ถ้านับรวมการระบาดระลอกแรกจนถึงตอนนี้ ทุกครั้งที่มีการประกาศล็อกดาวน์ ผับ บาร์ และร้านอาหารที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แทบจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่โดนสั่งปิดก่อนใครและไร้ความชัดเจน ไร้การเยียวยา แม้ว่า 1 กันยายนที่ผ่านมาจะมีประกาศผ่อนปรนให้สามารถกลับมาเปิดกิจการร้านอาหารที่สามารถดื่มกินในร้านได้ ภายใต้กฎระเบียบ ดังต่อไปนี้
- ร้านอาหารไม่มีเครื่องปรับอากาศ นั่งบริโภคในร้านได้ 75%
- ร้านอาหารมีเครื่องปรับอากาศ นั่งบริโภคในร้านได้ 50%
- เปิดบริการได้ไม่เกิน 21.00 น.
- ไม่สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้
23 กันยายน ศปก.ศบค. เสนอ ศบค.ชุดใหญ่ ให้ผ่อนคลายกิจกรรมเพิ่มขึ้น คือ เปิดพิพิธภัณฑ์ สนามกีฬา สถาบันติวเตอร์ สปา โรงภาพยนตร์ และร้านอาหารที่เล่นดนตรี แต่ก็ยังไม่มีนโยบายชัดเจนที่พูดถึงการผ่อนปรนให้ร้านอาหารสามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ หรือกำหนดการที่ชัดเจนที่จะคลายล็อกผับบาร์ แม้แต่มาตรการเยียวยาก็ไร้วี่แวว
สง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร และซีอีโอของ Buddy Group
สง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร และซีอีโอของ Buddy Group เผยถึงผลกระทบตั้งแต่การระบาดระลอกแรกจนถึงตอนนี้ กิจการถูกปิด รายได้เป็นศูนย์ จะเข้าถึงสินเชื่อเพื่อกู้เงินประคองธุรกิจก็ยาก จำต้องปลดพนักงานในเครือไปแล้วกว่า 40%
“พนักงานที่ต้องปลดเขาก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ส่วนพนักงานที่เหลือเราก็ให้เขาไปช่วยงานส่วนอื่น แต่ก็ไม่เพียงพอ ประกันสังคมก็ช่วยเหลือไม่มาก ตัวผมเองก็ต้องดูแลพนักงานอยู่ดี มันไม่ไหวหรอก รายได้ไม่มี รายจ่ายเท่าเดิม Cash Flow มันก็หายไปเรื่อยๆ”
สง่ายังบอกอีกว่า ร้านในเครือ Buddy Group ที่อยู่บนถนนข้าวสาร ซึ่งวันนี้นักท่องเที่ยวไม่เข้าเพราะปิดประเทศมาปีกว่า ถึงเวลาก็ต้องปรับโครงสร้าง นอกจากจะลดพนักงานเพื่อให้มีรายได้เพียงพอประคองคนที่เหลือ จึงต้องเริ่มมองหาธุรกิจใหม่เข้ามาเสริม โดยเน้นจับตลาดกลุ่มใหม่ เช่น ร้าน Manse ร้านอาหารเกาหลีที่หวังเรียกแฟนคลับเกาหลี
โตมร-วันชนะ เหล่าอยู่คง เจ้าของร้าน U-Bar
ในขณะที่ โตมร-วันชนะ เหล่าอยู่คง เจ้าของร้าน U-Bar เปิดเผยว่า ร้าน U-Bar ทั้ง 3 สาขา อุบลราชธานี ขอนแก่น และโคราช รวมถึงร้านอาหาร 14 คาเฟ่เองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะต้องหยุดกิจการทั้งหมด รอบแรกปิดไปกว่า 4 เดือน ทุกคนตกงาน ทั้งพนักงาน นักดนตรี ดีเจ คนที่ทำประกันสังคมพอจะได้เยียวยาแต่ก็เฉพาะรอบแรก รอบล่าสุดหนักกว่า ปิดนานและไม่ได้รับความช่วยเหลือ ทั้งตัวเองและพนักงาน แต่ยังต้องจ่ายค่าเช่าร้าน ถึงจะพอเจรจากับเจ้าของที่ช่วยลดค่าเช่าแต่อย่างไรก็ต้องจ่าย
“พนักงานส่วนใหญ่ก็ต้องแยกย้าย แต่ทุกคนก็ยังรอกลับมาทำงาน เพราะช่วงนี้งานหายาก ส่วนหนึ่งก็กระจายไปช่วยร้านอาหาร โรงงานของญาติ แต่เราก็ช่วยได้ไม่ทั้งหมด แต่ช่วงหนึ่งร้านอาหารก็ถูกปิด นั่งกินในร้านไม่ได้ ร้านก็ทำข้าวกล่องขายในราคาไม่แพง เพื่อให้ยังมีรายได้พอเลี้ยงทีมงาน”
วอนแยกให้ชัด ร้านอาหารที่จำหน่ายเครื่องดื่มและผับบาร์ต่างกัน ควรออกมาตรการแยก ผ่อนปรนจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้
ถึงตอนนี้ ศบค. คลายล็อกให้ร้านอาหารเปิดบริการให้ลูกค้านั่งกินในร้านได้สัดส่วน 50% สำหรับห้องแอร์ และ 75% สำหรับร้านเปิดโล่ง แต่นั่นก็หมายถึงรายได้ที่หายไปกว่า 50% จากปกติ ผู้ประกอบการทั้งสองรายมองว่า ควรผ่อนปรนให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ภายใต้มาตรการรัฐ หรือควรพิจารณาตามพื้นที่เสี่ยง อย่างในกรุงเทพฯ เชื่อว่าไม่ได้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดกว่าปกติ เพราะมีเวลาเคอร์ฟิวคุม ส่วนกรณีผับบาร์ หากรัฐบาลยังให้ปิดก็ควรมีมาตรการออกมาช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้อย่างเร่งด่วน เพราะรายได้เขาเป็นศูนย์
“คุณต้องแยกร้านอาหารที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกจากผับบาร์ เพราะร้านอาหารมีคนหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่ไปกับครอบครัว ไปกับเพื่อน หรือไปคุยธุรกิจ มันเป็นเรื่องปกติ อย่างฝรั่งเวลาเขากินอาหารเขาก็ดื่มไวน์ ดื่มเบียร์ อันนี้ต้องมองแยกออกมา อย่างร้านอาหารริมน้ำ ร้านอาหาร Roof Top หรือร้านอาหารทั่วไปที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรที่จะออกกฎแยกออกมาให้ชัดเจน”
ด้านสง่าเรียกร้องให้รัฐบาลมีตัวบ่งชี้ที่ชัดเจน และสื่อออกไปกับภาคธุรกิจ “เช่น ถ้าวันนี้วัคซีนสองเข็มฉีดไป 70% แล้ว ทุกอย่างควรกลับมาเป็นเหมือนเดิม หรือวันนี้กรุงเทพฯ และพื้นที่สีแดงมีเคอร์ฟิวที่ครอบเวลาไม่ให้คนนั่งในร้านอาหาร รัฐบาลควรผ่อนปรนเรื่องของการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร เพราะธุรกิจรายได้ร้านอาหารกว่า 40% มาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรการต่างๆ ที่ออกมา เช่น นั่งได้ไม่เกิน 50% อันนี้รายได้ก็หายไปแล้ว 50% และก็หายเพิ่มอีกเมื่อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้
“การออกนโยบายหรือมาตรการต่างๆ ควรคิดถึงผู้ประกอบการด้วย การที่เขาจะต้องจ่ายค่าเช่าเพื่อเปิดได้แค่ 50% ร้านปิดก่อน 3 ทุ่ม และก็ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มันคุ้มไหมที่จะเปิด คุณออกเป็นกฎให้เก็บค่าเช่าแค่ 50% ได้ไหมถ้าจะให้นั่งได้แค่ 50% หรือยกภาษีให้เราได้ไหม 1-3 ปี ก็ว่าไป ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือนไม่ต้องเสีย ถึงได้บอกว่าต้องมีบริบทรองรับ หรือการที่ให้ผู้ประกอบ
การลงทุนกับชุดตรวจ ATK เอาใบเสร็จไปลดภาษี 1.5 เท่า อันนี้คือสิ่งที่รองรับในเรื่องของค่าใช้จ่าย แต่มองกลับกัน วันนี้ผู้ประกอบการเขาก็ไม่มีเงินจะเสียภาษีแล้ว เพราะเขาไม่มีรายได้”
สง่ายังเสริมในประเด็นเรื่องค่าความเสียหายของผู้ประกอบการร้านอาหารที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผับบาร์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สั่งเข้ามาไม่ได้จำหน่าย หมดอายุ หรือคราฟต์เบียร์ที่ผลิตไปแล้วไม่สามารถขายได้ มูลค่าความเสียหายมหาศาล
“ควรผ่อนปรนมาตรการได้แล้ว เพราะมีเคอร์ฟิวครอบอยู่ ฉะนั้นภายใต้เคอร์ฟิวก็ควรผ่อนปรน ไม่ว่าจะเรื่องขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือให้เล่นดนตรีในร้าน กฎระเบียบบางอย่างอยากให้คำนึงถึงผู้ปฏิบัติว่าทำได้จริงหรือไม่ พอมันทำยากก็จะทำให้ทุกคนละเลย ผมเสนอให้ภาครัฐเรียกผู้ประกอบการเข้าไปหารือ หามาตรการและจุดกึ่งกลางร่วมกัน ไม่ใช่ออกกฎที่ผู้ประกอบการทำไม่ได้ เช่น เปิดผับบาร์ได้ แต่ห้ามร้องเพลงตาม ห้ามเต้น หรือให้จำหน่ายแอลกอฮอล์เป็นแก้วเท่านั้น ห้ามจำหน่ายเป็นขวด มันเหมือนคุณติดป้ายหน้าอาบ อบ นวด แล้วบอกว่า ห้ามค้าประเวณี นี่คือสิ่งที่เป็นอยู่ วันนี้เราต้องอยู่กับความจริงได้แล้ว” สง่ากล่าว
สำหรับภาพรวมกิจการบนถนนข้าวสารในวันนี้ ร้านกว่า 40% ปิดถาวร และอาจมีตัวเลขมากกว่านั้นหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อต่อไป ความเป็นไปได้ที่ถนนข้าวสารจะฟื้นตัวทันทีหลังคลายล็อกดาวน์ สง่าในฐานะนายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสารบอกว่า เป็นไปได้ยาก น่าจะใช้เวลามากกว่า 2 ปี แต่เชื่อว่าการคลายล็อกให้ผับบาร์กลับมาเปิดภายใต้มาตรการรัฐ และอนุญาตให้ร้านอาหารจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น่าจะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการที่เคยอยากเข้ามาทำธุรกิจบนถนนข้าวสารเข้ามาแทนที่ร้านที่ปิดตัวลง
ในขณะที่โตมรก็บอกเช่นกันว่า เข้าใจและยอมรับหากผับบาร์ยังต้องปิดต่อไป แต่ก็อยากให้รัฐบาลพิจารณาคลายล็อกดาวน์ เพราะบางจังหวัดตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ลดลง หรือผ่อนปรนให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารก่อน เพราะจังหวัดที่ตนอยู่ก็ผ่อนปรนเคอร์ฟิวแล้ว
“ถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับมาตรการจำกัดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็เห็นด้วยครับ เพียงแต่ว่ามันก็นานแล้วนะ น่าจะเริ่มผ่อนคลายได้แล้วหรือยัง ควรดูตามพื้นที่ไหม พื้นที่เสี่ยงน้อย เสี่ยงมาก ก็ออกมาตรการแยกกันไป พื้นที่ไหนอนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร ถึงกี่โมงก็ว่าไป เอาจริงๆ โรคระบาดไม่ได้เกี่ยวกับช่วงเวลาว่ามันจะระบาดไม่ระบาดเวลาไหน”
“ที่อุบลฯ ตอนนี้ผ่อนปรนล็อกดาวน์แต่ยังคงมีเคอร์ฟิวอยู่ และยังต้องปฏิบัติตามมาตรการจำกัดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร รายได้หายไปเกือบ 70% ร้านเปิดได้ แต่ลูกค้าน้อยลง มันจะมีคนบางกลุ่มที่ปกติมาร้านอาหาร กินข้าว สังสรรค์ เขาก็ต้องดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่พอมีมาตรการแบบนี้ คนกลุ่มนี้ก็หายไป ถ้ามันยังเป็นแบบนี้ต่อไปก็คงแย่ เพราะรายได้ต่อเดือนทุกวันนี้แค่ค่าเช่าร้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ก็แทบจะไม่พอ”
ถ้ายังไม่ผ่อนปรนก็ต้องช่วยเหลือ
เมื่อถามว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะได้รับการคลายล็อกหรือไม่ กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารเรียกร้องเร่งเยียวยา ก่อนที่แรงงานในธุรกิจจะไปต่อไม่ไหว โตมรเปิดเผยว่า กลุ่มคนทำงานกลางคืนคือผู้ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรกและเดือดร้อนไม่น้อยกว่ากลุ่มธุรกิจอื่นๆ และเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับการเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นดีเจ นักร้อง นักดนตรี หรือเด็กเสิร์ฟที่ทำงานพาร์ตไทม์ ไม่ได้เป็นพนักงานบริษัท ไม่มีสวัสดิการใดๆ รองรับ หวังเห็นนโยบายหรือกฎระเบียบที่ออกมาช่วยให้คนกลุ่มนี้ได้กลับมาทำงาน มีรายได้ ยืนยันผู้ประกอบการทุกรายยินดีและพร้อมที่จะปฏิบัติตามนโยบายเพื่อให้ธุรกิจได้เดินหน้า
สง่าเสนอให้ช่วยเหลือผับบาร์ที่มีการจดทะเบียนบริษัทและเสียภาษีถูกต้อง ส่วนธุรกิจที่เลี่ยงภาษีก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจ ถือว่าได้เก็บกวาดร้านที่ไม่เคยเข้าระบบให้เข้าระบบหากธุรกิจเหล่านั้นต้องการความช่วยเหลือ ส่วนร้านที่ทำทุกอย่างถูกต้อง รัฐบาลควรเยียวยา
ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมด้านความสะอาดปลอดภัยทุกด้าน ยืนยันพร้อมปฏิบัติตามกฎระเบียบหากผ่อนปรนให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเปิดผับบาร์
“ทุกวันนี้ที่ร้านอาหารเราก็มีมาตรการป้องกันเต็มที่ พนักงานทุกคนได้รับวัคซีนครบสองเข็มถึงจะกลับมาทำงานได้ มีจุดวัดอุณหภูมิก่อนเข้าร้าน ลงทะเบียนเข้าออก มีเจลแอลกอฮอล์ตามจุดต่างๆ และตรวจด้วยชุด ATK เป็นระยะ และถ้ารัฐบาลจะช่วยให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร ผับ บาร์ หรือผู้ประกอบการอื่นๆ ได้ชุดตรวจ ATK ในราคาพิเศษ ผมเชื่อว่า ผู้ประกอบการทุกรายยินดีที่จะให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของรัฐบาลอยู่แล้ว เพราะเราอยากทำธุรกิจต่อ ยังมีพนักงาน มีคนข้างหลังเราอีกเยอะ ก็อยากให้พิจารณาผ่อนคลาย จะออกกฎ ออกนโยบายอะไร ผมเชื่อว่าผู้ประกอบการทุกคนยินดีปฏิบัติตาม” โตมรกล่าว
ด้านกลุ่มร้านอาหาร Buddy Group และผู้ประกอบการบนถนนข้าวสารก็เช่นกัน เตรียมความพร้อมด้านต่างๆ สง่าเผยว่า ตลอดมาผลักดันให้พนักงานในเครือ Buddy Group และกลุ่มผู้ประกอบการบนถนนข้าวสารทุกคนได้รับวัคซีน วันนี้ผู้ให้บริการและผู้ประกอบการทุกคนได้รับวัคซีนครบสองเข็มแล้ว ต้องการให้ถนนข้าวสารเป็นถนนสีขาว
“ทุกๆ สองสัปดาห์เราจะ Swab พนักงานเพื่อสร้างความมั่นใจ ส่วนมาตรการในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิดทั่วไปที่ต้องปฏิบัติตามไม่ว่าจะเป็น เจลแอลกอฮอล์จุดต่างๆ ทำความสะอาดโต๊ะทุกครั้งด้วยแอลกอฮอล์หลังจากมีผู้ใช้บริการ การวัดอุณหภูมิก่อนเข้าร้าน ลงทะเบียนก่อนเข้าและออก เว้นระยะห่าง อันนี้เราทำอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามแต่ผู้ประกอบพร้อมจะให้ความร่วมมือกับภาครัฐ เพราะเราอยากทำมาหากิน เราไม่อยากให้ต้องล็อกดาวน์อีกแล้ว เราจึงตั้งใจและพร้อมใจตอบสนองนโยบายภาครัฐด้านสาธารณสุขให้ดีที่สุด” สง่ากล่าว
ทั้งนี้ผู้ประกอบการทั้งสองราย เชื่อว่าหากรัฐบาลพิจารณาผ่อนคลายมาตรการให้ผู้ประกอบการร้านอาหารกึ่งผับบาร์และผับบาร์กลับมาทำธุรกิจได้อีกครั้ง พร้อมมีมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิดที่เหมาะสม และฝั่งผู้ประกอบการเองที่พร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ จะช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปและจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม