เวลาเดินทาง นอกเหนือจากลิสต์เสื้อผ้าหน้าผมและของท้องถิ่น ก็มี ของที่ระลึก นี่แหละ ที่นักเดินทางพร้อมจะควักกระเป๋าเงินจ่ายอย่างไม่อิดออด ไม่ว่าเป็นในรูปแบบของพวงกุญแจ ตุ๊กตามาสคอต สมุดเส้นสวย โปสการ์ด หรือแม้แต่แผ่นแม่เหล็กชื่อสถานที่ ของสะสมยอดนิยมที่เรามักซื้อไปแจกหรือติดตกแต่งตู้เย็น หลายของที่ระลึกถูกประดับประดาอยู่ตามบ้าน บางชิ้นถูกหลงลืมชนิดซื้อเองกับมือยังแอบตั้งคำถามเลยว่า “เอ๊ะ ฉันซื้อมาเมื่อไรนะ” แต่ถึงกระนั้น เราก็ยังคงจับจ่ายซื้อของที่ระลึกจนคุ้นชินเหมือนหน้าที่
ไม่นานมานี้มีผลงานวิจัยจากสถาบันแห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักรออกมาตอกย้ำพฤติกรรมให้ช้ำใจเล่นว่า จริงๆ แล้ว ‘ของที่ระลึก’ ที่เราพึ่งซื้อทั้งหลายนั้น สร้างความสุขในระยะยาวให้เราน้อยกว่ายามระลึกถึง ‘สถานที่’ สวยๆ เมื่อครั้งเดินทางเสียอีก
‘Places That Make Us’ เป็นโครงการวิจัยในความดูแลของ National Trust องค์กรการสื่อสารที่มีจุดประสงค์เพื่อดูแลสถานที่น่าสนใจทางประวัติศาสตร์ และความงามตามธรรมชาติอย่างยั่งยืน ในขอบรั้ว 3 ประเทศ คือ อังกฤษ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ งานวิจัยชุดนี้มีจุดประสงค์เพื่อพิสูจน์แนวคิดแบบ Topophilia คำที่นักวิชาการใช้เรียกความรู้สึกรักและผูกพันระหว่างคนกับสถานที่บางแห่ง ทีมวิจัยของ National Trust ทำการวิจัย 3 รูปแบบ คือ fMRI ตรวจการทำงานของสมอง การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก และการตอบคำถามทางออนไลน์ ร่วมกับอาสาสมัคร 2,000 คน เกี่ยวกับสถานที่ที่เขาชอบ เพื่อดูว่าสถานที่เหล่านั้นมีผลอย่างไรบ้างกับคนกลุ่มนั้น
การทดสอบคลื่นสมองทำให้เห็นว่า สมองส่วนอะมิกดะลา (Amygdala) กลุ่มของนิวเคลียสรูปอัลมอนด์ ที่ฝังลึกอยู่ในสมองกลีบขมับส่วนกลาง มีหน้าที่ในการช่วยเก็บบันทึกความทรงจำในเหตุการณ์ต่างๆ และสร้างการตอบสนองทางอารมณ์ของผู้เข้าร่วมทดสอบได้รับการกระตุ้นเป็นแสงสว่างวาบ เมื่อได้เห็นภาพของสถานที่ที่มีความหมายกับพวกเขา
Nino Strachey (นีโน สตราชี) หัวหน้าทีมวิจัยของ National Trust ยังตั้งข้อสงสัยอีกว่า “สถานที่ดังกล่าวสามารถทำให้คนเรารู้สึกสุขสงบได้จริงหรือไม่?” ข้อสงสัยนี้วัดผลจากการสัมภาษณ์ทั้งเชิงลึกและแบบสอบถาม ผลที่ได้ไม่ต่างจากที่คาดมากนัก
และเมื่อทำการเปรียบเทียบกับสิ่งของมีค่า ด้วยการให้ดูรูปภาพสถานที่และของมีค่าส่วนตัว ผลปรากฏว่าสถานที่ที่พวกเขาผูกพัน มีผลทำให้สมองตื่นตัวมากกว่า ซึ่ง Alastair Bonnett (อลาสแตร์ บอนเนตต์) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา และนักเขียนผู้เขียนหนังสือเรื่อง ‘Beyond the Map’ ให้ความคิดเห็นว่า “เราสามารถหาซื้อหรือขายสิ่งของได้เสมอ ไม่เหมือนกับสถานที่โปรด ซึ่งไม่มีทางหายไปไหน” เขายังกล่าวเสริมอีกว่า “แม้มหาเศรษฐีที่ซื้อเกาะ ก็ไม่รู้สึกผูกพันกับสถานที่ใดเท่ากับสถานที่หนึ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิต…อย่าลืมว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีมนุษย์สู้ตายเพื่อสถานที่เป็นจำนวนไม่น้อย”
ครั้งต่อไปหากคุณผิดหวังกับของที่ระลึกที่ไม่ได้ดังใจสักที ไม่ต้องกังวลหรือลำบากกายไปตามหา แค่ถ่ายภาพสวยพร้อมความทรงจำดีๆ เก็บไว้ ย่อมดีกว่าของที่ระลึกมากมายที่คุณเพียรหา แล้วสุดท้ายก็วนลูปมาคำถามเดิมที่ว่า “เอ๊ะ ฉันซื้อมาทริปไหนกัน”
อ้างอิง:
- www.cntraveler.com/story/science-says-we-care-more-about-places-than-things
- www.theguardian.com/education/2017/oct/12/wellbeing-enhanced-more-by-places-than-objects-study-finds
- www.nationaltrust.org.uk/documents/places-that-make-us-research-report.pdf?awc=3795_1516645787_21b1522d15f67edf5621d46864698ac8&campid=Affiliates_Central_Mem_AWIN_Standard&aff=78888
- Topophilia มีความหมายว่า ความรักที่มีต่อสถานที่ รากศัพท์ภาษากรีก Topos หมายถึงสถานที่ และ Philia หมายถึง ความรักที่มีต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
- คำว่า Topophilia ปรากฏตัวครั้งแรกในหนังสือ ‘The Poetics of Space’ (La Poétique de l’Espace) เขียนโดย Gaston Bachelard เพื่อใช้อธิบายสถานที่ที่มีคุณค่าแก่การปกป้อง
- ชื่อเต็มของ National Trust คือ National Trust for Places of Historic Interest or Natural Beauty