×

Second Hand Dialogue นิทรรศการที่ ‘เต๋อ นวพล’ ขออนุญาตฟัง (เสือก) คุณอย่างเป็นทางการ

31.05.2019
  • LOADING...
Second Hand Dialogue

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • พอได้ยินข่าวว่า เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ จะมีนิทรรศการใหม่ที่ Bangkok Citycity Gallery อีกครั้ง เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่าคราวนี้เขาจะมีอะไรมาเซอร์ไพรส์อีก หลังจากสวมบทบาทเป็น ‘พระเจ้า’ หยิบยืมตัวละคร ซึ่งก็คือผู้ชมที่เดินอยู่ในแกลเลอรีไปสร้างเรื่องและกำกับกันแบบสดๆ ในนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรก i write you a lot.
  • “เริ่มจากไปนั่งอึแล้วห้องข้างๆ คุยโทรศัพท์ แล้วแม่งไม่แคร์ นึกออกไหม เราเผอิญฟังแล้วมันสนุกดี (หัวเราะ) เราจะค่อยๆ ปะติดปะต่อเรื่องได้เองโดยที่เราไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร มันเหมือนกับสตอรีเสียง”
  • และนี่คือบทสนทนาว่าด้วยงานศิลปะชิ้นใหม่ของ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ซึ่งผ่านการบันทึก คัดกรอง แปรรูป และเผยแพร่ โดยได้รับการยินยอมจากทั้งสองฝ่ายแล้ว

“ขยับไปตรงนั้นดีกว่า” เสียงหนึ่งดังขึ้นในห้องแกลเลอรีหลัก ระหว่างที่เขาและทีมงานลองย้ายโต๊ะอยู่หลายหน โดยมีฉากหลังเป็นเสียงก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ในนิทรรศการ ซึ่งจะเปิดให้สาธารณชนเข้าชมกันวันที่ 1 มิถุนายนนี้ เราจึงขโมยเสียงนี้มาเปิดบทความ

 

พอได้ยินข่าวว่า เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ จะมีนิทรรศการใหม่ที่ Bangkok Citycity Gallery อีกครั้ง เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่าคราวนี้เขาจะมีอะไรมาเซอร์ไพรส์อีก หลังจากสวมบทบาทเป็น ‘พระเจ้า’ หยิบยืมตัวละคร ซึ่งก็คือผู้ชมที่เดินอยู่ในแกลเลอรีไปสร้างเรื่องและกำกับกันแบบสดๆ ในนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรก i write you a lot.

 

“เราว่างานนี้อธิบายยากมาก” เขากล่าว เราพยักหน้า หลังจากอ่านข้อมูลบนเฟซบุ๊กหลายรอบ แต่พอได้คุยกัน เราพบว่ามันไม่ได้ยากขนาดนั้น

กลายมาเป็นไอเดียของการบริจาคบทสนทนา ซึ่งคล้ายกับการบริจาคเลือด เพราะว่าเลือดมันอยู่ข้างในร่างกาย บทสนทนามันก็ต้องกลั่นออกมาจากข้างในเหมือนกัน

Second Hand Dialogue

 

อธิบายอย่างง่าย นวพลแปลงแกลเลอรีให้กลายเป็นศูนย์ขอรับบริจาคบทสนทนาทางโทรศัพท์ กึ่งๆ ศูนย์บัญชาการ ต่างจากศูนย์รับบริจาคเลือดตรงสิ่งที่บริจาคคือบทสนทนาทางโทรศัพท์ ใครอยากบริจาคก็แค่ลงทะเบียนนัดวันล่วงหน้า มีเงื่อนไขว่าฝ่ายคนโทรไปและคนรับสายจะต้องเซ็นสัญญายินยอมให้นำบทสนทนานี้ไปใช้ต่อได้ (ค่าใช้จ่าย 250 บาท) พอถึงวันนัดหมายก็เดินเข้ามาในห้องอัดเสียง ส่วนใครอยากมาชมหรือดูลาดเลาก่อนก็สามารถเข้ามาฟังบทสนทนาและชมกระบวนการแปรรูปบทสนทนาได้ในห้องเยี่ยมชม

 

ถ้ายังรู้สึกว่าเข้าใจยาก เราขอให้วางความงงนั้นลงก่อน เพราะไอเดียตั้งต้นของนิทรรศการนี้แสนจะเรียบง่าย

 

“เริ่มจากไปนั่งอึแล้วห้องข้างๆ คุยโทรศัพท์ แล้วแม่งไม่แคร์ นึกออกไหม เราเผอิญฟังแล้วมันสนุกดี (หัวเราะ) เราจะค่อยๆ ปะติดปะต่อเรื่องได้เองโดยที่เราไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร มันเหมือนกับสตอรีเสียง”

 

และนี่คือบทสนทนาว่าด้วยงานศิลปะชิ้นใหม่ของ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ซึ่งผ่านการบันทึก คัดกรอง แปรรูป และเผยแพร่ โดยได้รับการยินยอมจากทั้งสองฝ่ายแล้ว

เราแค่ต้องการบทสนทนาธรรมดาๆ ด้วยซ้ำ เราไม่อยากให้คนมาแล้วรู้สึกว่าจะต้องพูดอะไรที่มันเจ๋งที่สุด เพราะว่านั่นก็ไม่ธรรมชาติแล้ว

Second Hand Dialogue

 

New Recording 01

 

ช่วยเล่าการเดินทางระหว่าง i write you a lot. มาถึงนิทรรศการนี้ให้ฟังหน่อยได้ไหม

จริงๆ แล้ว i write you a lot. กับ Second Hand Dialogue มีความทับซ้อนกันในแง่ที่มันเป็นงาน Art Exhibtion ที่สร้างขึ้นจากวิธีการทำงานของเราในการทำหนังหรืออะไรก็ตาม i write you a lot. มันคือการมองเห็นและเขียน แต่ Second Hand Dialogue คือการฟังแล้วค่อยนำไปเขียนทีหลัง จริงๆ มันเป็นกระบวนการปกติของเราในการหาแรงบันดาลใจหรือหยิบยืมความจริงที่อยู่รอบๆ มาทำให้เป็นเรื่องแต่งอีกที มีความคล้ายคลึงกัน แต่ก็แตกต่างในเรื่องการรับรู้ การได้มาซึ่งข้อมูลต่างๆ รอบนี้จะค่อนข้างคาบเกี่ยวกับโลกความเป็นจริงมากขึ้น เพราะว่าเราเอาสิ่งที่เป็นส่วนตัวจากคนดูมากกว่ารอบที่แล้ว ซึ่งเราเห็นอะไรแล้วก็คว้ามาเขียนเลยเท่าที่ตาเห็น และผสมกับความคิดของเราเข้าไป แต่รอบนี้เราต้องการเสียงของเขาจริงๆ มันเลยเหมือนกับการช้อนหรือคว้านเข้าไปในตัวคนดู

 

กลายมาเป็นไอเดียของการบริจาคบทสนทนา ซึ่งคล้ายกับการบริจาคเลือด เพราะว่าเลือดมันอยู่ข้างในร่างกาย บทสนทนามันก็ต้องกลั่นออกมาจากข้างในเหมือนกัน พวกเสียงหรือโทนเสียงของแต่ละคนมันไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ส่วนประสบการณ์ ภาษา หรือวัฒนธรรมที่เขาเติบโตมาก็ทำให้เกิดบทสนทนา การใช้คำ และจังหวะพูดด้วยเหมือนกัน เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของส่วนตัวและบริจาคให้กันได้ เราเลยเรียกว่าการบริจาคบทสนทนา

 

บทสนทนาแรกที่ทำให้เกิดนิทรรศการนี้คืออะไร

ง่ายมาก เริ่มแล้วดูไม่เป็นศิลปะเท่าไรเลย เริ่มจากการไปนั่งอึ แล้วห้องข้างๆ คุยโทรศัพท์ แล้วแม่งไม่แคร์ นึกออกไหม เราก็เลยฟัง แล้วก็สนุกดี (หัวเราะ) ก็จะค่อยๆ ปะติดปะต่อเรื่องไปได้เอง แต่รู้สึกว่ามันเหมือนเป็นสตอรีเสียง แล้วเราก็ไม่รู้ว่าใคร นึกออกไหม ก็คงสักคนหนึ่งในนั้น เผอิญฟังแล้วมันเพลินเหมือนกันเนอะ ลักษณะในห้องน้ำมันมีความเป็นบูธ ดูเป็นกิจจะลักษณะ มันไม่ใช่ว่าเราบังเอิญเดินตามท้องถนน นั่นคือเราได้ยินตามปกติ แต่อันนี้มันดูมีฟอร์มขึ้นมา ดูมีการจัดการพื้นที่เหมือนกันเนอะ เราก็เลย เออ ถ้าทำให้มันเป็นกิจจะลักษณะก็สนุกดีเหมือนกันนะ (หัวเราะ) คือมันเกิดจากกิจกรรมเดิม แต่ในสถานที่ที่แปลกขึ้น ดูเป็นทางการมากขึ้น

 

ฟังจนเขาพูดจบเลยไหม

ฟังจนเราอึจบ (หัวเราะ) เขาก็ยังพูดไม่จบเลยนะ แต่เราต้องออกไปทำงาน มันก็แปลกดี คนจะคุยมันก็คุย เขาไม่ได้แคร์ว่าห้องข้างๆ มีคนอยู่หรือเปล่า เคสล่าสุดที่เจอตอนกำลังสร้างงานนี้อยู่ เราไปเข้าห้องน้ำในห้าง มีเพื่อน 2 คนเข้าห้องน้ำพร้อมกันแล้วคุยกันข้ามห้อง โห มึง (หัวเราะ) ไม่แคร์สิ่งใด เราคิดว่ามันควรจะเป็นพื้นที่ส่วนตัวด้วยมั้ง ไม่ควรจะคุยข้ามกันขนาดนี้ แต่ว่ามนุษย์มันก็ทลายเส้นแบ่งตรงนั้นไปหมดเลย เราเลยรู้สึกว่าเสียงมันไม่มีขอบเขตเท่าไร ถ้าไม่ได้ไปปิดหรือทำให้มันเงียบ มันทะลุมาได้หมด บางทีเราได้ยินเสียง แต่ว่าเราไม่ได้ยินคนพูด ในฐานะคนฟังก็รู้สึกว่าฟังได้ เพราะว่าเราดูไม่รบกวนเขามาก คนพูดก็ไม่รู้เหมือนกันว่าใครอยู่ห้องข้างๆ แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องสำคัญมากกูก็ไม่แคร์ เราก็รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องน่าสนใจเหมือนกัน

 

Second Hand Dialogue

 

ทำไมถึงทำให้กระบวนการมันซับซ้อนมากขึ้นด้วย เช่น การนัดหมาย ถอดเทปบทสนทนา

ที่จริงบทสนทนาระหว่างคนสองคนมันค่อนข้างส่วนตัวมาก และค่อนข้างเป็นธรรมชาติ แต่มันจะธรรมชาติที่สุดเมื่อสองคนนั้นไม่รู้ว่ามีอีกคนกำลังดึงสิ่งนี้ไป เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับคนสองคน กึ่งว่าจะไม่รู้ตัวทั้งคู่ นิทรรศการนี้ก็เลยค่อนข้างพัวพันกับเรื่องความเป็นส่วนตัวมากขึ้น อันนี้อนุญาตให้ ‘ใช้ได้’ หรือ ‘ใช้ไม่ได้’ เราเลยต้องพยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำได้โดยที่ไม่ได้ทำอะไรผิด และได้ความเป็นธรรมชาติมาด้วย

 

มันอาจไม่เหมือนกับชีวิตจริง เพราะเราได้ยินแล้วก็ขโมยมาเลย ตอนแรกก็กะว่าจะทำแบบนั้น แต่ว่าพอมันเป็นงานศิลปะก็จะเริ่มมีคำถาม มีเรื่องกฎหมาย การเซ็นสัญญายินยอมทั้งหลาย ซึ่งก็ช่วยลดปริมาณของพวก Prank Call หรือโทรแกล้งเพื่อนด้วยจำนวนหนึ่ง ซึ่งงานนี้เรายังไม่ได้ต้องการขนาดนั้น

 

เราแค่ต้องการบทสนทนาธรรมดาๆ ด้วยซ้ำ เราไม่อยากให้คนมาแล้วรู้สึกว่าจะต้องพูดอะไรที่มันเจ๋งที่สุด เพราะว่านั่นก็ไม่ธรรมชาติแล้ว เราเลยพยายามบอกคนที่จะมาว่าคุยเหมือนปกติแหละ ไม่ต้องพูดให้มันฮา เพราะเราไม่ได้ต้องการสิ่งนั้น ยกเว้นมันฮาอัตโนมัติ เราแค่ต้องการชีวิตประจำวันจริงๆ

 

Second Hand Dialogue

 

แต่คนที่จะมาก็ต้องคิดก่อนว่าจะโทรหาใคร คุยเรื่องอะไร ต้องเตรียมตัวมาก่อนด้วยหรือเปล่า

มันเป็นเรื่องการจัดการ คนโทรไปก็ต้องทำตัวให้ปกติ เพราะอีกฝั่ง (คนรับสาย) จะไม่รู้ว่าเขาจะโทรมาวันไหน จริงอยู่ที่เขาคงคิดหัวข้อมาแล้ว แต่ว่าสิ่งที่เขาควบคุมไม่ได้คือ ‘ระหว่างนั้น’ เวลาเราพูดอะไรไป อีกฝ่ายจะตอบว่าอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่สิ่งที่เราได้แน่ๆ คือปฏิกิริยาระหว่างสองคนนี้ คนหนึ่งชอบพูด ‘เอ่อ อ่า’ อีกคนพูด ‘แบบว่า’ คนนี้ชอบพูดซ้อนตอนอีกคนยังพูดไม่จบ มันมีปฏิกิริยาที่แตกต่างกัน คุณอาจจะคิดคอนเทนต์มาแล้ว แต่ระหว่างทางคุณกำหนดไม่ได้อยู่แล้ว หรือไม่สามารถควบคุมธรรมชาติของตัวเองได้ คนพูดเร็วก็คือคนพูดเร็ว พูดช้าก็พูดช้า

หรือจังหวะที่พูดไปแล้วไม่ตอบเลย เว้นไป 3 วินาทีแล้วค่อยตอบ แม่งคนละเรื่องกับถามแล้วตอบเลย เรารู้สึกว่าเรื่องพวกนี้มันน่าสนใจมากๆ ในฐานะคนทำงานภาพยนตร์

Second Hand Dialogue

 

New Recording 02

 

ทำไมถึงสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างบทสนทนา

มันอาจจะสัมพันธ์กับตอนที่เราทำหนังด้วยมั้ง ปกติเราจะฟังเสียงรอบๆ อยู่แล้ว ก็กึ่งเสือกนิดหน่อย แต่ก็ไม่ได้ไปเงี่ยหูฟังเขา เพียงแต่ว่าบางครั้งเผอิญได้ยิน แล้วเราก็รู้สึกว่าสิ่งนี้น่าสนใจที่จะบันทึกไว้ สำหรับเรา การแสดงแบบธรรมชาติหรือไม่ธรรมชาติมันจะอยู่ที่เสียงพอๆ กับการแสดงออกบนใบหน้า เสียงอาจจะครึ่งหนึ่งหรือว่ามากกว่าด้วยซ้ำ พูดคำเดียวกัน แต่ว่าอีกคนพูดอึกอัก ฟังดูเศร้ากว่าร้องไห้อีก เราเลยรู้สึกว่าเรื่องเสียงโคตรสำคัญ เพราะมันบรรจุไว้หมดเลย พูดจริงหรือไม่จริง กลบเกลื่อนหรือไม่กลบเกลื่อน

 

บางทีเราเห็นการแสดงที่คนร้องไห้ แต่เสียงไม่จริง ก็จะรู้สึกแปลกๆ ขณะที่บางคนไม่ได้ร้องไห้ แต่เสียงสั่นไปแล้ว ซึ่งเรารับรู้ได้โดยที่ไม่ต้องเห็นว่าดวงตาหรือว่าหน้าเขาเป็นยังไงด้วยซ้ำ หรือจังหวะที่พูดไปแล้วไม่ตอบเลย เว้นไป 3 วินาทีแล้วค่อยตอบ แม่งคนละเรื่องกับถามแล้วตอบเลย เรารู้สึกว่าเรื่องพวกนี้มันน่าสนใจมากๆ ในฐานะคนทำงานภาพยนตร์

 

เรารู้สึกว่ามันเป็นกระบวนการที่น่าสนใจ ก็เลยทำให้เป็นชิ้นงานไปเลย จัดให้มีห้องสำหรับบันทึกเสียง หลังจากนั้นไฟล์เสียงหรืออะไรก็ตามจะถูกนำไปถอดเทป และนำไปใช้ต่อในกิจกรรมอื่นๆ เช่น ในการแสดง การกระจายเสียงออกไปข้างนอกแกลเลอรี

ปัญหาบนโลกใบนี้ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ก็คือเท็กซ์มันไม่มีเสียง เราก็อ่านแบบที่เราอยากได้ยิน จริงๆ แล้วนั่นคือเสียงของเรา

Second Hand Dialogue

 

New Recording 03

 

ถ้าเทียบกัน การกำกับหนังกับทำงานศิลปะ หนังจะมีความเป็นส่วนตัว เป็นเรื่องตัวตนของคุณมากกว่าหรือเปล่า

สำหรับเราคือเท่ากัน แต่ทำออกมาไม่เหมือนกัน มันมีความเป็นโลกความเป็นจริงนิดหนึ่ง ต่อให้เราเปลี่ยนแกลเลอรีให้เป็นศูนย์บริจาค เราก็ไม่ได้ทำให้มันดูเป็นเรื่องแต่งขนาดนั้น คุณต้องลงทะเบียนจริง และกฎหมายก็ไม่ได้สร้างขึ้นมา แต่มันมีจริงๆ

 

กลุ่มคนที่มาบริจาคก็จะได้รับประสบการณ์ของการบริจาค ซึ่งมันเป็นประสบการณ์แปลกๆ เหมือนกัน เวลารู้สึกว่ามีการบันทึกเสียงเกิดขึ้น ในทางหนึ่งคนรับสายก็จะไม่รู้ว่าอีกฝั่งจะโทรมาวันไหน ระหว่างนั้นเขาก็จะคิดว่าสายนี้หรือเปล่าวะ มันก็จะเป็นอีกความรู้สึกหนึ่ง

ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นอยู่ในเฟซบุ๊กอยู่แล้วนะ ทุกคนกด accept ร่วมกันเพื่อเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มนี้ แล้วมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ก็เอาข้อมูลทุกอย่างไปใช้ แต่เขาเอาไปใช้ในเชิงพาณิชย์ไง เราไม่ได้ใช้เท่านั้นเอง จริงๆ มันก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เราอาจจะโดนดักฟัง โดนล้วงข้อมูลทางไซเบอร์ แต่เราก็อยู่กับมันเหมือนกัน

 

สำหรับเรา งานนี้มันพูดได้ตั้งแต่เรื่องที่เล็กที่สุดไปจนถึงเรื่องที่ใหญ่ที่สุด เราถึงบอกว่ามันเกี่ยวพันกันหลายเลเยอร์มากๆ มันไม่ง่ายเท่ารอบที่แล้ว แต่การที่มันไม่ง่ายก็น่าจะสร้างอะไรได้มากกว่ารอบที่แล้ว มันมีสิ่งที่คุณต้องปฏิบัติหรือมีคำสั่งที่คุณต้องเดินตาม ซึ่งก็คล้ายๆ กับการบริจาคเลือด คุณต้องกินน้ำมาให้พอ ไปตรวจค่าเลือดโน่นนี่

 

Second Hand Dialogue

 

แสดงว่าจักรวาลในหนังกับจักรวาลในนิทรรศการของนวพลมันไม่ได้ต่างกันมาก

สำหรับเราไม่ได้ต่างกันมาก เพราะว่ามันเชื่อมโยงถึงกัน นิทรรศการคือกระบวนการทำงานของเรา หนังมันคือหลังจากกระบวนการนี้เกิดขึ้นแล้วมันเกิดเป็นหนัง เพราะว่าไดอะล็อกหลายๆ เรื่องของหนังเรามันก็ได้มาจากชีวิตจริง จากการเผอิญได้ยินทั้งหลายแหล่ แต่เรารู้สึกว่ากระบวนการนี้น่าสนใจเท่านั้นเอง ก็เลยหยิบมาขยายให้เป็นนิทรรศการ

 

คิดว่ากระบวนการแบบนั้นมันอาจเกิดขึ้นในงานนี้ด้วยไหม แล้วคุณจะอยู่ตรงไหนในงาน

รอบนี้เราอาจจะเป็นแค่ปลายทาง หรือเป็นผู้รับมาแล้วคิดว่าจะเอาไปทำอะไรต่อ แต่เราคิดว่าคนที่มาบริจาคเขามาด้วยจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน โทรไปหาคนที่แตกต่างกัน จะมีปฏิกิริยาแตกต่างกัน งานนี้มันหลวมๆ กว่านิดหนึ่ง

 

การทำงานแนวนี้ ก่อนเปิดมันจะไม่รู้อะไรเลย จะออกมาดีหรือเปล่าก็ไม่รู้ สวยหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะว่ามันไม่ใช่งานที่เสร็จแล้วมาโชว์ มันคืองานที่แบบ ‘มาทำด้วยกันสิ’ ซึ่งไม่สามารถรู้ได้ว่าผลสุดท้ายมันคืออะไร แต่ไม่ว่าผลสุดท้ายจะออกมาเป็นยังไง สำหรับเรามันมีพลังประมาณหนึ่ง อย่างน้อยก็มีพลังกับเรา เพราะการได้นั่งฟังบทสนทนาพวกนี้ สำหรับเรามันโอเคมากเลย แค่บทสนทนาทางโทรศัพท์ถูกกระจายเสียงออกนอกตึก เราว่ามันเป็นเซนส์ที่ประหลาดพอแล้ว เพราะว่ามันไม่มีใครเอาเสียงโทรศัพท์ตัวเองไปออนแอร์ ไม่เหมือนกับคนทางบ้านโทรเข้าไปหาดีเจ เพราะนั่นคือรู้เลยว่ามันออกสู่สาธารณะ

 

เราสนใจว่านอกจากบทสนทนาจากโทรศัพท์จะถูกนำไปใช้อย่างอื่นแล้ว มันถูกเปลี่ยนบริบทของมันด้วย แทนที่จะจบกันแค่สองคน ในห้อง ในรถ หรืออะไรก็ตาม แต่มันออกไปข้างนอก แล้วผู้คนก็สามารถเอาสิ่งนั้นไปใช้ต่อ ฟังเพื่อความบันเทิงหรือเปล่า หรือฟังเพื่อได้อะไรบางอย่าง

 

ถ้านึกไม่ออกว่าจะโทรหาใคร หรือไม่อยากให้คนที่เราโทรหารู้ว่าเราเป็นใคร ต้องทำอย่างไร

จริงๆ คนที่บริจาคเสียงมาแล้วเขาจะไม่ถูกระบุชื่อ เราจะเอาไปแค่บทสนทนาเฉยๆ ฟังตอนแรกดูเหมือนว่าเป็นงานที่ต้องเล่นกันสองคนคือคนโทรกับคนรับใช่ไหม แต่จริงๆ มันมีอีกโหมดหนึ่งซึ่งเรียกว่า Emergency Call ถ้าคุณไม่รู้ว่าจะโทรหาใคร คุณมี Emergency Call เหงาๆ ก็มาเล่นได้ เราจะมีเบอร์ให้ไปคุยกับอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร และเขาก็จะไม่รู้ว่าคุณเป็นใครเหมือนกัน ก็เป็นบทสนทนาอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน มันก็จะมีให้เลือกเล่น

 

ทำไมถึงไม่ใช้วิธีดึงข้อมูลที่มีอยู่แล้วบนโลกออนไลน์ ทำไมเราต้องให้คนผลิตข้อมูลหรือบทสนทนาขึ้นมาอีกรอบ ในเมื่อโลกนี้ก็เต็มไปด้วยบทสนทนาอยู่แล้ว

เพราะว่ามันคนละมีเดียเหมือนกัน หมายถึงนี่คือเสียง และอย่างที่บอกว่าในน้ำเสียงมันบรรจุอะไรได้อีกมากมาย เช่น อารมณ์ หรือความสัมพันธ์ของการคุยกันระหว่างคนสองคน ปัญหาบนโลกใบนี้ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ก็คือเท็กซ์มันไม่มีเสียง เราก็อ่านแบบที่เราอยากได้ยิน จริงๆ แล้วนั่นคือเสียงของเรา และเราอาจจะเคยทำประเด็นนี้ตอน Mary is Happy, Mary is Happy. คือการเอาทวิตเตอร์มาทำเป็นหนังไง มันเป็นการจินตนาการต่อจากข้อความนั้น

คุณควรจะโทรไปหาใครที่ใกล้ตัวขึ้น และสิ่งที่คุณพูดคือสิ่งที่คุณต้องรับผิดชอบ

Second Hand Dialogue

 

คนทำหนังก็เป็นนักขโมยเหมือนกัน จะรู้สึกโกรธไหมถ้ามีคนถามว่าคุณขโมยหรือไปหยิบยืมเรื่องราวของคนอื่นมาสร้างงาน

เรารู้สึกว่ากระบวนการของมนุษย์ทุกคนก็ใช้วิธีการนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าได้มาจากไหน จากการไปเรียนหนังสือ แม่บอก หรืออะไรก็ตาม แต่ว่าที่เหลือเราก็ขโมยเหมือนกันนะ เราจำมา สำหรับการผลิตงาน มันเหมือนเราหยิบยืมจากความจริงมาสร้างงานได้ แต่เราไม่สามารถหยิบยืมจากงานคนอื่นมาสร้างงานเราได้ เพราะนั่นคือการก๊อบปี้ แต่ถ้าเกิดเราเอาจากธรรมชาติ ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่สร้างงานจากธรรมชาติหรือเอามาจากสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมที่เขาอยู่ ถ้ามันมาจากชีวิตจริงของเรา เราว่านั่นเป็นเรื่องปกติที่คนทำงานควรจะทำอยู่แล้ว เอาจากสิ่งที่คุณเป็นกับสิ่งที่คุณรู้เลย

 

ทำไมถึงสนใจเรื่องการยินยอมมากขึ้น นิทรรศการครั้งที่แล้วยังไม่มี

เหมือน i write you a lot. มันไม่ได้ล้วงลึกด้วยมั้ง มันไม่ส่วนตัวขนาดนั้น ตอน i write you a lot. คนถูกขโมยไปแล้วเขาเห็นตรงหน้าเลยว่า ‘กูไปอยู่บนจอแล้ว’ แค่นี้แล้วจบเลย แต่นี่มันมีคำถามแบบ ‘แล้วยังไงต่อ ฝั่งนั้นโอเคไหม’ ตอนแรกเราอยากจะทำแบบไม่มีการยินยอมด้วยซ้ำ ซึ่งจะได้อะไรที่มันสดมาก แต่เราว่าปัญหาจะตามมามหาศาล เพราะอีกฝั่งหนึ่งเขาก็ไม่รู้จริงๆ แล้วไหนจะเป็น Prank Call ทั้งหลายแหล่ เราว่ามีแน่ๆ แต่การมีการยินยอมทำให้กรองหนึ่งชั้นว่าคุณควรจะโทรไปหาใครที่ใกล้ตัวขึ้น และสิ่งที่คุณพูดคือสิ่งที่คุณต้องรับผิดชอบ มันคือการกันนอกลู่นอกทางนิดหนึ่ง เพราะเราอาจจะไม่ต้องการถึงขั้นนอกลู่นอกทางขนาดนั้น เพราะว่ามันจะไปทำร้ายคนอื่น เราต้องการได้ธรรมชาติของบทสนทนาโดยที่ทุกคนโอเคกับเราเหมือนกัน เราไม่ได้ต้องการให้งานมันเป็นแบบรายการ แฉแต่เช้า หรือว่าประกาศข้อความอะไรบางอย่าง ซึ่งอาจผิดจุดประสงค์ไปด้วยเหมือนกัน

 

เห็นว่ามีกิจกรรมที่ชวนน้องชาย (ดร.อรรถพล ธำรงรัตนฤทธิ์) มาเสวนาประกอบนิทรรศการด้วย

การคุยกับเต้ซึ่งเป็นน้องชายเรา วิชาที่เขาสอนหรือองค์ความรู้ที่เขามีมันจะค่อนข้างใกล้เคียงกับงานของเรา มันเป็นเรื่อง Data Collection ของเรามันเป็นเชิงการผลิตงานศิลปะแบบเรียลไทม์หรือการทำภาพยนตร์ แต่ของเขาจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ โซเชียลมีเดีย การผลิตเทคโนโลยีขึ้นมาใหม่ เช่น AI การสอนให้ระบบเข้าใจภาษามนุษย์ ซึ่งเป็นประเด็นที่คนตื่นตัวกันมากขึ้น นอยด์ๆ ว่าตกลงไมโครโฟนในมือถือมันอัดเสียงเราหรือเปล่า คนตื่นตัวกันมากขึ้น แต่เราก็ยังอยู่กับมันด้วยนะ กลายเป็นว่าเทคโนโลยีกับชีวิตคนสัมพันธ์กันโดยอัตโนมัติ

 

เราเลยคิดว่าถ้าเกิดจะมีงานบรรยายที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีก็ดี เพราะเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมันเกี่ยวข้องกับเราแทบจะเป็นเนื้อเดียวกันอยู่แล้ว

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

FYI
  • ผู้เข้าร่วมบริจาคจะได้รับหนังสือรวมเล่มบทสนทนาทั้งหมดเป็นของที่ระลึกอีกด้วย (จัดส่งหลังจบงาน)
  • When: 1-23 มิถุนายน 2562 เฉพาะวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 13.00-19.00 น.
  • Where: Bangkok Citycity Gallery ซอยสาทร 1
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising