×

สนช. ถกแก้ปัญหาลิงป่วน 12 จังหวัด ยกลพบุรีต้นแบบ เตรียมสร้างนิคมลิงให้อยู่

17.05.2018
  • LOADING...

วันนี้คณะกรรมการติดตามกลไกและพิจารณาการปกป้องคุ้มครองสัตว์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดสัมมนาเรื่อง แนวทางการบริหารจัดการปัญหาลิงในพื้นที่วิกฤติ (ตามยุทธศาสตร์แผนแม่บทการบริหารจัดการปัญหาลิงในจังหวัดลพบุรีอย่างยั่งยืน)

 

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมการติดตามกลไกและพิจารณาการปกป้องคุ้มครองสัตว์ กล่าวว่า ปัญหาลิงเป็นปัญหาความเดือดร้อนอีกประเภทหนึ่งในบรรดาสัตว์หลายชนิด นอกจากหมา แมว นกพิราบ ซึ่งมีการพูดถึงแนวทางการทำหมัน จนมีการออกกฎหมายไปหนึ่งฉบับคือ การขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงเพื่อแก้ปัญหาสัตว์ถูกทิ้ง และปัญหาลิงก็เป็นความท้าทาย เนื่องจากลิงเป็นสัตว์ที่มีความฉลาด ว่องไว ไปไหนได้รวดเร็ว ทำให้การบริหารจัดการลำบาก ซึ่งพื้นที่ที่มีวิกฤติเรื่องลิงต้องเตรียมความพร้อมร่วมกัน

 

จากนั้นนายวัลลภได้มอบแผนแม่บท การบริหารจัดการปัญหาลิงในพื้นที่วิกฤติให้กับรองผู้ว่าราชการจังหวัด 12 จังหวัดที่มีพื้นที่วิกฤติของลิง เพื่อให้จังหวัดนำไปบริหารจัดการ โดยแนวทางแผนบริหารจัดการได้แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ครอบคลุม 11 จังหวัด  

 

รูปแบบที่ 1 ประกอบด้วยจังหวัด กระบี่, ตรัง, ภูเก็ต, อำนาจเจริญ ซึ่ง 4 จังหวัดดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของลิงถูกรุกล้ำและคุกคามอย่างเห็นได้ชัดเจน มีวิธีจัดการโดยลดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับลิง โดยเฉพาะการให้อาหาร จัดทำป้ายเตือนห้ามให้อาหารลิง และควบคุมปัญหาขยะไม่ให้รุกล้ำพื้นที่ของลิง

 

รูปแบบที่ 2 ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร, ชลบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, สตูล, สระบุรี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ลิงอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ถูกล้อมรอบด้วยชุมชน มีวิธีจัดการคือ การเคลื่อนย้ายลิงและหาสถานที่รองรับลิงแห่งใหม่ ไปยังสถานที่ที่เหมาะสม พร้อมทั้งทำหมันลิงทั้งเพศผู้และเพศเมียให้หมดก่อนการเคลื่อนย้าย

 

รูปแบที่ 3 ประกอบด้วย เพชรบุรี, มุกดาหาร เป็นพื้นที่อาศัยของลิงที่ถูกทับซ้อนด้วยพื้นที่ชุมชน จำเป็นต้องสร้างนิคมลิงเพื่อใช้เป็นพื้นที่รองรับลิงทั้งหมดที่ถูกเคลื่อนย้ายมาจากพื้นที่ที่มีปัญหา

 

โดยทั้งหมดต้องเริ่มต้นจากการทำประชาพิจารณ์ของคนในพื้นที่ก่อนว่า สามารถอยู่กับลิงได้หรือไม่ หากพื้นที่ใดยินยอมที่จะอยู่กับลิงต่อ ก็จะเข้าสู่กระบวนการจัดการทำหมันควบคุม ส่วนพื้นที่ใดที่ไม่อยากอยู่ร่วมกับลิง ก็จะเข้าสู่แผนบริหารจัดการนิคมลิง

 

ขณะที่การอภิปรายแนวทางบริหารจัดการปัญหาลิงในพื้นที่วิกฤติตามแผนแม่บทจัดการปัญหาลิงที่จังหวัดลพบุรี เป็นต้นแบบด้านการจัดการ นายจรูญ ชูเกียรติวัฒนา ปศุสัตว์จังหวัดลพบุรีระบุว่า ในเขตเมืองลพบุรีมีลิงอาศัยอยู่กว่า 2,200 ตัว และกระจายตามอำเภอต่างๆ รวมกว่า 1 หมื่นตัว โดยในปี 2560-2561 จังหวัดลพบุรีได้จัดการควบคุมประชากรลิงที่อยู่ในเขตเมืองไปแล้ว 6 ครั้ง มีการทำทะเบียนลิง

 

และปัจจุบันมีลิงเพิ่มขึ้นมาเพียง 800-1,000 ตัว เป็นผลมาจากการจัดการควบคุมประชากร  

 

ด้าน นายชัยณรงค์ ดูดดื่ม ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี กล่าวถึงแนวคิดการสร้างนิคมลิงว่า สิ่งสำคัญที่สุดต้องสร้างประชาพิจารณ์กับคนในพื้นที่และศึกษาผลกระทบ ซึ่งขณะนี้ยังหาบริษัทที่ปรึกษาไม่ได้เนื่องจากทีโออาร์เข้มงวดมาก หากสุดท้ายหาไม่ได้ต้องใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างแบบเจาะจง เบื้องต้นพื้นที่ที่ทางลพบุรีเล็งไว้คือ เขาพระยาเดินธง พื้นที่ 2,000 ไร่ แต่ทั้งหมดต้องดูผลการศึกษาจากบริษัทที่ปรึกษาก่อน

 

ด้าน พล.ต.อ. พงษพัศ พงษ์เจริญ รองประธานคณะกรรมการติดตามกลไกและพิจารณาการปกป้องคุ้มครองสัตว์ระบุว่า นิคมลิงหมายถึงพื้นที่ที่จะนำลิงที่เป็นส่วนเกินหรือเกเรออกไปอยู่เกาะ หรือสถานที่ที่ไม่มีผู้อยู่อาศัย โดยการสร้างนิคมลิงต้องเตรียมความพร้อมให้เรียบร้อยก่อน ทั้งการออกไปสำรวจพื้นที่ แหล่งอาหาร แหล่งน้ำจืด รวมถึงอันตรายจากสัตว์ที่จะมีผลกระทบกับลิง ซึ่งนิคมลิงจะต้องพร้อมก่อน จากนั้นจึงจะกลับมาทำประชาพิจารณ์ถามความเห็นของประชาชนว่ายินยอมหรือไม่ โดยแนวคิดทั้งหมดสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความสำคัญและจะมีการติดตามผลหลังนำลิงไปยังนิคมใหม่    พร้อมยืนยันแนวคิดดังกล่าวไม่ผิดตามกฎหมายทารุณกรรมสัตว์ เพราะไม่ได้ไปฆ่าลิง แต่ต้องการหาทางออก ให้กับคนที่เดือนร้อนจากลิง ขณะเดียวกันก็พยายามหาทางออกให้กับคนรักสัตว์ด้วย

 

พล.ต.อ. พงศพัศ ยังระบุถึงการเดินหน้าทำนิคมลิงว่า ในปลายเดือนพฤษภาคมนี้เทศบาลตำบลป่าคลอก จังหวัดภูเก็ต จะเริ่มทำประชาพิจารณ์ 5 ครั้ง ในพื้นที่ที่มีปัญหาวิกฤติลิง โดยได้ออกไปสำรวจเกาะที่จะใช้เป็นนิคมลิงแล้ว 5 เกาะ ซึ่งหากผลประชาพิจารณ์ประชาชนยังอยากอยู่กับลิงต่อไปก็ไม่มีปัญหา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X