ช่วงปลายปี 2567 ที่ผ่านมา สื่อมวลชนประจำรัฐสภามอบฉายาให้วุฒิสภาชุดนี้ว่า ‘เน(วิน)เกเตอร์’ เพื่อสะท้อนการทำงานของ สว. ที่แม้จะเข้าสู่ตำแหน่งได้เพียง 6 เดือนกว่า แต่ทิศทางการทำงานเด่นชัด ผ่านการลงมติที่เกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น 150-160 เสียง ขับเคลื่อนวาระต่างๆ ได้ง่ายดายดังใจ ประหนึ่งว่ามีฐานอำนาจที่ ‘บุรีรัมย์’ เป็นเนวิเกเตอร์ชี้ทางอยู่เบื้องหลัง
ทว่าตามธรรมชาติของการเมือง อำนาจใดที่ ‘รวบตึง’ เกินไป ย่อม ‘ขาดผึง’ ออกได้ไม่ยาก ความเคลื่อนไหวของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ภายใต้กำกับของ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่เข้ามาล้วงลูกตรวจสอบการเลือกกันเองของ สว. ชุดนี้ ด้วยข้อหา ‘อั้งยี่-ฟอกเงิน’ พร้อมอ้างว่ามีข้อมูลลับ ชี้ให้เห็นว่าการเลือก สว. ครั้งนี้ ผ่านการวางแผนอย่างเป็นขบวนการ เพื่อมุ่งหมายอำนาจนิติบัญญัติ
การเสนอกรณีดังกล่าวเข้าเป็นคดีพิเศษ ไม่เพียงแต่เป็นการมอบดาบให้ DSI เพื่อเข้าท้าทายกับอำนาจของ ‘สว. สีน้ำเงิน’ อันผนึกแน่นเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสให้ขุดคุ้ยตรวจสอบ เพื่อพิสูจน์ว่า สว. ชุดนี้มีที่มาอย่างถูกต้องตามกติกาอย่างแท้จริง สอดคล้องกับสุภาษิต ‘ทองแท้ไม่กลัวไฟ’
พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
อำนาจใคร DSI หรือ กกต.?
ความเคลื่อนไหวของเรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งเกิด แต่มีความพยายามขับเคลื่อนเสมือนคลื่นใต้น้ำมานาน ตั้งแต่กลางปี 2567 หลังทราบผลการเลือกกันเองของ สว. 2567 บรรดา สว. ที่ติดรายชื่อสำรองหรือผู้สมัครที่ไม่สมหวัง รวมกันแล้วมากกว่า 1,000 คน ได้ทยอยกันยื่นคำร้องเข้าสู่หน่วยงานต่างๆ โดยเนื้อหาสาระค่อนข้างเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ การเลือก สว. ไม่โปร่งใสเที่ยงธรรม และมีข้อมูลของการทุจริตอย่างเป็นขบวนการ ลำพังเพียงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หน่วยงานเดียว ก็มีคำร้องลักษณะนี้เข้ามาถึง 570 เรื่อง ซึ่งคัดค้านไปแล้วกว่า 200 เรื่อง
กระแสทางการเมืองเริ่มไต่ระดับสู่จุดเดือด เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2568 พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ อธิบดี DSI มารับคำร้องจากกลุ่ม สว. สำรอง ด้วยตนเอง พร้อมเปิดเผยว่าขณะนี้ DSI และ กกต. กำลังอยู่ระหว่างช่วงสุญญากาศของอำนาจหน้าที่ โดยทาง DSI ได้ส่งหนังสือสอบถามไปยัง กกต. เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 ว่า กกต. จะมีมติให้ DSI ดำเนินการในส่วนไหน อย่างไร
บรรยากาศผู้สมัคร สว. เข้าสู่การเลือก สว. ระดับประเทศ ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี วันที่ 26 มิถุนายน 2567
ภาพ: ฐานิส สุดโต
ก่อนหน้านี้ DSI รายงานต่อ กกต. ว่า จากการสืบสวนของ DSI พบว่ามีขบวนการจัดตั้งเครือข่ายเพื่อให้ได้มาซึ่ง สว. โดยมีการวางแผนที่ซับซ้อน เช่น
- ใช้ระบบโควตาสมัครกลุ่มละ 5 คนในระดับอำเภอ รวม 100 คนต่อจังหวัด ซึ่งนำไปสู่การเลือกตั้งที่ถูกควบคุมโดยกลุ่มขบวนการ
- ในบางกรณีพบว่ามีการจ่ายค่าตอบแทนระดับอำเภอ 5,000 บาท ระดับจังหวัด 10,000 บาท และระดับประเทศ 40,000-100,000 บาท หากได้รับเลือกมากกว่า 120 คน จะได้รับเพิ่ม 100,000 บาท
- วันที่ 16 มิถุนายน 2567 ขบวนการได้ประชุมกันที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนครนายก เพื่อตกลงเงื่อนไขต่างๆ และจ่ายเงินมัดจำให้ผู้สมัคร สว. เป็นจำนวน 20,000 บาท โดยที่เหลือจะได้รับภายหลังจาก กกต. รับรองผลการเลือกตั้ง
- วันเลือก สว. ระดับประเทศ เมื่อ 26 มิถุนายน 2567 ขบวนการดังกล่าวได้แจกเสื้อสีเหลืองให้กับผู้สมัคร สว. และจัดรถตู้รับส่งไปเลือกตั้งที่เมืองทองธานี ซึ่งผลการเลือกตั้งเป็นไปตามโพยที่จัดเตรียมไว้ล่วงหน้า
DSI ระบุว่าพฤติการณ์ดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการฟอกเงิน ลักษณะการกระทำผิดมีความเป็นองค์กรอาชญากรรม มีการแบ่งแยกหน้าที่ มีฝ่ายไอทีดูแลการคำนวณคะแนน และมีการเตรียมบุคคลที่เรียกว่า ‘พลีชีพ’ เพื่อให้การลงคะแนนเป็นไปตามแผน จึงเสนอให้รับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ
บรรดาผู้สมัคร สว. แนะนำตัวทำความรู้จักกันก่อนเข้าสู่กระบวนการเลือกกันเอง วันเลือก สว. ระดับประเทศ วันที่ 26 มิถุนายน 2567
ภาพ: ฐานิส สุดโต
หาก DSI รับเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษ หมายความว่าคดีนี้จะถูกจัดให้อยู่ในระดับที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของรัฐและระบบประชาธิปไตยมากกว่าคดีธรรมดา DSI เองก็จะมีอำนาจในการสืบสวนอย่างเข้มข้น รวมถึงสามารถเอาผิดตามกฎหมายได้มากกว่าด้วย
ทว่าสำนักงาน กกต. ตอบกลับ DSI เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 โดยระบุว่า เนื่องจากเรื่องดังกล่าวยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษได้พิจารณารับเรื่องไว้หรือไม่ จึงยังไม่ได้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาว่าหากหน่วยงานรัฐมีข้อมูลเกี่ยวกับการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง สามารถโอนเรื่องมาให้ กกต. ดำเนินการได้ ลงนามโดย แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวคือเสมือนการ ‘แช่แข็ง’ กระบวนการสืบคดีในฟากของ กกต.
สว. ขยับแรง ชี้ ‘ส่อเจตนาทำลายฝ่ายนิติบัญญัติ’
ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ 2568 ในขณะที่ สว. บางส่วนเดินทางไปร่วมการสัมมนาที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีการอบรมให้ความรู้ สว. และในช่วงค่ำมีกิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์อย่างชื่นมื่น ทว่ารุ่งเช้าวันถัดมากลายเป็นบรรยากาศขึงขัง เมื่อบรรดา สว. นำโดย มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา, พล.อ. เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 และ บุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ตั้งโต๊ะแถลงข่าวต่อปมร้อน DSI แทบจะทันที
มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา นำการแถลงข่าวพร้อมบรรดา สว. กรณี DSI เสนอให้รับการฮั้วเลือก สว. เป็นคดีพิเศษ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568
ประมวลความคิดเห็นของ สว. ต่อกรณี DSI ดังกล่าวดังนี้
- สว. ชุดนี้ยืนยันว่าเข้ามาโดยสุจริตและถูกต้องตามเงื่อนไขระเบียบที่ กกต. กำหนดไว้ ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาและไม่เกี่ยวพันกับฝ่ายใดๆ
- การตรวจสอบกระบวนการเลือกตั้งและการติดตามคดีอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กกต. ซึ่งได้ให้ความร่วมมือมาตลอด โดยไม่ให้หน่วยงานที่ไม่มีอำนาจเข้ามาแทรกแซง
- เมื่อมีข้อกล่าวหาที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนหรือสร้างความเสียหายต่อวุฒิสภา สว.พร้อมที่จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีและผลประโยชน์ขององค์กร
“การตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าวจึงเป็นความพยายามเชื่อมโยงให้เป็นไปตามข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริง และเป็นการใช้อำนาจฝ่ายบริหารเป็นเครื่องมือ โดยส่อเจตนาที่จะทำลายองค์กรวุฒิสภาด้วยการเผยแพร่ข่าวและเอกสารลับต่างๆ อันทำให้วุฒิสภาและสมาชิกวุฒิสภาถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง” ประธานวุฒิสภาอ่านคำแถลงของ สว. ในช่วงหนึ่ง
ขณะเดียวกัน พ.ต.อ. ทวี ผู้เป็นเสมือนเจ้าภาพการขุดคุ้ยขบวนการฮั้วเลือก สว. ได้ยืดอกยอมรับ และให้สัมภาษณ์อย่างตรงไปตรงมาว่า หาก DSI รับเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษ จะเป็นการพิสูจน์ว่า สว. ไม่ได้ทำอะไรผิด
แม้แต่ในกลุ่ม สว. เองก็ไม่ได้มีความเห็นไปในทางเดียวกันหมด เพราะกลุ่ม สว. พันธุ์ใหม่ ที่เป็นเสียงข้างน้อยในสภาสูงเสมอมา กลับแสดงออกในเชิงเห็นด้วยกับการตรวจสอบ สว. ในครั้งนี้ เช่น เทวฤทธิ์ มณีฉาย สว. ที่ระบุว่า “ทองแท้ไม่กลัวไฟ” แต่ก็ได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ของ DSI ไปด้วยเช่นกัน
เทวฤทธิ์มองว่าจริงอยู่ที่การได้มาซึ่ง สว. อาจมีความผิดปกติ แต่องค์กรที่ควรทำหน้าที่อย่าง กกต. กลับเชื่องช้าและน่าแคลงใจ อย่างไรก็ตาม หากให้ความชอบธรรม DSI เข้ามาดำเนินการแทน อาจสร้างบรรทัดฐานใหม่ไว้จัดการกับนักการเมืองหรือพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามหรือไม่ พร้อมเสนอว่าข้อมูลที่ DSI สอบสวนมาได้ก็ควรนำไปช่วย กกต. และจี้ให้เร่งทำงานในฐานะหน่วยงานหลัก
“จริงอยู่ทองแท้ย่อมไม่กลัวไฟลน แต่มันก็ต้องเป็นไฟที่เป็นธรรมด้วยหรือไม่ ไม่เช่นนั้นไฟนั้นอาจจะลามไปไหม้ของอื่นๆ” เทวฤทธิ์ระบุ
เทวฤทธิ์ มณีฉาย สว. หนึ่งในกลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่
ภาพ: ฐานิส สุดโต
พรุ่งนี้วันชี้ชะตา
ในวันพรุ่งนี้ (25 กุมภาพันธ์) จะเป็นวันกำหนดชะตากรรมว่าเรื่องนี้จะถูกรับเข้าเป็นคดีพิเศษของ DSI หรือไม่ โดยจะมีการประชุมกันของคณะกรรมการคดีพิเศษ (คกพ.) ที่มี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน พ.ต.อ. ทวี เป็นรองประธาน
นอกจากนี้ยังมีกรรมการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอีก 20 คนจากหลายสาขา เช่น ปลัดกระทรวงยุติธรรม, ปลัดกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงมหาดไทย, อัยการสูงสุด, เลขานุการคณะกรรมการกฤษฎีกา, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, เจ้ากรมพระธรรมนูญ เพื่อลงมติว่าจะรับการฮั้วเลือก สว. เป็นคดีพิเศษหรือไม่ ซึ่งต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของที่ประชุม
ผลการประชุมวันพรุ่งนี้สามารถออกได้หลายทาง ตามดุลพินิจของกรรมการแต่ละคน ซึ่งอาจมีทั้งฝ่ายเห็นว่าควรรับเป็นคดีพิเศษเพราะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและประชาธิปไตย หรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระอย่าง กกต. ที่ฝ่ายบริหารโดย DSI ไม่ควรเข้าไปแทรกแซงหรือก้าวก่าย
กระทั่งว่าการประชุมอาจจะล่มหากกรรมการมาร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม หรือที่ประชุมไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ เพราะตามกระแสข่าวที่ปรากฏออกมาก็เชื่อได้ว่ามีบางบุคคลจากขบวนการฮั้วดังกล่าวโทรเข้าไปเจรจาต่อรองกับกรรมการหลายคนแล้ว
(ซ้ายไปขวา) ภูมิธรรม เวชยชัย และ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เป็น 2 รัฐมนตรีที่อยู่ในคณะกรรมการคดีพิเศษโดยตำแหน่ง
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
เปลือยขบวนการสีน้ำเงิน ปลดล็อกสภาสูง?
สว. ชุดนี้ไม่ว่าจะมองผ่านมุมของประชาชนทั่วไป หรือแม้ขั้วฝ่ายต่างๆ ทางการเมือง ไม่ต้องพิสูจน์กันอีกแล้วว่ามีอุดมการณ์และความเชื่อทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกันกับพรรคภูมิใจไทย หรือบางคนถึงขั้นเรียกว่าเป็น สส. นอกสังกัดพรรค เพิ่มเติมเข้ามาอีกร้อยกว่าคน เพื่อขับเคลื่อนและกุมสภาพวาระทางการเมืองต่างๆ ในรัฐสภา ไม่ว่าจะการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือให้ความเห็นชอบบุคคลในองค์กรอิสระต่างๆ
หากข้อกล่าวหาของ DSI เป็นความจริงว่า ‘ขบวนการ’ ร่วมกันวางแผนอย่างเป็นระบบ ด้วยจุดมุ่งหมายคืออำนาจนิติบัญญัติ ก็ถือว่าทำสำเร็จอย่างงดงาม
พรรคเพื่อไทยในฐานะผู้ถืออำนาจนำในรัฐบาล ย่อมเล็งเห็นความจำเป็นต้องยับยั้งอำนาจของขบวนการสีน้ำเงินที่กินรวบผูกขาดในรัฐสภา โดยอาศัย ‘ไฟ’ หรือกลไกที่ตนเองมีอยู่ในฝ่ายบริหารมาสะบั้นสถานะเดิม เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง
จังหวะทางการเมืองมักร้อยเรียงหลายเหตุการณ์ให้มาสอดคล้องกันอย่างไม่น่าเชื่อ ขณะพรรคภูมิใจไทย รวมถึง สว. สีน้ำเงิน กำลังถูกกระหนาบโจมตีจากหลายด้าน ทั้งทางบุคคลก็มีประเด็นโฉนดที่ดินเขาใหญ่และเขากระโดง การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ใกล้เข้ามา รวมถึง DSI ที่รุกคืบ
การวัดกำลังกันของแต่ละฝ่ายเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง หรืออย่างน้อยเพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกันได้ ย่อมสะท้อนสัจธรรมทางการเมืองอีกข้อ คือเพื่อผลสำเร็จมักสำคัญกว่าวิธีการ
สว. ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา วาระพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ภาพ: ฐานิส สุดโต