ข้อที่จะทำให้คุณรู้จัก เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ มากขึ้น
- จบการศึกษาปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ (เกียรตินิยมสูงสุด) จากวิทยาลัยสวาร์ธมอร์ สหรัฐอเมริกา และปริญญาโท ปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา
- สามารถพูดได้ 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และฝรั่งเศส
- กิจกรรมยามว่างที่ชื่นชอบ คือ การอ่านหนังสือ การวาดภาพ และเล่นกีฬา กีฬาโปรดคือ เทนนิส เพราะสามารถช่วยให้ผ่อนคลายจากความเครียดได้ดีที่สุด เนื่องจากต้องใช้สมาธิโฟกัสอยู่กับการตี โดยปกติมักหาเวลาว่างตีเทนนิสสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง และนักกีฬาในดวงใจคือ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล