×

‘เศรษฐพุฒิ’ ย้ำ นโยบายการเงินไทยไม่ได้ Behind the Curve มองโอกาสเกิด Wage Price Spiral ต่ำ

05.09.2022
  • LOADING...
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ธปท. มองเงินเฟ้อไทยถึงจุดพีคในไตรมาส 3 ก่อนทยอยปรับลดลงสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปีหน้า ย้ำนโยบายการเงินไม่ได้ Behind the Curve โอกาสเกิดวงจรอุบาทว์เงินเฟ้อยังต่ำ

 

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2565 โดยพูดถึงสถานการณ์เงินเฟ้อของไทยในปัจจุบันว่า ขณะนี้ ธปท. ยังมองว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่จุดสูงสุดภายในไตรมาสที่ 3 ก่อนที่จะทยอยลดระดับลงจนเข้าสู่กรอบเป้าหมายคือต่ำกว่า 3% ได้ในช่วงกลางปี 2566

 

โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ธปท. เชื่อว่าเงินเฟ้อไทยจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในกลางปีหน้า ประกอบด้วย

 

  1. เงินเฟ้อไทยมาจากฝั่งอุปทานเป็นหลัก เช่น ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งแตกต่างจากบริบทของเงินเฟ้อในต่างประเทศที่เงินเฟ้อมีแรงขับเคลื่อนมาจากฝั่งอุปสงค์ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรง มีปัญหาแรงงานไม่พอจนค่าแรงวิ่งสูงขึ้น

 

  1. โดยโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยทำให้มีโอกาสเกิดวงจรอุบาทว์ของเงินเฟ้อที่เรียกว่า Wage Price Spiral ต่ำกว่าประเทศอื่น เห็นได้จากการที่เกือบ 50% ของแรงงานไทยประกอบอาชีพอิสระ ไม่ได้รับค่าจ้าง ขณะที่ 1 ใน 3 ของแรงงานไทยก็อยู่ในภาคเกษตร นอกจากนี้สัดส่วนของค่าจ้างในต้นทุนการผลิตของธุรกิจไทยยังอยู่ที่เพียง 15% ซึ่งต่างจากต่างประเทศที่มีต้นทุนค่าแรงในการผลิตสูง

 

  1. การเรียกร้องขอขึ้นค่าจ้างของสหภาพแรงงานไทยมีความแตกต่างจากในประเทศอย่างสหรัฐฯ ที่จะเรียกร้องให้ค่าจ้างต้องปรับเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อ

 

  1. ตลาดแรงงานไทยยังฟื้นตัวไม่ร้อนแรง โดยตัวเลขคนว่างงานและเสมือนว่างงานแม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้นบ้างแต่ก็ยังอยู่ในระดับที่มีนัยต่อเศรษฐกิจอยู่

 

  1. การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่อาจมีผลต่อเงินเฟ้อในฝั่งอุปสงค์ แม้ว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นแต่ก็ยังห่างไกลจากระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิด โดย ธปท. คาดว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะอยู่ที่ราว 8 ล้านคน

 

เศรษฐพุฒิกล่าวอีกว่า การที่เงินเฟ้อไทยทรงตัวอยู่ในระดับสูงแถวๆ 7% ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สาเหตุหลักเกิดมาจากราคาพลังงานในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่นโยบายการเงินไม่สามารถไปทำอะไรได้ ดังนั้นตัวชี้วัดที่ ธปท. จะให้ความสำคัญและจับตาดูมากกว่าคือเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักเอาราคาพลังงานและอาหารสดออกจากการคำนวณแล้ว

 

ซึ่งจากการติดตามของ ธปท. พบว่าเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยมีการเติบโตขึ้นในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นในระดับที่ไม่สูงมาก แต่ก็สะท้อนถึงความเสี่ยงที่เครื่องยนต์เงินเฟ้อจะถูกจุดติด ทำให้ ธปท. ตัดสินใจปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น

 

“เราไม่ต้องการให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อจุดติด ขณะที่คาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวก็ต้องไม่หลุดออกจากกรอบ 3% ทำให้เราต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ก็จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและพร้อมจะปรับเปลี่ยนไปตามบริบททางเศรษฐกิจในเวลานั้นๆ” เศรษฐพุฒิกล่าว

 

ผู้ว่า ธปท. กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีนักวิเคราะห์บางส่วนวิจารณ์ว่าไทยขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไป หรือ Behind the Curve ซึ่งในเรื่องนี้ขอยืนยันว่าไม่จริง เพราะ

 

  1. ประเทศอื่นๆ ที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยก่อนไทยล้วนเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เศรษฐกิจของเขาฟื้นตัวพ้นจากระดับก่อนโควิดแล้วทั้งสิ้น ในขณะที่ไทยเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยในขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นกลับสู่ช่วงก่อนโควิดเลยด้วยซ้ำ จึงควรบอกว่าไทย Ahead the Curve มากกว่า

 

  1. เงินเฟ้อไทยมาจากฝั่งอุปทานเป็นหลัก ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย โดยการขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วและแรงเกินไปอาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจมากกว่า เพราะไทยยังมีกลุ่มเปราะบางที่ฟื้นตัวได้ไม่เท่าเทียมกัน เช่น กลุ่มธุรกิจ SMEs และครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้สินและรายได้ยังไม่กลับมาเต็มที่

 

“ถ้าถามว่าสิ่งที่ ธปท. กังวลที่สุดคืออะไร คงต้องบอกว่าการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว เพราะนโยบายการเงินต่างๆ เป็นแค่การประคอง แต่ตัวที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นได้จริงๆ คือท่องเที่ยว จึงต้องหวังให้ไม่มีการกลายพันธุ์อะไรที่รุนแรงจนทำให้ท่องเที่ยวซบอีก” เศรษฐพุฒิกล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising