ผ่านพ้นวันแรกของการเปิดให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ ได้เข้ารายงานตัวที่รัฐสภาไปแล้ว นับจากนี้ยังเหลืออีกหนึ่งวันคือภายในพรุ่งนี้ (12 กรกฎาคม) ที่ สว. หน้าใหม่ ต้องไปรับหนังสือรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่สามารถมารายงานตัวกับวุฒิสภาได้จนถึงสัปดาห์หน้า
สำหรับบรรยากาศที่รัฐสภา ในวันแรกมี สว. เข้ามารายงานตัวและรับบัตรประจำตัวไปแล้ว 136 คนจากทั้งหมด 200 คน
THE STANDARD รวบรวมข้อเท็จจริงตามที่ได้สังเกตเห็นในวันแรกของการรายงานตัว จากการพบเจอกันครั้งแรกระหว่างสื่อมวลชนและสมาชิกวุฒิสภาชุดที่ 13
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
พร้อมใจกันสวมเสื้อเหลือง
ภาพแรกที่สะดุดตาคือ บรรดา สว. ที่ตบเท้าเข้ามารายงานตัวที่รัฐสภาต่างพร้อมใจกันสวมใส่เสื้อเหลือง ทั้งสวมเสื้อคอปก บ้างก็สวมสูททับ และส่วนมากแล้วจะเป็นเสื้อเหลืองที่มีตราสัญลักษณ์ฯ มาด้วย
ผู้สื่อข่าว THE STANDARD มีโอกาสสอบถามประเด็นนี้กับ อจลา ณ ระนอง สว. กลุ่มสตรี และ พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองท่านมาด้วยกันจากจังหวัดกระบี่
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อจลาตอบด้วยการย้อนถามผู้สื่อข่าวว่า “เดือนนี้เดือนอะไรจ๊ะ” ซึ่งตอบว่าเดือนกรกฎาคม ก่อนที่ สว. ท่านเดิม จะอธิบายต่อว่า “ใช่ เป็นเดือนของพระองค์ท่าน”
อจลาปฏิเสธว่าไม่ได้มีการนัดแนะกันแต่อย่างใด และไม่ใช่เพียงการมารายงานตัวเท่านั้น แต่ทุกวาระโอกาสภายในเดือนนี้ก็จะสวมเสื้อสีเหลือง เพื่อแสดงออกถึงความเคารพและจงรักภักดี
ขณะที่ สว. พิสิษฐ์ ตอบในทำนองเดียวกันว่า เดือนนี้มีความสำคัญมาก จึงใส่เสื้อสีเหลืองมาเพื่อแสดงออกว่าประเทศไทยอยู่ใต้ร่มพระบารมี
ในเดือนนี้รัฐบาลประกาศจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พร้อมเชิญชวนประชาชนสวมเสื้อสีเหลือง
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
หลบเลี่ยงสัมภาษณ์สื่อ
มีข้อสังเกตจากบรรดาสื่อมวลชนที่มารายงานสถานการณ์วันนี้ว่า สว. หลายคนพยายามหลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์หรือแม้แต่พูดคุย และเปลี่ยนช่องทางติดต่อกับผู้สื่อข่าว บางรายถึงขั้นพูดว่า “เราไม่จำเป็นต้องคุยกัน”
เห็นได้ชัดจาก สว. ที่มีประเด็น ซึ่งสื่อให้ความสนใจ เช่น มงคล สุระสัจจะ สว. กลุ่มการกฎหมาย ที่มีกระแสข่าวมานานว่าเป็นตัวเต็งได้รับเสนอชื่อเป็นประธานวุฒิสภาคนใหม่ เขาถูกสื่อมวลชนจำนวนมากห้อมล้อมตั้งแต่เดินทางมาถึงรัฐสภา
“ตอนนี้ยังพูดอะไรไม่ได้” มงคลตอบด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น “ผมไปไหนมาไหนไม่สะดวกเลย ผมไม่ชอบแบบนี้”
ทั้งนี้ อาจถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจาก สว. ชุดนี้ ผ่านกระบวนการเลือกจากประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ ซึ่งหลายคนไม่ได้มีเบื้องหลังทางการเมือง ต่างจากนักการเมืองหรือผู้มีตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงานต่างๆ ที่น่าจะคุ้นเคยกับสื่อมวลชนมากกว่า
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
สส. มารอต้อนรับ สว.
ข้อสังเกตสำคัญอีกประการหนึ่งคือ มี สส. บางส่วนมายืนบริเวณจุดรับรายงานตัว สว. ใหม่ เพื่อรอต้อนรับและทักทายบรรดา สว. ที่เดินทางมาถึง กระทั่งเข้าไปพูดคุยกันในห้องรับรองเป็นเวลานาน
ในช่วงเช้า สส. 2 คนจากพรรคภูมิใจไทย คือ ปกรณ์ มุ่งเจริญพร สส. สุรินทร์, สนอง เทพอักษรณรงค์ สส. บุรีรัมย์ อธิบายว่า มารอต้อนรับคนบ้านเดียวกัน “เขามาจากชนบท ต้องช่วยแนะนำ”
นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า สว. บางกลุ่มที่มาจากจังหวัดเดียวกัน ก็จะจับกลุ่มเดินทางมาด้วยรถตู้คันเดียวกันด้วย
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
การแต่งกายตามฐานานุรูป
คุณลักษณะอีกประการหนึ่งที่ สว. ชุดนี้ แตกต่างจาก สว. ชุดที่แล้ว มากคือ การแต่งกายที่มีความหลากหลาย นอกจากการสวมสูท เสื้อนอก รองเท้าหนัง หรือรองเท้าส้นสูง ที่เป็นภาพลักษณ์แบบนักการเมืองแล้ว
ยังมี สว. หลายคน โดยเฉพาะในกลุ่มด้านเกษตรกรรม ที่แต่งกายตามฐานานุรูป เช่น สวมรองเท้าแตะหรือรองเท้าผ้าใบ เข้ามารายงานตัวและถ่ายรูปทำบัตรประจำตัว ซึ่งเป็นการแต่งกายตามฐานานุรูปและสะท้อนความหลากหลายของ สว. ที่เป็นภาพแทนของประชาชนในสังคมทุกสาขาอาชีพ
ภาพ: สำนักเลขาธิการวุฒิสภา
ไป กกต. แต่ยังไม่เข้าสภา
ในวันเดียวกันนี้จะยังเห็นรายงานว่า สว. หลายกลุ่มที่เดินทางไปรับหนังสือรับรองที่สำนักงาน กกต. แต่ไม่ได้เดินทางมารายงานตัวที่รัฐสภาทันทีในวันเดียวกัน เช่น นันทนา นันทวโรภาส และ เทวฤทธิ์ มณีฉาย สว. กลุ่มสื่อมวลชน ที่เผยว่า ได้นัดหมายเข้ารายงานตัวพร้อมกันที่รัฐสภาในวันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคมนี้
สอดคล้องกับที่นันทนาขยายความเพิ่มเติมว่า มีการรวมกลุ่มของ สว. จำนวนมาก เพื่อหารือตามกลไกประชาธิปไตย หาคนที่เหมาะสมส่งชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภาและรองประธานด้วย
เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว เพียงดูโฉมหน้าของ สว. ที่มารายงานตัวพร้อมกันในแต่ละวัน ก็อาจสะท้อนฉากทางการเมืองที่ลึกลงไปว่า ภายใน 200 สว. ชุดใหม่ เริ่มมีการเกาะกลุ่ม ต่อรอง และสร้างเครือข่ายอำนาจอยู่ระหว่างกัน ซึ่งความเป็นเอกภาพของแต่ละกลุ่มอาจแสดงออกผ่านการเดินทางไปรัฐสภาและ กกต. อย่างพร้อมเพรียงกัน
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียง ‘โหมโรง’ วันแรก ยังต้องติดตามต่อไปว่าข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ปรากฏออกมาอย่างต่อเนื่อง จะพิสูจน์ถึงโยงใยแห่งอำนาจที่กำลังถักทออยู่ภายในวุฒิสภาชุดใหม่นี้จริงหรือไม่