นักลงทุนแห่ทิ้งหุ้น ‘กลุ่มลีสซิ่ง’ หลังมาตรการคุมเพดานดอกเบี้ยของแบงก์ชาติพ่นพิษ กดดันกำไรไตรมาส 3 ของ บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) ทรุดต่ำคาด ด้านโบรกเกอร์จับตาผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนทั้งกลุ่มลีสซิ่ง หวั่นรับผลกระทบต่อเนื่องยาวนานถึงไตรมาส 4 ปีนี้
บรรยากาศการซื้อขายหุ้นกลุ่มลีสซิ่งในตลาดหุ้นไทยวันนี้ (10 พฤศจิกายน) เจอแรงขายทิ้งออกมาเกือบทั้งกลุ่ม นำโดยหุ้น MTC ปิดตลาดภาคเช้าราคาหุ้นลดลง 5.93% มาอยู่ที่ 59.50 บาท, หุ้น บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) ลดลง 3.30% มาที่ 57 บาท
ขณะที่หุ้น บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) ปรับตัวลดลง 2.70% มาอยู่ที่ 36 บาท, หุ้น บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) ปรับตัวลดลง 1.95% ยืนปิดที่ 62.75 บาท และหุ้น บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (AEONTS) ลดลง 0.76% มาอยู่ที่ 195.50 บาท
ชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า นักลงทุนได้ขายหุ้นกลุ่มลีสซิ่งออกเกือบทั้งกลุ่ม เนื่องจากประเมินว่าหุ้นในกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบจากมาตรการกำกับดูแลเพดานดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
โดยผลกระทบดังกล่าวสะท้อนได้จากผลการดำเนินงานของ MTC ที่มีกำไรสุทธิไตรมาส 3 ของปีนี้ที่ 1,201 ล้านบาท ลดลง 10.37% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งตัวเลขกำไรสุทธิไตรมาส 3 ดังกล่าว ถือเป็นตัวเลขต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ในระดับ 1,300 ล้านบาท
“ผลประกอบการของ MTC ที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์เป็นตัวแรกของกลุ่มลีสซิ่ง ทำให้มองเห็นผลกระทบจากการแทรกแซงเรื่องอัตราดอกเบี้ยของแบงก์ชาติอย่างมาก การปรับลดและกำหนดเพดานดอกเบี้ยให้ต่ำลงเพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด และการให้ปรับลดเพดานสินเชื่อต่างๆ รวมทั้งค่าธรรมเนียม ตอนแรกนักวิเคราะห์ประเมินว่าจะกระทบไม่มาก แต่ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่าส่งผลกระทบต่อกลุ่มลีสซิ่งมากกว่าที่คิด”
MTC รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทมีรายได้รวม 11,785 ล้านบาท มีกำไรสุทธิอยูที่ 3,844 ล้านบาท ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 3 บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 7.89% จากปีก่อน มาที่ 4,032 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 1,201 ล้านบาท ลดลง 10.37% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
ชัยพรยังกล่าวด้วยว่า ผลประกอบการของหุ้นในกลุ่มลีสซิ่งตัวอื่นๆ มีแนวโน้มที่กำไรจะปรับลดลงจากผลกระทบดังกล่าว แต่บริษัทใดจะกระทบมากหรือน้อยกว่ากันจะต้องพิจารณาจากโครงสร้างในการปล่อยสินเชื่อว่าเป็นประเภทใดบ้าง รวมทั้งประเมินว่าภายหลังบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในกลุ่มลีสซิ่งทยอยแจ้งผลประกอบการครบถ้วนแล้ว นักวิเคราะห์อาจพิจารณาจะดำเนินการปรับลดเป้าหมายกำไรสุทธิ บจ. ในกลุ่มนี้ลง
รวมทั้งยังได้มีคำแนะนำนักลงทุนว่าควรเกาะติดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ บจ. กลุ่มดังกล่าวว่าจะต่อเนื่องถึงไตรมาส 4 ด้วยหรือไม่ เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อจะมีระยะเวลาหรือวงรอบ 3-6 เดือน ของการครบสัญญา ดังนั้น แม้ราคาหุ้นในกลุ่มนี้จะปรับลดลง แต่อาจจะยังไม่ใช่จุดต่ำสุดของผลกระทบที่เกิดขึ้น
ด้านนักวิเคราะห์จาก บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า นักลงทุนกังวลผลกระทบจากมาตรการของ ธปท. จึงกดดันให้กำไรของหุ้นกลุ่มลีสซิ่งออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ โดยเฉพาะหุ้น TIDLOR และ SAWAD เนื่องจากอัตราผลตอบแทนที่ได้รับจากการปล่อยสินเชื่อลดต่ำลง
“MTC ในไตรมาส 3 อัตราผลตอบแทนจากสินเชื่อลดลงเหลือ 16% จากไตรมาสก่อน 16.6% เพราะผลกระทบจากการลดดอกเบี้ย นักลงทุนเลยกลัวว่าหุ้นลีสซิ่งตัวที่ยังไม่ได้แจ้งผลประกอบการออกมา โดยเฉพาะ TIDLOR และ SAWAD จะโดนด้วย และขายหุ้นออกมาก่อน”
นักวิเคราะห์กล่าวว่า นอกจากผลกระทบจากมาตรการของ ธปท. แล้ว การหันมาใช้โปรโมชันดอกเบี้ยถูกของ SAWAD ยังทำให้เกิดการแข่งขันรุนแรงในการลดดอกเบี้ยตาม ดังนั้น ภาพรวมของหุ้นกลุ่มลีสซิ่งจึงมีความน่าสนใจน้อยลง
“ปีหน้าเราให้ราคาเป้าหมาย MTC ที่ 67.50 บาท แนะนำให้เทรดดิ้ง ส่วน SAWAD ให้เป้าหมาย 86 บาท แนะนำให้ซื้อ แต่ทั้งหมดนี้ขอรอดูงบที่จะทยอยออกมาก่อนว่าจะเป็นอย่างไร จะต้องมาปรับเป้าหมายกันใหม่หรือไม่” นักวิเคราะห์กล่าว
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP