สำนักงาน ก.ล.ต. เปิดแผนยุทธศาสตร์ปี 2565-2567 มุ่งวางเป้าหมาย 5 ด้าน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เดินหน้าสร้างระบบนิเวศให้เอื้อต่อการระดมทุน ส่งเสริมตลาดทุนดิจิทัล และยกระดับตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน ขณะที่กูรูตลาดหุ้นและตลาดดิจิทัลหวังการพัฒนาเชิงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อก้าวขึ้นเป็นแหล่งระดมทุนหลักของประเทศและระดับภูมิภาคอย่างแท้จริง
รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขานุการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยถึงแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2565-2567 ว่า ก.ล.ต. วางเป้าหมายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในเรื่องของ Competitiveness เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน, Inclusiveness เสริมสร้างการมีส่วนร่วม และ Trust & Confidence การสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นไว้ 5 ด้าน ประกอบด้วย
- ตลาดทุนเป็นกลไกสำคัญในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง ผ่านการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการระดมทุนของกลุ่มธุรกิจที่เป็นเป้าหมายของประเทศ เช่น กลุ่ม BCG, 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve, SMEs, สตาร์ทอัพ โดยมีแนวทางการกำกับดูแลที่เอื้อต่อการสนับสนุนให้กลุ่มธุรกิจเป้าหมายสามารถระดมทุนผ่านตลาดทุน ได้แก่ ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับทราบถึงปัญหา อุปสรรค และปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มธรกิจเป้าหมาย, กำหนดแนวทางและปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อลดอุปสรรคในการเข้าถึงตลาดทุน, จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้เกี่ยวข้อง
- การเป็นตลาดทุนดิจิทัล เพื่อส่งเสริมศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศ โดยการพัฒนาระบบนิเวศและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม โดยจะดำเนินการตั้งแต่ปรับปรุงฉากทัศน์ การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อยกระดับคุ้มครองผู้ลงทุนและส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจ Digital Assets, การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาส่งเสริมการพัฒนากำกับดูแลตลาดทุน (Tech-led Supervision) เพื่อการเปิดเผย เชื่อมโยงข้อมูล นำดิจิทัลเข้ามาบังคับใช้กฎหมาย และยกระดับการเฝ้าระวัง การติดตามความเสี่ยงของผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุน รวมถึงยกระดับการกำกับดูแลความมั่นคง ความปลอดภัยทาง Cyber & Data ในตลาดทุน
- การยกระดับศักยภาพตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน ทั้ง SDGs, ESG ให้ทัดเทียมระดับสากล
- สร้างตลาดทุนให้มีระบบนิเวศที่เหมาะสม ยืดหยุ่นตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาและกำกับดูแลให้สอดรับกับฉากทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมเชื่อมโยงและเป็นที่ยอมรับในสากล ซึ่งจะดำเนินการศึกษา กำหนดทิศทาง การพัฒนา และกำกับธุรกิจหลักทรัพย์ รวมถึงตรวจสอบความเสี่ยงให้เท่าทันต่อฉากทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไป, การเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ทั้งการส่งเสริมสินค้าอ้างอิงหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Cross-Border Products) เป็นต้น
- ผู้ลงทุนมีศักยภาพในการสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดี ผ่านการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงตลาดทุนในการสะสมความมั่งคั่งได้อย่างเหมาะสม ตอบโจทย์ความต้องการที่ดีได้ โดยร่วมกับภาคธุรกิจขยายฐานผู้ลงทุน ส่งเสริมการลงทุน, ปรับปรุง พ.ร.บ.PVD ให้สอดรับกับร่าง พ.ร.บ.กบช. อีกทั้งยังส่งเสริมทักษะความเข้าใจด้าน Financial & Digital Literacy เพื่อติดอาวุธความรู้ผู้ลงทุนให้เป็น Smart Investor
ขณะเดียวกัน ได้วางเป้าหมายภายในสำนักงาน ก.ล.ต. ให้เป็นองค์กรนวัตกรรม (Innovative Organization) ไว้ 2 ด้าน ประกอบด้วย Everything is Possible Culture สะท้อนถึงคนในสำนักงาน ก.ล.ต. จะคิดต่อยอด พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างแนวคิด วิธีและรูปแบบใหม่ๆ ในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และ Excellent Services ก.ล.ต. เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม นำดิจิทัลมาใช้ เพื่อให้บริการสะดวก ลดภาระ ตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้เสีย และเชื่อถือได้
FETCO แนะเร่งหา Growth Engine ขับเคลื่อนตลาดทุน
ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO กล่าวในเสวนาหัวข้อ แผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. กับทิศทางเศรษฐกิจและตลาดทุนปี 2565 ว่า ตลาดทุนไทยในปีที่ผ่านมามีการเติบโตในหลายด้าน และแม้ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิดก็ได้รับผลกระทบไม่มาก และสามารถฟื้นตัวได้ดีเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญจากนี้ไปของตลาดทุนไทยการหา Growth Engine ใหม่ๆ เพื่อมาขับเคลื่อนตลาดหุ้น เพื่อสร้างการเติบโตทั้งด้านแหล่งระดมทุนและแหล่งลงทุนให้ไปสู่ระดับภูมิภาคได้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงาน ก.ล.ต. ทำงานร่วมกันต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพด้านแหล่งระดมทุนของตลาดทุนไทย โดยได้ผลักดันให้เกิดแหล่งระดมทุนของผู้ประกอบการ SMEs และสตาร์ทอัพผ่าน Live Exchange และกำลังผลักดันให้เกิดแหล่งซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (TDX) ซึ่งนับเป็นพัฒนาการสำคัญ
อย่าางไรก็ตาม หากจะยกระดับตลาดทุนไทยให้เป็นแหล่งระดมทุนและแหล่งลงทุนระดับภูมิภาค ส่วนตัวมองว่าหน่วยงานกำกับดูแลต้องมีนโยบายส่งเสริมที่มากขึ้นในหลายมิติ ทั้งการสร้างความรู้ให้กับผู้ลงทุน ผ่อนปรนและเพิ่มทางเลือกด้านการเป็นแหล่งระดมทุนให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมของตลาดทุนและเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น การเปิดทางระดมทุนแบบ SPAC และสร้างกฎเกณฑ์รองรับรูปแบบการทำงานของ SMEs และสตาร์ทอัพ
“ตอนนี้มาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นไทยคิดเป็น 120% ของ GDP ประเทศ เทียบกับตลาดหุ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วที่มาร์เก็ตแคปสูงถึง 200-700% ของ GDP หมายความว่าตลาดหุ้นไทยยังพัฒนาไปได้มากกว่านี้ แต่ในการพัฒนาด้านการระดมทุน ก็ต้องควบคู่กับพัฒนาด้านการออมด้วย เพื่อให้ตลาดทุนรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างแท้จริง” ไพบูลย์กล่าว
สมาคมดิจิทัลแนะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นการพัฒนามากที่สุดคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ Ecosystem ได้อย่างแท้จริง ขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐควรมีวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และแผนงานชัดเจนต่ออุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล และมีการบูรณาการให้ทุกหน่วยงานดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน หากต้องการจะนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ยังมองว่าการออกกฎเกณฑ์หรือระเบียบต่างๆ มาควบคุมนั้นควรจะเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกดิจิทัล
“สำหรับผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่มดิจิทัล จังหวะเวลา และภาพรวมตลาดสำคัญมากๆ ซึ่งกฎเกณฑ์ที่ออกมาค่อนข้างที่จะขัดกับแนวทางดำเนินธุรกิจที่มีการแข่งขันที่เข้มข้น ซึ่งจุดนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ต้องกลับมาคิดหรือไม่ ว่าแนวทางไหนจะสามารถทำให้เกิดบาลานซ์ของการกำกับดูแล” ศุภกฤษฎ์กล่าว
ทั้งนี้ ยอมรับว่าปัจจุบันตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเข้าสู่ภาวะตลาดหมี (Bear Market) อย่างสมบูรณ์แล้ว โดยจะเห็นได้จากราคาสินทรัพย์ดิจิทัลหลักอย่างบิทคอยน์ (Bitcoin) หรือ BTC ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ และปริมาณการซื้อขายปรับตัวลดลง
‘TDRI’ หวังตลาดทุนไทยเชื่อมโยงเศรษฐกิจจริง
ด้าน นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) กล่าวในงานเสวนาเดียวกันว่า ตลาดทุนไทยยังไม่ได้เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจริงของประเทศอย่างแท้จริง สะท้อนจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่แย่และไม่มีการเติบโตในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพราะสถานการณ์โควิด แต่ตลาดทุนและบริษัทจดทะเบียนกลับได้รับผลกระทบไม่มากและฟื้นตัวได้ในที่สุด
ดังนั้นจึงเสนอแนะให้สำนักงาน ก.ล.ต. เน้นการพัฒนาตลาดทุนให้เชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจอย่างแท้จริงใน 3 มิติดังนี้
- ทำอย่างไรให้ตลาดทุนไทยช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
- พัฒนาประสิทธิภาพตลาดทุนให้สามารถแข่งขันได้และเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพด้านต้นทุนของตัวกลาง และต้นทุนจากการกำกับดูแล
- ใช้ตลาดทุนสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ เพื่อสร้างและสนับสนุนธุรกิจ New S-Curve
นอกจากนี้ตลาดทุนไทยควรจะพัฒนาขึ้นจนสามารถเป็นเครื่องมือการออมการลงทุนให้กับภาคประชาชนได้อย่างทั่วถึง
หวั่นเงินอัดฉีดจากรัฐปี 2565 ลดลง
ทั้งนี้ TDRI ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะเติบโตในกรอบ 3-3.5% อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความกังวลด้านการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่สามารถอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้น้อยลงมาก หลังจากที่ในปี 2563 มี พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และในปี 2564 มี พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท แต่ในปี 2565 ดูเหมือนการเบิกจ่ายงบประมาณไม่ได้มีการเติบโต และอาจหดตัวด้วยซ้ำ ดังนั้นปีนี้ภาคเอกชนและประชาชนคงต้องสู้ด้วยตัวเอง
นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน แม้ขณะนี้ไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงที่รุนแรงมากนัก แต่ก็มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เนื่องจากนักเที่ยวรัสเซียเป็นหนึ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย และยังมีแรงกดดันจากราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องว่าจะมีความยืดเยื้อหรือรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากน้อยแค่ไหน
รวมถึงต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดอย่างต่อเนื่องว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะชะลอลงในรูปแบบเดียวกับในต่างประเทศหรือไม่ เพราะหากตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาครัฐอาจจำเป็นต้องออกมาตรการควบคุมการระบาดอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นผลกระทบที่มาซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมด้วย
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP