×

เสริมศักดิ์เปรียบ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ เป็น OTOP ของรายครอบครัว สำรวจพรสวรรค์ เติมเงินและความรู้ สู่เป้ารายได้ 2 หมื่นบาทต่อบ้าน

โดย THE STANDARD TEAM
06.09.2023
  • LOADING...
เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช

วันนี้ (6 กันยายน) เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ให้สัมภาษณ์ในรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ดำเนินรายการโดย ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ และ อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ เผยแพร่ทางช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 

 

กรณีที่เสริมศักดิ์ระบุว่า กระทรวงวัฒนธรรมจะเน้นนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ‘1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์’ เพื่อเติมเงินในกระเป๋าให้แต่ละครอบครัวมีรายได้ถึง 20,000 บาท เป็นนโยบายหลักเน้นในเรื่องเศรษฐกิจเพื่อจะแก้ปัญหาความยากจนให้พี่น้องประชาชน 

 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า นโยบาย ‘1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์’ คืออะไร และจะปฏิบัติอย่างไร

 

เสริมศักดิ์กล่าวว่า นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ เป็นการต่อยอดนโยบายดั้งเดิมของพรรคไทยรักไทย คือ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งสร้างรายได้ระดับตำบล เนื่องจากในภาวะปัจจุบันเราต้องคิดใหญ่ ทำเป็น พี่น้องประชาชนยังอยู่ในภาวะยากจน มีหนี้สินเยอะ ก็เลยคิดว่าต้องแก้ในจุดที่เล็กที่สุดของสังคมคือครอบครัว 

 

ถ้าแก้ตรงนี้จบ ทุกครอบครัวของประเทศไทย เมื่อมีรายได้ถึง 20,000 บาทแล้วก็อยู่ในเกณฑ์ที่เราพึงพอใจ นั่นคือทุกครอบครัวในประเทศชาติมีรายได้บรรลุตามเป้าหมายของนโยบายรัฐบาล 

 

“สำหรับ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ คำว่าซอฟต์พาวเวอร์ผมคิดว่าเป็นเรื่องพรสวรรค์ หรือเป็นภูมิปัญญา หรือเป็นความสามารถพิเศษ ที่มีการแปลกันไว้ว่าพลังงานอ่อนละมุน ใช้ความนุ่มนวล ไม่ได้ใช้อำนาจหรือความรุนแรง ซึ่งก็มีอยู่มากมายในส่วนกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมาเน้น 1 ซอฟต์พาวเวอร์ มุ่งตรงไปที่ครอบครัว จะไปดูเรื่องอาหาร ครัวไทยไปสู่ครัวโลก แฟชั่นต่างๆ งานประเพณีต่างๆ ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ”

 

เสริมศักดิ์กล่าวว่า ตอนตนเองเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมก็จัดงานไหลเรือไฟ มีทั้งคนไทยคนต่างชาติมาเยอะแยะ พอไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นก็มีงานเทศกาลไหมและผูกเสี่ยว นี่ก็เป็นงานของกระทรวงวัฒนธรรม นอกจากนั้นดูเรื่องฟิล์ม ภาพยนตร์ การแสดง การละเล่นต่างๆ รวมถึงการต่อสู้ป้องกันตัว 

 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า จะทำอย่างไรให้แต่ละครอบครัวได้ 20,000 บาท

 

เสริมศักดิ์กล่าวว่า ขั้นต้นกำลังตั้งคณะทำงาน จะมีการสำรวจความสามารถหรือพรสวรรค์ในแต่ละครอบครัว คงจะหาได้ไม่ยากนัก ยึดหลักการทำงานสำรวจไปตามครอบครัวต่างๆ ก็จะรู้ว่าครอบครัวเหล่านี้มีความสามารถพิเศษ มีพรสวรรค์ด้านไหน เราก็จะเพิ่มการพัฒนาต่อยอดให้โดยการให้ความรู้ต่อไป 

 

การจะดำเนินการต่อนั้นมีแนวทางว่า การมีรายได้จะต้องมีงานทำ ‘เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส’ สิ่งที่เขามีความรู้อยู่ระดับหนึ่งแล้วเราก็จะให้ความรู้เพิ่มเติมโดยการอบรม หากเขาขาดเงินทุนเราก็เติมให้เขา รัฐบาลเพื่อไทยมองว่าคนไทยทุกคนมีความสามารถเพียงแต่ขาดแคลนเรื่องทุน เราจะเติมเต็มให้เขา เขาก็จะเดินได้

 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า สมัยพรรคไทยรักไทย โครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ (OTOP) เป็นการหาทางช่วยโปรโมตชุมชนที่ทำอะไรได้ดีก็จะช่วยหาทางขายให้ ช่วยโปรโมตเป็นรายชุมชน แต่โครงการนี้ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ การไปช่วยรายครอบครัวจะทำได้จริงหรือไม่ 

 

เสริมศักดิ์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ยากแต่จะต้องทำ เพราะลงลึกไปดูแล้ว ตั้งเป้าหมายการพัฒนา ต้องพัฒนาเป็นครอบครัวให้มีงานทำ มีอาชีพเป็นครอบครัว 

 

ทุกส่วนราชการคงมองไปที่ครอบครัว ผู้คน ผมคิดว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุด ถ้าไปดูตำบลก็กว้างไป จะได้รู้ว่าจะเติมเงินครอบครัวใดที่มีรายได้ไม่พอ 20,000 บาทต่อครอบครัว ก็จะเติมให้ ซึ่งซอฟต์พาวเวอร์นี้จะทำให้ประชาชน 20 ล้านคนมีงานทำ มีอาชีพด้านนี้

 

ต้องตั้งคณะทำงาน ซึ่งตนเองมาจากกระทรวงมหาดไทย ก็ต้องประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีตั้งแต่ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ไปจนถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน ส่วนกระทรวงวัฒนธรรมจะมีสภาวัฒนธรรมต่างๆ บางครั้งลงไปถึงอำเภอ โรงเรียนต่างๆ เหล่านี้ จะใช้องค์กรที่เป็นฐานรากแต่ละหมู่บ้านและชุมชนเพื่อสนับสนุน เพราะการทำงานยุคปัจจุบันต้องประสานความร่วมมือ ใช้หน่วยงานที่มีอยู่แล้วให้เกิดความพร้อม 

 

ผู้ดำเนินรายการถามว่า จะไปดูว่าบ้านไหนทำอะไรได้ดีแล้วช่วยส่งเสริมใช่หรือไม่

 

เสริมศักดิ์กล่าวว่า สิ่งที่เขาคิดจะทำแต่ยังขาดปัจจัยสนับสนุนส่งเสริม ก็จะลงไปเพิ่มความรู้ เพิ่มเงินให้ แล้วคอยติดตามอย่างใกล้ชิด ทุกอย่างจะเริ่มต้นต้องใช้ความพยายาม ต้องยอมเหน็ดเหนื่อยทุ่มเทให้พี่น้องลืมตาอ้าปาก ยากแค่ไหนก็จะทำ ไม่ได้ทำโดยกระทรวงวัฒนธรรมอย่างเดียว ยังมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งท้องถิ่นต่างๆ รวมถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นไม้เป็นมือรัฐบาลเราที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน มากอดคอช่วยกันทำในจุดมุ่งหมายเดียวกันคือลงไปที่ครอบครัว 

 

เมื่อถามว่า มีข้าราชการกระทรวงวัฒนธรรมบอกว่าไม่เข้าใจ จะเริ่มต้นอย่างไร 

 

เสริมศักดิ์กล่าวว่า วันนี้หลังประชุม ครม. ตนจะเข้ากระทรวง แต่ยังไม่ถือว่ามอบนโยบายโดยตรง เพราะต้องรอแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อน แต่จะจับเข่าคุยกับข้าราชการผู้ใหญ่ ทำความเข้าใจกันก่อน แน่นอนว่าในการทำงาน ความสำเร็จของงานขึ้นอยู่กับพี่น้องข้าราชการ ตนเป็นข้าราชการเก่า ต้องมาปรึกษาหารือข้าราชการแน่ วางแนวทางการทำงานอย่างมีขั้นตอน อย่างมียุทธศาสตร์ จึงจะทำงานนี้ได้ โดยใช้จิตวิญญาณเก่าของความเป็นข้าราชการของตน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising