บอร์ดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ลงมติเห็นชอบให้ผู้ออก ‘Utility Token พร้อมใช้’ หากเตรียมนำเข้าจดทะเบียนในเว็บเทรด ต้องขออนุญาต ก.ล.ต. ทุกครั้ง และต้องไม่เข้าข่ายเป็นการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาเป็นสื่อกลางการชำระค่าสินค้า-บริการ ขณะเดียวกันยังเปิดไฟเขียวขยายเวลายกเว้นค่าธรรมเนียมอนุญาตและแบบไฟลิ่งหุ้นกู้ยั่งยืนต่ออีก 3 ปี
รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 โดยมีสาระสำคัญ 2 เรื่องดังนี้
เรื่องแรก คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบแนวทางการกำกับดูแล ‘โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ในลักษณะพร้อมใช้’ (Utility Token พร้อมใช้) โดยนับตั้งแต่พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีพัฒนาการอย่างมาก ในหลายอุตสาหกรรมมีการใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัล โดยแปลงสิทธิ์เป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่มีลักษณะพร้อมใช้ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว บันเทิง และกีฬา มีการแปลงคูปอง บัตรกำนัล คะแนนสะสม หรือบัตรเข้าชมงาน ให้อยู่ในรูปโทเคนดิจิทัล และมีความประสงค์ที่จะนำ ‘Utility Token พร้อมใช้’ ไปจดทะเบียน (List) และซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยอาจมีวัตถุประสงค์เพื่อการระดมทุน หรือการซื้อขาย / การลงทุนมากกว่าการใช้สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากโทเคนดิจิทัล จึงควรใช้กลไกการกำกับดูแลในแนวเดียวกับการระดมทุน ทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง เพื่อเพิ่มการคุ้มครองผู้ซื้อขาย / ผู้ลงทุนให้มีข้อมูลเพียงพอ รวมทั้งมีกลไกกำกับดูแลการซื้อขายในตลาดรองที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
คณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงมีมติเห็นชอบหลักการในการปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแล ‘Utility Token พร้อมใช้’ ทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับลักษณะความเสี่ยง พัฒนาการ และการใช้งาน รวมถึงการคุ้มครองผู้ลงทุนให้เหมาะสม เช่น กำหนดให้ผู้ออกเสนอขาย (Issuer) ที่ประสงค์จะนำ ‘Utility Token พร้อมใช้’ ไปจดทะเบียนซื้อขายในศูนย์ซื้อขายฯ ต้องขออนุญาตเสนอขายกับ ก.ล.ต. และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด กำหนดให้ศูนย์ซื้อขายฯ มีกลไกด้านการเปิดเผยข้อมูลและกำกับดูแลความเสี่ยงในการซื้อขายเพิ่มขึ้น เป็นต้น โดยโทเคนดิจิทัลดังกล่าวต้องไม่เข้าข่ายเป็นการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment)
ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้สนใจ และประชาชน เกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลดังกล่าวต่อไป
สำหรับ ‘โทเคนดิจิทัล’ เป็นเหรียญดิจิทัลที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือเหรียญ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. Investment Token และ 2. Utility Token โดย Utility Token แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
2.1 Utility Token พร้อมใช้ สามารถใช้สิทธิ์แลกหรือใช้บริการได้ทันทีตั้งแต่วันที่เสนอขายครั้งแรก
2.2 Utility Token ไม่พร้อมใช้ ยังไม่พร้อมให้ใช้สิทธิ์แลกหรือใช้ประโยชน์สินค้าหรือบริการนั้น ต้องรอใช้สิทธิ์ในอนาคต
ในปัจจุบันผู้ออกเสนอขาย ‘Investment Token’ และ ‘Utility Token ไม่พร้อมใช้’ ต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. มีการเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนด และต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.
ส่วนเรื่องที่สอง คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบการขยายเวลายกเว้นค่าธรรมเนียมอนุญาตและแบบไฟลิ่งหุ้นกู้ยั่งยืนต่ออีก 3 ปี
โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบหลักการในการขยายระยะเวลาการยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุญาตและค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ (แบบไฟลิ่ง) สำหรับการออกเสนอขายตราสารหนี้หรือหุ้นกู้กลุ่มยั่งยืน ได้แก่ ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) ต่อเนื่องไปอีก 3 ปี จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2568
นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ยังมีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงเงื่อนไขการใช้เงินลงทุนสำหรับ Green Bond, Social Bond และ Sustainability Bond เพื่อใช้ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคมเพื่อความยั่งยืน
โดยไม่จำกัดประเทศที่ลงทุน จากเดิมที่กำหนดให้ใช้เงินในประเทศไทยหรือกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เพื่อขยายโอกาสการลงทุนสำหรับภาคธุรกิจทั้งในและนอกภูมิภาค และเน้นย้ำบทบาทตลาดทุนไทยที่มุ่งส่งเสริมการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก รวมทั้งเพื่อรองรับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2608
ทั้งนี้นับจากที่มีเกณฑ์รองรับหุ้นกู้กลุ่มยั่งยืนในปี 2561 จนถึง ณ สิ้นปี 2564 มีผู้ออกเสนอขายหุ้นกู้กลุ่มยั่งยืนทุกประเภท รวมทั้งสิ้น 21 ราย คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 3 แสนล้านบาท