×

แสบตาจากแสงจ้า คุณมีอาการตาแพ้แสงจากโทรศัพท์อยู่หรือเปล่า

21.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 Mins. Read
  • โดยปกติมนุษย์กะพริบตาประมาณ 18 ครั้งต่อนาที เพื่อทำให้ดวงตาชุ่มชื้นตามกลไกธรรมชาติ แต่เมื่อจดจ่อกับการจ้องหน้าจอนานๆ ร่างกายจะกะพริบตาน้อยลง ทำให้ดวงตาแห้งและเกิดอาการระคายเคือง แสบ แดง บางครั้งอาจทำให้ตาพร่า หรืออยู่ในที่ที่มีแสงสว่างจ้าไม่ได้ ซึ่งเป็นอาการที่เรียกว่า ‘Photophobia’ หรือ ‘ตาแพ้แสง’ นั่นเอง

เคยลองสังเกตกันไหมว่า หลังจากเราสไลด์หน้าจอมือถือ เลื่อนขึ้นลงดูไอจีสักพัก หรือจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ แล้วออกไปในที่ที่มีแสงสว่างจ้า หรือจ้องวัตถุที่สะท้อนแสงมากๆ เราจะรู้สึกแสบตาจนน้ำตาแทบไหล หรือต้องหลับตาหนี เพราะรู้สึกว่าแสงจ้าเกินไปจนปวดตา อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่า คุณกำลังเผชิญกับอาการตาแพ้แสง หรือ ‘Photophobia’ นั่นเอง

 

โดยธรรมชาติแล้ว ดวงตาของเราจะทนต่อแสงได้ในระดับหนึ่ง แต่อาการตาแพ้แสงจะทำให้ดวงตาของเราอ่อนแอกว่าปกติ ซึ่งเมื่อเจอแสงสว่างมากๆ จะมีอาการปวดดวงตา หรือรู้สึกแสบตา จนบางครั้งน้ำตาไหล ซึ่งอาการตาแพ้แสง หรือ Photophobia นั้นไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เป็นสภาวะที่ดวงตาเกิดอาการอักเสบ ระคายเคือง เนื่องจากดวงตาขาดความชุ่มชื้น

 

 

เมื่อเราจดจ่อกับการสไลด์อ่านสเตตัสของเพื่อนบนเฟซบุ๊ก หรือแอบส่องคนที่ชอบในอินสตาแกรมไปเพลินๆ ลองสังเกตว่า เราจะกะพริบตาน้อยลง ส่งผลให้เกิดอาการตาแห้ง ซึ่งโดยปกติแล้วมนุษย์เราจะกะพริบตาประมาณ 18 ครั้งต่อนาที เพื่อทำให้ดวงตาชุ่มชื้นตามกลไกธรรมชาติ แต่เพราะเรากะพริบตาน้อยลง ดวงตาจึงขาดน้ำ ทำให้เกิดอาการระคายเคือง แสบ แดง บางครั้งอาจทำให้ตาพร่า อยู่กลางแจ้งในที่ที่มีแสงสว่างมากๆ ไม่ได้ และหากไม่รีบรักษาหรือเป็นบ่อยๆ เข้า อาจทำให้เกิดอาการน่าเป็นห่วงอื่นๆ ตามมาได้ เช่น อาการตาพร่า ปวดตา ตาอักเสบ น้ำตาไหลตลอดเวลา เวียนศีรษะ และไมเกรน ดังนั้นอย่าลืมกะพริบตาบ่อยๆ (ประมาณ 2-3 ครั้งต่อ 10 วินาที) เพื่อรักษาให้ดวงตาของเราชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา

 

จากการศึกษาของจักษุแพทย์ ไบรอัน บ็อกเซอร์ วอชเลอร์ (Brian Boxer Wachler) บอกไว้ว่า คนส่วนใหญ่ที่มักจะมีปัญหาเรื่องดวงตาคือ กลุ่มคนทำงานหน้าจอเป็นกิจวัตร สาเหตุมาจากการจ้องหน้าจอนานๆ โดยไม่พักสายตานั่นเอง โรคนี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า Computer Vision Syndrome (CVS) และนอกจากการจ้องหน้าจอนานเกินไปแล้ว การจ้องหน้าจอในระดับสายตามองตรงและใกล้เกินไปเป็นเวลานานก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุเช่นกัน เพราะดวงตาของเราจะเคลื่อนไหวได้ดีที่สุดในลักษณะการมองลงข้างล่าง ดังนั้นการจ้องหน้าจอในระดับสายตาไปนานๆ อาจทำให้ดวงตาของเราล้าได้

 

 

เราพกวิธีการนั่งทำงานหน้าจอที่ดีต่อดวงตาที่สุดมาให้ดังนี้

  1. ขอบบนสุดของหน้าจอควรอยู่ในระดับสายตา เพื่อทำให้ดวงตาของเราเคลื่อนไหวในลักษณะมองลงได้ตามธรรมชาติ
  2. หากหน้าจอคอมพิวเตอร์ของคุณใหญ่หรือขยับไม่ได้ ให้ใช้วิธีนั่งให้ห่างจากจอประมาณ 1 ช่วงแขนหรือไกลกว่านั้นตามขนาดจอคอมพิวเตอร์
  3. ปรับจอให้เอนรับระดับสายตา การใช้จอตั้งตรงทำให้ดวงตาทำงานหนัก และทำให้เกิดอาการตาล้า
  4. อย่าลืมพักสายตาทุกๆ 20-30 นาที ด้วยการมองไกลๆ หรือหลับตาสัก 10-20 วินาที เพื่อเติมความชุ่มชื้นให้ดวงตา
  5. น้ำตาเทียมเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการเติมความชุ่มชื้นให้ดวงตา

 

แต่หากรู้สึกว่า ตัวเองมีอาการแพ้แสงรุนแรงผิดปกติ แนะนำให้เข้าพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อรักษาอย่างใกล้ชิด

 

Photos: Shutterstock

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

FYI
  • สีของดวงตามีผลต่อโอกาสในการเกิดอาการตาแพ้แสงได้ โดยผู้ที่มีดวงตาสีอ่อน (เช่น สีฟ้า) จะมีโอกาสเกิดอาการตาแพ้แสงได้ง่ายกว่าผู้ที่มีดวงตาสีเข้ม เพราะเม็ดสีของดวงตาสามารถช่วยป้องกันแสงสว่างได้
  • LOADING...

READ MORE



Latest Stories

Close Advertising