×

ก.ล.ต. เล็งกำกับ ‘Utility Token’ แบบพร้อมใช้ ขณะที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเสนอให้กำกับเหรียญที่มีแนวโน้มหลอกลวงมากขึ้น

22.03.2022
  • LOADING...
Utility Token

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่ในการกำกับดูแลเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ล่าสุดเตรียมที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการเข้ามากำกับดูแล Utility Token แบบพร้อมใช้

 

จอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการสายระดมทุน ก.ล.ต. เปิดเผยว่า แนวทางกำกับดูแลจะเน้นการเปิดเผยข้อมูลให้กับประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง และสามารถตรวจสอบและเอาผิดหากเกิดความเสียหายขึ้นในอนาคต โดยคาดว่าจะเปิดรับฟังความคิดเห็นภายในเดือนเมษายนนี้

 

“ก.ล.ต. มีแนวคิดที่จะกำกับดูแล Utility Token แบบพร้อมใช้มากขึ้น จากที่ผ่านมาโทเคนเหล่านี้ถูกนำมาจดทะเบียนในตลาดรองเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนและเก็งกำไรกันมากขึ้น โดยการกำกับดูแลจะเน้นในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลเป็นหลัก และไม่ขัดขวางการพัฒนาด้านนวัตกรรม”

 

ทั้งนี้ ตามกฏหมายพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เดิมมีการกำหนดให้ผู้ที่ต้องการออกโทเคนทั้งแบบ Investment และ Utility ต้องขออนุญาตกับทาง ก.ล.ต. ก่อน และมีการออกข้อยกเว้นให้กับ Utility ไม่ต้องขออนุญาต สามารถออกได้เลย แต่ต่อมาพบว่ามีการนำ Utility Token เข้ามาทำการซื้อขายในตลาดรองจำนวนมาก ก.ล.ต. จึงมีแนวคิดที่จะแยกให้ Utility Token ที่ต้องการให้มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนในตลาดรองต้องมาขออนุญาตก่อน

 

หลักการสำคัญคือ ผู้ที่ต้องการออกโทเคนเหล่านี้จะต้องเปิดเผยข้อมูลของเหรียญ จำนวนของเหรียญ และนำเสนอ White Paper เพื่อเปิดเผยให้กับนักลงทุนรับทราบและประกอบการตัดสินใจ สามารถตรวจสอบเหรียญต่างๆ ว่าดำเนินการตามแผนที่ให้ไว้หรือไม่ 


โดยช่องทางที่ผู้ที่ต้องการจะออกโทเคนนั้นแบ่งเป็น 2 แบบหลัก คือ แบบ Fast Track และแบบ Normal Track หากเป็นโทเคนที่มีความชัดเจน ทั้งจำนวนของเหรียญที่มีอยู่ทั้งหมด มีมูลค่าอ้างอิงของเหรียญ รวมถึงเป็นเหรียญที่ใช้แล้วหมดไป ก็จะสามารถเข้าสู่ช่องทาง Fast Track ได้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ที่ต้องการออก แต่หากเป็นโทเคนที่มีความซับซ้อนก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการแบบ Normal Track 

 

นอกจากนี้ในระหว่างการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว มีผู้ที่เสนอให้ ก.ล.ต. เข้ามากำกับดูแลในส่วนของเหรียญหรือโทเคนที่มีความเสี่ยงสูงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเหรียญหรือโทเคนที่ผู้ออกมาประวัติไม่ดีนัก หรือมีแนวโน้มที่จะเป็นการหลอกลวง โดยอาจจะเป็นลักษณะของการเตือนหรือจัดทำลิสต์ของเหรียญที่มีความเสี่ยง เป็นต้น 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X