จากกระแสข่าวที่ว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บมจ.อาร์เอส (RS) และ บมจ.อาร์เอสเอ็กซ์วายแซด (RSXYZ) อย่าง เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ซึ่งถือหุ้น RS สัดส่วน 22.32% หรือ 487 ล้านหุ้น และถือหุ้นใน RSXYZ สัดส่วน 16.35% หรือ 257 ล้านหุ้น ถูกบังคับขายหุ้น (Forced Sell) เนื่องจากการจำนำหุ้นนอกตลาด จนทำให้ราคาหุ้นของทั้งสองบริษัทร่วงลงเกือบ 30% แตะระดับต่ำสุดของวันนี้ (Floor)
ศ. ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า สำหรับความคืบหน้าของ ก.ล.ต. ในการออกแนวทางกับเกณฑ์ในการสั่งให้ผู้บริหารผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียน (บจ.) มีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลธุรกรรมที่นำหุ้นไปค้ำประกันเงินกู้หรือธุรกรรมจำนำหุ้นนั้น ปัจจุบันสำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการเพื่อออกเกณฑ์ที่เข้ามาใช้ดูแล ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง
โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาศึกษารายละเอียด และข้อสรุปของเกณฑ์ที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ จากนั้นจึงจะมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อขอความเห็นชอบ โดยขั้นตอนลำดับต่อไปจะมีการเปิดรับฟังความเห็น (Hearing) เพื่อเตรียมออกใช้เป็นกฎเกณฑ์ในลำดับต่อไป
ทั้งนี้ หลักการของเกณฑ์ที่เกี่ยวกับธุรกรรมจำนำหุ้นจะเน้นการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญในการทำธุรกรรมจำนำหุ้น เพื่อให้นักลงทุนทั่วไปมีข้อมูลสามารถนำไปใช้ในการประกอบการตัดสินใจลงทุน และพิจารณาประกอบสภาพการซื้อขาย
“ไทม์ไลน์การทำงานของ ก.ล.ต. ในการออกเกณฑ์เกี่ยวกับธุรกรรมจำนำหุ้นของผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บจ. คาดว่าน่าจะประกาศออกมาใช้ได้หลังช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ไปแล้ว เพราะมีหลายขั้นตอนที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ เช่น เปิดรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจะมีข้อโต้แย้งที่อาจต้องนำมาปรับปรุง”
ด้าน รองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมายและบริหารกิจกรรมเพื่อสังคม หัวหน้ากลุ่มงานกฎหมายและวินัย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าการจำนำหุ้นที่เป็นทรัพย์สินส่วนตัวเป็นสิทธิของผู้บริหารที่สามารถทำได้ แต่เมื่อเป็นผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนที่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วกระทบต่อผู้ลงทุนในวงกว้าง ซึ่งเป็นปัญหาที่เรามองเห็นอยู่และกำลังพิจารณาว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง
“การเปิดเผยข้อมูลเรื่องการจำนำหุ้นเป็นสิ่งที่กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะเปิดเผยในเชิงสถิติได้แค่ไหน ในเบื้องต้นอาจจะเป็นรายเดือนเหมือนกับข้อมูล Margin Loan ที่เปิดเผยอยู่แล้ว เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการลงทุน”
ขณะที่ก่อนหน้านี้ช่วงปลายปี 2567 เอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก สำนักงาน ก.ล.ต. ระบุว่า ก.ล.ต. อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาแนวทาง รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการออกเกณฑ์เกี่ยวกับธุรกรรมจำนำหุ้น ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงต้นปี 2568
ทั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าน่าจะมีความชัดเจนว่าจะใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในมาตราใดของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อบังคับให้ผู้ที่มีการทำธุรกรรมจำนำหุ้นต้องเปิดข้อมูลกับประชาชนทั่วไปเพื่อให้ทราบข้อมูลหุ้นของ บจ. ที่ถูกนำไปทำธุรกรรมจำนำหุ้นว่ามีจำนวนมากหรือน้อยอย่างไร