×

Seoul Queer Parade 2018 ความรัก ความศรัทธา และความเท่าเทียม

15.07.2018
  • LOADING...

สุดสัปดาห์นี้ THE STANDARD บินตรงถึงกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อเก็บภาพบรรยากาศงาน Seoul Queer Parade 2018 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล Seoul Queer Culture Festival จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 19 แล้ว ในปีนี้มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 30,000 คน ถือเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากงานปีก่อน แม้ก่อนหน้านี้ชาวเกาหลีกลุ่มอนุรักษนิยมและชาวคริสเตียนเคร่งศาสนากว่า 210,000 คน ร่วมกันลงชื่อคัดค้านการจัดงานเทศกาลเควียร์ครั้งนี้ก็ตาม

 

การรักเพศเดียวกันในเกาหลีใต้ยังเป็นสิ่งที่จะต้องปกปิดและไม่เป็นที่ยอมรับ อคติและการถูกเลือกปฏิบัติในสังคมยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้กลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) หลายคนไม่กล้าที่จะเดินทางมาเข้าร่วมงาน การเลือกที่จะใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองอยากใช้ แสดงออกถึงการเป็นตัวของตัวเองยังคงเป็นเรื่องยากภายในประเทศแห่งนี้

 

เมื่อวานนี้ (14 ก.ค.) จัตุรัสโซล พลาซา ใจกลางกรุงคลาคล่ำไปด้วยชาวกลุ่มความหลากหลายทางเพศและผู้สนับสนุนจำนวนมาก ภายในงานมีบูธจากองค์กรต่างๆ สถานทูต ชมรม LGBTQ จากมหาวิทยาลัย และภาคเอกชน จำนวน 105 บูธ ให้ความรู้พร้อมมีกิจกรรมและจำหน่ายสินค้าต่างๆ มากมาย รวมทั้งกิจกรรมการแสดงบนเวทีตั้งแต่ช่วงเที่ยงวัน ก่อนที่จะเริ่มเดินขบวนพาเหรดในช่วงเวลาเย็น

 

ในขณะเดียวกันนั้น มีการปะทะกันทางความคิดเกิดขึ้น อีกฟากฝั่งหนึ่งของท้องถนนของจัตุรัสโซล พลาซา ซึ่งเต็มไปด้วยกลุ่มคนเกาหลีผู้เห็นต่างที่มองว่าการรักเพศเดียวกันเป็นบาป คนกลุ่มนี้จะทำให้จำนวนประชากรลดลง มีแนวโน้มที่จะติดโรคร้ายได้ง่ายและอาจนำไปสู่การล่มสลายของสถาบันครอบครัวในที่สุด นอกจากนี้ยังมีการเดินขบวนของกลุ่มคนเหล่านี้อีกด้วย

 

ทางการเกาหลีมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายพันนายตรึงกำลังตามจุดต่างๆ รอบบริเวณงานและตลอดเส้นทางขบวนพาเหรดกว่า 4 กิโลเมตร ซึ่งผ่านแลนมาร์กสำคัญของกรุงโซลอย่างคลอง Cheonggyecheon และ Myeong-dong ซึ่งเป็นย่านช้อปปิ้งดัง เพื่อควบคุมสถานการณ์และป้องกันการปะทะกันที่อาจจะเกิดขึ้นได้

 

ตลอดเส้นทางการเดินขบวน Pride Parade นั้น เพลงสากลและเพลง K-Pop ยอดฮิตไม่ว่าจะเป็น เพลง Born This Way ของ Lady Gaga, Into The New World ของ Girls’ Generation และ Bboom Bboom ของ Momoland ถูกเปิดให้ทุกคนได้ร่วมร้องและโยกย้ายตามจังหวะเพลง ธงหลากหลายสีสันถูกโบกสะบัด เพิ่มความสนุกสนานครื้นเครงให้กับขบวนพาเหรดในปีนี้ได้เป็นอย่างดี ตลอดสองฝั่งข้างทางเต็มไปด้วยผู้ชมจำนวนมากที่คอยส่งเสียงปรบมือและโห่ร้องสนับสนุน ผสมปนเปไปกับเสียงคัดค้านและเสียงท่องบทสวดมนต์ของชาวคริสเตียนผู้เห็นต่าง

 

 

ฮง (Hong) หนึ่งในสมาชิกกลุ่มต่อต้านเผยว่า “ผู้ชายกับผู้ชายและผู้หญิงกับผู้หญิงนั้นไม่สามารถมีความสัมพันธ์กันได้ทางกายภาพ การพยายามที่จะทำให้เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้นั้นมันเป็นบาปครับ เพราะพระเจ้าห้ามไม่ให้ทำ อีกทั้งการที่ผู้ชายมีเพศสัมพันธ์กันยังทำให้เกิดโรคเอดส์ระบาด

 

“การแต่งงานของคนกลุ่มนี้จะเรียกว่าเป็นครอบครัวได้หรือ นี่คือการทำลายสถาบันครอบครัวอย่างชัดเจนและอาจนำไปสู่จุดจบของโลกใบนี้ การรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ทั้งทางกายภาพและในเชิงทางการแพทย์ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเราถึงคัดค้าน”

 

 

คิมยูรัม (Kim Yu Ram) นักศึกษาชาวเกาหลีที่เข้าร่วมงานในชุดทหารเล่าว่า เขาเข้าร่วมงานนี้เป็นครั้งแรก “สิ่งสำคัญของการมางานนี้คือการได้ทำกิจกรรมร่วมกันกับกลุ่มคนที่เหมือนๆ กันกับเรา ซึ่งแต่ละคนสามารถที่จะเปิดเผยสิ่งที่เก็บซ่อนไว้ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับรู้ โดยผมมองว่าศาสนาคริสต์ยังคงเป็นตัวแสดงสำคัญที่ทำให้ผู้คนในสังคมนี้มองเราในทางที่ไม่ดีเท่าไรนัก นับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเกาหลี”

 

 

ด้าน คังมยองจิน (Kang Myungjin) หัวหน้าทีมผู้จัดงานในปีนี้กล่าวว่า เทศกาลในครั้งนี้ประกอบไปด้วยการแสดงโชว์ ผลงานศิลปะต่างๆ มากมาย ขบวนพาเหรดเควียร์ รวมถึงเทศกาลหนัง Korea Queer Film Festival ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 13-22 กรกฎาคม ซึ่งใช้คอนเทนต์ทางด้านวัฒนธรรม ผสมผสานกับประเด็นทางสังคม โดยเฉพาะเรื่องสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคมเกาหลี

 

คังมยองจินกล่าวทิ้งท้ายถึงคนที่อาจจะยังไม่กล้าตัดสินใจที่จะเข้าร่วมงานนี้ผ่าน THE STANDARD ว่า “การเริ่มต้นทำอะไรก็ตาม มันมีทั้งความยากและความหวาดกลัวมากมายครับ แต่ผมไม่อยากจะบอกให้ทุกคนต้องทำอะไรบางอย่างหรือต้องเอาชนะมันให้ได้เดี๋ยวนั้น เมื่อไรก็ตามที่คุณอยากจะพูดคุยหรือสื่อสารกับใครก็ตาม สิ่งที่ผมอยากจะบอกคือ คุณสามารถมาที่นี่ได้โดยไม่ต้องคิดอะไรมากเลย เพราะที่แห่งนี้พร้อมต้อนรับคุณอย่างอบอุ่นเสมอครับ”

 

 

Korean Interpreter: สุธนา เสนาพล

FYI
  • ทางผู้จัดงานได้ขอความร่วมมือจากทั้งสื่อภายในประเทศและต่างประเทศให้เคารพสิทธิความเป็นส่วนตัว (Privacy) ของผู้ร่วมงานเป็นสำคัญ หากต้องการจะถ่ายภาพที่เห็นใบหน้าของผู้ร่วมงานอย่างชัดเจน จะต้องแสดงบัตรสื่อมมวลชน ให้นามบัตร และขออนุญาตจากผู้เข้าร่วมงานคนนั้นๆ ก่อนเสมอ ซึ่ง THE STANDARD ได้ปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ก่อนที่จะเผยแพร่ภาพบรรยากาศภายในงานเหล่านี้แล้ว (ดูรายละเอียดต่างๆ ของงานเพิ่มเติมได้ที่ http://sqcf.org/english)
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising