×

วุฒิสภาหวั่นสถานการณ์เมียนมารุนแรงขึ้น เสนอเพิ่มมาตรการรองรับผู้หนีภัยสงคราม สว. ถวิลย้ำ รัฐบาลไทยวางตัวเป็นกลาง ช่วยเหลือทุกฝ่ายเท่าเทียม ไม่ได้ชักศึกเข้าบ้าน

โดย THE STANDARD TEAM
09.04.2024
  • LOADING...
วุฒิสภา หวั่น สถานการณ์ เมียนมา

วันนี้ (9 เมษายน) ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 33 สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 วาระพิจารณารายงานที่คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา พิจารณาเสร็จแล้ว เรื่อง ผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา และผู้หนีภัยความไม่สงบจากเมียนมาในประเทศไทย โดย ถวิล เปลี่ยนศรี สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะอนุกรรมาธิการฯ ได้แถลงผลการรายงานว่า มีผู้ลี้ภัย 2 กลุ่มในศูนย์พักพิงชั่วคราวชายแดนไทย-เมียนมา 9 แห่ง รวมแล้วประมาณ 77,800 กว่าคน พบปัญหาการควบคุมดูแลสถานะทางกฎหมายเป็นผู้ลักลอบเข้าเมือง ยังไม่สามารถส่งกลับประเทศได้ ซึ่งจากปัญหาการดูแลผู้หนีภัยสู้รบที่เกิดขึ้นใหม่อาจมีปัญหาเรื่องสัญชาติและการเลี้ยงชีพในอนาคต

 

ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาผู้หนีภัยสู้รบในเมียนมาประกอบด้วยการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ โดยหารือกับทางรัฐบาลอย่างต่อเนื่องในการส่งตัวกลับมาตุภูมิ แต่สถานการณ์ปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยในการต่อยอดเรื่องนี้ รวมถึงการส่งกลับประเทศด้วยความสมัครใจ ซึ่งมีการส่งกลับแล้ว 4 ครั้ง รวมกว่า 1,000 คน ตลอดจนการส่งไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่ 3 เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นอร์เวย์ ฟินแลนด์ สวีเดน เป็นต้น

 

กรรมาธิการฯ มีข้อพิจารณาว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันในเมียนมา มีความจำเป็นต้องแสวงหาแนวทางแก้ไขไม่ให้เป็นปัญหายืดเยื้อ และมีข้อเสนอแนะให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหม ร่วมกันศึกษาทบทวนแนวทางแก้ไขปัญหาผู้หนีภัยสู้รบจากเมียนมาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และครอบคลุมทุกมิติ ไม่ให้กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง 

 

ทั้งนี้ ขอให้กองทัพและฝ่ายปกครองดำรงแนวทางแก้ไขปัญหาผู้หนีภัยความไม่สงบจากเมียนมาไว้ เช่น การปฏิบัติการด้านการข่าว การควบคุมผู้หนีภัยสู้รบในเมียนมาไว้ในพื้นที่พักรอตามหลักมนุษยธรรมแยกกลุ่ม คุ้มครองโรคระบาด เลี้ยงดูขั้นพื้นฐาน และส่งกลับภูมิลำเนาในเขตเมียนมาเมื่อสถานการณ์ปลอดภัย พร้อมทั้งควบคุมดูแลกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในเมียนมาในพื้นที่ไม่ให้มีกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเมียนมา 

 

จากนั้นสมาชิกวุฒิสภาได้ลุกขึ้นอภิปรายแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง อาทิ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ สว. ที่ระบุว่า ต้องยอมรับว่าการหนีภัยสู้รบได้สร้างภาระด้านต่างๆ ให้ประเทศไทย ทั้งค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข และสถานพักพิงที่อยู่ในเขตป่าสงวนอาจกระทบต่อระบบนิเวศ หรือเกิดปัญหาการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า แต่ทั้งนี้ถือเป็นภาระที่ยอมจ่ายภายใต้หลักสิทธิมนุษยธรรม

 

ปานเทพยังอภิปรายถึงกรณีเครื่องบินเมียนมาที่เข้าจอดในประเทศไทย โดยอ้างว่ารับ-ส่งประชาชนผู้อพยพ แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลอ้างว่าเป็นทหารระดับนายพลและเจ้าหน้าที่ศุลกากร ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่รัฐบาลชี้แจง รวมถึงสถานการณ์ในเมียวดีที่เพิ่มความรุนแรงจะส่งผลให้มีการอพยพมายังประเทศไทยมากขึ้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานความมั่นคงจะกำหนดท่าทีของไทยและอธิบายต่อนานาชาติ

 

ด้าน เพิ่มพงษ์ เชาวลิต สว. กล่าวว่า เชื่อว่ารัฐบาลไทยวางฉากทัศน์ไว้แล้ว ทั้งปัญหาที่อาจซับซ้อนมากขึ้น จำนวนผู้ลี้ภัยเข้ามาในประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงรัฐบาลพลัดถิ่น แต่ยังมีปัจจัยจากประเทศมหาอำนาจที่เข้าไปแทรกแซง ทั้งจีนและอินเดีย จะส่งผลให้ปัญหาสลับซับซ้อนต่อท่าทีของไทยยิ่งขึ้น

 

ต่อมาถวิลได้กล่าวชี้แจงว่า กรรมาธิการฯ เข้าใจถึงสถานการณ์ในเมียนมาที่มีความซับซ้อน ดังนั้นการเตรียมมาตรการรองรับในปัจจุบันอาจไม่เพียงพอ ฝ่ายความมั่นคงต้องประเมินสถานการณ์เป็นระยะ พร้อมยืนยันว่าประเทศไทยจะวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใด และไม่ยอมให้ใครใช้ดินแดนของไทยไปก่อเหตุในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นกองกำลังทหาร หรือชนกลุ่มน้อยที่ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาที่แตกพ่ายเข้ามา ไทยพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเท่าเทียมเสมอภาคกัน

 

“หลายท่านอาจจะมองว่าเหตุการณ์เรื่องเครื่องบินเมียนมาลงจอดในไทยเป็นการที่เราเข้าข้างใครหรือเปล่า เป็นการชักศึกเข้าบ้านหรือไม่ ผมยืนยันว่าการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทำโดยเท่าเทียมกันไม่ได้เลือกฝ่าย และเราไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” ถวิลกล่าว

 

ท้ายสุดที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบกับข้อเสนอแนะของกรรมาธิการฯ และมีมติให้ส่งรายงานไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising