×

นั่งรถเบาะหลังไม่คาดเข็มขัดนิรภัย เจอปรับ 2,000 บาท เริ่ม 5 ก.ย. นี้

โดย THE STANDARD TEAM
10.08.2022
  • LOADING...
จิรสันต์ แก้วแสงเอก

วานนี้ (9 สิงหาคม) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 มีใจความสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดความปลอดภัยสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ที่ผู้ปกครองจะต้องจัดให้มีที่นั่งนิรภัย (Car Seat) ตลอดระยะเวลาที่นั่งโดยสาร เพื่อป้องกันอันตรายจากกรณีประสบอุบัติเหตุ

 

นอกจากนี้ยังมีสาระสำคัญในมาตรา 123 ภายใต้บังคับมาตรา 123/1 ที่ระบุว่า ในขณะขับรถยนต์ ผู้ที่อยู่ในรถยนต์ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้

 

ผู้ขับขี่ ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะขับรถยนต์

 

คนโดยสาร ทั้งคนโดยสารที่นั่งแถวตอนหน้าและที่นั่งแถวตอนอื่น ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะโดยสารรถยนต์ คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือนั่งในที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย และคนโดยสารที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่ง หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะนั่งแถวตอนใด

 

ขณะที่อีกหนึ่งประเด็นที่กำหนดไว้ คือมาตรา 123 ภายใต้บังคับมาตรา 123/1 ในขณะขับรถยนต์ ผู้ที่อยู่ในรถยนต์ ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่นั่งแถวตอนหน้าและที่นั่งแถวตอนอื่น จะต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาที่โดยสารรถยนต์

 

เว้นแต่มีเหตุผลด้านสุขภาพอันไม่สามารถรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งได้ หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกระวางโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท 

 

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในอีก 120 วัน นับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือวันที่ 5 กันยายนนี้ 

 

ขณะที่วันนี้ (10 สิงหาคม) พล.ต.ต. จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ชี้แจงถึง พ.ร.บ. ดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 5 กันยายนนี้ว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวจะครอบคลุมทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์สาธารณะ รวมถึงรถกระบะและกึ่งกระบะ โดยจะยกเว้นรถนั่งสองแถวและรถโดยสารขนาดเล็ก ที่มีการจัดที่นั่งตามความยาวของตัวรถ 

 

สำหรับการตรวจจับและบังคับใช้กฎหมายนั้น เบื้องต้นเจ้าหน้าที่จะมีการว่ากล่าวตักเตือนก่อน เพื่อให้ผู้ใช้รถยนต์เก่าก่อนปี 2537 นำไปปรับปรุงภายใน 90 วัน สำหรับผู้ที่ขับขี่รถตั้งแต่ปี 2538 – ปัจจุบัน พ.ร.บ. ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 5 กันยายนนี้

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising