เยาวชนยุคปัจจุบันเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้พวกเขาเข้าถึงสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตได้อย่างง่ายดาย เห็นได้จากเด็กอายุเพียงไม่กี่ปีที่สามารถสไลด์หน้าจอได้คล่องแคล่วราวกับผู้ใหญ่ ส่งผลให้เหล่านักวิจัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ปกครองทั้งหลายต่างกังวลกับผลกระทบที่จะเกิดต่อสุขภาพและพัฒนาการของเด็ก ซึ่งพวกเขาอาจไม่ผิดนัก
ผลวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Pediatrics ของสหรัฐอเมริกา เผยว่าเด็กในวัย 2-3 ปีที่ใช้เวลากับหน้าจอมากเกินไปจะได้รับผลกระทบโดยตรงต่อพัฒนาการในช่วงวัย 3-5 ปี ซึ่งพัฒนาการในที่นี้รวมถึงการเจริญเติบโตด้านการสื่อสาร การเคลื่อนที่ การแก้ไขปัญหา และการเข้าสังคม โดยอ้างอิงจากการทำแบบคัดกรองพัฒนาการ หรือ ASQ นอกจากนั้นในปี 2017 องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Common Sense Media รายงานว่าเยาวชนอายุ 8 ปีหรือต่ำกว่าใช้เวลาโดยเฉลี่ย 2 ชั่วโมง 19 นาทีต่อวันในการจ้องหน้าจอ
ทั้งนี้โดยเฉลี่ยแล้วเด็กอายุ 2 ปี, 3 ปี และ 5 ปี ใช้เวลาบนหน้าจอประมาณ 2.4 ชั่วโมง, 3.6 ชั่วโมง และ 1.6 ชั่วโมงต่อวันตามลำดับ ซึ่งสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำให้จำกัดการใช้หน้าจอของเด็กในวัย 2-5 ปีให้เหลือเพียงแค่ 1 ชั่วโมงต่อวัน
“เด็กในการโครงการวิจัยใช้เวลามองหน้าจออยู่ที่ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน แสดงว่าโดยส่วนใหญ่แล้วพวกเขายังใช้เวลาเกินกว่าที่กำหนดไว้ ซึ่งก็คือ 1 ชั่วโมงต่อวัน” เชรี เมดิแกน (Sheri Madigan) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านพัฒนาการของเด็กแห่งมหาวิทยาลัยคัลการีและผู้เขียนงานวิจัยชิ้นนี้กล่าว
นอกจากนั้นจากการเก็บข้อมูลของเด็กจำนวน 2,441 คน พบว่าเมื่อให้เด็กทำแบบคัดกรองพัฒนาการ เด็กอายุ 2-3 ปีที่จ้องหน้าจอมากๆ มีพัฒนาการที่ช้าลงในวัย 3-5 ปี เชรีเสริมอีกว่าการใช้เวลาบนหน้าจอที่มากเกินไปในระยะยาวส่งผลร้ายต่อพัฒนาการของเด็ก โดยอาจเทียบได้กับการที่ผู้ปกครองให้เด็กๆ รับประทานอาหารขยะ ที่หากบริโภคมากเกินไปจะก่อให้เกิดผลเสียอย่างแน่นอน
แม้ผลการวิจัยจะไม่ได้ระบุถึงจำนวนชั่วโมงที่เหมาะสมต่อการใช้เวลาบนหน้าจอของเด็ก แต่ผู้ปกครองควรให้ความดูแลใส่ใจเด็กๆ อย่างใกล้ชิด รวมไปถึงจำกัดช่วงเวลาและเนื้อหาบนสื่อเพื่อสุขภาพที่ดีของเด็กๆ ในอนาคต
อ่านเรื่อง แสบตาจากแสงจ้า คุณมีอาการตาแพ้แสงจากโทรศัพท์อยู่หรือเปล่า ได้ที่นี่
ภาพ: Shutterstock
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: