ไทยเตรียมยกระดับกฎเกณฑ์การออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทของกิจการต่างประเทศ (Baht Bond) หวังปกป้องนักลงทุนชาวไทยจากผู้ออกตราสาร (Issuers) ที่มีความเสี่ยง โดยผู้ออก Baht Bond ต่างชาติจำเป็นต้องมีเครดิตเรตติ้ง ‘ระดับลงทุน’ (Investment Grade) เท่านั้น สปป.ลาว-เมียนมา จ่อได้รับผลกระทบหนัก
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) วางแผนที่จะยกระดับกฎเกณฑ์การออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทของกิจการต่างประเทศ (Baht Bond) เพื่อปกป้องนักลงทุนไทยจากผู้ออกตราสารหนี้ต่างประเทศที่มีความเสี่ยง โดยความเคลื่อนไหวที่อาจเกิดขึ้นดังกล่าวอาจเป็นการขัดขวางบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ (Issuers) จาก สปป.ลาว และเมียนมา โดยเฉพาะ
โดยภายใต้กฎเกณฑ์ชุดใหม่ที่นำเสนอโดย ก.ล.ต. (เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม) ผู้ออก Baht Bond ในต่างชาติจะต้องได้รับ Issue Rating ไม่ต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade) โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ (International CRA) สำหรับการเสนอขายทั้งพันธบัตรของรัฐบาลและหุ้นกู้จากเอกชน นอกจากนี้จะต้องได้รับการอนุมัติจาก ก.ล.ต. ก่อน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ตามการรายงานของ Bloomberg
ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงการคลังเป็นผู้ให้การอนุมัติแก่ผู้ออกตราสารต่างชาติ และผู้ออกยังไม่มีข้อกำหนดที่จะต้องได้รับการจัดอันดับจากบริษัทระดับโลก
ขณะที่ พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ข้อกำหนดที่บังคับให้ผู้ออกตราสารหนี้จำเป็นต้องมีอันดับความน่าเชื่อ ‘ระดับลงทุน’ จะช่วยปกป้องนักลงทุนจากผู้ออกตราสารหนี้ในต่างประเทศที่มีความเสี่ยง”
ปัจจุบันทางการไทยพยายามผลักดันประเทศให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค สำหรับรัฐบาลและบริษัทในประเทศเพื่อนบ้านในการระดมทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของตน
นโยบายดังกล่าวทำให้รัฐบาล สปป.ลาว และหน่วยงานสาธารณูปโภคของ สปป.ลาว กลายเป็นผู้ออกพันธบัตรสกุลเงินบาท ‘รายสำคัญ’ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศซึ่งไม่มีทางออกสู่ทะเล
ยกระดับกฎเกณฑ์ = ลดความน่าสนใจ?
ขณะที่ อดิศร สิงห์สัจจะ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทวิน ไพน์ กรุ๊ป จำกัด ที่ปรึกษาชั้นนำในการระดมทุนกลุ่มประเทศ CLMVT กล่าวว่า ข้อกำหนดนี้อาจลดความน่าสนใจของไทยในฐานะแหล่งระดมทุนสำหรับรัฐบาลและบริษัทในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ สปป.ลาว
“ผู้ออก Baht Bond ส่วนใหญ่ไม่มีอันดับความน่าเชื่อถือที่สามารถขายบอนด์ให้กับนักลงทุนชาวไทยได้” อดิศรกล่าว
เปิดเครดิตเรตติ้ง สปป.ลาว
ตามการรวบรวมข้อมูลของ THE STANDARD WEALTH พบว่า ปัจจุบัน Moody’s Investors Service จัดอันดับเครดิต สปป.ลาว อยู่ที่ Caa3 โดยมีแนวโน้ม (Outlook) อยู่ที่ ‘มีเสถียรภาพ’ (Stable) ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2022 ขณะที่ Fitch Ratings ประกาศคงอันดับเครดิต สปป.ลาว ไว้ที่ CCC- เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2022
โดยทั้งระดับ Caa3 และ CCC- ล้วนเป็นระดับไม่น่าลงทุน (Speculative Grade) หรือกลุ่มเก็งกำไร ที่อาจสะท้อนได้ถึงความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ
ก.ล.ต. เปิดเฮียริ่งปรับเกณฑ์ Baht Bond กิจการต่างประเทศ ‘ไม่ต้องผ่านคลัง’
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการอนุญาตออกและเสนอขายตราสารหนี้ในประเทศไทยสำหรับกิจการต่างประเทศ หรือ Baht Bond โดยปรับปรุงกระบวนการยื่นคำขออนุญาตออกและเสนอขายตราสารหนี้สกุลเงินบาทในประเทศไทยของกิจการต่างประเทศ รวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับลักษณะความเสี่ยงของผู้ออกซึ่งเป็นกิจการต่างประเทศ
เสนอให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพิ่มเติม ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้
- ปรับปรุงแนวทางการขออนุญาตออกและเสนอขาย Baht Bond โดยให้ผู้ขออนุญาตยื่นคำขอต่อ ก.ล.ต. โดยไม่ต้องผ่านการได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง
- ปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตออกและเสนอขาย Baht Bond ได้แก่ การกำหนดให้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสาร (Issue Rating) โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ (International CRA) และต้องได้รับ Issue Rating ไม่ต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade)* การกำหนดให้ต้องให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้และมีการนำตราสารหนี้ที่เสนอขายไปขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ทุกกรณี และสำหรับผู้ออกรายเดิมเพื่อทำการชำระหนี้ตราสารหนี้คงค้าง (Roll-Over) ที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในเรื่องการได้รับอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารที่ไม่ต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ ก.ล.ต. ได้มีการกำหนดแนวทางขอผ่อนผันชั่วคราวสำหรับการขออนุญาตของกลุ่มดังกล่าว เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดกับผู้ออก ผู้ลงทุน และความเชื่อมั่นในตลาดตราสารหนี้
- ปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตออกและเสนอขายตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศในประเทศไทย (FX Bond) ของกิจการต่างประเทศให้เป็นลักษณะเดียวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตออกและเสนอขาย Baht Bond
อ้างอิง: