×

“กฎหมายร้ายแรงไม่ช่วยแก้ปัญหา” เปิดใจพ่อของสายน้ำ เยาวชนอายุ 16 ปีคนแรกที่ถูกตั้งข้อหา ม.112

29.03.2021
  • LOADING...
“กฎหมายร้ายแรงไม่ช่วยแก้ปัญหา” เปิดใจพ่อของสายน้ำ เยาวชนอายุ 16 ปีคนแรกที่ถูกตั้งข้อหา ม.112

จากกรณีที่ สายน้ำ (สงวนชื่อสกุล) เยาวชนอายุ 16 ปี ที่ถูกฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีในช่วงที่ม็อบราษฎร จัดงานแฟชั่นโชว์ ‘รันเวย์ของประชาชน’ ที่หน้าวัดแขก สีลม เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 โดยนับเป็นเยาวชนคนแรกที่ถูกตั้งข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

 

มานะ (สงวนชื่อสกุล) คุณพ่อของสายน้ำ ให้สัมภาษณ์เปิดใจกับ THE STANDARD ว่า วันนี้ทางอัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้อง แต่ไม่ได้หมายความว่ายกฟ้อง จึงไม่รู้ว่าหลังจากนี้ผลของคดีจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะยังอยู่ในกระบวนการ

 

สำหรับความรู้สึกของครอบครัวขณะนี้ รู้สึกว่าได้หายใจอย่างเต็มที่อีกครั้ง เหมือนได้พักจากการต่อสู้คดี ส่วนตัวมองว่าคดีของเด็กอาจจะต่างจากของผู้ใหญ่ เนื่องจากมีกระบวนการพิจารณาคดีแตกต่างกัน โดยเฉพาะของเด็กเอง คดีทางการเมืองเช่นนี้ถือว่าเพิ่งเคยเกิดขึ้น เพราะก่อนนั้นอาจเป็นคดีประเภทด้านยาเสพติด อาชญากรรมอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นเรื่องทางความคิดที่แตกต่าง โดยมองว่าแนวโน้มของการดำเนินคดีเด็กที่เกี่ยวข้องกับการเมืองจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีการชุมนุมมากขึ้น และรัฐยังยืนยันจะใช้วิธีการจับกุมฟ้องร้องคดีต่างๆ เพิ่มขึ้น

 

เมื่อถามว่าในฐานะพ่อรู้สึกอย่างไรกับการดำเนินคดีต่อสายน้ำซึ่งเป็นเยาวชน มานะตอบว่า

 

“ส่วนหนึ่งก็ภูมิใจนะ ที่ลูกได้ทำสิ่งที่ตัวเองคิด และเพื่อคนอื่นที่มากกว่าตัวเอง คำที่ลูกพูดคือสิ่งที่เขาทำนั้นเขาไม่ได้ทำเพื่อตัวเขาเอง เขาทำเพื่อทุกคน เพราะว่าอนาคตของเขา สังคมที่เขาอยู่ ก็อยากจะให้มันดีขึ้น ถ้าดีขึ้นก็เป็นประโยชน์ต่อทุกคน ทั้งคนอื่น ครอบครัวอื่นในสังคมด้วย เขาไม่ได้โดนคดีเนื่องจากก่ออาชญากรรม ไปทำร้ายใคร

 


“แต่อีกส่วนคือเราก็เป็นห่วงด้วย ในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครองทุกคน ห่วงว่าลูกจะเป็นอย่างไร ถ้าเป็นกระบวนการตามปกติโดยทั่วๆ ไป อาจจะไม่ได้ห่วงมากนัก แต่ด้วยกระบวนการทางการเมืองที่มีหลายรูปแบบ ก็ยังอดเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย และเลือกปฏิบัติบางอย่างไม่ได้” ทั้งนี้ มานะเสริมว่าตนกังวลเรื่องความปลอดภัยมากที่สุด เพราะเรื่องคดี การจับกุมต่างๆ นั้นต้องต่อสู้กันในระยะยาว และห่วงเรื่องอนาคตของสายน้ำ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร

 

“ตอนนี้ให้กำลังใจเขาว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พ่อแม่ก็อยู่เคียงข้างเขา อันนี้ผมว่าสำคัญที่สุด เพราะเขาเล่าให้ฟังหลายครั้งว่าเพื่อนๆ เขา เด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน อาจจะมีความเห็นทางการเมืองหรือออกมาร่วมชุมนุมแล้วที่บ้านไม่ยอมรับ บางคนถูกไล่ออกจากบ้าน บางคนถูกทำร้ายร่างกาย ผมว่ามันเป็นปัญหาใหญ่ ความขัดแย้งทางความคิดบางทีมันอาจทำให้ความสัมพันธ์ทางครอบครัวหลายๆ ครอบครัวแตกร้าว” มานะกล่าว

 

สิ่งหนึ่งที่อยากเรียกร้องคืออยากเรียกร้องให้มีพื้นที่อิสระให้เด็กๆ หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่ให้ได้มานั่งพูดคุยทำความเข้าใจกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าไปเปลี่ยนให้เด็กคิดและเชื่อแบบที่เราต้องการ การปรับเข้าหากันจึงจำเป็นอย่างมาก เพราะสิ่งหนึ่งที่น่าจะต้องยังมีอยู่คือสายสัมพันธ์ของครอบครัว เรื่องความรัก มันจะยึดโยงเอาไว้ไม่ให้ขัดแย้งถึงแตกร้าวมากขึ้น

 

“หลายๆ ครอบครัวที่เด็กออกมาเคลื่อนไหวแล้วพ่อแม่เลือกไล่ออกจากบ้าน ทำร้ายทุบตี มันไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมของเด็ก ไม่ได้ทำให้เด็กกลัว แต่ยิ่งผลักเด็กให้ออกไปเผชิญกับอะไรก็ไม่รู้ อันนี้น่ากลัวมากกว่า” มานะกล่าว

 

อย่างไรก็ดี มานะกล่าวว่า การใช้กฎหมายร้ายแรงกับเยาวชนทำให้เห็นทิศทางชัดขึ้น ว่าเด็กรุ่นใหม่หลายๆ คนเริ่มออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน การจัดการปัญหาของรัฐที่เลือกใช้กฎหมาย ความรุนแรง มาตรการต่างๆ โดยคิดว่าจะทำให้การเคลื่อนไหวชะงักลงได้มันไม่เป็นผล กลับยิ่งทำให้เด็กรู้สึกโมโห โกรธแค้นมากขึ้นต่อสิ่งที่ได้รับ ยิ่งดึงให้คนที่มีความรู้สึกเหมือนกันออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ภาครัฐจึงควรหันมาพูดคุยกับเด็กให้มากขึ้นจะดีกว่า 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X