×

ตลท. เสนอคลังขอเว้นภาษีกำไรส่วนเพิ่มให้ บจ. และไม่เก็บภาษีย้อนหลังทำ M&A บริษัทนอกตลาดหุ้น ในกรณีที่ บจ. เข้าโครงการ Jump+

17.02.2025
  • LOADING...
ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์แถลงรายละเอียดโครงการ Jump+ และมาตรการยกเว้นภาษี

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมจะหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอให้พิจารณาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่เข้าร่วมโครงการ Jump+

 

อัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า โครงการ Jump+ ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นตลาดหุ้นในระยะกลาง และเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ของ ตลท. ระหว่างปี 2568-2570 ที่จะนำเข้ามาช่วยตลาดหุ้นในระยะกลางนั้น มีจุดประสงค์เพื่อให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) กลับมาให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจของบริษัทฯ รวมถึงสร้างมูลค่าธุรกิจให้เพิ่มสูงขึ้นในระยะ 3 ปีข้างหน้า รวมถึงมีการสื่อสารข้อมูลกับนักลงทุนให้มากขึ้น เพื่อจูงใจและสร้างความสนใจให้กับนักลงทุน

 

ตลท. จึงได้หารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอให้คลังพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่เข้าร่วมโครงการ Jump+ ดังนี้

 

  1. เสนอแนวทางให้พิจารณายกเว้นภาษีกำไรนิติบุคคลเฉพาะในส่วนกำไรส่วนเพิ่ม เมื่อเปรียบเทียบจากฐานของปีก่อนหน้า โดยให้เป็นการชั่วคราวระยะเวลา 3 ปี หาก บจ. สามารถทำได้เงื่อนไขและเป้าหมายทางธุรกิจ 

 

ทั้งนี้ มีความตั้งใจว่าหาก บจ. มีผลกระประกอบที่ดีขึ้นและมีการเติบโตที่ยั่งยืนจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้กำไรของ บจ. หลังช่วง 3 ปีดังกล่าวมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้น ส่งผลให้ในอนาคตภาครัฐจะมีโอกาสในการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลได้เพิ่มสูงขึ้น

 

  1. เสนอแนวทางให้พิจารณายกเว้นภาษีย้อนหลัง หรือ ‘นิรโทษกรรมภาษี’ ให้กับกิจการหรือบริษัทที่อยู่นอกตลาดหุ้น ในกรณีที่ บจ. เข้าไปควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ (M&A) บริษัทนอกตลาดหุ้นที่เคยมีการทำบัญชีหรืองบการเงิน 2 เล่มเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี 

 

ทีมผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน

 

เนื่องจากการทำ M&A ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ส่งผลให้ บจ. มีความแข็งแกร่งขึ้น สามารถสร้างประโยชน์ร่วม (Synergy) ในการทำธุรกิจในหลายๆ ด้าน ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ฐานะการเงิน รวมทั้งช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกิจ เพิ่มสามารถในการแข่งขันให้ บจ. ไทยในการดำเนินธุรกิจกับทั่วโลก เพื่อจูงใจให้ บจ. ใช้กลไก M&A เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจ

 

โดยมีข้อดีคือ ภาครัฐมีโอกาสที่จะจัดเก็บภาษีได้เพิ่มสูงขึ้นจากกำไรของ บจ. ที่จะเติบโตขึ้น อีกทั้งเป็นการดึงบริษัทหรือกิจการที่อยู่นอกตลาดหุ้นให้เข้ามาอยู่ในระบบภาษีเพิ่มขึ้นผ่านการทำ M&A ของ บจ. 

 

ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าวจะถูกเสนอต่อกระทรวงการคลังอีกครั้งภายใน 2 สัปดาห์นี้ โดยจะเริ่มเปิดดำเนินโครงการในเดือนพฤษภาคมนี้ และคัดเลือกบริษัทเข้าร่วมโครงการ 50 บริษัทในปีนี้

 

แนวทางปฏิบัติของบริษัทจดทะเบียน (บจ. ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ Jump+ 

 

ทั้งนี้ บจ. ที่จะเข้าร่วมโครงการ Jump+ นั้นจะต้องเป็นบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai รวมทั้งไม่ถูกขึ้นเครื่องหมาย CB, CS, CC และ CF ไม่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน ไม่อยู่ระหว่าง ก.ล.ต. กล่าวโทษ และต้องไม่มีกรรมการ ผู้บริหาร ที่ถูกสำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวโทษใน 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ระหว่างเข้าร่วมโครงการต้องไม่เข้าข่ายกรณีที่กล่าวมาข้างต้น โดยเริ่มต้นเฟสแรกคาดว่าจะมีจำนวน 50 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการ และคาดหวังว่าในอนาคตจะสัดส่วนเพิ่มเป็นกว่า 50% ของ บจ. ทั้งหมด

 

อย่างไรก็ตาม หาก บจ. ที่เข้าร่วมโครงการการไม่สามารถดำเนินงานได้ตามแผนงานที่วาง หรือมีความตั้งใจเป้าหมายเกินจริงที่จะทำได้ ส่งผลให้ทำตามแผนไม่ได้อาจมีการระงับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะได้จากการเข้าร่วมโครงการนี้

 

นอกจากนี้ ตลท. ยังอยู่ระหว่างการหรือร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อหาแนวทางดึงดูดบริษัทต่างชาติให้เข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นไทยให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลาย สร้างในการทำธุรกรรมประกอบธุรกิจให้ง่ายขึ้น หรือ Ease of Doing Business โดยในระยะยาวต้องการวางไทยเป็น Listing Hub ที่สามารถระดมทุนได้ทั้งบริษัทให้ภูมิภาคและทั่วโลก โดยมีโครงการ Jump+ เป็นจุดเริ่มต้น

 

นักวิเคราะห์บวก ช่วยสร้างกำไร บจ. เติบโตในระยะยาว

 

ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า โครงการ Jump+ ถือเป็นโครงการที่ดีและเป็นประโยชน์ในระยะยาว อีกทั้งไม่มีผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีของรัฐบาล ซึ่งมีโอกาสที่จะเห็นด้วยกับโครงการนี้

 

ทั้งนี้ จะเป็นปัจจัยที่ช่วยจูงใจให้ บจ. ตื่นตัวมากขึ้นในการทำแผนธุรกิจ และกระตุ้นการทำ M&A ให้มีมากขึ้น ช่วยสร้างกำไรของบริษัทให้เติบโตขึ้นในระยะยาว ส่งผลให้กำไรต่อหุ้น (EPS) โอกาสเติบโตเพิ่มขึ้น อีกทั้งในอนาคตภาครัฐมีโอกาสจัดเก็บภาษีนิติบุคคลได้เพิ่มขึ้น และสามารถดึงบริษัทที่อยู่นอกระบบภาษีให้เข้าอยู่ในระบบมากขึ้นด้วย

 

ศึกษาโยกกองทุน LTF เข้า ThaiESG พยุงตลาดช่วงสั้น

 

อัสสเดชกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่กองทุนรวมระยะยาว (LTF) ที่ทยอยครบอายุมาสักระยะแล้ว มีแนวโน้มที่จะกดดันให้เกิดแรงขายหุ้นไทยออกมา เป็นประเด็นที่คาดการณ์ไว้แล้วตั้งแต่ช่วง 6-7 ปีก่อน ประกอบกับมีแรงกดดันจากกระแสข่าวที่เกี่ยวกับภาพการลงทุนมากดดันตลาดหุ้นไทยเพิ่ม จึงได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อหาแนวทางลดผลกระทบที่เกิดขึ้น

 

โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ เสนอแนวทางเพื่อเป็นมาตรการกระตุ้นตลาดหุ้นในระยะสั้นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นั่นคือการย้ายกอง LTF มายัง TESG เพื่อสนับสนุน Trust and Confidence รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ ESG เพื่อช่วยสร้างเสถียรภาพตลาดหุ้น

 

สำหรับแนวทางหรือกลไกในการสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนที่ถือ LTF ที่ครบอายุ ให้โอนย้ายมาถือใน ThaiESG แทน ปัจจุบันภาครัฐอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางที่มีความเหมาะสม

 

นอกจากนี้โครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อการบริหารทางการเงิน (Treasury Stock) จะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่มาช่วยให้มูลค่าของกิจการถูกสะท้อนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการหารือร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อปรับเปลี่ยนเกณฑ์ระยะเวลาการซื้อหุ้นคืนของ บจ. ให้สะดวกและคล่องตัวเพิ่มมากขึ้น เดิมเมื่อซื้อหุ้นคืนกลับมาแล้ว ต้องจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนออกไปภายในเวลาที่กำหนด หากช่วงเวลาที่ต้องจำหน่าย สภาวะตลาดไม่ดี อาจเป็นการซ้ำเติมตลาดซึ่งศึกษาจากกฎเกณฑ์ของต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้อย่างเหมาะสม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising