THE STANDARD POP เคยคุยกับวรรณสิงห์ถึงความรู้สึกที่เขามีหลังจากเดินทางไปยัง War Zone หรือพื้นที่สีแดงที่ไฟสงครามร้อนระอุ ในช่วงก่อนเริ่มงาน Wannasingh Talk for UNHCR หัวข้อ ‘สงครามและน้ำใจ’ (อ่านบทสัมภาษณ์ได้ที่ thestandard.co/unhcr-wannasingha-prasertku/)
วันนั้นเขาบอกเราว่าถ้าเทียบความรู้ความเข้าใจในเรื่อง ‘วิชาสงคราม’ เขาคงอยู่ระดับชั้นปริญญาตรีที่ยังมีพื้นที่และข้อมูลอีกมากมายรอให้ไปสำรวจ ผ่านไปเกือบ 2 ปี เขายังคงออกเดินทางไปยัง ‘พื้นที่ต้องห้าม’ ที่ต้องเสี่ยงชีวิตมากขึ้นเพื่อเก็บความรู้สึกเกี่ยวกับ ‘ความเป็นมนุษย์’ ที่เขาได้พบเจอมาถ่ายทอดผ่านรายการ เถื่อน Travel ซีซัน 2
วันนี้ THE STANDARD POP ได้กลับมาพูดคุยกับเขาอีกครั้งหลังรายการจบ และเขาร่วมมือกับองค์กร UNHCR จัดงาน ‘จลาจลอันงดงาม’ Serenity in Chaos Story Exhibition by Wannasingh Prasertkul WAR / HUMAN / NATURE/ CIVILIZATION นิทรรศการเรื่องเล่าผ่านภาพถ่ายครั้งแรกในชีวิตที่เขาคัดเลือก 55 ภาพถ่ายที่บันทึกเอาไว้ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่เริ่มออกเดินทางอย่างจริงจัง มาประกอบกับเรื่องเล่าในความทรงจำที่สะท้อนให้เห็นแง่งามของความเป็นมนุษย์ที่ซ่อนอยู่ในทุกพื้นที่ จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึง 2 มิถุนายน 2562 ที่โถงชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
เขาบอกกับเราว่าถ้านับจากครั้งก่อน เขาเลื่อนมาอยู่ในช่วงจบชั้นปริญญาตรี และกำลังอยู่ในช่วงตกตะกอนหาหัวข้อทำวิทยานิพนธ์ครั้งใหม่หลังจากลงพื้นที่เก็บข้อมูลอย่างเข้มข้น โดยหนึ่งในหัวข้อที่เรารู้สึกว่าน่าสนใจที่สุดยังคงเป็น ‘สงคราม’ ที่ส่งผลกระทบมากมาย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัยที่หลายคนยังมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว
แต่จากตัวเลขผู้ลี้ภัยจำนวน 68.5 ล้านคนทั่วโลก เรื่องเล่าของผู้ลี้ภัย ‘มนุษย์ผู้ไม่มีแม้แต่สิทธิ์ที่จะฝัน’ ที่วรรณสิงห์ได้พบเจอ รวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเราได้ในสักวันหนึ่งหากยังปล่อยให้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้รับการแก้ไขและหมักหมมต่อไปเรื่อยๆ ทำให้เราอาจต้องฉุกคิดและหันกลับมามองปัญหานี้อย่างจริงจังอีกครั้ง
อาจไม่ต้องถึงขั้นลงพื้นที่ไปช่วยเหลือให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่อย่างน้อยที่สุดแค่เริ่มต้นจากการถอดสถานะผู้ลี้ภัยที่ทำให้รู้สึกแตกต่าง และมองพวกเขาในฐานะ ‘เพื่อนมนุษย์’ คนหนึ่งที่ควรมีสิทธิ์ได้ภูมิใจในความเป็นมนุษย์ไม่ต่างกันเท่านั้นก็พอ
เวลาไปทริป ภาพนิ่งก็แอบเป็นลูกเมียน้อยในการทำงานนิดหน่อยเหมือนกัน แต่พอผ่านมาสิบกว่าปี รูปเมียน้อยเหล่านี้ก็รวมตัวกันจนสามารถออกมาเป็นผลงานได้
ครั้งที่แล้วก่อนเริ่มงาน Wannasingh Talk for UNHCR หัวข้อ ‘สงครามและน้ำใจ’ คุณบอกว่าเทียบความเข้าใจเรื่องสงครามตอนนั้นน่าจะอยู่ที่ระดับปริญญาตรี ปี 2 เวลาผ่านมาประมาณ 1 ปีครึ่ง ตอนนี้คิดว่าตัวเองมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มเติมไปถึงระดับไหนแล้ว
อาจจะได้ปริญญามา 1 ใบแล้ว ตอนนี้อยู่ในช่วงทำวิทยานิพนธ์ของปริญญาโท คิดว่าผมผ่านช่วงเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความขัดแย้ง สงคราม หรืออะไรก็ตามแต่มาแล้ว ตอนนี้คือการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และสร้างผลงาน ซึ่งจริงๆ ก็สร้างมาตั้งแต่ทำรายการ เถื่อน Travel แต่มีสิ่งที่อยู่ในหัวอีกหลายอย่างที่ผมยังสังเคราะห์ได้ไม่หมด ตอนนี้เลยเป็นช่วงเอาข้อมูลมานั่งดูว่าจะทำสิ่งที่ได้มาจากช่วง 2-3 ปีที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลอย่างเข้มข้นมากๆ มาทำอะไรได้บ้าง
คุณเลือกนำเสนอเรื่องอะไรมาเป็นโปรเจกต์จบในช่วงปริญญาตรี
Humanity หรือเรื่องของความเป็นคนที่ค้นพบได้ในทุกพื้นที่ทั่วโลก เพียงแค่อาจจะมีหมวดใหญ่หมวดหนึ่งที่พูดถึงเรื่องสงครามโดยเฉพาะ หมวดหนึ่งเป็นชาวเผ่า หมวดหนึ่งเป็นเรื่องของประเทศที่การเมืองไม่ปกติ ที่พยายามพูดถึงความเป็นคนที่ดำเนินไปอย่างแท้จริง ที่ลึกซึ้งกว่าที่อ่านเจอในหนังสือประวัติศาสตร์หรือข่าวต่างประเทศ
ปัจจุบันนี้ผมพบว่าตัวเองได้พูดเรื่องนี้มาสักพักแล้ว เลยอยู่ในกระบวนการคิดว่าสิ่งที่อยากพูดจากนี้คืออะไร ทั้งเอาองค์ความรู้ที่มีอยู่ หรือค้นหาเรื่องใหม่มาต่อยอดให้ตกผลึกไปมากกว่านี้ได้อีก เช่น ทำในสโคปที่เล็กลง จากเดิมที่พูดถึงสงครามโดยรวมก็เจาะไปที่หมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่ง หรือค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่ง แล้วเล่าเรื่องตรงนั้นให้ลึกซึ้งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
หรืออีกทางหนึ่งก็ทำให้สโคปกว้างขึ้น พูดกับคนทั้งโลกไปเลย จากเดิมเราพูดกับคนไทยที่ไม่จำเป็นต้องมีหัวข้อใหม่ในเชิงการทำข่าวสงครามระดับโลกมากนัก เพราะคนไทยไม่เคยทำสิ่งนี้ ทำให้การเข้าไปในพื้นที่สงครามได้ก็เป็นเรื่องที่ว้าวแล้ว แต่ถ้าจะหาผู้ชมในระดับโลก ผมต้องคิดหัวข้องานใหม่ที่จะดึงผู้ชมในระดับโลกได้จริงๆ คิดแค่ลิมิตเดิมไม่ได้ เพราะที่ผมทำมันกิ๊กก๊อกมากถ้าเทียบกับในระดับโลก ผมอยากพาตัวเองไปสู่จุดนั้นทั้งในเชิงลึกและกว้างขึ้น
แล้วในเชิงส่วนตัว ผมคิดว่าถ้าทำแบบเดิมตอนนี้มันเริ่มง่ายแล้ว พอง่ายปุ๊บมันไม่สนุกแล้ว เลยต้องหาอะไรที่ยากกว่านี้ ผมไม่ได้พูดเพื่อจะอวดเก่งหรืออะไร แต่มันเป็นธรรมชาติของการพัฒนาตัวเองในทุกๆ ศาสตร์ เหมือนคนเล่นดนตรีครับ ตอนแรกเพลงนี้ยากมาก พอซ้อมเสร็จ อ้าว แค่นี้เองเหรอ ก็ต้องหาเพลงใหม่ที่ยากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างนิทรรศการ Serenity in Chaos ก็เป็นหนึ่งในงานที่ไม่เคยทำมาก่อน และเป็นตัวอย่างของการนำวัตถุดิบที่มีอยู่มาสังเคราะห์ในรูปแบบที่ผมเรียกว่า Story Exhibition เพราะรู้ว่าโดยเนื้อแท้ผมเป็นนักเล่าเรื่อง ไม่ใช่ช่างภาพ เพราะฉะนั้นการทำนิทรรศการภาพถ่ายก็อยากให้มันเป็นภาพถ่ายที่เล่าเรื่องทุกภาพอยู่ดี
มีวิธีจัดเก็บและเรียบเรียงข้อมูลในการดึงความทรงจำของแต่ละภาพออกมาอย่างไรจากในบรรดาหลายหมื่นภาพ ทั้งที่หลายภาพก็ผ่านเวลาไปแล้วเป็นสิบปี
จะเชื่อไหมถ้าบอกว่าผมได้เยอะมาก นั่นคือข้อดีของการเอาตัวเองไปปะทะประสบการณ์พวกนี้ แล้วมันจะไม่ลืมจริงๆ ครับ ช่วงหลายวันที่ผมเริ่มเขียนเรื่องในภาพพวกนี้ ผมจำได้เหมือนเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน เพราะระหว่างเดินทาง ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบ 24 ชั่วโมงของแต่ละวัน คุณจะรู้สึกเลยว่ามันยาวนานกว่าเวลาอยู่บ้านเยอะมาก เพราะมีเรื่องใหม่ให้เจอตั้งแต่เช้ายันเย็น มีประสบการณ์เฉพาะในพื้นที่นั้นๆ ที่ตอนแรกอาจจะลืม แต่พอดูภาพปุ๊บก็จะจำได้ทันทีว่ามันเกิดสิ่งนี้ขึ้น
ก่อนจัดนิทรรศการนี้ คุณได้เอารูปพวกนี้กลับมาดูเพื่อทบทวนหรือนึกถึงความทรงจำที่เคยเกิดขึ้นกลับมาดูบ่อยๆ เหมือนคนส่วนใหญ่ที่มักจะกลับไปดูรูปเก่าๆ ที่คิดถึงบ้างไหม
แทบไม่ได้ดูเลยครับ เลยเป็นเรื่องโชคดีเหมือนกันที่ UNHCR ให้โจทย์มาว่าสิงห์อยากทำอะไรไหม ผมก็นั่งคิดจนเป็นนิทรรศการนี้ เลยได้กลับไปนั่งงมดูหลายหมื่นรูปเหล่านี้ ได้เห็นเรื่องราวเก่าๆ ตอนวิ่งไล่จับไก่กับเผ่ามาไซ ย้อนไปถึงตอนทำรายการ พื้นที่ชีวิต ที่อยู่ๆ ทีมงานสาวหมวยถูกหนุ่มชาวเผ่าในเคนยาจีบ หรือตอนวิ่งไล่แมงกลิ้งขี้ในทะเลทราย ความทรงจำไร้สาระพวกนี้จะโผล่มาเยอะมาก แต่ภาพพวกนี้ไม่ได้เอามาโชว์หรอก เพราะมันดูไร้สาระเกินไป (หัวเราะ) การมีความทรงจำจำนวนมากแล้วกลับไปทบทวนตัวเองและนั่งยิ้มอยู่คนเดียวนี่มีความสุขมากนะครับ
องค์ประกอบไหนบ้างที่ทำให้คุณรู้สึกว่าจะต้องยกกล้องขึ้นมาถ่ายภาพช่วงเวลานั้นเอาไว้ให้ได้
จริงๆ เวลาไปทำงานผมต้องถ่ายวิดีโอเป็นหลัก บวกกับสถานที่บังคับให้ต้องทำอย่างเร็ว เพราะฉะนั้นเรื่องการหยิบอุปกรณ์มาวางหรือปั้นเฟรมสวยๆ จะไม่ได้ทำเท่าไร แต่คิดว่าข้อดีคือตาผมค่อนข้างเร็วกับคอนเทนต์ที่น่าสนใจ ซึ่งมันก็บอกชัดๆ ไม่ได้ว่าคือภาพแบบไหน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความรู้สึก ณ เวลานั้นด้วย
ภาพที่เห็นจะเป็นมุมมองของนักเล่าเรื่องมากกว่าช่างภาพ บางภาพมีเรื่องเล่าอัตโนมัติโดยที่เราไม่ต้องไปทำอะไรด้วยซ้ำ ไม่ได้คิดถึงองค์ประกอบแสงหรือความสวยเป็นหลัก คิดเหมือนการจดไดอะรีที่เราอยากบันทึกและแคปเจอร์ช่วงเวลานั้นให้ทันก่อนที่มันจะหลุดสายตา หรือก่อนที่ห้วงขณะนั้นจะจบลง จากหลายหมื่นรูปก็เลยเหลือแค่นี้ (หัวเราะ)
แต่ถ้าให้พูดตรงๆ ก็คือเวลาไปทริป ภาพนิ่งก็แอบเป็นลูกเมียน้อยในการทำงานนิดหน่อยเหมือนกัน แต่พอผ่านมาสิบกว่าปี รูปเมียน้อยเหล่านี้ก็รวมตัวกันจนสามารถออกมาเป็นผลงานได้
ปัจจุบันคือช่วงที่มีจำนวนผู้ลี้ภัยมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เยอะกว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะฉะนั้นมันยังเป็นปัญหาที่คาราคาซังอยู่ในปัจจุบันแน่นอน
ภาพนิ่งที่เป็นลูกเมียน้อยที่ใช้เวลารวมตัวกันสิบปีมีพลังงานอะไรบ้างที่คนดูจะได้รับ นอกเหนือจากที่เขาเคยเห็นผ่านภาพเคลื่อนไหวในรายการ เถื่อน Travel
ใน เถื่อน Travel ผมจะเน้นเหตุการณ์ ธรรมชาติ ความคิดเห็นของผู้คนเป็นหลัก จะใส่ความคิดเห็นของผมไปน้อยมาก เต็มที่ก็บ่นว่าเหนื่อยจัง ร้อนจัง แต่ใน Serenity in Chaos จะได้เห็นการบ่นมากกว่า ซึ่งคนดูเขาจะบันเทิงกับความทรมานของเรานะครับ (หัวเราะ) และผมใส่ความรู้สึกเข้าไปในแคปชันแต่ละภาพมากขึ้นเยอะ จะเหมือนการอ่านหนังสือของเรามากกว่า
และถ้าดูเป็นวิดีโอ มีบางช่วงเวลาที่โผล่มาแป๊บเดียว ดูแล้วก็ผ่านไป ไม่มีเวลาซึมซับกับมันเยอะๆ คนอาจจะไม่ได้รู้สึกกับโมเมนต์นั้นมากขนาดนั้น แต่พอกลายเป็นภาพนิ่งปุ๊บ เหมือนเราได้แช่ช่วงเวลานั้นเอาไว้และยืนดูมันนิ่งๆ อีกครั้ง สิ่งที่ผ่านตาแค่แป๊บเดียวในรายการ พอมาดูจริงๆ แล้วได้อ่านรายละเอียดอีกครั้ง มันมีคุณค่าและมีรสชาติมากกว่าเดิมนะ
อย่างเช่นภาพตัวออเร็กซ์ที่นามิเบียเดินเรียงกัน 4 ตัว เส้นระยะช่องไฟสวยงามเท่ากันหมด มีความขนานกับพื้นมากๆ องค์ประกอบทุกอย่างลงตัวเพอร์เฟกต์ที่สุด แต่ถ้าเห็นในรายการจะเป็นอินเสิร์ตโผล่มาแค่ 3 วินาที คนก็อาจจะคิดแค่ว่าสวยดี แล้วก็ผ่านไป
แต่สำหรับผม ภาพนี้มีความหมายกับผมมาก เพราะมันช่วยบำบัดจิตใจ เป็นทริปแรกที่ไปถ่ายรายการ เถื่อน Travel แล้วรู้สึกว่า เออ บางทีกูอาจจะทำสิ่งนี้ได้ก็ได้ เพราะตอนนั้นยังไม่รู้เรื่องวิดีโอ ยังถ่ายอะไรไม่เป็น ชื่อรายการก็ไม่มี โผล่ไปถึงก็ทำเลย แล้วการได้เห็นสิ่งเหล่านี้ ได้ค้นพบเรื่องราวใหม่ๆ แล้วบันทึกมันไว้ไปพร้อมๆ กับคนดู มันบำบัดจิตใจและช่วยเพิ่มความมั่นใจว่าเราจะทำสิ่งนี้ออกมาได้ คำอธิบายเหล่านี้ก็จะได้เห็นกันได้ใน Story Exhibition นี้
ทำไมถึงเลือกเรียงลำดับหัวข้อในนิทรรศการ Serenity in Chaos เป็น WAR / HUMAN / NATURE/ CIVILIZATION มีนัยอะไรซ่อนอยู่บ้างหรือเปล่ากับการนำเรื่อง ‘สงคราม’ ขึ้นมาเป็นอันดับแรก
เพราะผมทำงานร่วมกับ UNHCR แล้วผมอยากเน้นจุดนี้ให้เด่นที่สุดในนิทรรศการ เพราะว่าหัวข้ออื่นสามารถมองเป็นแค่เรื่องการชมงานศิลปะ แต่ผมอยากให้เรื่องสงครามเป็นอะไรที่มากกว่านั้น คือการได้ส่งเรื่องราวของผู้ลี้ภัยหรือชีวิตในแดนสงครามออกไปให้กระทบจิตใจคน และอยากให้เขาเลือกให้ความช่วยเหลือบางอย่างกับคนเหล่านี้ ซึ่งในงานนี้ง่ายที่สุดก็คือร่วมบริจาคและซื้อสินค้า ซึ่งหลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดก็จะไปถึงผู้ลี้ภัยได้
ถ้ามาเห็นเรื่องเหล่านี้แล้วมันกระทบใจเขา อยากได้ข้อมูลมากขึ้น ในงานก็มีข้อมูลของผู้ลี้ภัยจำนวนมากให้อ่านกัน ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่าเป็นปัญหาไกลตัวหรือเป็นเรื่องในอดีต แต่ไม่ใช่เลยนะครับ เพราะปัจจุบันคือช่วงที่มีจำนวนผู้ลี้ภัยมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เยอะกว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะฉะนั้นมันยังเป็นปัญหาที่คาราคาซังอยู่ในปัจจุบันแน่นอน
ถ้าคิดแค่ประเทศไทยอาจจะดูไกลตัวก็ได้ แต่ถ้ามองว่าประเทศที่สร้างผู้ลี้ภัยมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ในโลกคือเมียนมา ประเทศเพื่อนบ้านเรา ก็จะใกล้เข้ามา และมองอีกว่าตามตะเข็บชายแดนประเทศไทยก็มีผู้ลี้ภัยอยู่เป็นจำนวนมากที่เขาอยู่มา 30 ปี ก็จะเข้าใกล้เข้าไปอีก
แล้วหลักๆ เรื่องที่เรากำลังโวยวายกันในสังคมอยู่ตอนนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่กระทบกับชีวิตเราโดยตรงหรอก อย่างเรื่องการเมืองไทย ถูกต้องที่มีผลกระทบกับชีวิต แต่น้อยคนที่จะรู้สึกว่ากระทบกับชีวิตของเขาโดยตรง มันไปกระทบกับความรู้สึกของเขามากกว่า ซึ่งผมอยากให้เรื่องผู้ลี้ภัยกลายเป็นหนึ่งเรื่องที่กระทบกับความรู้สึกคน ถ้าทำได้แล้วเขาอยากทำอะไรต่อก็เป็นเรื่องของเขา แต่เราอยากเสนอทางเลือกด้วยว่าคุณทำสิ่งเหล่านี้ได้ ซึ่งในรายละเอียดลึกๆ ผมคิดว่าให้คุณอรุณี (อรุณี อัชชะกุลวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมความร่วมมือภาคเอกชน UNHCR) ช่วยเสริมจะเห็นภาพชัดมากขึ้นครับ
อรุณี: เราพยายามหาคำตอบในเรื่องนี้ที่จับต้องได้ แต่จริงๆ แล้วเรื่องผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องของความรู้สึกจริงๆ และความรู้สึกเป็นสิ่งพื้นฐานที่สุดที่เราเชื่อมต่อกันได้ เพียงแต่ว่าสิ่งนี้ต้องใช้ประสบการณ์ เช่น ถ้าคนหนึ่งได้ไปเจอผู้ลี้ภัย ความคิดของเขาจะเปลี่ยนไปเลย เพียงแต่ UNHCR ไม่สามารถพาทุกคนไปเจอได้ เพราะฉะนั้นเราต้องอาศัยเครื่องมือในการสื่อสารผ่านคนที่เขาเชื่อเรื่องนี้แบบสิงห์ ที่จะพาเข้าไปสู่การเดินทางตรงได้ แล้วถ่ายทอดว่ามันเป็นเรื่องที่เขาเข้าถึงได้นะ ทำให้เขาเปิดใจทำความเข้าใจกับผู้ลี้ภัยมากขึ้น
ปัญหาผู้ลี้ภัยมีตัวเลขเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี แล้วตัวเลขของคนที่เข้าใจในปัญหาและให้การสนับสนุนเพิ่มขึ้นตามไปด้วยมากน้อยขนาดไหน
อรุณี: เพิ่มขึ้นค่ะ เพียงแต่ว่าช่องโหว่ของผู้ลี้ภัยกับการสนับสนุนจะห่างกันอยู่ประมาณ 70-80% ตลอด เช่น เราต้องการเงิน 8,000 ล้านเหรียญ แต่หาได้จริงๆ ประมาณ 3,000 ล้านเหรียญ ช่องโหว่ตรงนี้ไม่เคยสอดคล้องกับความต้องการของผู้ลี้ภัย ทำให้ยากต่อการให้ความช่วยเหลือให้ได้ทั้งหมด
จริงๆ แล้วเป้าหมายสูงสุดไม่ใช่ความช่วยเหลือระยะสั้น เช่น การให้น้ำ ให้ที่อยู่อาศัย ให้เครื่องนุ่งห่มพวกนี้หรอกครับ นั่นคือเร็วที่สุดที่ใช้เงินแก้ปัญหาได้ แต่ในระยาวจริงๆ คือเขาอยากกลับบ้านของเขา ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เราควบคุมได้ เพราะเป็นเรื่องการเมืองภายในประเทศ ถ้าดีรองลงมาก็คือได้ไปเป็นประชาชนที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคนอื่นในประเทศที่สามหรือประเทศไหนก็ได้ที่เขาไปลี้ภัยอยู่ ซึ่งตอนนี้มีน้อยกว่า 1% ที่ไปจบตรงนั้น
อรุณี: เวลามีเหตุผู้ลี้ภัย เราพยายามบอกเสมอว่าไม่ใช่ภาระของประเทศหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง เราเชื่อในเรื่องการแบ่งปันและช่วยแบ่งเบาภาระซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่ที่หมายหลักๆ จะเป็นประเทศที่สาม ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เช่น อเมริกา หรือยุโรป ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่าโควตาที่เขาให้มาน้อยมาก แล้วประเทศที่ให้คนลี้ภัยเข้ามาได้สถานะที่เป็นประชาชนก็ยิ่งน้อยลงไปอีก
อีกเรื่องหนึ่งที่คนไม่ค่อยรู้คือประเทศที่เป็นเจ้าบ้านให้กับผู้ลี้ภัยจำนวน 68.5 ล้านคน ส่วนมากเป็นประเทศเจ้าบ้านที่ยากจนอยู่แล้ว เช่น ปากีสถาน เลบานอน จอร์แดน โซมาเลีย หรืออย่างบังกลาเทศ ที่เป็นประเทศที่จนที่สุดในโลก
ความเป็นมนุษย์ตรงนี้ ทั้งคุณและผมอาจไม่มีวันได้รู้ว่ามันสำคัญอย่างไรบ้างจนกระทั่งสูญเสียมันไป
เพราะหลายๆ ประเทศให้เหตุผลว่าปัญหาของประเทศเขามีมากพออยู่แล้ว ทำไมถึงต้องรับปัญหาผู้ลี้ภัยเพิ่มเข้ามาอีก
อรุณี: เป็นเรื่องที่ทุกประเทศใช้เหตุผลเดียวกัน เพียงแต่เราก็อยากให้ความเห็นใจประเทศเจ้าบ้านที่เขาเองก็ยากจนอยู่แล้วเหมือนกัน อย่างบังกลาเทศที่มีปัญหาน้ำท่วมหรือปัญหาต่างๆ อยู่แล้วก็ต้องดูแลผู้ลี้ภัยอีกตั้งล้านคน นี่คือสิ่งที่เราควรเห็นใจและช่วยเหลือเขา อย่าง UN ตอนนี้มีข้อตกลงโลกเพื่อผู้ลี้ภัย (UN Global Compact for Refugees) ที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือเอกชนต้องมาช่วยกัน และข้อตกลงนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระประเทศที่เป็นเจ้าบ้านได้มาก และพยายามครีเอตวิธีการช่วยเหลือให้มากขึ้น
อรุณี: เพราะจริงๆ แล้วเราไม่ได้อยากให้คนที่อยู่ในสถานะผู้ลี้ภัยอยู่เฉยๆ และตัวเขาเองก็ไม่อยากอยู่เฉยๆ ทางเราเองก็ต้องหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อช่วยให้เขาสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเองเพิ่มขึ้น ถ้าเขามีโอกาสทำงาน มีการศึกษา ไม่ใช่ให้เขาเป็นผู้ลี้ภัย ให้ข้าว ให้น้ำ ให้ที่อยู่ ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการจับเขาไปขังในคุก มันไม่สมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และพวกเขามีความสามารถที่จะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ได้มากกว่านั้น
ประเด็นนี้คล้ายๆ กับที่สิงห์เคยพูดไว้ครั้งที่แล้วว่าอยากให้ทุกคนมองผู้ลี้ภัยในฐานะ a person ไม่ใช่แค่ a refugee เพราะทุกคนมีสิทธิ์ในความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน
ไม่ต้องไปถึงผู้ลี้ภัยหรอกครับ เอาแค่คนที่อาศัยอยู่ในแดนสงคราม ผมเจอคนที่มีความสามารถในด้านต่างๆ มากมายที่โอกาสจะเอาความสามารถมาใช้ถูกปิด ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องความสามารถอย่างเดียว แต่มันคือเรื่องของการไม่มีโอกาสได้เป็นมนุษย์ตั้งแต่แรก ซึ่งความเป็นมนุษย์ตรงนี้ ทั้งคุณและผมอาจไม่มีวันได้รู้ว่ามันสำคัญอย่างไรบ้างจนกระทั่งสูญเสียมันไป
เช่น แค่เราหาข้าวกินเองได้ก็เป็นความรู้สึกสำคัญของการเป็นมนุษย์แล้ว แต่พวกเขากลับโดนพรากสิ่งนี้ออกไปจากชีวิต ผมไม่เคยมองนะครับว่าคนที่วันๆ มีรัฐบาลหรือค่ายผู้ลี้ภัยให้ข้าวกินตลอดเป็นความโชคดี พวกเขาก็ไม่เคยคิด ไม่มีใครอยากอยู่ในสถานะที่หาข้าวกินเองไม่ได้ ทุกคนอยากรู้สึกภูมิใจกับการหาข้าวกินเองได้ทั้งนั้น เพียงแต่พวกเขาไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะทำแบบนั้นเลย
ผมมีโอกาสเจอเด็กชาวซีเรียเยอะตอนไปตะเข็บชายแดนตุรกี-ซีเรีย แล้วมีเด็กหนุ่มคนหนึ่งอายุประมาณ 15-16 ปีที่อยู่ในรายการ เถื่อน Travel ด้วย เขาเดินมาอ่านบทกวีให้ผมฟัง ร่ายยาวเป็นภาษาอารบิก เป็นสิ่งที่ผมจะจำไปจนตาย ส่วนหนึ่งเขาบอกว่า
“หนุ่มสาวเอย พวกเจ้าอย่าโตขึ้นมาเลย จะโตมาทำไมในโลกแบบนี้ ประเทศนี้มีแต่การฆ่ากัน”
ซึ่งเขาไม่ได้พูดถึงซีเรียอย่างเดียว แต่พูดถึงเลบานอน อิสราเอล ปาเลสไตน์ หรืออะไรก็ตามที่เขารู้สึกว่าจะโตขึ้นมาทำไม ชีวิตไม่มีอะไรรอเราอยู่หรอก ซึ่งการที่เด็กอายุ 15-16 พูดสิ่งเหล่านี้กับชีวิต ทั้งๆ ที่ควรจะอยู่ในวัยที่เต็มไปด้วยความหวังว่าฉันจะโตมาเพื่อเป็นอะไร แต่เขากลับมีคำถามแค่เพียงว่าจะโตมาทำไมในโลกแบบนี้
ทำให้เรากลับมามองถึงพื้นฐานความเป็นคน สิ่งที่เราพึงมีเพื่อให้เราเป็นมนุษย์ พวกเราหลายคนมีมันอยู่แล้ว แต่ไม่ได้เห็นคุณค่ามันขนาดนั้น ในขณะที่บางคนโดนกระชากมันออกไป ไม่ต้องพูดว่าความฝันจะเป็นจริงได้หรือเปล่า เพราะแค่จะจินตนาการว่าจะเป็นอะไรได้บ้าง พวกเขายังไม่มีสิทธิ์นั้นเลย เพราะสถานการณ์ที่เขาเจอในปัจจุบันมันโหดเกินไปจริงๆ
รายการ เถื่อน Travel ซีซัน 2 [EP.7] Syria น้ำตาแห่งซีเรีย
รู้สึกอย่างไรบ้างตอนที่เด็กคนนั้นอ่านบทกวีให้ฟัง อย่างเราเองที่ไม่ได้ยินน้ำเสียงของเขา แต่แค่ได้ยินเรื่องราวก็แอบรู้สึกโกรธหลายๆ อย่างที่ทำให้ชีวิตพวกเขาเป็นแบบนั้น ไปจนถึงโกรธตัวเองที่บางครั้งก็ละเลยความสำคัญในตัวมนุษย์ที่เรามีไปเหมือนกัน
ไม่ได้โกรธ แค่เศร้าและใจหายว่าทำไมเด็กอายุเท่านี้ แต่ไม่มีโอกาสจะได้ฝันด้วยซ้ำ ซึ่งมานั่งคิดถึงตัวเองที่บางวันก็เครียดกับความคิดว่า เอ๊ะ วันนี้จะทำอะไรดี อยากทำอะไรต่อหลังจากนี้ หรือถ้าลึกกว่านั้นหน่อยก็เครียดว่าจากนี้ไปจะทำงานเขียน ทำงานดนตรี จะเล่าเรื่องพวกนี้อย่างไร นั่นคืออย่างน้อยเรายังมีโอกาสมานั่งเลือกมัน แต่กับน้องเขา แค่มีหวังกับมันยังไม่ได้เลย มันใจหายและเศร้าเหมือนกันนะ
สเตปต่อไปจากความใจหายและเศร้าคือเกิดวิกฤตส่วนตัวขึ้นมาว่าเราทำอะไรที่มันช่วยเขาได้จริงๆ เหรอ สมมติเราทำสารคดีแทบตาย เล่าเรื่องพวกนี้ให้ดีที่สุด คนดูแล้วซึ้งมากๆ แล้วยังไงล่ะ มันช่วยอะไรเขาได้เหรอ เลยเกิดคำถามกับตัวเองว่าสิ่งที่เราทำไปมันมีประโยชน์อะไรหรือเปล่าวะ ซึ่งก็เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ต้องสู้กับตัวเองว่าจะหาเหตุผลอะไรให้ตัวเองยังทำสิ่งเหล่านี้ต่อไปดี เพราะเราไม่ได้หวังเรื่องเงินทองหรือชื่อเสียงแต่แรกอยู่แล้ว อันนี้ไม่ได้พูดเพื่อความเท่นะ แต่พูดเพราะว่าผมจะทำได้เฉพาะสิ่งที่ผมอินมากๆ เท่านั้น ถ้าเกิดคำถามขึ้นมาแล้วความรู้สึกตรงนี้หายไป ผมอาจจะทำเรื่องเหล่านี้ต่อไปไม่ได้ก็ได้
คำตอบที่เป็นเหตุผลและยังทำให้คุณทำงานเพื่อบอกเล่าเรื่องราวตรงนี้ต่อไปคืออะไร
ส่วนหนึ่งมาจากตอนที่ผมได้คุยกับอาสาสมัครคนไทยกลุ่มหนึ่งที่ลงพื้นที่ไปทำงานช่วยเหลือในซีเรียมาหลายครั้งแล้ว ผมถามเขาว่าเคยรู้สึกหมดหวังบ้างไหมว่าทำไปก็ไม่ได้อะไรกลับมา แล้วเขาตอบผมมาด้วยรอยยิ้มว่าถึงแม้สิ่งที่ให้ไปอาจจะเล็กน้อย แต่อย่างน้อยแค่ทำให้คนในพื้นที่นั้นๆ รู้ว่ายังมีคนสนใจรับฟังเรื่องของเขาอยู่ก็สำคัญมากแล้วนะ สุดท้ายเราอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตเขาไม่ได้ แต่อย่างน้อยเขาจะได้รู้ว่ามีคนไทยจำนวนหนึ่งที่จะไม่ลืมเรื่องของพวกเขา เท่านี้ก็ดีมากแล้ว
แต่ในอีกแง่หนึ่งมันก็อาจจะเป็นการปลอบใจตัวเองไปวันๆ ก็ได้ในมุมของผมนะ แต่ว่าเราก็ไม่มีทางรู้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอกว่างานที่เราทำมันจะไปจบที่จุดไหน จากจุดเริ่มต้นของเรา ตอนผมเริ่มทำ เถื่อน Travel ผมก็ไม่คิดว่ามันจะกลายเป็นนิทรรศการภาพถ่ายของ UNHCR ได้ มันเริ่มจากสนองความอยากของตัวเอง ความอยากรู้อยากเห็นล้วนๆ เลยครับ เราก็ทำได้แค่ หนึ่ง ทำสิ่งที่เรารักก่อน สอง หาประโยชน์จากมัน แล้วใช้ประโยชน์พวกนั้นเป็นแรงบันดาลใจเสริมเข้าไป แต่ตอนเริ่มต้นมันต้องเริ่มจากความรักที่จะทำก่อน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
- สิ่งมีค่าที่สุดในชีวิตของวรรณสิงห์ที่เขาจะรีบขนออกมาจากบ้านเป็นอย่างแรกหากเกิดน้ำท่วมคือฮาร์ดดิสก์จำนวนมากที่เก็บภาพและฟุตเทจในประเทศต่างๆ ที่เขาเดินทางไปเอาไว้
- ในแต่ละทริป เขาจะลั่นชัตเตอร์เก็บภาพถ่ายเอาไว้ประมาณ 4,000-5,000 รูป
- ในช่วง 2 เดือนแรกก่อนเริ่มทำนิทรรศการ เขาบังคับให้ตัวเองดูรูปถ่ายวันละ 2 ทริป และต้องใช้เวลาทั้งหมดวันละ 2-3 ชั่วโมง
- ภายในงานจะมีภาพถ่าย โปสเตอร์ เสื้อยืด และของที่ระลึกอื่นๆ รายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่าย (วรรณสิงห์เป็นคนออกค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง) จะนำไปมอบให้กับแคมเปญ Namjai for Refugees ของ UNHCR ประเทศไทย เพื่อใช้เป็นทุนช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ประสบภัยจากความขัดแย้งและสงครามทั่วโลก