×

‘เอสซีจี’ เตรียมรับมือ ‘ภาษีทรัมป์’ คุมเข้มระมัดระวังการลงทุน-หยุดธุรกิจไม่ทำกำไร พร้อมงัด 4 กลยุทธ์ สู้ศึกสงครามการค้า

โดย THE STANDARD TEAM
02.05.2025
  • LOADING...

บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) หรือ ชื่อหุ้น SCC  แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1/2568 มีรายได้จากการขาย 124,392 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิจำนวน 1,099 ล้านบาท ลดลง 55% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในไตรมาสที่ 1/2567 บริษัทย่อย คือ บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) มีผลการขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ ประกอบกับมีส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมของ SCGC ที่ลดลง 

 

อีกทั้งค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าเสื่อมราคาและ ดอกเบี้ยของโรงงานปิโตรเคมีในเวียดนาม (LSP) และผลการดำเนินงานของ บมจ. เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGC) ที่ลดลง

 

อย่างไรก็ดี กำไรไตรมาส 1/2568 เพิ่มขึ้น 1,611 ล้านบาท เมื่อเปรียบกับไตรมาสก่อนที่มีผลการขาดทุนสุทธิจำนวน 512 ล้านบาท  เป็นผลจากการบริหารจัดการภายใน และการปรับปรุง ประสิทธิภาพของทุกธุรกิจ รวมถึงจากความต้องการตามฤดูกาลปรับเพิ่มขึ้นจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซีเมนต์และ การก่อสร้าง ประกอบกับผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจาก SCGC และ บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP)

 

ภาพ: ข้อมูลผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2568 ที่สำคัญ ของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย 

 

ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือ เอสซีจี เปิดเผยในงานแถลงข่าวผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2568 ระบุว่า กำไรในไตรมาส 1/2568 ของเอสซีจีที่ออกมาในระดับที่ดี เนื่องจากทุกกลุ่มธุรกิจในเครือที่มีความสามารถและมีมาตรการในการปรับตัวเพื่อรับมือความท้าทายที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

 

ในช่วงไตรมาส 1/2568 บริษัทสามารถในการสร้างกระแสเงินสดหรือกำไรก่อนภาษี, ค่าเสื่อม และดอกเบี้ยจ่าย  (EBITDA) ออกมาในระดับที่ดี 12,889 ล้านบาท ในภาวะปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจสูงจากผลกระทบของสงครามทางค้าถือว่ากระแสเงินสดมีความสำคัญมากกว่ากำไรสุทธิ 

 

สำหรับสาเหตุที่กำไรและกระเงินสดของบริษัทที่ดีขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจมาจากปัจจัยสนับสนุนของมาตรการเสริมความเข้มแข็งทางการเงินที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องก่อน มีการเร่งยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน ด้วยการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ 

 

รวมทั้งการ Restructuring ของทุกธุรกิจ มีการขยายตลาดใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมาตรการทั้งหมดที่ทำเริ่มออกผลลัพธ์ที่เป็นบวก ประกอบกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซีเมนต์และการก่อสร้าง มีความต้องการเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลก่อสร้างและงบประมาณภาครัฐที่เบิกจ่ายต่อเนื่อง 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย จะมีการปรับลดเป้าหมายรายได้จากการขายในปี 2568 ที่เคยตั้งเป้าหมายตั้งเติบโตขึ้น 3-5% จากปีก่อนหรือไม่ หลังจากที่รายได้ไตรมาส 1/2568 ออกมาทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

ธรรมศักดิ์ ระบุว่า สำหรับเป้าหมายรายได้จากการขายในปีนี้ ด้วยสถานการณ์ (Scenario) ปัจจุบันที่มีความวุ่นวายจากประเด็นของสถานการณ์สงครามการค้าโลก (Trade War) จากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ที่รุนแรง บริษัทยังคงต้องติดตามความชัดเจนในกรณีดังกล่าวอีกครั้งว่าจะมีข้อสรุปออกมาอย่างไร จึงจะนำมาประกอบในการพิจารณาทบทวนเป้าหมายรายได้จากการขายในปีนี้อีกครั้ง



“ตอนนี้มองว่ารายได้ในไตรมาส 1 กับ 2 ปีนี้ น่าจะยังสบายๆ แต่ไตรมาส 3 กับ 4 เราต้องเตรียมตัวรับมือผลกระทบจากกำแพงภาษีสหรัฐฯ ที่เปรียบเทียบเป็นคลื่นสึนามิที่สูง 10 เมตร แต่ถ้าไม่มาก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามาแค่ 3 เมตร เราก็จะอยู่รอดแบบสบายๆ เพราะเราเตรียมแผนรับมือไว้แล้ว”

 

ภาพ: ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย 

 

งัด  4 กลยุทธ์ สู้ศึก Trade War 

 

สำหรับสถานการณ์ Trade War จากการขึ้นภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจโลกปีนี้เหลือเพียง 2.8% ปัจจัยสำคัญมาจากการลดประมาณการ GDP ลงเกือบทุกประเทศ สำหรับ GDP ประเทศไทย ปรับลดลงเหลือ 1.8%

 

โดยเอสซีจี ได้ประเมินสถานการณ์และผลกระทบจากสงครามการค้าโลกไว้ดังนี้

 

  1. ผลกระทบทางตรงต่อเอสซีจี มีเล็กน้อย เนื่องจากในปี 2567 มีการส่งออกไปสหรัฐฯ เพียง 1% จากยอดขายรวมของกลุ่มเอสซีจี 

 

  1. ผลกระทบทางอ้อม หากพ้นระยะที่สหรัฐฯ ประกาศชะลอการจัดเก็บภาษีนำเข้า 90 วัน กลุ่มประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อาจถูกเก็บอัตราภาษีที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในประเทศไทยที่อาจถูกเก็บอัตราภาษีนำเข้าสูงถึง 36% ตามที่สหรัฐฯ ประกาศเมื่อ 2 เมษายน 2568 จึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคและโลกจะชะลอตัวรุนแรง การส่งออกระหว่างประเทศ รวมถึงการทะลักของสินค้าจากประเทศอื่นเข้ามาในประเทศไทย จะส่งผลให้การแข่งขันรุนแรงยิ่งขึ้น

 

ทั้งนี้เอสซีจีเตรียมดำเนินการเพิ่มใน 4 กลยุทธ์ เพื่อใช้รับมือสงครามการค้าโลกที่กำลังเกิด สำหรับทุกธุรกิจในกลุ่ม ดังนี้

 

  1. ลดต้นทุนเพื่อแข่งขันกับผู้ผลิตระดับโลกโดยเฉพาะจีน เพื่อรับมือสินค้าราคาถูกจากประเทศอื่นที่อาจเข้ามาแข่งขัน ด้วยวิธีการดังนี้

 

  • ลดต้นทุนการผลิต (Operation Cost) โดยควบรวมไลน์การผลิต ปรับปรุงประสิทธิภาพ ลดขั้นตอน โดยเพิ่มการใช้ Robotic Automation เช่น เอสซีจี ไฮม์ ใช้หุ่นยนต์อัจฉริยะประกอบบ้านโมดูลาร์ทนแผ่นดินไหวอย่างแม่นยำ

 

  • ลดต้นทุนการบริหารจัดการ (Admin Cost) โดยเพิ่มการใช้ AI ปรับปรุงประสิทธิภาพในทั้งองค์กรของเอสซีจี เช่น ใช้ AI คาดการณ์ความผิดปกติของเครื่องจักรก่อนเกิดความเสียหาย (Predictive Maintenance)

 

  • ปรับลดเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital)  ส่งผลให้สามารถลดหนี้สินสุทธิ ลงเหลือ 290,504 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2568 และเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจ

 

  • เพิ่มการใช้พลังงานสะอาด โดยใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) เพิ่มสัดส่วนการ ใช้พลังงานชีวมวล (Biomass) และพลังงานทางเลือก (Alternative Fuel) ในกระบวนการผลิต 

 

  1. ขยายพอร์ตสินค้าให้รองรับความต้องการตลาดทุกระดับ

 

  • พัฒนากลุ่มสินค้ามูลค่าเพิ่มสูงและสินค้ากรีน (HVA Products & Green Products) ให้ตอบโจทย์ตลาด  เช่น กระเบื้องเกรซพอร์ซเลนขนาดใหญ่, ปูนเอสซีจีคาร์บอนต่ำ 

 

  • การเพิ่มสินค้าคุณภาพที่มีราคาจับต้องได้ (Quality Affordable Products) ซึ่งมีดีมานด์ของสินค้าที่สูง สามารถทำกำไรทันที เช่น เอสซีจี โซลาร์รูฟ ที่ผลิตไฟฟ้าได้เต็มประสิทธิภาพ และมีหลายแพ็กเกจราคาให้เลือก

 

  1. ขยายไปบุกตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพสูง โดยขยายการส่งออกสินค้า เช่น ปูนเอสซีจีคาร์บอนต่ำ กระเบื้องคอนกรีต สมาร์ทบอร์ด กระดาษบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์อาหาร ไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพและความต้องการ 

 

  1. สร้างความได้เปรียบโดยส่งออกจากฐานการผลิตที่หลากหลายในภูมิภาคอาเซียน โดยสลับฐานการผลิตและส่งออกจากประเทศที่มีอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ต่ำกว่า ฐานการผลิตที่หลากหลายซึ่งเป็นจุดแข็งของเอสซีจีจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทันท่วงที เช่น บรรจุภัณฑ์ของเอสซีจีพี ที่มีฐานการผลิตและส่งออกได้จากทั้งไทย เวียดนาม, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนปูนเอสซีจีคาร์บอนต่ำ และกระเบื้อง เกรซพอร์ซเลน สามารถผลิตและส่งออกได้จากทั้งไทย และเวียดนาม

 

ภาพ: 4 กลยุทธ์ในการสู้ศึกสงครามการค้าของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย

 

แนะตั้งวอร์รูมระดมสมองรับมือกำแพงภาษีสหรัฐฯ

 

ธรรมศักดิ์ ยังมีคำแนะนำถึงภาคธุรกิจเอสเอ็มในการรับมือของสถานการณ์สงครามการค้าโลก เนื่องจากหากสหรัฐฯ บังคับใช้อัตราภาษีสินค้านำเข้าจากไทยตามที่เคยประกาศอัตรา 36% มีโอกาสส่งออกสินค้าจากไทยโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีไปยังสหรัฐฯ อาจหายไปทั้งหมด ส่งผลให้การใช้กำลังผลิตลดลง 

 

อีกทั้งจะเผชิญการแข่งขันที่มีความรุนแรงขึ้น ดังนั้นภาคธุรกิจจึงมีความจำเป็นต้องปรับตัวอย่างเป็นระบบให้รวดเร็ว ด้วยการเน้นการลดต้นทุนเพื่อทำธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้แบบยั่งยืน โดยการใช้พลังสะอาด การ Robotic Automation ที่ปัจจุบันเริ่มมีราคาที่ถูกลงนำมาใช้ในกระบวนการทำงานเพื่อช่วยต้นทุน

 

นอกจากนี้ก่อนหน้านี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีของโลกและไทยในปี 2568 ลง อีกทั้งล่าสุด Moody ประกาศปรับลดแนวโน้ม (Outlook) อันดับความน่าเชื่อประเทศไทยเป็น ‘เชิงลบ’ (Negative) สะท้อนว่าเศรษฐกิจของไทยยังมีความเปราะบาง และมีสัญญาณอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วง

 

ดังนั้นการปรับตัวเพื่อแก้ปัญหารับมือสถานการณ์สงครามการค้าจึงมีความสำคัญอย่างมาก มีความเห็นว่าภาครัฐกับเอกชนของไทยควรมีการประสานการทำงานเจรจากับสหรัฐฯ โดยการตั้งวอร์รูมระดมสมองหาแนวทางรับมือร่วมกัน โดยนำผู้ที่เกี่ยวทั้งหมดในระดับประเทศเพื่อทำงานร่วมพิจารณาตัดสินใจร่วมกันในการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ และจีน หาแนวทางร่วมกัน เมื่อทุกฝ่ายได้รับข้อมูลครบถ้วน จะทำให้แก้ปัญหาได้ตรงจุด​และรวดเร็ว​ ส่งผลให้​เศรษฐกิจ​ไทยจะฟื้นตัวดีขึ้น​และสามารถเรียกความเชื่อมั่นให้กลับมาได้

 

ระวังการลงทุน-หยุดธุรกิจไม่ทำกำไร

 

ด้าน จันทนิดา สาริกะภูติ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย กล่าวว่า บริษัทมีการดำเนินการแผนลด Working Capital ลงอย่างต่อเนื่อง โดยนับจากช่วงกลางปี 2567 ถึงสิ้นปี 2567 สามารถลด Working Capital ลงได้แล้วประมาณ 16,000 ล้านบาท  ขณะที่สิ้นไตรมาส 1/2568 บริษัทฯ ลด Working Capital ได้อีกประมาณ 3,600 ล้านบาท

 

อีกทั้งมีการปรับโครงสร้างของธุรกิจภายในบริษัทมีการหยุดธุรกิจที่ไม่ทำกำไรที่ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

 

ภาพ: จันทนิดา สาริกะภูติ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย 

 

 นอกจากนี้จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ภาษีของสหรัฐฯ ทำให้มีความระมัดระวังการลงทุนการเพิ่มมากขึ้น โดยในไตรมาส 1/2568 บริษัทมีการใช้เงินลงทุนไปแล้วประมาณ 6,100 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 50% ของงบลงทุนดังกล่าวเป็นใช้จ่ายสำหรับซ่อมบำรุงปรับปรุงเครื่องจักร

 

โดยทั้งปีนี้คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

อีกทั้งสามารถในไตรมาส 1/2568 บริษัทสามารถลดหนี้สินสุทธิลงมาอีกประมาณ 4,600 ล้านบาท จากไตรมาส 4/2567  รวมทั้ง ณ สิ้นไตรมาส 1/2568 มีเงินสดคงเหลือภายในบริษัทอยู่ที่ประมาณ 43,000 ล้านบาท สะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่มีความเข้มแข็งของเอสซีจี

 

‘เอสซีจี เคมิคอลส์’ กังวลอุตสาหกรรมฟื้นช้ากว่าที่เคยคาด

 

ศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวว่า การตั้งกำแพงภาษีสินค้าในระดับสูงของสหรัฐฯ จะมีผลกระทบต่อดีมานด์สินค้าให้ลดลง ประเมินว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกให้มีความเสี่ยงเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) หรือเกิดภาวะ เศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อ (Stagflation)

 

ขณะที่ประเมินว่าแม้สถานการณ์การตั้งกำแพงภาษีสินค้าในระดับสูงของสหรัฐฯ จะลากยาวต่อไป แต่คาดว่าส่วนต่างราคาขาย (สเปรด) ของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจะไม่ลดลงไปจากระดับปัจจุบันซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุด (Bottom) หลังจากในช่วงไตรมาส 1/2568 ซัพพลายใหม่เข้ามาสู่ตลาดโลกจำนวนมาก แต่ดีมานด์ยังอ่อนแอ

 

อย่างไรก็ดีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเริ่มมีการปรับตัว หากแนวโน้มของสเปรดเริ่มไปจากปัจจุบันผู้ผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีก็จะเริ่มลดกำลังการผลิตลง 

 

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ในระยะสั้นก็มีข้อดี เพราะเริ่มเห็นกำลังผลิตปิโตรเคมีในจีน, ตะวันออกกลาง, แคนาดา รวมทั้งในหลายภูมิภาค เริ่มทยอยเลื่อนแผนหรือยกเลิกแผนการเพิ่มกำลังการผลิตใหม่ที่เคยวางไว้ในปี 2027-2028 จะทำให้ในอนาคตซัพพลายของปิโตรเคมีจะเริ่มลดลง”

 

ภาพ: ศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์

 

อีกทั้งประเมินว่าจะมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งเดิมคาดว่าจะเริ่มทยอยเห็นการฟื้นตัวในปี 2569 จากปัจจุบันที่อยู่ในวัฏจักรของจุดต่ำอาจลากยาวนานออกไปจากที่เคยคาดการณ์ไว้บ้าง

 

“แต่ระยะยาวเดิมเคยคิดว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จะต้องฝ่าฟันกันจนเลือดหมดตัวแบบยาวนาน ตอนนี้จะมีเวลาดังกล่าวที่สั้นลง เพราะกำลังผลิตใหม่ในอนาคตจะเริ่มทยอยลดลงหรือเลิกไป”

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าโครงการปิโตรเคมีลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals: LSP) ในเวียดนามที่มีมูลค่าการลงทุน 5.2 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.70 แสนล้านบาท มีกำลังการผลิตโอเลฟินส์ 1.35 ล้านตันต่อปี และพอลิโอเลฟินส์ 1.4 ล้านตันต่อปี ที่ปัจจุบันโครงการดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว แต่มีการหยุดการผลิตไว้ชั่วคราวตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2567 มีแผนในการหาพาร์ตเนอร์มาร่วมถือหุ้นในโครงการ LSP หรือไม่นั้น 

 

โครงการ LSP พร้อมเปิดกว้างรับพาร์ตเนอร์

 

ศักดิ์ชัย ระบุว่า เชื่อว่ามีผู้ที่สนใจการเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ในโครงการ LSP เนื่องจากโครงการตั้งอยู่ในทำเลที่ดี แต่ปัจจุบันอยู่ระหว่างในช่วงของการปรับตัวในด้านวัตถุดิบเพื่อให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยบริษัทมีแผนการกลับมาเปิดการผลิตได้โดยไม่จำเป็นต้องมีพาร์ตเนอร์



“ถ้ามีพาร์ตเนอร์ที่สนใจลงทุนใน LSP แล้วถ้าคุยกับเขาแล้วคิดว่าสามารถอยู่ด้วยกันได้สนับสนุนให้ LSP แข็งแกร่งขึ้นไปอีกก็พร้อมพูดคุย แต่ปัจจุบันยังไม่มีการพูดคุยกับพาร์ตเนอร์ที่หมั้นหมายแต่งงานกันตอนนี้ยังไม่มี”

 

ขณะที่แผนในการนำ SCGC เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะนี้ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันยังคงเลื่อนแผนออกไปแบบไม่มีกำหนด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising