×

ความลับของบ้านเขียวเมืองแพร่ บ้านที่เก็บความรู้ภูมิอากาศโบราณของไทย แต่กลับถูกรื้อ

20.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ตามประวัติ บ้านเขียว หรือ อาคารสำนักงานของบริษัทบอมเบย์ เบอร์มา นี้ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2432 ตกในสมัยรัชกาลที่ 5 สร้างด้วยไม้สัก ซึ่งปกติแล้วมักใช้ไม้สักอายุมากทำเป็นเสาหรือพื้น ไม้อาจมีอายุสัก 200-300 ปี หรืออาจมากกว่านั้นก็ได้
  • บ้านเขียวมีไม้สักที่มีอายุเก่ามากๆ หากลองคำนวณเล่นๆ คือ ไม้เก่าระดับ 200-300 ปี ย้อนขึ้นไปจากปี พ.ศ. 2432 ก็จะเท่ากับประมาณช่วง พ.ศ. 2132-2232 เทียบประวัติศาสตร์ ถ้าภาคเหนือก็คืออยู่ในช่วงที่พม่าปกครองล้านนา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เรามีข้อมูลประวัติศาสตร์เมืองแพร่น้อยมาก แทบจะเป็นหลุมดำ และหรือถ้าเทียบกับภาคกลาง ก็คือสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางหรือตอนปลายเลยเชียว
  • ตามภาพข่าวที่เห็นคือ การรื้อบ้านเขียวนี้เรียกได้ว่าขาดหลักการรื้ออย่างเป็นระบบ ไม่มีการทำรหัสหรือหมายเลขเอาไว้บนไม้ มันจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะประกอบกลับคืนมาได้ และการรื้อนี้ก็เท่ากับทำให้สูญเสียประวัติศาสตร์ของตัวบ้านไปด้วย
  • สิ่งที่คนแพร่และคนไทยควรเรียกร้องคือไม้ทั้งหมดที่รื้อนั้น ต้องเก็บไว้ทั้งหมด เพราะนี่คือกุญแจที่จะไขสู่ความรู้อื่นๆ อีกมาก

การรื้อ ‘บ้านเขียว’ หรือ อาคารสำนักงานของบริษัทบอมเบย์ เบอร์มา เป็นการกระทำที่ไม่น่าให้อภัยเป็นอย่างยิ่ง ควรต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างจริงจัง จะมาอ้างการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ไม่ได้ ในช่วงหลายวันมานี้มีคนชี้ให้เห็นถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของบ้านไม้หลังนี้มามากแล้วว่าเป็นหมุดหมายที่บ่งบอกถึงอุตสาหกรรมป่าไม้ของเมืองแพร่ และยังมีคุณค่าด้านสถาปัตยกรรมอีกด้วย 

 

 

แต่นอกเหนือไปจากข้างต้นแล้ว บ้านเขียวแห่งนี้ยังเป็นกุญแจที่จะช่วยไขความรู้ด้านโบราณคดีและภูมิอากาศโบราณของไทย และครอบคลุมไปถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยทีเดียว ดังนั้นการรื้อบ้านเขียวครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่คนแพร่ที่ถูกรื้อถอนประวัติศาสตร์ของตนเองไปเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงคนไทยจำนวนมากมายอีกด้วย

 

ปกติแล้วอาคารไม้ในยุคอาณานิคม หรือยุคอุตสาหกรรมป่าไม้แรกเริ่มในสยามนั้น จะสร้างด้วยไม้สัก ดังเช่นบ้านเขียวนี้ ไม้สักเป็นไม้ที่มีจุดเด่นตรงที่เป็นไม้ที่มีการสร้างวงปีอย่างสม่ำเสมอปีละ 1 วง ซึ่งเป็นการกำหนดโดยพันธุกรรม ถือเป็นไม้เพียงไม่กี่ชนิดใน 3-4 ชนิดเท่านั้นที่สร้างวงปีแบบนี้ ทำให้นักวงปีต้นไม้ (Dendrochronologist) สามารถศึกษาอายุของไม้และภูมิอากาศโบราณได้ 

 

ในแต่ละปีไม้สักจะสร้างวงปีมีขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำ (อาจมีปัจจัยอื่นอีก) ขนาดความกว้างแคบที่ไม่เท่ากันนี้เอง ที่นักวงปีต้นไม้ใช้เครื่องวัดขนาดความห่างของแต่ละวงปี และสร้างขึ้นมาเป็นกราฟเส้น สมมติว่ามีอาคารอยู่หลังหนึ่งสร้างด้วยไม้สัก นักวงปีต้นไม้จะเจาะชิ้นไม้นั้นเข้าไปด้วยสว่าน จากนั้นก็เอาไม้ดังกล่าวมานับวงปี กราฟจากวงปีของอาคารเก่านี้จะถูกนำมาทาบกับกราฟของไม้มีชีวิตในปัจจุบัน หากมีการซ้อนทับเหลื่อมกันพอดี (คือกราฟขึ้นสูงต่ำในทิศทางเดียวกัน) ก็จะทำให้ทราบอายุของอาคารเก่าหลังนั้นได้ 

 

ตามประวัติ บ้านเขียวนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2432 ตกในสมัยรัชกาลที่ 5 สร้างด้วยไม้สัก ซึ่งปกติแล้วมักใช้ไม้สักอายุมากทำเป็นเสาหรือพื้น ไม้อาจมีอายุสัก 200-300 ปี หรืออาจมากกว่านั้นก็ได้ ซึ่งอันนี้ไม่มีใครทราบ ปัจจุบันมีการศึกษาวงปีต้นไม้ไม้สักไว้มาก นักวงปีต้นไม้คนแรกของไทย (ผมเข้าใจว่าอย่างนั้น) คือ รศ.ดร.นาฏสุดา ภูมิจำนงค์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นอาจารย์ของผมในช่วงที่ผมทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับโบราณคดีกับวงปีต้นไม้ ได้สร้างกราฟอายุของวงปีไม้สักย้อนกลับไปได้ราว 300-400 ปี หรืออาจมากกว่านั้น ซึ่งยอมรับว่าผมไม่ได้ตามงานพวกนี้เลยมาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว วิธีการสร้างเส้นอายุนี้ขึ้นมาก็คือ อาจารย์ได้ทำการเจาะไม้สักปัจจุบัน จากนั้นก็เจาะไม้เก่าแถบสุโขทัยและตอไม้เก่าทางภาคเหนือ จึงทำให้สามารถสร้างเส้นอายุนี้ขึ้นมาได้ 

 

ดังนั้นหากบ้านเขียวมีไม้สักที่มีอายุเก่ามากๆ ถ้าเราลองคำนวณเล่นๆ คือ ไม้เก่าระดับ 200-300 ปี ย้อนขึ้นไปจากปี พ.ศ. 2432 ก็จะเท่ากับประมาณช่วง พ.ศ. 2132-2232 เทียบประวัติศาสตร์ก็คือ ถ้าภาคเหนือก็คืออยู่ในช่วงที่พม่าปกครองล้านนา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เรามีข้อมูลประวัติศาสตร์เมืองแพร่น้อยมาก แทบจะเป็นหลุมดำ และหรือถ้าเทียบกับภาคกลาง ก็คือสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางหรือตอนปลายเลยเชียว 

 

สมมติต่ออีกว่า ถ้าหากวันหนึ่งไปเจอตอไม้สักเก่า ไม้ที่จมอยู่ในน้ำ หรือไม้จากวัดโบราณสมัยล้านนา แล้วมีการศึกษาวงปี ปรากฏว่าวงปีไม้จากไม้ของบ้านเขียวหลังนี้สามารถเชื่อมต่อเป็นเสมือนกับโซ่ข้อกลางกับวงปีไม้ของไม้เก่า ก็จะทำให้รู้ข้อมูลภูมิอากาศโบราณสมัยล้านนา ซึ่งเป็นข้อมูลที่เราแทบไม่รู้กันเลย ดังนั้นถ้าไม้ที่รื้อออกไปไม่มีกระบวนการจัดการที่ดี การรื้อบ้านครั้งนี้ก็เท่ากับเป็นการรื้อความรู้ทั้งภูมิอากาศโบราณและประวัติศาสตร์ไปพร้อมกัน (ดังที่เห็นในภาพข้างล่างนี้)

 

 

การย้อนอายุของวงปีกลับไปได้ไกลๆ เช่นนี้จะช่วยทำให้เราเข้าใจว่า สภาพภูมิอากาศในช่วงนั้นเป็นอย่างไร มีฝนตกมาก หรือมีภัยแล้ง ซึ่งมันช่วยบอกเล่าประวัติศาสตร์ หรือตรวจสอบกับเอกสารทางประวัติศาสตร์ได้ หรือนำไปสู่การตีความถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดข้าวยากหมากแพงที่มักชอบเขียนกันในประวัติศาสตร์ หรือกระทั่งอาจเข้าใจถึงการล่มสลายของอาณาจักรเลยก็ได้ ดังเช่นที่กัมพูชาประสบภัยแล้งจนทำให้ต้องทิ้งเมืองจากเมืองพระนครลงไปทางใต้ที่อุดงมีชัย การศึกษาในสาขาแบบนี้เขาเรียกว่าการศึกษาวงปีไม้กับสภาพภูมิอากาศโบราณ (Dendroclimatology) 

 

ในแง่ของประวัติตัวบ้านก็เช่นกัน การศึกษาวงปีช่วยได้มาก ในต่างประเทศเช่นอเมริกาแถบแอริโซนาหรือนิวเม็กซิโก เมื่อนักโบราณคดีต้องการทราบว่าบ้านโบราณหลังหนึ่งมีอายุเท่าไร ซ่อมมากี่ครั้งในช่วงปี ค.ศ. ใด ก็จะทำการเจาะไม้ส่วนต่างๆ แล้วนำมาอ่านค่าวงปี ก็จะทราบอายุและประวัติของอาคารได้ ถ้าใครเคยไปญี่ปุ่นหรือเกาหลี วัดหรือศาลเจ้าไม้และทวารบาลไม้ขนาดใหญ่ๆ จริงๆ หลายที่เขาเจาะศึกษาวงปีกันหมด เพื่อจะได้รู้อายุที่แท้จริงของตัวอาคารหรือประติมากรรม เพราะบางทีศิลปะทำกันมาต่อเนื่องจนไม่ทราบอายุที่แน่นอน ก็จะใช้วิธีศึกษาวงปีไม้ 

 

ที่ลึกซึ้งมากขึ้นไปอีกในงานวิทยาศาสตร์ วงปีต้นไม้นี้มีบทบาทสูงต่อการพัฒนาเทคนิคการกำหนดอายุทางโบราณคดีให้เกิดความแน่นอน เพราะในแต่ละปริมาณคาร์บอนจะมีความผันผวน ทำให้ค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ที่เรามักเรียกกันว่า คาร์บอน-14 ที่กำหนดจากอินทรีย์วัตถุนั้นขาดความน่าเชื่อถือในระดับสูง ดังนั้นวงปีต้นไม้ซึ่งรู้อายุที่แน่นอนนั้น ในแต่ละวงจะเก็บคาร์บอนไว้แตกต่างกัน ซึ่งมันทำให้นักวิทยาศาสตร์นำข้อมูลดังกล่าวไปช่วยทำให้เทคนิคการกำหนดอายุด้วยคาร์บอน-14 เกิดความน่าเชื่อถือ เพราะมีตัวเทียบเคียง ในไทยเรามีแล็บที่ใช้กำหนดอายุคาร์บอน-14 ได้ ถ้าหากข้อมูลวงปีไม้จากบ้านเขียวหายไป ก็นับเป็นเรื่องน่าเสียดายต่อวงการวิทยาศาสตร์และโบราณคดีด้วยครับ

 

ความรู้เกี่ยวกับวงปีต้นไม้ข้างต้นนี้ คนที่เรียนวนศาสตร์มาย่อมรู้ดี ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ และตามภาพข่าวที่ผมเห็นคือ การรื้อบ้านเขียวนี้เรียกได้ว่า ขาดหลักการรื้ออย่างเป็นระบบ ไม่มีการทำรหัสหรือหมายเลขเอาไว้บนไม้ มันจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะประกอบกลับคืนมาได้ และการรื้อนี้ก็เท่ากับทำให้สูญเสียประวัติศาสตร์ของตัวบ้านไปด้วย เพราะเราจะไม่รู้ได้เลยว่าอาคารนี้เคยซ่อมอะไรตรงไหน เมื่อไร ที่สำคัญด้วยคือ การรื้อไม้พวกนี้ ผมไม่รู้ว่าสุดท้ายจะมีการจัดการอย่างไร บางคนบอกว่าไม้พวกนี้อาจเอาไปขาย ซึ่งนั่นเท่ากับว่ามันเป็นความเขลาโดยแท้ เพราะเท่ากับทำให้คนแพร่และคนไทยสูญเสียข้อมูลภูมิอากาศโบราณที่จะช่วยนำไปตอบโจทย์ทางประวัติศาสตร์ สิ่งที่คนแพร่และคนไทยควรเรียกร้องคือ ไม้ทั้งหมดที่รื้อนั้นต้องเก็บไว้ทั้งหมด เพราะนี่คือกุญแจที่จะไขสู่ความรู้อื่นๆ อีกมากมาย หน่วยงานราชการดังกล่าวจึงไม่มีหน้าที่แค่รับผิดชอบบูรณะและสร้างขึ้นมาใหม่เท่านั้นครับ

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising