×

ลุยแก้กฎหมายออกเป็น พ.ร.ก. เพิ่มอำนาจให้ ก.ล.ต. สอบสวนคดีอาญา คาดช่วยทำคดีเร็วขึ้นจากเดิมอีก 6-7 เดือน

31.01.2025
  • LOADING...
การแถลงนโยบายเพิ่มอำนาจ ก.ล.ต.

เดินหน้าสร้าง Trust and Confidence ให้ตลาดทุนไทย คลังเตรียมแก้กฎหมาย ออก พ.ร.ก. เพิ่มอำนาจ ก.ล.ต. สอบสวนคดีอาญา คาดทำคดีเร็วขึ้นจากเดิม 6-7 เดือน

 

พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ ‘การพัฒนาตลาดทุนไทยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ’ ระบุว่า ตลาดทุนจะต้องเป็นกลไกสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน เศรษฐกิจและตลาดทุนจะทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

โดยเป้าหมายเรื่องที่สำคัญที่สุด หรือ Key Results ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตามแผนยุทธศาสตร์ปี 2568-2570 เรื่องที่ภาครัฐบาลต้องการเห็นมากที่สุด คือ การสร้างความน่าเชื่อ (Trust and Confidence) เพราะถือเป็นประเด็นที่มีความสำคัญครอบคลุมเกือบทุกเรื่อง


“เรื่อง Trust and Confidence ไม่ใช่แค่ว่าจะลงทุนอะไร แล้วจะได้ผลหรือไม่ได้ผล จะมีขีดความสามารถการแข่งขันหรือไม่ แต่เมื่อเข้ามาในตลาดทุนแล้วต้องมีกติกาที่ชัดเจน ผมก็ดีใจที่แผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. บอกว่าเรื่องแรกที่จะต้องทำเลยและต้องจริงจังคือกระบวนการบังคับใช้กฎหมายเอาจริงกับผู้กระทำผิด และบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น”

 

ทั้งนี้ ต้องมีกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้น ลงโทษผู้กระทำผิดได้รวดเร็ว และจะเร่งขั้นตอนการเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

 

ปัจจุบันกระทรวงการคลังร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้กฎหมาย โดยดึงบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ Trust and Confidence เพื่อออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพราะสามารถทำได้เร็วกว่าการแก้กฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อเพิ่มอำนาจให้สำนักงาน ก.ล.ต. บังคับใช้กฎหมายให้สั่งการและดำเนินการได้ โดยเฉพาะในกรณีที่มีผลกระทบสูง (High Impact) หรือเป็นเรื่องใหญ่ เพื่อเป็นออปชัน

“ที่ผ่านมาก็มีการแก้ปัญหาเรื่อง Naked Short Selling ไปแล้ว รวมถึงอีกอย่างที่แก้ปัญหาไปแล้ว ทำให้การ Short Selling ลดลง” พิชัยกล่าว

 

ลุยแก้กฎหมายออกเป็น พ.ร.ก. เพิ่มอำนาจ ก.ล.ต. ช่วยทำคดีเร็วขึ้นอีก 6-7 เดือน

 

พิชัยให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวต่อว่า การแก้กฎหมายจะออกเป็น พ.ร.ก. ดังกล่าว เพื่อเพิ่มอำนาจในการสอบสวนคดีอาญา เพื่อทำงานร่วมกับพนักงานสอบสวน คือ ตำรวจ, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบถามความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์จะสามารถนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบ จากนั้นหลังประกาศราชกิจจานุเบกษาก็จะมีผลบังคับใช้ได้ทันที

 

และหลังจากกฎหมายดังกล่าวเริ่มใช้ เชื่อว่าจะส่งผลให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต. มีความรวดเร็วขึ้นจากเดิม ช่วยลดความเสียหายให้แก่นักลงทุน และเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่นของตลาดทุนให้กลับมาได้

 

ส่วนแผนการผลักดัน Financial Hub มองว่าเป็นโอกาสของประเทศไทยในการดึงดูดบริษัทชั้นนำเข้ามาลงทุน โดยช่วงแรกการให้สถาบันการเงินจากต่างชาติเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยจะเป็นการรับเฉพาะลูกค้าต่างชาติเท่านั้น ซึ่งเป็นการทดลองในช่วงแรกก่อนที่จะขยายการรับลูกค้าในประเทศ ประกอบกับอยากเห็นบริษัทต่างชาติเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น รวมถึงมีความตั้งใจอยากจะดึงบริษัทของไทยที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับตลาดหุ้นไทยมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ยังอยากเห็นบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เข้ามามีบทบาทในการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากมองว่า บล. มีจุดแข็งคือเป็นที่รู้จักกับผู้ลงทุนเป็นอย่างดี มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุน และอยู่ภายใต้การกำกับจากสำนักงาน ก.ล.ต. อยู่แล้ว ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยเกิดขึ้นได้รวดเร็วขึ้น พร้อมอยากเห็นการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สร้างมูลค่าให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย

 

ศ.พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ประธานกรรมการ ก.ล.ต. กล่าวว่า กฎหมายฉบับใหม่จะเป็นการเพิ่มอำนาจเปิดให้ ก.ล.ต. สามารถเตรียมทำสำนวนคดีอาญาและร่วมสอบสวนได้เอง ส่งผลให้ระยะเวลาในการดำเนินคดีลดลงอย่างมาก โดยจะช่วยให้การดำเนินการในแต่ละคดีเข้าสู่กระบวนการบังคับใช้ทางกฎหมายและยื่นฟ้องร้องต่อศาลได้เร็วขึ้นอย่างน้อย 6-7 เดือน คดีที่ไม่มีการจับกุมคุมขังอาจลดระยะเวลาให้เร็วขึ้นจากเดิมเกือบ 1 ปี แต่การส่งฟ้องคดียังเป็นอำนาจหน้าที่ของอัยการ

 

สำหรับคดีที่เข้าข่ายกรณี High Impact จะออกเป็นเกณฑ์โดยพิจารณาจากมูลค่าความเสียหาย จำนวนผู้เสียหาย และปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคณะกรรมการ ก.ล.ต. จะพิจารณากำหนดร่วมกันอีกครั้ง 

 

ขณะที่กระบวนการออก พ.ร.ก. ภายหลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบแล้ว จะส่งร่างกฎหมายไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจร่าง จากนั้นจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับใช้ได้ทันที

 

ศ.พิเศษ วิศิษฏ์ ยังกล่าวว่า นอกจากการกำหนดแผนยุทธศาสตร์แล้ว การขับเคลื่อนแผน (Implement) เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดย ก.ล.ต. ต้องมีความคล่องตัว (Agility) ในการดำเนินการในเรื่องต่างๆ ได้อย่างเท่าทันเหตุการณ์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งการสร้างธรรมาภิบาลในตลาดทุนผ่านมาตรการต่างๆ ที่มีอย่างต่อเนื่อง การพัฒนากฎกติกาให้เป็นมาตรฐาน สามารถตรวจสอบ ป้องกัน และลดความเสียหายได้ เช่น การจัดทำเกณฑ์การจำนำหุ้นที่จะออกมาในเร็วๆ นี้ การดำเนินการด้าน Trust and Confidence ยังมีเป้าหมายสำคัญคือ ความยุติธรรม (Justice) ซึ่งต้องไม่ล่าช้า

 

โดยปีที่ผ่านมา ก.ล.ต. ทำให้คดีที่คั่งค้างดำเนินการได้เร็วขึ้นจากปี 2566 อย่างชัดเจนถึง 3 เท่า และเชื่อว่าในอนาคตจะยังพัฒนาขึ้นอีก ผ่านการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้ทางกฎหมายที่จะเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ รวมถึงการเตรียมพร้อมสำหรับการดำเนินการสอบสวนการกระทำผิดได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพและสร้างความน่าเชื่อถือต่อตลาดทุนไทย

 

ขณะที่ ศ. ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า การแก้กฎหมายดังกล่าวเพื่อเพิ่มอำนาจสอบสวนให้ ก.ล.ต. จะช่วยให้ระยะเวลาในการทำสำนวนคดีกระชับขึ้นจากเดิม โดย ก.ล.ต. จะทำหน้าที่เป็นผู้สอบสวนหลักร่วมกับเจ้าหน้าที่สอบสวนเดิม

 

สำหรับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับกระบวนการที่สังเคราะห์ปัจจัยต่างๆ เช่น การศึกษาแนวโน้มและนโยบายตลาดทุนของต่างประเทศ ความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล การทำวิจัยเชิงลึก และการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน ได้ใช้ประโยชน์จากตลาดทุนตามเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. รวมทั้งเพื่อให้ผู้ร่วมตลาด ตลอดจนผู้ลงทุนและประชาชน ได้เห็นทิศทางกำกับดูแลและกำหนดนโยบายในการพัฒนาตลาดทุนในระยะ 3 ปีข้างหน้า ซึ่ง ก.ล.ต. มุ่งขับเคลื่อนแผนดังกล่าวโดยร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความสมดุลและสอดรับกับบริบทของประเทศ ซึ่งจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการส่งเสริมความเชื่อมั่นและการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศต่อไป

 

สำหรับแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2568-2570 มีเป้าหมายหลัก 5 ด้าน ได้แก่

 

  1. ตลาดทุนได้รับความเชื่อมั่น (Trust and Confidence)
  2. ตลาดทุนเป็นแรงขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Technology)
  3. ตลาดทุนเป็นกลไกสู่ความยั่งยืน (Sustainable Capital Market)
  4. ผู้ลงทุนมีสุขภาพทางการเงินที่ดี (Long-Term Investment)  
  5. ศักยภาพในการดำเนินการตามพันธกิจ (SEC Excellence)

 

“เป้าหมายทั้ง 5 ด้าน เป็นเป้าหมายที่ยกต่อเนื่องมาจากปีที่ผ่านมา เพราะยังสอดคล้องกับพันธกิจของ ก.ล.ต. ทั้งด้านการกำกับดูแลและการพัฒนา แต่ในปีนี้มีการปรับน้ำหนักเป้าหมายในแต่ละด้านให้สมดุลกันมากขึ้น เพื่อให้แผนงานมีความต่อเนื่องและสอดรับระหว่างเป้าหมายแต่ละด้านได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น” ศ. ดร.พรอนงค์ กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising