สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยเกี่ยวกับการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งเกี่ยวกับผู้กระทำความผิด กรณีสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล Bitkub และศูนย์ซื้อขาย Satang Pro
ในส่วนของการกระทำความผิดบนศูนย์ซื้อขาย Bitkub มีผู้กระทำความผิด 3 ราย ได้แก่ 1. บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด 2. อนุรักษ์ เชื้อชัย ร่วมกันในการส่งคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลอันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขาย Bitkub และ 3. สกลกรย์ สระกวี ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้มีอำนาจจัดการของบริษัท บิทคับ สั่งการหรือกระทำการ หรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำเป็นเหตุให้บริษัท บิทคับ กระทำความผิดดังกล่าว
ทั้งนี้บริษัท บิทคับ โดยสกลกรย์ได้ทำสัญญากับอนุรักษ์ให้ทำหน้าที่ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ในศูนย์ซื้อขาย Bitkub และได้ให้อนุรักษ์ยืมเงินเพื่อใช้ในการทำหน้าที่ดังกล่าว จากการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อนุรักษ์ได้ส่งคำสั่งจับคู่ซื้อขายเหรียญคริปโต จำนวน 4 เหรียญ ได้แก่ Bitcoin (BTC), Bitcoin Cash (BCH), Ethereum (ETH) และ Ripple (XRP) โดยเป็นการจับคู่ซื้อขายกันเองในบัญชีซื้อขายเหรียญคริปโตของตนเองในศูนย์ซื้อขาย Bitkub
การจับคู่ซื้อขายกันเองในแต่ละเหรียญดังกล่าว มีสัดส่วนตั้งแต่ 84-99% ของปริมาณการซื้อขายทั้งหมดของอนุรักษ์ และตั้งแต่ 57-99% ของปริมาณการซื้อขายรวมทั้งตลาด โดยบริษัท บิทคับ และสกลกรย์รับทราบถึงการจับคู่ซื้อขายกันเองในบัญชีซื้อขายของอนุรักษ์ แต่ไม่ได้มีการทักท้วงการส่งคำสั่งซื้อขายเหรียญคริปโตดังกล่าว
การกระทำของ Bitkub และอนุรักษ์ เป็นความผิดฐานส่งคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลอันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลตามมาตรา 46 (1) ประกอบมาตรา 48 (2) (3) แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดฉบับเดียวกัน เป็นความผิด 4 กระทง (นับตามจำนวนเหรียญ) ส่วนการกระทำของสกลกรย์เป็นความผิดในฐานะเป็นบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท บิทคับ ซึ่งต้องรับโทษเดียวกันตามมาตรา 94 ประกอบมาตรา 46 (1) ประกอบมาตรา 48 (2) (3) แห่ง พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดฉบับเดียวกัน เป็นความผิด 4 กระทง (นับตามจำนวนเหรียญ)
ทั้งนี้คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดทั้ง 3 ราย โดยมีมาตรการลงโทษ ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดมาตรการห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล และมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนี้
1.ให้บริษัท บิทคับ ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมาย และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 8,053,764 บาท
2.ให้อนุรักษ์ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมาย และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 8,053,764 บาท และห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเวลา 6 เดือน รวมทั้งห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน
3.ให้สกลกรย์ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมาย และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 8,053,764 บาท
และให้สกลกรย์ร่วมรับผิดในมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ดำเนินการกับบริษัท บิทคับ นอกจากนี้ห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเวลา 6 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน
พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้ดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดอีก 4 ราย ในกรณีความผิดเดียวกัน คือ กรณีสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยพบการกระทำเข้าข่ายเป็นความผิดของบุคคล 4 ราย ได้แก่ 1. บริษัท สตางค์ 2. บริษัท LLC Fair Expo ร่วมกันในการส่งคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขาย Satang Pro 3. ปรมินทร์ อินโสม ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้มีอำนาจจัดการของบริษัท สตางค์ และ 4. Mikalai Zahorski เจ้าของ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท LLC Fair Expo
บริษัท สตางค์ โดยปรมินทร์ ได้ทำสัญญากับบริษัท LLC Fair Expo โดย Mikalai ให้บริษัท LLC Fair Expo ทำหน้าที่ดูแลสภาพคล่องในศูนย์ซื้อขาย Satang Pro และได้ให้วงเงินซื้อขายเพื่อใช้ในการทำหน้าที่ดังกล่าว
ทั้งนี้ ค.ม.พ. มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดทั้ง 4 ราย โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. และมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนี้
- ให้บริษัท สตางค์ ชำระค่าปรับทางแพ่ง เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 6,040,323 บาท
- ให้บริษัท LLC Fair Expo ชำระค่าปรับทางแพ่ง เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 6,040,323 บาท และห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเวลา 6 เดือน
- ให้ปรมินทร์ชำระค่าปรับทางแพ่ง เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 6,040,323 บาท และให้ปรมินทร์ร่วมรับผิดในมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ดำเนินการกับบริษัท สตางค์ โดยห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเวลา 6 เดือนและห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน
- ให้ Mikalai ชำระค่าปรับทางแพ่ง เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 6,040,323 บาท และให้ Mikalai ร่วมรับผิดในมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ดำเนินการกับบริษัท LLC Fair Expo โดยห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเวลา 6 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP